ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่2
Powered by OrdaSoft!
No result.

ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 2

     จากเนื้อหาที่ผ่านมาข้างต้นสามมารถสรุปได้ว่าในท่ามกลางศาสดาจำนวนทั้งสิ้น 124,000 ท่านนั้น มีเพียงห้าท่านเท่านั้นที่เป็นศาสดาอุลุลอัซม์ (ผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่)และเป็นศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ และในจำนวนศาสดาทั้งห้าท่านนี้เมื่อพิจารณาในด้านสถานะและความสูงส่งแล้ว ก็ยังมีระดับที่แตกต่างกัน และบนพื้นฐานของบรรดาโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) นั้นท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือศาสดาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีความสูงส่งที่สุด ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เราจะเห็นได้ว่าในบทซิยาเราะฮ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เราจะกล่าวถึงท่านว่า

اَشْهَدُ اَنْ لا اِلـهَ اِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لا شَريكَ لَهُ، وَاَشْهَدُ اَنَّ مُحَمَّداً عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ، وَاَشْهَدُ اَنَّهُ سَيِّدُ الاَوَّلينَ وَالاْخِرينَ، وَاَنَّهُ سَيِّدُ الاَنْبِياءِ وَالْمُرْسَلينَ،….  اَلسَّلامُ عَلَيْكَيا سَيِّدَ الْمُرْسَلينَ

 “ข้าฯขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์เพียงองค์เดียวเท่านั้นโดยไม่มีภาคีใดสำหรับพระองค์ และข้าฯขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ และข้าฯขอปฏิญาณว่าท่าน(มุฮัมมัด)เป็นนายของมนุษย์คนแรกและคนสุดท้าย และเป็นนายของปวงศาสดาและศาสนทูต (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน โอ้นายของปวงศาสทูต) (17)

      ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงตัวท่านเองไว้เช่นนี้ว่า :

انا افضل النبيين قدرًا و اعمهم خطرًا و اوضحهم خبراً و اعلمهم مستقراً و اكرمهم امة و اجزلهم رحمة واحفظهم ذمة و ازكاهم ملة

 “ฉันเป็นผู้มีความประเสริฐสูงสุดในมวลศาสดา มีตำแหน่งครอบคลุมเหนือพวกเขา เป็นผู้ที่นำข่าว (สาส์น) ที่ชัดเจนที่สุดกว่าพวกเขามา (ยังมนุษยชาติ)  มีประชาชาติที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเขา มีความเมตตามากที่สุดในหมู่พวกเขา รักษาหน้าที่รับผิดชอบมากที่สุดในหมู่พวกเขาและมีแนวทางที่สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งในหมู่พวกเขา” (18)

     ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า :

حتي لا يساوي في منزله و لا يكافا في مرتبته و لا يوازيه لديك ملك مقرب و لا نبي مرسل

“…กระทั่งว่าไม่มีมะลาอิกะฮ์ผู้ใกล้ชิดและศาสดาผู้ถูกส่งมาคนใดที่จะทัดเทียมในตำแหน่งของท่าน (ศาสดามุฮัมมัด) และจะเสมอเหมือนในระดับขั้นของท่านได้ ณ พระองค์” (19)

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) ความเมตตาสำหรับสากลจักรวาล

     ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงท่านศาสดาในฐานะความเมตตา (เราะห์มัต) หนึ่ง ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานลงมาสำหรับชาวโลกทั้งหลาย โดยพระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นความเมตตาแก่สากลโลก” (20)

     ก่อนที่เราจะเขาไปพิจารณาถึงคุณลักษณะดังกล่าวของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จะขออธิบายความหมายของคำว่า “เราะฮ์มะฮ์” (ความเมตตา) นี้เสียก่อน

ความหมายของคำว่า เราะฮ์มะฮ์” (ความเมตตา)

