คัมภีร์ไบเบิลนั้นอ่อนแอและไร้ความน่าเชื่อถือและมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกันอยู่มากมาย ซึ่งบรรดานักคิดและนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ชาวคริสต์และชาวตะวันตกเมื่อได้มาพบกับคัมภีร์อัลกุรอานถึงกับต้องแสดงการให้เกียรติและก้มศีรษะให้อย่างปฏิเสธไม่ได้....
หนึ่งในผู้ที่รู้สึกประหลาดใจและพิศวงต่อคัมภีร์อัลกุรอาน คือ "เกอเทอ" [1] นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงชาวเยอรมัน เขาได้อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของคัมภีร์อัลกุรอานไว้เช่นนี้ว่า :
"ตอนแรกผมก็ไม่ได้ใส่ใจต่อคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ไม่นานนักคัมภีร์นี้ได้ดึงดูดความสนใจของผม และได้ก่อให้เกิดความพิศวง ในที่สุดผมจำต้องยอมคาราวะและน้อมรับต่อหลักการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของมัน และผมพยายามที่จะเทียบเคียงรูปคำต่างๆ กับความหมายของมัน เจตนารมณ์และเป้าหมายต่างๆ ของคัมภีร์เล่มนี้มีความแข็งแกร่งและหนักแน่นเป็นอย่างมาก ด้วยกับคุณลักษณะเช่นนี้ในไม่ช้าคัมภีร์เล่มนี้จะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไปทั่วโลก และจะให้ผลที่สำคัญยิ่ง
เป็นระยะเวลายาวนานหลายปีที่บรรดาปุโรหิต (นักบวช) ที่ไม่รู้จักพระเจ้า ได้พยายามกีดกันเราให้ออกห่างจากการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานอันศักดิ์สิทธิ์ และความยิ่งใหญ่ของผู้นำมันมา (หมายถึงศาสดามุฮัมมัด ซ็อลฯ) แต่ทว่ายิ่งเราได้ย่างก้าวไปในเส้นทางของวิทยาศาสตร์และความรู้มากเท่าใด ม่านแห่งความไม่รู้และความอคติที่ไม่ถูกต้องก็ถูกทำลายลงมากเพียงนั้น อีกไม่นานนักที่คัมภีร์ที่ไม่อาจสาธยายถึงคุณลักษณะของมันได้นี้จะดึงดูดความสนใจของโลกมาสู่ตนเอง และจะส่งผลกระทบอย่างลุ่มลึกต่อวิทยาการและความรู้ของโลก และท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นต้นแบบแห่งความคิดของประชาชนชาวโลก” [2]
ที่สำคัญยิ่งไปกว่าคำพูดของเกอเทอ ก็คือเรื่องราวที่ได้รับการอ้างอิงมาจาก นโปเลียน โบนาปาร์ต [3] จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส ได้มีการอ้างอิงไว้ว่า ช่วงเวลายาวนานที่นโปเลียนครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถพิชิตประเทศมุสลิมทั้งหลาย และทำให้ชาวมุสลิมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝรั่งเศสได้ เพื่อที่จะรับรู้ถึงความลับของสิ่งนี้ เขาได้เดินทางไปยังประเทศอียิปต์พร้อมกับล่ามภาษาอาหรับคนหนึ่งเพื่อทำการศึกษาวิจัย
เริ่มแรกเขาได้ไปยังห้องสมุดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งพร้อมกับล่ามของเขา เขากล่าวกับล่ามของเขาว่า “จงอ่านหนึ่งในหนังสือที่สำคัญที่สุดของพวกเขาเหล่านี้ให้ข้าฟังเถิด” ล่ามได้หยิบคัมภีร์อัลกุรอานขึ้นมาเปิดและอ่านโองการนี้ว่า :
إِنَّ هَـذَا الْقُرْآنَ يِهْدِي لِلَّتِي هِيَ أَقْوَمُ وَيُبَشِّرُ الْمُؤْمِنِينَ الَّذِينَ يَعْمَلُونَ الصَّالِحَاتِ أَنَّ لَهُمْ أَجْراً كَبِيراً
"แท้จริงอัลกุรอานนี้จะชี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และจะแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีทั้งหลายว่า สำหรับพวกเขานั้นจะได้รับรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่" [4]
นโปเลียนครุ่นคิดอย่างหนักและออกมาจากห้องสมุด วันรุ่งขึ้นเขาได้กลับไปยังห้องสมุดแห่งนั้นอีกครั้งหนึ่งและขอให้ล่ามอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้เขาฟังอีก ล่ามได้เปิดคัมภีร์อัลกุรอานและอ่านโองการต่างๆ ของมัน วันที่สามเขาก็ไปยังห้องสมุดนั้นอีกครั้งและล่ามได้อ่านโองการต่างของคัมภีร์อัลกุรอานแก่เขา นโปเลียนได้ถามว่า “คัมภีร์เล่มนี้มีสถานะที่สำคัญอย่างไรในหมู่ชาวมุสลิม และพวกเขาให้ความสำคัญต่อมันเพียงใด?”
