ไวรัสโคโรนา การลงโทษหรือการทดสอบจากพระเจ้า
Powered by OrdaSoft!
No result.

ไวรัสโคโรนา การลงโทษหรือการทดสอบจากพระเจ้า

“เพื่อที่เราจะตัดสินการระบาดของไวรัสโคโรนานี้ เป็นการลงโทษ (อะซาบ) จากพระเจ้าหรือไม่ จำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาดูสังคมที่เผชิญกับวิกฤตดังกล่าว และวิเคราะห์ไปบนพื้นฐานของมัน ไม่ใช่แค่เพียงเอาตัวไวรัสหนึ่งเป็นเครื่องชี้วัด”

    ทันทีที่ข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้เริ่มต้นขึ้นจากประเทศจีน บางคนก็ได้อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า โรคนี้คือการลงโทษ (อะซาบ) ของพระเจ้าที่ได้เกิดขึ้นกับสังคมของบรรดาผู้ปฏิเสธพระเจ้า ด้วยเหตุนี้เองเมื่อไวรัสนี้ได้ไปถึงยังประเทศอิสลามทั้งหลาย บางคนจึงใช้คำพูดแบบเดียวกันนี้กล่าวอ้างว่า สังคมอิสลามเหล่านี้ได้กระทำบาปอะไรกระนั้นหรือถึงได้ประสบกับบะลาอ์ (ภัยพิบัติ) โคโรนา?!

    ในการวิเคราะห์ประเด็นนี้ อันดับแรกจำเป็นที่เราจะต้องทราบเสียก่อนว่า เหตุการณ์ต่างๆ ของโลกแห่งการดำรงอยู่นี้ โดยทั่วไปแล้วจะไม่ใช่มีเพียงมิติเดียว ทว่าจะต้องพิจารณามันจากมิติต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์หนึ่งโดยสัมพันธ์มันไปยังสมาชิกทั้งหมดของสังคมแบบเดียวกันได้ ทว่าแต่ละเหตุการณ์จะมีสาส์นและผลอันเป็นเฉพาะสำหรับแต่ละสังคมและแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้เองแม้แต่อัลกุรอานซึ่งเป็นคัมภีร์แห่งทางนำ (ฮิดายะฮ์) ของพระเจ้านั้น สำหรับคนกลุ่มหนึ่งมันคือ การบำบัดและความเมตตา และสำหรับคนอีกบางกลุ่มมันคือ ความขาดทุน โดยที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า :

وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِلْمُؤْمِنِينَ وَلَا يَزِيدُ الظَّالِمِينَ إِلَّا خَسَارًا

"และจากอัลกุรอานนั้นเราได้ประทานสิ่งที่เป็นการบำบัดและความเมตตาลงมาแก่บรรดาผู้ศรัทธา และมันจะไม่เพิ่มพูนสิ่งใดแก่บรรดาผู้อธรรม นอกจากความขาดทุนเท่านั้น" (1)

    ในอีกด้านหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องตระหนักว่า บนพื้นฐานของโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ความทุกข์ยากและปัญหาต่างๆ นั้นมีสำหรับมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) และผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) และในเรื่องนี้ไม่มีความแตกต่างใดๆ ระหว่างพวกเขา พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสในเรื่องนี้ว่า :

وَلَنَبْلُوَنَّكُمْ بِشَيْءٍ مِنَ الْخَوْفِ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِنَ الأَمْوَالِ وَالأَنْفُسِ وَالثَّمَرَاتِ وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ

"และโดยแน่นอนยิ่งเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความกลัว ความหิว ความบกพร่องในทรัพย์สิน (การสูญเสีย) ชีวิตและพืชผลต่างๆ และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด" (2)

    แต่สิ่งที่จำเป็นต้องตระหนักก็คือว่า ปัญหาและความทุกข์ยากเหล่านี้จะชี้นำผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ไปสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ด้วยเหตุนี้เองสำหรับเขาจึงเป็นสิ่งดีงามและเป็นความเมตตา (เราะห์มัต) เนื่องจากในความเชื่อของผู้ศรัทธานั้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ และปัญหาทั้งมวลจะได้รับการแก้ไขโดยพระหัตถ์ของพระองค์ แต่เหตุการณ์เดียวกันนี้ไม่เพียงแต่จะไม่ทำให้ผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร หรือ ผู้เนรคุณ) และผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า (มุชริก) ย่างก้าวไปสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งแล้ว ยังจะเป็นสื่อทำให้เขามุ่งความสนใจไปที่สาเหตุและปัจจัยต่างๆ ทางวัตถุมากยิ่งขึ้น และจากการที่เขาเห็นว่าปัจจัย (อัซบาบ) เหล่านี้มีข้อจำกัดและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ เขาจะตกอยู่ในความทุกข์ทรมานและการลงโทษตลอดเวลาและจะออกห่างจากการบรรลุสู่ความสงบสุขมากยิ่งขึ้น