     เป็นที่ยอมรับกันในหมู่มุฟัซซิรีน (นักอรรถาธิบาย) คัมภีร์อัลกุรอานกลุ่มหนึ่งนั้น  คำว่า “อัรเราะห์มาน” (ผู้ทรงเมตตา) คือคุณลักษณะ (ซิฟัต) ของพระผู้เป็นเจ้าที่บ่งชี้ถึงความเมตตาโดยรวมที่ครอบคลุมของพระองค์ กล่าวคือเป็นความเมตตาที่ครอบคลุมทั้งมิตรและศัตรู ผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ และผู้ประพฤติดีและผู้ประพฤติชั่ว ความเมตตาอันไพศาลของพระองค์นั้นแผ่ปกคลุมถึงมนุษย์ทุกคน บ่าวทุกคนสามารถที่จะได้รับประโยชน์และโชคผลต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต แต่คำว่า “อัรร่อฮีม” (ผู้ทรงปราณี) นั้นเป็นคุณลักษณะที่บ่งชี้ถึงความเมตตาอันเป็นเฉพาะของพระองค์ซึ่งทรงประทานให้เป็นพิเศษสำหรับปวงบ่าวผู้มีคุณธรรม (ซอและห์) และเป็นผู้ศรัทธามั่น (มุอ์มิน) ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า คำว่า“อัรเราะห์มาน” (ผู้ทรงเมตตา) นั้นจะถูกกล่าวถึงในลักษณะครอบคลุมโดยไม่มีเงื่อนไข แต่คำว่า “อัรร่อฮีม” จะถูกนำมาใช้โดยมีเงื่อนไขเป็นเครื่องจำกัด ตัวอย่างเช่น

     ในคัมภีร์อัลกุอานได้กล่าวว่า :

وَ كانَ بِالْمُؤْمِنينَ رَحيماً

“และพระองค์เป็นผู้ทรงปราณียิ่งต่อบรรดาผู้ศรัทธา” (21)

     ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า :

وَ اللّهُ إِلَهُ كُلِّ شَيْء، الرَّحْمنُ بِجَمِيعِ خَلْقِهِ، وَ الرَّحِيمُ بِالْمُؤْمِنِينَ خاصَّةً

 “และอัลลอฮ์นั้นทรงเป็นพระเจ้าของทุกสรรพสิ่ง ผู้ทรงเมตตา (อัรเราะห์มาน) ต่อสิ่งถูกสร้างทั้งมวลของพระองค์ และทรงปราณี (อัรร่อฮีม) ต่อบรรดาผู้ศรัทธาเป็นการเฉพาะ” (22)

     ความเมตตา (เราะห์มัต) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีความครอบคลุมที่กว้างขวาง ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

وَ رَحْمَتي وَسِعَتْ كُلَّ شَيْ‏ءٍ

 “และความเมตตาของข้านั้น แผ่ปกคลุมทุกสรรพสิ่ง” (23)

     ยิ่งไปกว่านั้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงนับว่าความเมตตานั้นเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับพระองค์และทรงกำหนดมันไว้เหนือตัวพระองค์เอง โดยตรัสว่า :

كَتَبَ رَبُّكُمْ عَلَى نَفْسِهِ الرَّحْمَةَ

“องค์พระผู้อภิบาลของพวกท่านได้ทรงกำหนดความเมตตาไว้เหนือตัวพระองค์เอง” (24)

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ศาสดาแห่งความเมตตา

     พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงแต่งตั้งศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาในฐานะความเมตตาหนึ่งสำหรับสากลจักรวาล ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นความเมตตาหนึ่งสำหรับสากลโลก” (25)

     ดังที่เราได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าความเมตตา (เราะห์มานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นคือ คุณลักษณะ (ซิฟัต) ที่แผ่ปกคลุมของพระองค์ โดยที่จะครอบคลุมเหนือมนุษย์ทั้งมวลทั้งที่เป็นผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นความเมตตาหนึ่งจากพระองค์ที่มียังมนุษยชาติทั้งมวลในทุกยุคสมัยและในทุกสถานที่จวบจนถึงกาลอวสานของโลก ไม่เพียงแต่ผู้ศรัทธาและปฏิบัติตามท่านเท่านั้น แต่ทว่าชาวโลกทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลว และไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรูย่อมจะได้รับประโยชน์และสัมผัสความเมตตานี้ได้จากท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

    ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็ฮลฯ)เองได่กล่าวว่า :

إِنَّمَا بُعِثْتُ رَحْمَةً

“อันที่จริงฉันถูกแต่งตั้งมาเพื่อความเมตตา” (26)

    มนุษยชาติทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือว่าเป็นผู้ปฏิเสธก็ตาม ล้วนเป็นหนี้บุญคุณต่อความเมตตานี้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากว่าการที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้มาประกาศและเผยแผ่คำสอนของศาสนาอิสลามนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความรอดพ้นของมนุษย์ทั้งมวล เพียงแต่ว่ามนุษย์บางส่วนอาจจะได้รับคุณประโยชน์จากสิ่งดังกล่าว แต่มนุษย์บางส่วนไม่ได้รับคุณประโยชน์ใด ๆ นั่นขึ้นอยู่ที่ตัวของบุคคลเหล่านั้นเอง และมิได้มีผลกระทบในเชิงลบใด ๆ ต่อความเมตตาที่ครอบคลุมของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สิ่งนี้เราอาจเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้ก็คือ เหมือนกับการที่ชุมชนหนึ่งได้สร้างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้บริการในการรักษาโรคและความป่วยไข้อย่างครบวงจร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัย และเปิดให้บริการสาธารณะแก่คนในสังคมทุกคนอย่างถ้วนหน้าโดยไม่แบ่งแยกและไม่มีความแตกต่างกัน แต่ทว่าคนส่วนหนึ่งไปใช้บริการในโรงพยาบาลแห่งนี้ แต่คนอีกบางส่วนไม่ไปใช้บริการ แน่นอนยิ่งว่าการที่คนส่วนหนึ่งไม่ไปใช้บริการจากโรงบาลนั้นย่อมไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อความเป็นสาธารณะประโยชน์ของโรงพยาบาลดังกล่าว ความเป็นสาธารณะและความครอบคลุมของความเมตตาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็เปรียบได้เช่นนี้

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ภาพปรากฏของความเมตตาแห่งพระผู้เป็นเจ้า

    ความเมตตาและความกรุณาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) นั้น คือภาพปรากฏของความเมตตาและความกรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าความเมตตาและความกรุณาของท่านศาสดาจะปรากฏเป็นโชคผลแก่มนุษยชาติทั้งในโลกนี้(ดุนยา)และในปรโลก (อาคิเราะฮ์) มากเท่าใดก็ตาม ล้วนเป็นมาจากร่มเงาแห่งความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น บทบัญญัติ(อะห์กาม)ทางศาสนาทั้งมวล แม้แต่เรื่องญิฮาด (การต่อสู้) บทลงโทษ (ฮุดูด) ต่าง ๆ การกิซ๊อซ (การฆ่าให้ตายติดตามกันไป) และการลงโทษอื่น ๆ รวมทั้งกฎเกณฑ์ของการตอบแทนรางวัลทั้งหลายของอิสลามนั้นล้วนเป็นความเมตตาสำหรับสังคมมนุษย์เช่นเดียวกันทั้งสิ้น และถ้าหากคุณลักษณะแห่งความเมตตา (เราะห์มานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นจะบ่งชี้ถึงความกรุณาโดยรวมของพระผู้เป็นเจ้าที่ครอบคลุมถึงทั้งมิตรและศัตรู ทั้งผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) และผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ท่านศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ (ซ็อลฯ) ผู้ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกแนะนำในฐานะ“ความเมตตาแห่งสากลโลก”นั้นก็คือความเมตตาทั้งสำหรับผู้ศรัทธาและผู้ไม่ศรัทธาเช่นเดียวกัน จากบรรดาโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นสามารถสรุปได้เป็นอย่างดีว่า นุบูวะฮ์ (ความเป็นศาสดา) นั้นคือความเมตตาและความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้าที่มีเหนือโลกมนุษย์และมันเป็นเช่นนี้โดยแท้จริง ถ้าหากไม่มีปวงศาสดามวลมนุษย์จะต้องผลัดหลงออกจากเส้นทางแห่งปรโลก (อาคิเราะฮ์) และโลกนี้(ดุนยา) ดังนั้นท่านศาดาผู้ยิ่งใหญ่ก็คือบ่อเกิดแห่งความเมตตาสำหรับมวลมนุษย์เช่นเดียวกัน :

وَ ما ارسلناك الا رحمة للعالمين

 “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นความเมตตาสำหรับสากลโลก”

