ความตกต่ำ ความทุกข์ยากและความหายนะของมนุษย์ส่วนใหญ่ เกิดจากความไร้หลักเกณฑ์ ไร้ระเบียบแบบแผน และขาดซึ่งบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต สาเหตุที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่มีผลอย่างมากในการชักนำมนุษย์ไปสู่ความหลงผิดนั้นอยู่กับสิ่งใด การดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่จะสามารถประสบความสำเร็จและดำเนินไปสู่ความผาสุกที่แท้จริงได้ จะต้องมีหลักเกณฑ์และบรรทัดฐานอย่างไร
การดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่จะสามารถประสบความสำเร็จและดำเนินไปสู่ความผาสุกที่แท้จริงได้ จะต้องมีหลักเกณฑ์และบรรทัดฐานที่ถูกต้องในทุกๆ ด้าน ความตกต่ำ ความทุกข์ยากและความหายนะของมนุษย์ส่วนใหญ่ เกิดจากความไร้หลักเกณฑ์ ไร้ระเบียบแบบแผน และขาดซึ่งบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต
และสาเหตุที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่มีผลอย่างมากในการชักนำมนุษย์ไปสู่ความหลงผิด ความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้นก็ คือ เรื่องของการคำนึงหรือการยึดติดอยู่กับคนส่วนใหญ่ คำว่า "คนส่วนใหญ่เขาเชื่อเช่นนั้น" หรือ "คนส่วนใหญ่เขาปฏิบัติกันแบบนี้" เป็นสิ่งที่เรามักจะได้ยินและได้ฟังกันอยู่เสมอในสังคมโดยทั่วไป ในขณะที่คำสอนของอิสลามบอกกับเราว่า ให้เราวางรากฐานความคิด ความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ของเราไว้บนการเชื่อฟังและปฏิบัติตาม (ฏออะฮ์)
พระผู้เป็นเจ้าและความพึงพอพระทัยของพระองค์ อิสลามสอนให้เรามีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ในทุกๆ เรื่อง จงมีความรัก จงชอบและจงปฏิบัติตามในสิ่งที่เป็นความพึงพอพระทัยของพระองค์ และจงแสดงความเกลียดชังและความเป็นศัตรูต่อสิ่งที่จะนำมาซึ่งความโกรธกริ้วของพระองค์
บรรทัดฐานในการตัดสินใจและการเลือกของเรา คือพระบัญชาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่ใช่สภาพแวดล้อมหรือการคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ เพราะหากเรายึดเอาคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งสำหรับเราในการตัดสินใจหรือการเลือกที่จะเชื่อและปฏิบัติแล้ว อาจจะทำให้เราเบี่ยงเบนออกจากความถูกต้อง หันเหออกจากสัจธรรม และนำพาตัวเองย่างก้าวเข้าสู่ความผิดพลาดและความหายนะได้ในที่สุด
ในช่วงเริ่มต้นของการประกาศสงครามของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในนครมักกะฮ์ บรรดามุสลิมหรือผู้ที่ยอมรับอิสลามนั้นยังมีจำนวนน้อยมาก บางครั้งในจำนวนน้อยของมุสลิม และในจำนวนมากมายของบรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) และบรรดาผู้ปฏิเสธ (กุฟฟาร) ซึ่งเป็นพวกที่ต่อต้านอิสลาม ได้ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจแก่มุสลิมบางส่วนที่ยังมีความศรัทธา (อีหม่าน) ที่ไม่เข้มแข็ง พวกเขาคาดคิดว่าหากแนวทางของพวกตั้งภาคี (มุชริกีน) เป็นแนวทางที่หลงผิดและไร้สาระ แต่ทำไมจึงมีผู้ยึดถือปฏิบัติมากมายถึงเพียงนี้ และหากแนวทางของพวกเราคือสัจธรรม แล้วทำไมจึงมีผู้ปฏิบัติตามน้อยเหลือเกิน?