    สามารถกล่าวได้ว่า แม้ว่าเหตุการณ์และภัยภิบัติ (บะลาอ์) ต่างๆ ของโลกดูเหมือนจะเกิดขึ้นกับทุกคนในลักษณะเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีข้อความ (สาส์น) ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทำนองเดียวกับที่แสงก่อนที่จะมากระทบกับกระจกสี มันจะถูกมองเห็นในรูปปกติและไม่มีสีใดๆ แต่เมื่อมันมากกระทบกับกระจกสีที่หลากหลาย เช่น สีเขียว สีเหลืองและสีแดง มันก็จะถูกมองเห็นมีหลายสี หรืออาหารที่โอชะ ซึ่งสำหรับผู้ป่วยนั้นจะก่อให้เกิดความขมและความทุกข์ทรมาน แต่สำหรับคนที่มีสุขภาพปกตินั้นจะรู้สึกถึงความเอร็ดอร่อย

    จะต้องไม่ลืมว่าการแพร่ระบาดของโรคใดๆ ก็ตามในสังคมหนึ่งๆ นั้น สามารถจะเกิดขึ้นได้จากสาเหตุมากมายทั้งทางด้านวัตถุและทางจิตวิญญาณ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นคือ ความชั่วต่างๆ ของผู้คน ดั่งที่ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า :

كُلَّمَا أَحْدَثَ الْعِبَادُ مِنَ‏ الذُّنُوبِ‏ مَا لَمْ‏ يَكُونُوا يَعْمَلُونَ‏ أَحْدَثَ‏ اللَّهُ‏ لَهُمْ‏ مِنَ‏ الْبَلَاءِ مَا لَمْ يَكُونُوا يَعْرِفُونَ

"เมื่อใดก็ตามที่ปวงบ่าวได้กระทำบาปใหม่ที่พวกเขาไม่เคยกระทำมาก่อน อัลลอฮ์ก็จะทรงทำให้บะลาอ์ (ภัยพิบัติ) ใหม่ ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อนมาประสบกับพวกเขา" (3)

    โรคดังกล่าวนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่ว่าโรคเดียวกันนี้สำหรับผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ แต่จำเป็นต้องอยู่ร่วมในสังคมนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ไม่เพียงแต่จะไม่ถูกนับว่าเป็นการลงโทษ (อะซาบ) แล้ว ในทางตรงกันข้ามยังสามารถนับได้ว่าเป็นสื่อในการยกระดับของเขาอีกด้วย ดั่งที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

إِنَّ عَظِيمَ الأجْرِ لَمَعَ عَظِيمِ الْبَلاءِ وَمَا أَحَبَّ الله قَوْماً إِلا ابْتَلاهُمْ

"แท้จริงรางวัลที่ยิ่งใหญ่ย่อมอยู่คู่กับการทดสอบที่ยิ่งใหญ่ และอัลลอฮ์ไม่ทรงรักหมู่ชนใด เว้นแต่พระองค์จะทรงทดสอบพวกเขา" (4)

    ท้ายที่สุดนี้นอกเหนือจากการทุ่มเทความพยายามทุกวิถีทางเพื่อขจัดปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ และเพิ่มระดับความปลอดภัยแล้ว จำเป็นจะต้องให้ความสนใจต่อประเด็นสำคัญที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งและบรรดาเอาลิยาอุลลอฮ์ (มวลมิตรผู้ใกล้ชิดพระเจ้า) เพียงเท่านั้นที่สามารถจะตัดสินเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ว่า ความทุกข์ยากต่างๆ สำหรับสังคมใด ที่จะเป็นการลงโทษ (อะซาบ) และสำหรับสังคมใดที่จะเป็นสื่อในการยกระดับ เนื่องจากเฉพาะพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้นที่จะทรงรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ของโลกแห่งการดำรงอยู่ รวมถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :

عَسَى أَنْ تَكْرَهُوا شَيئًا وَهُوَ خَيرٌ لَكُمْ وَعَسَى أَنْ تُحِبُّوا شَيئًا وَهُوَ شَرٌّ لَكُمْ وَاللَّهُ يعْلَمُ وَأَنْتُمْ لَا تَعْلَمُونَ

"และบางทีพวกเจ้ารังเกียจสิ่งหนึ่ง ในขณะที่สิ่งนั้นอาจเป็นความดีงามสำหรับพวกเจ้า และบางทีพวกเจ้าชอบสิ่งหนึ่ง ในขณะที่สิ่งนั้นอาจเป็นความเลวร้ายสำหรับพวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นทรงรู้ดี ในขณะที่พวกเจ้าไม่รู้" (5)


เชิงอรรถ :

1. อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 82

2. อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 155

3. อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 275

4. อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 252

5. อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 216


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 635 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9843280
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
48648
66939
318825
9045061
1694814
2060970
9843280

พฤ 25 เม.ย. 2024 :: 17:51:37