กะอ์บะฮ์ คือตัวแทนของอรัช (บัลลังก์) แห่งอัลลอฮ์ บนหน้าแผ่นดิน ซึ่งตั้งอยู่ ณ บัยตุลมะอ์มูร การเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ ประหนึ่งการเดินเวียนรอบอรัชของพระองค์ของบรรดามลาอิกะฮ์ อรัชได้ถูกประทานลงมาในรูปของบัยตุลมะอ์มูร และบัยตุลมะอ์มูรก็มาในรูปของกะอ์บะฮ์เพื่อปรากฏเป็นรูปลักษณ์ตามธรรมชาติแก่มนุษย์
อิรฟานหมายถึงอะไร
คำว่า “อิรฟาน”และคำว่า “มะอ์รีฟัต” ถ้าพิจารณาในแง่ของคำแล้ว ทั้งสองมีความหมายเดียวกันนั่นคือ การรู้จัก ซึ่งการรับรู้นี้สามารถทำได้ซึ่งอาจผ่าน ความรู้สึก สติปัญญา เหตุผล และจิตใจ ดังนั้นจึงไม่มีความแตกต่างระหว่างประเภทของความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดสามารถเรียกได้ว่าเป็น อิรฟาน
ส่วนคำว่า “อิรฟาน” ในมิติของรหัสยะ หมายถึง การรับรู้พิเศษ ซึ่งไม่ได้ผ่านขบวนการความรู้สึก การรับรู้ประสบการณ์ สติปัญญา หรือเหตุผล ทว่าผ่านสัญชาตญาณภายใน และการรับสัญญาณภายในจิต สัญชาตญาณการรับรู้ของหัวใจ และการรับรู้ภายในนั้น จะเกิดขึ้นโดยตรงและเข้าใจในทันทีโดยปราศจากสื่อ จะรับรู้โดยตรงด้วยตัวเอง ในทางปรัชญาเรียกสิ่งนี้ว่า อิลมุลฮ์ฎูรี “ความประจักษ์แจ้ง” ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
อิลมุลฮ์ฏูรี ต่างไปจาก อิลมุฮ์ซูลี หมายถึงการเรียนรู้เป็นขั้นตอน อิลมุลฮ์ฎูรี ไม่ได้เกิดจากการทดลอง ไม่ได้ผ่านการวิจัย ความคิด การพิสูจน์ ความคิดในเชิงเหตุผล หรือแนวคิดทางจิต ทว่าอิรฟานหมายถึงความประจักษ์แจ้งในพระเจ้า ซึ่งได้มาจากการขัดเกลา การทำให้จิตวิญญาณบริสุทธิ์ การปรับแต่งจิตวิญญาณ และความรู้สึกภายในของจิตวิญญาณ ซึ่งความรู้แบบอิรฟานไม่ได้เกิดกับทุกคนเสมอไป ผู้ที่จะมีความรู้นี้ได้อันดับแรกสิ่งที่เขาจะต้องทำคือ การขัดเกลาจิตวิญญาณ และการยกระดับจิตใจให้สูงส่ง เมื่อมีความสำรวมตนอยู่ในระดับจริงแท้ และจิตมีความพร้อมแล้ว อัลลอฮ์ (ซบ.) จะเป็นผู้สอนสั่งวิชาการแก่เขา ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า
“จงสำรวมตนต่ออัลลอฮ์พระองค์จะเป็นผู้สอนความรู้แก่เจ้า”
ผู้มีความเคร่งครัดวิชาอิรฟาน เรียกว่า “อาริฟ” หมายถึง ผู้จาริกจิตวิญญาณ
บทความนี้จึงขอนำเสนอ กะอ์บะฮ์ ในมิติของอิรฟาน (รหัสยะ)
กะอ์บะฮ์ คือ สัญลักษณ์ของอรัชของพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน
อัลลอฮ์(ซบ.) ทรงประสงค์ที่จะสร้างมนุษย์ให้บริสุทธิ์ดั่งมลาอิกะฮ์ พระองค์จึงให้ผลงานของมลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) ปรากฏในตัวมนุษย์ ดังเช่นที่พระองค์มีบัญชาให้มนุษย์ถือศีลอด
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดถูกกำหนดแล้วสำหรับพวกเจ้า ดั่งที่ถูกกำหนดสำหรับบรรดาก่อนหน้าพวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้สำรวมตนจากความชั่ว” (1)
