จากมุมมองของเกียรติยศของประเทศชาติ การเจรจากับฝ่ายศัตรูที่ใช้ประโยชน์จากทุกเครื่องมือและวิธีการที่เป็นไปได้ในการโจมตีประเทศ (อิหร่าน) นั่น หมายถึงการยอมรับการกดขี่และการยอมจำนนต่อความอัปยศอดสู ในสถานการณ์เช่นนี้ การยอมรับการเจรจาจะไม่ใช่พฤติกรรมที่มีเกียรติ แต่ทว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของความนิ่งเฉย การโอนอ่อนและความอ่อนแอในการเผชิญกับศัตรูที่เหิมเกริมและโอหัง
ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลาม ในการพบปะกับบรรดาผู้บัญชาการกองทัพอากาศและการป้องกันทางอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เน้นย้ำอีกครั้งถึงการไม่เจรจากับสหรัฐอเมริกา และเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า "ไม่รอบคอบ ไม่ฉลาด และไร้เกียรติ" คำพูดนี้พิจารณาตามข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่พบเห็นมานานหลายทศวรรษเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านและประชาชนที่เป็นอิสระ การวิเคราะห์จุดยืนนี้แสดงให้เห็นว่าเหตุผลเชิงปัญญา เชิงประสบการณ์ และทางศาสนาล้วนเน้นย้ำถึงความไร้ตรรกะของการเจรจาเช่นนี้
ประการแรก จากมุมมองของเหตุผลทางการเมือง การเจรจาจะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายแสวงหาปฏิสัมพันธ์ที่ยุติธรรมและเที่ยงธรรม แต่อเมริกาได้พิสูจน์มาโดยตลอดว่าตนมีแนวทางที่หยิ่งผยอง และในการเจรจา อเมริกาไม่ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา แต่เพื่อกำหนดบังคับเจตจำนงของตน ประสบการณ์ของ JCPOA แสดงให้เห็นว่าแม้หลังจากการบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการแล้ว วอชิงตันก็ไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันใดๆ และในขณะเดียวกันก็เพิ่มการคว่ำบาตร ดังนั้นการทำซ้ำประสบการณ์นี้ไม่เพียงแต่ไม่ฉลาดเท่านั้น แต่ยังถือเป็นลักษณะหนึ่งของความไร้เดียงสาทางการเมืองด้วย
ประการที่สอง จากมุมมองของเกียรติยศแห่งชาติ การเจรจากับฝ่ายศัตรูที่ใช้ประโยชน์จากทุกเครื่องมือและวิธีการที่เป็นไปได้ในการโจมตีประเทศ (อิหร่าน) นั่นหมายถึงการยอมรับการกดขี่และการยอมจำนนต่อความอัปยศอดสู การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย การมีบทบาทในการปลุกระดมภายใน และการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่ไม่เป็นมิตรของอเมริกา การเจรจากับประเทศเช่นนี้โดยไม่ได้รับหลักประกันที่หนักแน่นชัดเจน หมายถึงการมองข้ามเลือดของบรรดาชะฮีดที่สละชีวิตของตนบนเส้นทางแห่งเกียรติยศและเอกราชของอิหร่าน
จากมุมมองทางศาสนา พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงเตือนไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานหลายครั้งเกี่ยวกับการไม่ไว้วางใจต่อบรรดาศัตรู ในโองการที่ 100 ของซูเราะฮ์ (บท) อัลบะเกาะเราะฮ์ พระองค์ทรงตรัสว่า :
أَوَ کُلَّمَا عَاهَدُوا عَهْدًا نَّبَذَهُ فَرِیقٌ مِّنْهُمْ
"เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาทำข้อตกลง กลุ่มหนึ่งจากพวกเขาก็จะทำลายข้อตกลงนั้น"