     และเป็นบ่อเกิดของความกรุณาด้วยเช่นกัน :

و بالمؤمنين رئوف رحيم

“และ(มุฮัมมัด)เป็นผู้มีความกรุณาและเป็นผู้มีความปราณีต่อมวลผู้ศรัทธา” (27)

     สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นได้มีการกล่าวถึงคุณลักษณะของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ทั้งคำว่า “เราะฮ์มะฮ์” (ความเมตตา) และคำว่า “ร่อฮีม” (ผู้ปราณี) กล่าวคือ ท่านศาสนทูตผู้ทรงเกียรติคือผู้มีความเมตตาโดยรวมต่อประชาชนทั้งมวลครอบคลุมทั้งบรรดาผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) และผู้ศรัทธา (มุอ์มิน)  อีกทั้งเป็นผู้มีความปราณีอันเป็นเฉพาะต่อปวงผู้ศรัทธา (มุอ์มินีน) และถ้าหากว่าคุณลักษณะแห่งความเมตตา (เราะห์มานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นบ่งชี้ถึงความกรุณาโดยรวมของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งครอบคลุมถึงแม้แต่ผู้ปฏิเสธและบรรดาศัตรูของศาสนา นั้นย่อมต้องการที่จะสื่อถึงความหมายที่ว่า ไฉนพวกท่านจึงไม่ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งได้แผ่ปกคลุมความเมตตาและความกรุณาของพระองค์แก่มนุษยชาติทั้งมวลแม้กระทั่งแก่บรรดาศัตรูและบรรดาผู้ปฏิเสธ? นั่นคือจุดสูงสุดแห่งความโง่เขลาของพวกท่าน ท่านศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการแนะนำว่าเป็นความเมตตาโดยรวม (อัรเราะห์มะตุลอามมะฮ์) สำหรับสากลโลกนั้น ความหมายของมันก็คือว่าไฉนเล่าท่านทั้งหลายจึงไม่ศรัทธาต่อศาสนทูตผู้ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความเมตตาสำหรับชาวโลกทั้งมวลแม้กระทั่งสำหรับบรรดาศัตรูและบรรดาผู้ปฏิเสธ นี่คือสุดยอดแห่งความไร้สติปัญญาของพวกท่าน

    ในชีวประวัติของท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) นี้ได้มีการรายงานไว้ว่าตราบเท่าที่เป็นไปได้ท่านศาสดาจะไม่ปฏิเสธการขอของผู้ที่ขอความช่วยเหลือจากท่าน แม้กระทั่งว่า วันหนึ่งสตรีผู้หนึ่งได้ส่งลูกชายของตนมายังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และนางได้กล่าวกับลูกชายของตนว่าจงกล่าวกับท่านศาสดาว่า ได้โปรดกรุณามอบเสื้อของท่านแก่พวกเราด้วยเถิด ลูกชายของเขาได้มาถึงท่านศาสดาและได้วอนขอเสื้อจากท่านศาสดา ท่านศาสดาแห่งความเมตตาจึงได้มอบเสื้อของท่านแก่เขา โองการอัลกุรอานจึงได้ถูกประทานลงมาว่า :

ولا تبسطها کل البسط

“และเจ้าจงอย่าแบมือ (ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นและในทางของอัลลอฮ์) จนหมดสิ้น” (28)

    ท่านศาสดาได้กำชับสั่งเสียเกี่ยวกับสิทธิของเชลยศึกและบรรดาทาสเป็นพิเศษ กระทั่งว่าได้กระทำการสมรสกับสตรีผู้เป็นเชลย ทันทีที่ท่านได้ยินว่า พวกเขาได้จับตัวสตรีผู้หนึ่งในสนามรบมาเป็นเชลย และภายหลังจากการเป็นเชลย พวกเขาได้พานางเดินทางผ่านมาทางศพของสามีของนางเพื่อทำให้หัวใจของนางเกิดความทุกข์ระทมและความเจ็บปวดอย่างรุนแรง ท่านศาสนทูตได้ตำหนิการกระทำเช่นนี้อย่างรุนแรง ในยามที่ท่านขี่พาหนะท่านจะไม่อนุญาตให้ผู้ใดร่วมทางไปกับท่านโดยการเดินเท้า แต่ทว่าท่านจะให้เขาผู้นั้นขึ้นขี่พาหนะไปพร้อมกับท่าน ท่านจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ด้วยเหตุนี้ท่านจะไปร่วมพิธีส่งศพ (ตัชเยี๊ยะอ์ ญะนาซะฮ์) ของพวกเขา และท่านจะไปเยี่ยมผู้ป่วยแม้จะอยู่ในจุดที่ห่างไกลที่สุดของเมืองมะดีนะฮ์ :