การถือศีลอดก็เพื่อให้มนุษย์หลีกเลี่ยงความสุขตามธรรมชาติ ในแง่หนึ่งมนุษย์จึงเหมือนบรรดามลาอิกะฮ์ ที่ระวังการกิน การดื่ม และการกระทำเยี่ยงเดรัจฉาน พระองค์จึงตรัสในตอนท้ายโองการว่า “เพื่อพวกเจ้าจะได้สำรวมตน” ขณะเดียวกันพระองค์มีบัญชาให้มนุษย์เดินเวียนรอบวิหารกะอ์บะฮ์ ซึ่งเทียบเท่ากับบัยตุลมะอ์มูร ณ อรัช (บัลลังก์) ของพระองค์ เนื่องจากบรรดามลาอิกะฮ์ได้เวียนว่ายรอบอรัชของอัลลอฮ์เพื่อรำลึกถึงอัลลอฮ์ ทำการสรรเสริญด้วยพระนามของพระองค์ และวิงวอนขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ให้กับคนอื่น และอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงสร้างกะอ์บะฮ์ ให้มนุษย์บนหน้าแผ่นดิน เพื่อให้มนุษย์ผู้มีศรัทธาเคร่งครัด เดินเวียนรอบ พร่ำรำลึกถึงพระองค์ และวิงวอนขออภัยโทษให้คนอื่น กะอ์บะฮ์ เขตหวงห้าม ฮะรัม บ่อน้ำซัมซัม หินดำ รุกยะมานีแต่ละอย่างล้วนเป็นสัญลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของอัลลอฮ์ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านั้นถือว่ามีบทบาทสูงมากต่อการรู้จักพระองค์
รายงานฮะดีษกล่าวว่า “กะอ์บะฮ์” คือตัวแทนของอรัชบนหน้าแผ่นดิน ซึ่งตั้งอยู่ ณ บัยตุลมะอ์มูร การเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ ประหนึ่งการเดินเวียนรอบอรัชของพระองค์โดยบรรดามลาอิกะฮ์ อรัชได้ถูกประทานลงมาในรูปของบัยตุลมะอ์มูร และบัยตุลมะอ์มูรก็มาในรูปของกะอ์บะฮ์เพื่อปรากฏเป็นรูปลักษณ์ตามธรรมชาติแก่มนุษย์
รายงานฮะดีษกล่าวว่า กะอ์บะฮ์ คือตัวแทนของ บัยตุลมะอ์มูร และบัยตุลมะอ์มูรคือ ตัวแทนของอรัช ในความหมายคือ ถ้าหากฮุจญาตคนหนึ่งเขาเดินเวียนรอบ (เฏาะวาฟ) กะอ์บะฮ์ ด้วยคุณความดีที่สมควรจะเป็น เท่ากับเขาได้ขึ้นไปสู่ บัยตุลมะอ์มูร และเมื่อเขาขึ้นไปถึงบัยตุลมะอ์มูรได้ แสดงให้เห็นว่าเขาได้ปฏิบัติฮัจญ์อิบรอฮีมสมบูรณ์แบบแล้ว และเขาได้ไปถึงยังอรัชของอัลลอฮ์ดังฮะดีษที่กล่าวว่า “หัวใจของผู้ศรัทธาคือ อรัชเราะฮ์มาน”
กะอ์บะฮ์คือ บ้านแห่งอิสรภาพ
เพื่อให้คุณสมบัติของคำว่า อิสรภาพ หรือการมีอิสรภาพ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของบรรดามลาอิกะฮ์ปรากฎในตัวมนุษย์ (เนื่องจากบรรดามลาอิกะฮ์ เป็นผู้มีอิสระจากมารยาทต่ำทราม อบายมุข กิเลสตัณหาและความชั่วทั้งหลาย) ดังนั้น อัลลอฮ์(ซบ.) จึงแนะนำบัยตุลลอฮ์ของพระองค์ว่า เป็นบ้านแห่งอิสรภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เดินเวียนรอบ (เฏาะวาฟ) กะอ์บะฮ์อย่างมีอิสระ ซึ่งความหมายของเดินเวียน (เฏาะวาฟ) รอบๆ บ้านที่เป็นอิสระก็คือ การได้รับอิสรภาพ และการเรียนรู้จักความเป็นอิสระ อัลกุรอานแนะนำกะอ์บะฮ์ว่าเป็นบ้านแห่งอิสรภาพไว้ 2 ที่ด้วยกันคือ
وَلْيَطَّوَّفُوا بِالْبَيْتِ الْعَتِيقِ
“และจงให้พวกเขาเวียนรอบบ้านแห่งอิสระ (กะอ์บะฮ์)” (2)
ثُمَّ مَحِلُّهَا إِلَى الْبَيْتِ الْعَتِيقِ
“สถานที่ (เชือดพลี) ของมันบริเวณบ้านแห่งอิสระ” (3)
คำว่า “อะตีก” หมายถึง อิสระ นั่นหมายถึงว่าบ้านหลังนี้เป็นอิสระ ต่างไปจากมัสญิดอื่นๆ
ซึ่งบางครั้งมัสญิดหลังนั้นอาจเป็นทรัพย์สินของใครบางคน ขณะที่บัยตุลลอฮ์ ไม่เคยตกเป็นกรรมสิทธิ์หรือตกเป็นทรัพทย์สินของใคร และนอกจากอัลลอฮ์แล้วไม่มีมีผู้ใดมีสิทธิ์เป็นเจ้าของบัยตุลลอฮ์ กะอ์บะฮ์คือบ้านที่เป็นอิสระจากการถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง มิใช่ทรัพย์สินใของผู้ใด หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหากแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น ท่านจึงสามารถเดินเวียนรอบ (เฏาะวาฟ) ได้อย่างอิสระ เพื่อจะได้เข้าใจถึงความเป็นอิสระ ไม่ทำตัวให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร หรือตกเป็นทาสความคิดของผู้ใด หรือตกเป็นทาสอารมณ์แห่งตน ผู้คุ้มครองช่วยเหลือท่านจะต้องมิใช่ผู้ใดอื่นนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น