ล่ามตอบว่า “ชาวมุสลิมเชื่อว่า นี่คือคัมภีร์อัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาจากฟากฟ้าให้แก่ศาสดาของพวกเขา และจะเป็นคัมภีร์ที่ชี้นำทางพวกเขาจวบจนถึงวันสิ้นโลก” นโปเลียนถึงกับแสดงความพิศวงและกล่าวประโยคคำพูดที่จวบจนถึงวันนี้ยังคงเป็นที่กล่าวขานถึง เขากล่าวว่า :
“ฉันได้รับประโยชน์จากคัมภีร์เล่มนี้และฉันรู้สึกเช่นนี้ว่า หากชาวมุสลิมใช้ประโยชน์และปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมอย่างสมบูรณ์ของคัมภีร์เล่มนี้ พวกเขาจะไม่พบกับความอัปยศอดสู และตราบเท่าที่คัมภีร์อัลกุรอานยังปกครองอยู่ในหมู่ชาวมุสลิม และพวกเขาดำเนินชีวิตภายใต้คำสอนและแบบแผนที่มีความครอบคลุมสมบูรณ์ของมันแล้ว พวกเขาจะไม่ยอมจำนนต่อเรา นอกเสียจากเราจะแยกพวกเขาออกจากคัมภีร์อัลกุรอาน” [5]
นี่ไม่ใช่เพียงคำพูดส่วนเดียวของนโปเลียนเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานเท่านั้น ในจดหมายที่เขาเขียนถึง "เชคอัลมิซอรี" ลงวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1798 เขาได้เขียนว่า :
“ฉันหวังว่าระยะเวลาไม่นานนัก ฉันจะสามารถรวมคนฉลาดและคนมีการศึกษาทั้งหมดของโลกเข้าด้วยกัน และสถาปนาระบอบที่เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้น บนพื้นฐานของหลักการของคัมภีร์อัลกุรอานที่เป็นแก่นแท้และเป็นข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้น ที่ฉันจะสามารถนำพาประชาชนไปสู่ความผาสุกไพบูลย์ได้ คัมภีร์อัลกุรอานเพียงอย่างเดียวที่จะรับผิดชอบต่อความผาสุกของมนุษยชาติ” [6]
ยังมีการอ้างคำพูดของจักรพรรดิฝรั่งเศสผู้นี้อีกเกี่ยวกับการกล่าวสรรเสริญศาสดาของอิสลาม แต่คำถามที่เกิดขึ้นกับเรามาตลอดเวลาก็คือว่า ทั้งๆ ที่นโปเลียนได้ยอมรับและยอมจำนนถึงความยิ่งใหญ่และความจริงของศาสนาอิสลามและคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ทำไมเขาจึงไม่เข้ารับอิสลาม?
เชิงอรรถ :
[1] โยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ (เยอรมัน : Johann Wolfgang von Goethe, 28 สิงหาคม พ.ศ. 2292 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2375) เป็นผู้รอบรู้ชาวเยอรมัน เขาเป็นทั้งนักเขียนนิยาย นักเขียนบทละคร นักสิทธิมนุษยชน นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา รวมถึงดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะบริหารของไวมาร์ในประเทศเยอรมนีอยู่ 10 ปี
เกอเทอเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวรรณคดีเยอรมัน คลาสสิกใหม่ของยุโรปและโรมัน ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกอเทอและงานของเขาได้ส่งผลไปทั่วยุโรปและได้สร้างแรงบันดาลใจกับงานต่อๆ มาทางด้านดนตรี การละคร และกวี (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
[2] อิอ์ติรอฟาต, อะฏออ์ อิสฟะฮานี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 75
[3] Napoleon Bonaparte.
[4] อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 9
[5] ฮะมอเย่ ซะอาดัต, เล่มที่ 1, หน้าที่ 70
[6] อิอ์ติรอฟาต, อะฏออ์ อิสฟะฮานี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 74, ตัวบทจดหมายมีอยู่ในสารานุกรมออนไลน์ "วิกิพีเดีย" เป็นภาษาอังกฤษ
ข้อความในภาษาอังกฤษ : * I hope the time is not far off when I shall be able to unite all the wise and educated men of all the countries and establish a uniform regime based on the principles of the Quran which alone are true and which alone can lead men to happiness.
Letter to Sheikh El-Messiri, (28 August 1798); published in Correspondance
แหล่งที่มา : หนังสือ "หะรีซอ" หน้าที่ 43 ถึง 46
แปลและเรียงเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่