โองการนี้แสดงให้เห็นว่า บรรดาศัตรูที่ยาวนานของอิสลามไม่เคยยึดมั่นและปฏิบัติตามข้อตกลงของพวกเขา บนพื้นฐานเดียวกันกันี้ ท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี บิน อบีฏอลิบ (อ.) ก็ได้เตือนมาลิก อัชตัร ในจดหมายของท่านเช่นกัน โดยกล่าวว่า :
الْحَذَرَ کُلَّ الْحَذَرِ مِنْ مُقَارَبَةِ عَدُوِّکَ فِی طَلَبِ الصُّلْحِ فَإِنَّ الْعَدُوَّ رُبَّمَا قَارَبَ لِیَتَغَفَّلَ
"จงระมัดระวังอย่างสมบูรณ์จากการเข้าใกล้ของศัตรูของเจ้าเพื่อแสวงหาสันติภาพ เพราะบางที่ศัตรูก็เข้าใกล้เพื่อทำให้ (เรา) ตายใจ"
(ตุหะฟุลอุกูล, บะห์รอนี, เล่ม 1, หน้า 145)
คำสอนดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าการเจรจาโดยไม่มีหลักประกันที่มั่นคงเป็นการดำเนินที่ขัดต่อวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) และการมองการณ์ไกล
นอกจากนี้ ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศทั้งหลายที่ไว้วางใจอเมริกา ไม่เคยมีจุดจบที่สวยงาม ตัวอย่างของอิรัก ลิเบีย และอัฟกานิสถานเป็นข้อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนี้ ในประเทศเหล่านี้ เริ่มแรกอเมริกาเข้ามาด้วยสโลแกนของการเจรจาและการปฏิสัมพันธ์ แต่สุดท้ายก็ทำลายโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ประสบการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการไว้วางใจต่อรัฐบาลดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายต่าง ๆ ในระดับชาติที่ไม่อาจแก้ไขได้ นอกจากนี้ การเจรจากับสหรัฐอเมริกายังได้รับการหยิบยกอย่างต่อเนื่องด้วยเป้าหมายเพื่อกำหนดบังคับเจตจำนงและเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ความเป็นอิสระของสาธารณรัฐอิสลาม
จำเป็นต้องคำนึงว่าอเมริกาจะไม่ต้องการข้อตกลงที่จำกัดจากอิหร่าน แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในนโยบายระดับภูมิภาค การทหาร และแม้แต่วัฒนธรรม คำร้องขอเหล่านี้อยู่นอกเหนือการเจรจาปกติ และในทางปฏิบัติแล้วคล้ายคลึงกับการยอมจำนนของประเทศหนึ่งต่อมหาอำนาจจอมอหังการ์ ในสภาพเงื่อนไขเช่นนี้ การยอมรับการเจรจาจะไม่ใช่พฤติกรรมที่มีเกียรติ แต่เป็นลักษณะหนึ่งของการนิ่งเฉย โอนอ่อนและความอ่อนแอในการเผชิญกับศัตรูที่เหิมเกริมและโอหัง
ท่านผู้นำการปฏิวัติยังเน้นย้ำถึงความจริงที่ว่าการเจรจาจะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของศักดิ์ศรีและอำนาจ ในขณะที่อเมริกาพยายามใช้การคว่ำบาตรและการกดดันเป็นกลไกในการเจรจา การเจรจาใด ๆ ในเงื่อนไขดังกล่าวจะหมายถึงการยอมรับตรรกะของการบีบบังคับ ดังนั้น การอาศัยอำนาจภายใน เศรษฐกิจต่อต้าน และอำนาจของภูมิภาคจึงเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดกว่าการเจรจากับศัตรูซึ่งเป้าหมายไม่ใช่การปฏิสัมพันธ์ แต่ยอมจำนน
โดยรวมแล้ว ดังที่ท่านผู้นำการปฏิวัติชี้ว่า การเจรจากับอเมริกานั้นไม่ชาญฉลาดหรือไร้เกียรติ เพราะการกระทำนี้ขัดต่อตรรกะและประสบการณ์ในอดีต และขัดแย้งกับคำสอนทางศาสนาและคำแนะนำของบรรดาผู้นำศาสนา การยืนหยัดเผชิญหน้ากับการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่แห่งชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นหน้าที่ทางศาสนาที่อัลกุรอานและอะฮ์ลุลบัยต์ข (อ.) เน้นย้ำอยู่เสมอ
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่