กะอ์บะฮ์ คือ “บ้านซึ่งไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร และไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ” (4 )
การเดินเฏาะวาฟรอบกะอ์บะฮ์
บ่งบอกให้เห็นถึงความเป็นอิสระของมนุษย์ และเขาจะต้องไม่ทำตัวให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ หรือเป็นทาสของใคร ทั้งความคิดและการกระทำ อย่าปล่อยให้ผู้ใดมาครอบครองตัวเราทั้งภายนอกและภายใน อย่าปล่อยให้ตัวเองตกเป็นทาสของอำนาจฝ่ายต่ำ คนโลภคือ ผู้ตกเป็นทาสของอำนาจฝ่ายต่ำ เขาได้ทำตัวให้เป็นทาสของปีศาจแห่งกิเลส เขาจึงเป็นอันตรายต่อสังคม และศาสนา
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ทาสแห่งความปรารถนา ตกต่ำยิ่งกว่าทาสที่ถูกซื้อมาเสียอีก” (5)
ทาสที่ถูกซื้อมามีเกียรติ ส่วนมนุษย์ที่ตกเป็นทาสอารมณ์นั้นต่ำต้อย การเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์จะทำให้มนุษย์หลุดพ้น และเป็นอิสระจากกิเลสตัณหา โมหะ ราคะ และอำนาจฝ่ายต่ำ ดังนั้นมนุษย์ที่หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา และความโกรธกริ้วจึงกล่าวได้ว่าเขาอยู่ในหมู่มลาอิกะฮ์ เนื่องจากมลาอิกะฮ์ไม่มีคุณลักษณะเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อใบหม่อนกลายเป็นเส้นไหมชั้นดีได้ฉันใดมนุษย์ที่ผ่านการอบรมก็สามารถเทียบชั้นมลาอิกะฮ์ได้ฉันนั้น ฮัจญ์ จึงเป็นพิธีกรรมที่ดีที่สุดที่จะทำให้มนุษย์เข้าสู่ชั้นของมลาอิกะฮ์
ดังนั้นถ้าบุคคลหนึ่งเดินทางไปซิยารัตกะอ์บะฮ์ แล้วเขายังไม่สะอาด ก็ถือว่าฮัจญฺของเขาไร้ค่า ถ้าบุคคลหนึ่งเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ ครองอิฮ์รอมมุ่งหน้าไปสู่บัยตุลอะตีก แต่ตัวเขายังไม่เป็นอิสระ ถือว่าฮัจญ์ของเขาไร้ค่า เนื่องจากบาปกรรม และโซ่ตรวนแห่งกิเลสมิได้ถูกปลดเปลื้องออกไปจากเขา
คำกล่าวของอิมามซอดิก (อ.) ที่กล่าวว่า “การมองไปที่กะอ์บะฮ์คือ อิบาดะฮ์” (6 ) ก็เนื่องจากว่า กะอ์บะฮ์ เป็นตัวแทนของอรัชแห่งอัลลอฮ์และเป็นแหล่งกำเนิดของความสะอาดทั้งปวง บ้านที่มีความสง่างามแห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระ ผู้ที่เดินเวียนรอบเขาจึงอิสระจากการเป็นข้าทาสบริพานของบุคคลอื่น ที่นอกเหนือจากอัลลอฮ์ ฉะนั้น การมองไปยังแหล่งกำเนิดที่สะอาดจึงเป็น อิบาดะฮ์ การมองไปยังแหล่งกำเนิดเสรีภาพเป็น อิบาดะฮ์ และการมองไปยังตัวแทนของอรัชแห่งอัลลอฮ์ก็เป็น อิบาดะฮ์
เชิงอรรถ
1- อัลกุรอานบท บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 183
2- อัลกุรอานบท ฮัจญ์ โองการที่ 29
3- อัลกุรอานบท ฮัจญ์ โองการที่ 33
4- วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่ม 9 หน้า 347
5- ฆุรรอรุลฮิกัม ฮะดีษที่ 6298
6- บิฮารุลอันวาร เล่ม 99 หน้า 65
บทความโดย : เชค ดร. มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่