يشيع الجنائز و يعود المرضي في اقصي المدينة

 “ท่านจะไปส่งศพและจะไปเยี่ยมผู้ป่วยในสถานที่ที่ห่างไกลที่สุดของมะดีนะฮ์” (29)

    ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน(อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า : คราใดที่ท่านไม่เห็นหน้าพี่น้องร่วมศาสนาของท่านเป็นระยะเวลาถึงสามวัน ท่านจะถามหาเขา และถ้าหากบุคคลผู้นั้นอยู่ในการเดินทางท่านจะวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) ให้แก่เขา และถ้าหากเขาป่วยไข้ท่านก็จะไปเยี่ยมเขา (30)

     ท่านมักจะกล่าวอยู่เสมอว่า :

 من لا يرحم وَلا يرحَم

“ผู้ใดก็ตามที่ไม่เมตตา (ผู้อื่น) เขาก็จะไม่ได้รับความเมตตา (จากผู้อื่น) ด้วยเช่นกัน” (31)

     ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) บุตรีของท่านศาสนทูตผู้เป็นความเมตตาสำหรับสากลโลกก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่จะละศิลอดนั้นท่านหญิงได้มอบอาหารนั้นแก่ผู้ยากไร้และผู้ขัดสนทั้งที่ตัวเองก็มีความจำเป็นต่ออาหารนั้น คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

وَ يطعمون الطعام علي حبه مسکينا و يتيماً و اسيرا

 “และพวกเขาได้ให้อาหารแก่ผู้ยากไร้ แก่เชลยศืกและแก่เด็กกำพร้าบนความรักที่มีต่อพระองค์” (32)

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็เช่นเดียวกัน ภายหลังจากการถูกฟันศีรษะและขณะที่ใกล้จะเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) นั้น ท่านได้สั่งเสียท่านอิมามฮะซัน อัลมุจญ์ตะบา (อ.) ผู้เป็นบุตรชายของท่านเกี่ยวกับผู้ที่ทำการสังหารท่านเช่นนี้ว่า :

اطعموه و اسقوه و احسنوا اسارته

“พวกเจ้าจงให้อาหารแก่เขา จงให้น้ำดื่มแก่เขาและจงปฏิบัติด้วยความดีงามต่อการเป็นเชลยของเขา” (33)

ท่านศาสดาแห่งความเมตตา สื่อยับยั้งจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า

      พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :

وَما کان الله ليعذبهُم وَ أَنتَ فيهم و ما كان الله معذبهم و هم یستغفرون

“และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขาอย่างแน่นอน ตราบที่เจ้ายังอยู่ในหมู่พวกเขา และอัลลอฮ์จะไม่เป็นผู้ลงโทษพวกเขา ตราบที่พวกเขายังขออภัยโทษ” (34)

     การดำรงอยู่ที่เปี่ยมไปด้วยความจำเริญ (บะรอกัต) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือสื่อยับยั้งการลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อบรรดาผู้ประพฤติชั่วและต่อบรรดาผู้ปฏิเสธ (กุฟฟาร) ในหนังสืออ้างอิงต่าง ๆ ทั้งของชีอะฮ์และของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ มีรายงาน (ริวายะฮ์) จากท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า :

 کان في الارض امانان من عذاب اهله وَ قَد رَفَعَ اَحَدهما فَدونکم الا خره فتمسکوا به وَ قرأ هذه الاية

“ในหน้าแผ่นดินนี้มีหลักประกันความปลอดภัยสองประการจากการถูกลงโทษของชาวโลก และหนึ่งจากทั้งสองนั้น(คือการดำรงอยู่ที่เปี่ยมไปด้วยความจำเริญของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้ถูกยกไปจากพวกท่านแล้ว (เนื่องจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่าน) แต่ยังคงเหลือยู่อีกประการหนึ่งในหมู่พวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงยึดมั่นต่อสิ่งนี้ให้ดี” พร้อมกันนั้นท่านได้อ่านโองการนี้ (35)

وَما کان الله ليعذبهُم وَ أَنتَ فيهم

“และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขาอย่างแน่นอน ตราบที่เจ้ายังอยู่ในหมู่พวกเขา….”

