ข้อบกพร่อง 3 ประการ ของมนุษย์ที่เป็นโอกาสของหมู่มาร
Powered by OrdaSoft!
No result.

ข้อบกพร่อง 3 ประการ ของมนุษย์ที่เป็นโอกาสของหมู่มาร

จุดอ่อนและข้อบกพร่องที่ร้ายแรงที่สุดของตัวเราเอง เนื่องจากลักษณะต่างๆ จะเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์มองเห็นจุดแข็งหรือจุดเด่นในตัวเองเป็นเรื่องใหญ่โต และปรารถนาที่จะให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญตนเองในสิ่งเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งคนที่มีความหลงลำพองตน อาจเป็นไปได้ถึงขั้นที่ว่า มองเห็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของตนเองเป็นจุดแข็งและเป็นจุดเด่นเหนือกว่าผู้อื่น จะเปิดโอกาสให้ชัยฎอน (มารร้าย) ศัตรูที่เก่าแก่ของเรา จะใช้เราเป็นเครื่องเล่นของมัน

    ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า


وَإِیَّاكَ وَالاْعْجَابَ بِنَفْسِكَ، وَالثِّقَةَ بِمَا یُعْجِبُكَ مِنْهَا، وَحُبَّ الاْطْرَاءِ فَإِنَّ ذلِكَ مِنْ أَوْثَقِ فُرَصِ الشَّیْطَانِ فِی نَفْسِهِ، لِـیَمْحَقَ مَا یَکُونُ مِنْ إِحْسَانِ الْـمُحْسِنِینَ

“เจ้าจงระมัดระวังจากการหลงลำพองตน การเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำให้เจ้าเกิดความลำพองตน และความปรารถนาอันแรงกล้าต่อการสรรเสริญเยินยอ เพราะแท้จริงสิ่งนั้นคือโอกาสที่ชัยฏอน (มารร้าย) มีความมั่นใจที่สุด ที่จะทำลายความดีงามของผู้ที่กระทำความดี” (1)

      ท่ามกลางลักษณะต่างๆ ของมนุษย์ มีลักษณะจำนวนหนึ่งที่มนุษย์ส่วนมากมีเหมือนกัน อย่างเช่น ความชอบหรือความไม่ชอบในสิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่น ความชื่นชอบที่จะให้ผู้อื่นยกย่องและสรรเสริญเยินยอตัวเอง หรือความไม่ชอบที่ใครจะมาตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง หรือตัวอย่างเช่น การที่เรามีความเชื่อมั่นในความสามารถต่างๆ ของตนเองอย่างเต็มที่ และหลงคิดว่าตัวเองมีความเหนือกว่าและดีกว่าคนอื่นๆ ในทุกด้านและในทุกเรื่อง โดยหลงลืมไปว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นลักษณะที่ไม่ดีเท่านั้น ทว่ามันคือจุดอ่อนและข้อบกพร่องที่ร้ายแรงที่สุดของตัวเราเอง เนื่องจากลักษณะต่างๆ เหล่านี้จะเปิดโอกาสให้ชัยฎอน (มารร้าย) ศัตรูที่เก่าแก่ของเรา จะใช้เราเป็นเครื่องเล่นของมัน

     ท่านอิมามอะลี (อ.) มีคำพูดที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ชัดเจน ส่วนหนึ่งจากสาส์นที่ท่านส่งถึงมาลิก อัชตัร ผู้ปกครองอียิปต์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งในเนื้อหาส่วนนี้ท่านได้ชี้ถึงบางประเด็น โดยกล่าวว่า

وَإِیَّاکَ وَالاِْعْجَابَ بِنَفْسِکَ، وَالثِّقَةَ بِمَا یُعْجِبُکَ مِنْهَا، وَحُبَّ الاِْطْرَاءِ 

“เจ้าจงระมัดระวังจากการหลงลำพองตน การเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำให้เจ้าเกิดความลำพองตน และความปรารถนาอันแรงกล้าต่อการสรรเสริญเยินยอ”

    ในที่นี้ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เน้นย้ำไปที่จุดอ่อนสามประการจากบรรดาจุดอ่อนและข้อบกพร่องทั้งหลายของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่เป็นผู้นำหรือมีบทบาทสำคัญในสังคมมักจะประสบกับมัน นั่นคือ

1.ความหลงตนเอง
2. ความเชื่อมั่นในจุดแข็งหรือสิ่งที่ตนเองคิดว่ามีเหนือผู้อื่น
3. ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ผู้อื่นยกย่องและสรรเสริญเยินยอตนเอง

การที่มนุษย์มักจะประสบกับลักษณะเช่นนี้ เกิดจากธรรมชาติและสัญชาติญาณของความรักในตัวเอง (ฮุบบุซซาต) โดยปราศจากการควบคุมให้เกิดความพอดี ความรักและความหลงในตัวเองดังกล่าวนี้ จะเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์มองเห็นจุดแข็งหรือจุดเด่นในตัวเองเป็นเรื่องใหญ่โต มีความมั่นใจอย่างสูงในสิ่งเหล่านั้น และปรารถนาที่จะให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญตนเองในสิ่งเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งคนที่มีความหลงลำพองตน อาจเป็นไปได้ถึงขั้นที่ว่า มองเห็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของตนเองเป็นจุดแข็งและเป็นจุดเด่นเหนือกว่าผู้อื่น และปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเยินยอสรรเสริญตนในสิ่งดังกล่าว ลักษณะหรือสภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์