ด้วยเหตุนี้คัมภีร์อัลกุรอาน จึงได้ถูกประทานลงมายังท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เพื่อตอบโต้ความคิดที่ผิดพลาดของบุคคลเหล่านั้นว่า
وَإِن تُطِعْ أَكْثَرَ مَن فِي الْأَرْضِ يُضِلُّوكَ عَن سَبِيلِ اللَّهِ ۚ
“และหากเจ้าเชื่อฟังส่วนมากของผู้คนที่อยู่ในแผ่นดิน พวกเขาจะทำให้เจ้าหลงออกจากแนวทางของอัลลอฮ์” (1)
ในประโยคถัดไป คัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมคนส่วนใหญ่จึงหลงผิด นั้นเป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นมิได้ใช้ความคิดและสติปัญญาไตร่ตรอง แต่พวกเขาปฏิบัติตามการคาดเดาและการคาดคะเนของตนเอง <พวกเขาจะไม่ปฏิบัติตามสิ่งใดทั้งสิ้นนอกจากความนึกคิดเอาเอง และพวกเขาหาใช่อื่นใดไม่นอกจากจะคาดเดาเอาเองเท่านั้น
ในอีกตัวอย่างหนึ่งจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ชี้ให้เห็นว่า "คนส่วนใหญ่" ไม่สามารถเอามาเป็นบรรทัดฐานของความถูกต้องได้ โดยที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า
لَقَدْ جِئْنَاكُم بِالْحَقِّ وَلَٰكِنَّ أَكْثَرَكُمْ لِلْحَقِّ كَارِهُونَ
“โดยแน่นอนยิ่ง เราได้นำสัจธรรมมายังพวกเจ้า แต่ส่วนมากของพวกเจ้าเป็นผู้รังเกียจสัจธรรม” (2)
ในคำรายงานบทหนึ่ง ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวต่อสานุศิษย์คนหนึ่งของท่าน คือฮิชาม บินฮะกัม ว่า
يا هِشامُ لَوْ كانَ فِي يَدِكَ جَوْزَةٌ وَ قالَ النّاسَ [فِي يَدِكَ ] لُوْلُوْةٌ ما كانَ يَنْفَعُكَ وَ اَنْتَ تَعْلَمُ اَنَها جُوْزَةً وَ لَوْ كانَ فِي يَدِكَ لُوْلُوْةً وَ قالَ النّاسُ اَنَها جُوْزَةً ما ضَرَّكَ وَاَنْتَ تَعْلَمُ اَنَها لُوْلُوْةٌ
"โอ้ฮิชามเอ๋ย! หากในมือของเจ้าคือผลวอลนัท แต่ผู้คนกล่าวว่ามันคือไข่มุก (คำพูดของผู้นั้น) ก็ไม่อาจให้คุณประโยชน์ใดๆ แก่เจ้าได้ เพราะเจ้ารู้ดีว่ามันคือวอลนัท และมาตราว่าในมือเจ้าคือไข่มุก แต่ประชาชนกลับกล่าวว่ามันคือผลวอลนัท (คำพูดของพวกเขา) ก็ไม่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเจ้าได้ เพราะเจ้าเองรู้ดีว่ามันคือไข่มุก" (3)
ท่านอิมาม (อ.) ต้องการชี้ให้เห็นว่าหากเรามีบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีความรู้และความมั่นใจว่าอะไรดี อะไรไม่ดี รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ก็ไม่มีใครสามารถชักนำเราให้ไขว้เขวได้ จงทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าถูกต้อง อย่าใสใจว่าคนส่วนใหญ่ปฏิบัติอย่างไร? คิดอย่างไร? หรือชอบไหม? จงยึดเอาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ (ซบ.) เป็นบรรทัดฐาน แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เห็นชอบหรือยอมรับในสิ่งนั้นๆ ก็ตาม