     จากประเด็นที่ว่าการดำรงอยู่ที่เปี่ยมไปด้วยความจำเริญ (บะรอกัต) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือสื่อยับยั้งจากการลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้านี้ นับได้ว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษอันเป็นเฉพาะสำหรับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากว่า แม้จะด้วยกับการดำรงชีวิตอยู่ของศาสดาท่านอื่น ๆ ก็ตาม แต่ประชาชาติ

ประชาชาติ (อุมมะฮ์) ของท่านศาสดาเหล่านั้นก็ตกอยู่ในการลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้า

     คุณลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้เป็นศาสดาแห่งความเมตตา นั่นก็คือการที่ท่านไม่เคยประณามสาปแช่งผู้ใด และไม่ว่าท่านจะตกอยู่ในสภาพเช่นใดก็ตาม ท่านไม่เคยวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ลงโทษ (อะซาบ) ต่อบุคคลใดเลยแม้เพียงครั้งเดียว ในขณะที่ท่านศาสดานูห์ (อ.) ได้ทูลขอต่อพระองค์ว่า :

ربِّ لا تذر علي الارض من الکافرين دياراً

“โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงปล่อยให้พวกปฏิเสธหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินนี้เลย” (36)

     ในอีกโองการหนึ่งได้กล่าวว่า :

ولا تَزدِ الظّالمينَ اِ لَّا تَبارَا

“และขอพระองค์อย่าทรงเพิ่มพูนสิ่งใดแก่บรรดาผู้อธรรมเหล่านั้น นอกจากความหายนะเพียงเท่านั้น” (37)

     แต่สำหรับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) นั้น เมื่อพวกเขาขอให้ท่านสาปแช่งบรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ท่านกล่าวว่า : “ฉันได้ถูกส่งมาเพื่อความเมตตามิใช่เพื่อสาปแช่งผู้ใด” (38)

    ในขณะเดียวกันท่านกลับวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ชี้นำทาง (ฮิดายะฮ์) พวกเขา เช่นเดียวกันนี้ ในช่วงที่ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) ได้พิชิตนครมักกะฮ์ เมื่อท่านได้เข้าสู่ตัวเมืองมักกะฮ์แล้วนั้น บรรดาผู้ปฏิเสธ (กุฟฟาร) และผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ผู้ซึ่งไม่เคยลดละที่จะแสดงการเหยียดหยาม อาจหาญ โจมตีและล่วงละเมิดต่อท่านศาสดาและบรรดาสาวกของท่านด้วยวิธีการทุกรูปแบบ พวกเขาต่างคาดการณ์ว่าท่านศาสดาจะลงโทษและแก้แค้นพวกเขา แต่ท่านกลับให้อภัยและยกโทษให้พวกเขาทั้งหมด โดยท่านกล่าวว่า : « اليوم يوم المرحمة » “วันนี้เป็นวันแห่งความเมตตา(และการให้อภัย)” จากนั้นท่านกล่าวต่อว่า : « اذهبوا انتم الطلقاء »  “พวกท่านจงไปเถิด พวกท่านได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระแล้ว” (39)

     ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) ผู้นี้ แม้แต่ในช่วงลมหายใจสุดท้ายแห่งอายุขัยของท่านก็ยังไม่วายที่จะเป็นห่วงเป็นใยและกังวลใจต่อการถูกลงโทษของประชาชาติ (อุมมะฮ์) ผู้ประพฤติชั่วของท่านที่จะเกิดขึ้นในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า)  ด้วยเหตุนี้ในช่วงที่มะละกุลเมาต์ (ทวยเทพผู้ทำหน้าที่ปลิดวิญญาณ) ได้มาเพื่อรับดวงวิญญาณของท่านศาสดานั้น ท่านได้กล่าวกับเขาว่า จงอดทนรอคอยสักครู่เถิดจนกว่าญิบรออีลสหายของฉันจะมาถึง ภายหลังจากช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ผ่านไป ญิบรออีลก็มาถึง ท่านกล่าวว่า ทำไมท่านถึงมาช้า? ญิบรออีลได้กล่าวตอบว่า โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพเจ้ายุ่งอยู่กับการประดับประดาความสวยงามของสวนสวรรค์ ท่านกล่าวต่อว่า : “บุคคลเหล่านี้ทำให้ฉันรู้สึกไม่สบายใจ ไหนท่านจงบอกมาซิว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชาติ (อุมมะฮ์) ของฉัน?” ญิบรออีลได้จากไปและกลับมาอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับกล่าวว่า : พระผู้เป็นเจ้าได้ฝากสลาม (อำนวยความสันติสุข) มายังท่าน พร้อมกับทรงตรัสมายังท่านว่า ในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) ท่านจงให้การอนุเคราะห์ (ชะฟาอัต) แก่ประชาชาติ (อุมมะฮ์) ของท่านจนกว่าตัวท่านเองจะพอใจเถิด (40)

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เล่าว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ได้กล่าวว่า : “ในวันกิยามะฮ์ฉันจะยืนอยู่ในสถานที่ชะฟาอัต (ให้การอนุเคราะห์) และฉันจะให้การชะฟาอัตแก่บรรดาผู้ประพฤติชั่ว จนกระทั่งว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงตรัสว่า : ( ارضيت يا محمد؟ ) : “เจ้าพึงพอใจแล้วหรือยัง โอ้มุฮัมมัด?” ฉันจะทูลตอบต่อพระองค์ว่า :

(رضيتُ رضيتُ ) “ข้าพระองค์พึงพอใจแล้ว ข้าพระองค์พึงพอใจแล้ว” (41)

     ในวันกิยามะฮ์บรรดาศาสดาและมนุษย์ทั้งมวลจะกล่าวว่า : ( وَ انفُسَاه )  “โอ้อนิจจา ชีวิตทั้งหลายเอ๋ย!” แต่ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) จะกล่าวว่า :

( اُمتي امتي ) “นี่คือประชาชาติของฉัน นี่คือประชาชาติของฉัน”

เชิงอรรถ :

(17) มะฟาตีฮุลญินาน ซิยาเราะฮ์ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)จากสถานที่ห่างไกล

(18) ก็อฏเระฮ์ อาซ ดัรยอเย่ ฟะฎออิล อะฮ์ลิลบัยติ์ (อ.), เล่มที่ 2, หน้าที่ 345

(19) ซ่อฮีฟะฮ์ ซัจญาดียะฮ์, ดุอาอ์บทที่ 2

(20) อัลกุรอานบทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่ 107

(21) อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 43

(22) ตัฟซีรอัลมีซาน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 23

(23) อัลกุรอานบทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ 156

(24) อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 54

(25) อัลกุรอานบทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่ 107

(26) อัลเอี๊ยะห์ติญาจญ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 212

(27) อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 128

(28) อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 29

(29) บิฮารุลอันวา, เล่มที่ 16, หน้าที่ 228

(30) มะการิมุลอัคลาก, หน้าที่ 17

(31) ซุนะนุนนะบี หน้าที่ 45

(32) อัลกุรอานบทอัลอินซาน โองการที่ 8

(33) มีซานุลฮิกมะฮ์

(34) อัลกุรอานบทอัลอันฟาล โองการที่ 33

(35) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 88

(36) อัลกุรอานบทนูห์ โองการที่ 26

(37) อัลกุรอานบทนูห์ โองการที่2.

(38) ซีร่อตุนนะบะวี, หน้าที่ 132

(39) ตัฟซีรนะมูเนฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 66

(40) ซีร่อตุนนะบะวี, หน้าที่ 132

(41) ตัฟซีรนะมูเนฮ์, เล่มที่ 27, หน้าที่ 99


บทความ  : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 773 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9848510
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
53878
66939
324055
9045061
1700044
2060970
9848510

พฤ 25 เม.ย. 2024 :: 19:41:01