     ด้วยเหตุนี้ในคำพูดส่วนถัดไป ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงอธิบายถึงสาเหตุของการห้ามอย่างรุนแรงเกี่ยวกับลักษณะเหล่านี้ โดยที่ท่านกล่าวว่า

فَإِنَّ ذلِكَ مِنْ أَوْثَقِ فُرَصِ الشَّیْطَانِ فِی نَفْسِهِ، لِـیَمْحَقَ مَا یَکُونُ مِنْ إِحْسَانِ الْـمُحْسِنِینَ

“เพราะแท้จริงสิ่งนั้นคือโอกาสที่ชัยฏอน (มารร้าย) มีความมั่นใจที่สุด ที่จะทำลายความดีงามของผู้ที่กระทำความดี

     เหตุผลของมันเป็นสิ่งที่ชัดเจนยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่มนุษย์มองเห็นการกระทำต่างๆ ของตนเองเป็นเรื่องใหญ่โตและสำคัญ และปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นสรรเสริญเยินยอ แน่นอนยิ่ง เขาจะประสบกับลักษณะอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ การโอ้อวด (ริยาอ์) ซึ่งเราทุกคนทราบดีว่า การโอ้อวดนั้นคือตัวบั่นทอนและทำลายการกระทำ (อะมั้ล) และความดีงามต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงตอบรับอะมั้ลใดๆ นอกจากสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์เพียงเท่านั้น ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

لایقبل الله عملا فیه مقدار ذرة من ریاء

“อัลลอฮ์จะไม่ทรงตอบรับอะมั้ล (การกระทำ) ใดที่มีการโอ้อวด แม้เพียงธุลีเดียว (2)

     ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อื่นๆ ก็ได้ตำหนิและห้ามลักษณะเหล่านี้ไว้อย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า

قَالَ إِبْلِیسُ لَعَنَهُ اللهُ لِجُنُودِهِ إِذَا اسْتَمْکَنْتُ مِنِ ابْنِ آدَمَ فِی ثَلاَث لَمْ أُبَالِ مَا عَمِلَ فَإِنَّهُ غَیْرُ مَقْبُول مِنْهُ إِذَا اسْتَکْثَرَ عَمَلَهُ وَنَسِیَ ذَنْبَهُ وَدَخَلَهُ الْعُجْبُ

“อิบลีส (ของอัลลอฮ์ทรงสาปแช่งมัน) ได้กล่าวกับบรรดาไพร่พลของมันว่า เมื่อใดก็ตามที่ฉันมีอำนาจครอบงำเหนือลูกหลานของอาดัมคนใดในสามประการต่อไปนี้แล้ว ฉันก็จะไม่สนใจอีกต่อไปว่าเขาจะทำอะไร เพราะ (การกระทำนั้นๆ) มันจะไม่ถูกตอบรับ นั่นคือ 1) เมื่อเขามองเห็นการกระทำของตนว่ามากมาย (ใหญ่โต) 2) เมื่อเขาหลงลืมความผิดบาปของตน และ 3) เมื่อความหลงลำพองตนได้เข้ามาสู่ตัวเขา” (3)

คนหลงตนเองคือคนโง่เง่า (อะห์มัก)

    ในคำรายงานอีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า อีซา บุตรของมัรยัม (อ.) ได้กล่าวว่า “ฉันได้รักษาผู้ป่วยจำนวนมากมาย และฉันก็ทำให้พวกเขาได้รับการเยียวยาจากความเจ็บป่วยโดยการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดมาโดยกำเนิด คนเป็นโรคเรื้อน ฉันก็รักษาให้หายได้ด้วยการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า แต่คน “อะห์มัก” (คนโง่เง่า) ไม่ว่าฉันจะเยียวยารักษาเขาอย่างไร ฉันก็ไม่สามารถเยียวยารักษาเขาได้

     มีผู้กล่าวกับท่านว่า “โอ้ท่านรูฮุลลอฮ์! อะห์มัก (คนโง่เง่า) นั้นคือใคร 
ท่านศาสดาอีซา (อ.) ตอบว่า “คนที่หลงตนเองและยึดถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ และถือว่าความดีงามทั้งมวลเป็นของตนเองเพียงเท่านั้น สิทธิทั้งมวลเป็นของตนเองเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิใดๆ เหนือเขา คนจำพวกนี้คือคนโง่เง่า ที่ไม่สามารถเยียวยารักษาให้หายได้” (4)

     และในฮะดีษอีกบทหนึ่งจากท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

إِنَّ الاِْعْجَابَ ضِدُّ الصَّوَابِ وَآفَةُ الاَْلْبَاب

“แท้จริงความหลงตนเอง คือศัตรูของทัศนะความเห็นที่ถูกต้อง และเป็นโรคร้ายที่บั่นทอนสติปัญญา” (5)


แหล่งอ้างอิง :


1) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายที่ 35
2) อัลมะฮัจญะตุ้ลบัยฎออ์ เล่มที่ 6 หน้าที่ 141
3) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 69 หน้าที่ 315 ฮะดีษที่ 15
4) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 69 หน้าที่ 320 ฮะดีษที่ 35
5) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายที่ 31


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 830 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24781556
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
31464
52431
208938
24215661
1047221
1618812
24781556

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 17:47:55