ในคำสอนของท่านลุกมาน ฮะกีม (อ.) ที่มีต่อลูกชายของตนเอง ท่านกล่าวว่า
لا تُعَلِّق قَلبَكَ بِرِضَا النّاسِ ومَدحِهِم وذَمِّهِم ؛ فَإِنَّ ذلِكَ لا يَحصُلُ
"จงอย่าผูกหัวใจของเจ้าไว้กับความพึงพอใจของมนุษย์ การสรรเสริญเยินยอและการตำหนิของพวกเขา เพราะแท้จริงสิ่งนั้นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้"
เพื่อที่จะให้ลูกชายได้ประจักษ์แจ้งในคำพูดของตน ท่านลุกมานจึงพาลูกชายของตนออไปนอกบ้านพร้อมด้วยลาตัวหนึ่ง ท่านลุกมานได้ขึ้นขี่ลาและให้ลูกชายเดินตามลาไป เมื่อมาถึงชนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาต่างซุบซิบกันพูดว่า "ชายผู้นี้ช่างมีจิตใจที่หยาบกระด้างและไร้ความเมตตาต่อลูกน้อยของตนเองเหลือเกิน"
ต่อจากนั้นท่านได้ให้ลูกชายของตนเองขึ้นขี่ลาบ้าง และตัวเองเดินตามลาไป เมื่อมาถึงชนอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาต่างพากันพูดว่า "พ่อลูกคู่นี้เลวทั้งคู่ ความเลวของพ่อคือไม่อบรมสั่งสอนลูก และความเลวของลูกคือไม่เคารพและไม่มีความเมตตาต่อพ่อของตนเองที่แก่ชรา"
หลังจากนั้นทั้งสองพ่อลูกได้ขึ้นขี่หลังลาและมุ่งหน้าเดินทางต่อไป จนกระทั่งมาถึงยังชนอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาก็พากันพูด "คนสองคนนี้ช่างไร้ความเมตตาสิ้นดี ขึ้นขี่ลาพร้อมกันทีเดียวสองคน ช่างเป็นการทรมานสัตว์เหลือเกิน!"
ท้ายที่สุด ท่านลุกมาน ฮะกีม (อ.) และลูกชายก็ลงจากหลังลา โดยไล่ลาให้เดินไปและบุคคลทั้งสองก็เดินตามลาไป จนกระทั่งมาถึงชนอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาก็กล่าวว่า "คนสองคนนี้ช่างตลกเหลือเกิน มีพาหนะที่แสนดีเช่นนี้กลับไม่ขี่มัน แต่กลับเดินตามมันโดยไม่ใช้ประโยชน์"
เมื่อถึงจุดนี้ ท่านลุกมาน ฮะกีม จึงกล่าวกับลูกชายของตนเองว่า
تَرى في تَحصيلِ رِضاهُم حيلَةً لِمُحتالٍ
"เจ้าเห็นแล้วใช่ไหม! ในการแสวงหาความพึงพอใจจากมนุษย์นั้น ต้องอาศัยเล่ห์เหลี่ยมกลลวงของคนเจ้าเล่ห์" (4)
ฉะนั้นจงอย่าให้สภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิต หรือ "คนส่วนใหญ่" ชักนำเราออกจากความถูกต้อง อย่าคำนึงว่า "คนส่วนใหญ่" คิดอย่างไร? เชื่ออย่างไร? ปฏิบัติอย่างไร? หรือพึงพอใจในสิ่งที่เราเชื่อถือและปฏิบัติตามหรือไม่? หากเรามั่นใจว่าสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติคือความถูกต้อง เป็นคำสั่งของอัลลอฮ์ (ซบ.) และเป็นสิ่งที่จะทำให้พระองค์ทรงพึงพอพระทัย
เชิงอรรถ :
1- อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 116
2- อัลกุรอานบท อัซซุครุฟ โองการที่ 78
3- ตุหะฟุลอุกูล , หน้าที่ 386
4- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 13 , หน้าที่ 433
บทความโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่