การสุญูดถือเป็นสภาพที่ดีที่สุดและใกล้ชิดที่สุดของบ่าวที่มีต่อพระผู้สร้างของเขา ในการสุญูดมนุษย์จะใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าในสภาพอื่นใดทั้งหมด และเป็นสื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะยิ่งใหญ่ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์ สภาพนี้เป็นเครื่องแสดงถึงการยอมศิโรราบต่อพระผู้เป็นเจ้า และการทำตัวมันเองให้เหมือนกับสิ่งถูกสร้างทั้งมวลของพระองค์
وَلِلَّهِ يَسْجُدُ مَا فِى ٱلسَّمَـٰوَٰتِ وَمَا فِى ٱلْأَرْضِ مِن دَآبَّةٍۢ وَٱلْمَلَـٰٓئِكَةُ وَهُمْ لَا يَسْتَكْبِرُونَ
"และสิงที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน ที่เป็นสัตว์โลกทั้งหลายและมะลาอิกะฮ์จะสุญูดต่ออัลลอฮ์ โดยที่พวกมันจะไม่หยิ่งผยอง"
(อัลกุรอานบทอันนะห์ลิ โองการที่ 49)
อะไรคือวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของการสุญูดสองครั้งในแต่ละร็อกอัต?
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวเกี่ยวกับการสุญูดสองครั้งในแต่ละร็อกอัตของการนมาซว่า : "การสุญูดครั้งแรกหมายความว่า ฉันมาจากดิน และการยกศีรษะจากการสุญูด หมายถึงการเกิดขึ้นมาจากดิน การสุญูดครั้งที่สองหมายถึง การตายและการกลับไปสู่สภาพความเป็นดิน และการยกศีรษะขึ้นจากมันหมายถึง การฟื้นคืนชีพขึ้นจากหลุมศพในวันกิยามะฮ์และการถูกรวมในวันแห่งทุ่งมะห์ชัร" (บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 82, หน้า 139)
การสุญูดทั้งสองนี้คือสองตัวอย่าง (มิศดาก) หลักของโองการนี้คือ :
مِنْهَا خَلَقْنَـٰكُمْ وَفِيهَا نُعِيدُكُمْ وَمِنْهَا نُخْرِجُكُمْ تَارَةً أُخْرَىٰ
"เราได้บังเกิดพวกเจ้าขึ้นมาจากดิน และเราจะให้พวกเจ้ากลับไปเป็นดิน และเราจะนำพวกเจ้าออกจากดินอีกครั้ง"
(อัลกุรอานบทฏอฮา โองการที่ 55)
เราจะกล่าวซิกร์หรือดุอาอ์อะไรในขณะสุญูด ?
พื้นฐานหลักของการสุญูดคือการกล่าว «سُبْحَانَ اللّهِ» (ซุบฮานัลลอฮ์) "มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮ์" สามครั้ง หรือกล่าวหนึ่งครั้งว่า «سُبْحانَ رَبِّی الأعْلَی وَبِحَمْدِهِ» (ซุบฮานะ ร็อบบิยัลอะอ์ลา วะ บิฮัมดิฮ์) "มหาบริสุทธิ์แด่พระผู้อภิบาลผู้ทรงสูงส่งของข้าพระองค์ และมวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่พระองค์" และหลังจากนั้นจะเป็นการดีกว่าหากเราจะกล่าวซอลาวาต จากนั้นหากท่านประสงค์ก็ให้ขอดุอาอ์อื่นด้วยตามที่ปรารถนา
ดุอาอ์ในสุญูดครั้งสุดท้ายของการนมาซ
ในสุญูดครั้งสุดท้ายของการนมาซ หลังจากการกล่าว "ซิกร์" ของสุญูดแล้ว เป็นมุสตะฮับ (สิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ) ให้เราวิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ บางส่วนจากดุอาอ์มะษูร คำวอนขอที่มีรายงานมาจากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ที่ใช้ในการวิงวอนขอในสุญูดครั้งสุดท้ายของการนมาซ มีดังนี้ :
یَا لَطِیْفُ إِرْحَمْ عَبْدَكَ الْضَعِیْفَ، یَا جَلِیْلُ إِرْحَمْ عِبْدَكَ الذَّلِیْلَ
คำอ่าน : ยา ละฏีฟ อิรฮัม อับดะกัฎฎออีฟ, ยา ญะลีล อิรฮัม อับดะกัซซะลีล
ความหมาย : “ข้าแต่พระผู้ทรงกรุณา โปรดทรงเมตตาบ่าวผู้อ่อแอของพระองค์ด้วยเถิด ข้าแต่พระผู้ทรงยิ่งใหญ่ โปรดทรงเมตตาบ่าวผู้ต่ำต้อยของพระองค์ด้วยเถิด”
یَا وَلِيَّ الْعَافِیَةِ، أَسَئلُكَ الْعَافِیَةَ، عَافِیَةَ الدِّیْنِ وَ الدُّنْیَا وَ الْآخِرَةِ، بِجَاهِ مُحَمَّـدٍ وَ عِتْرَتِهِ الطَّاهِرَةِ صَلَوَاتُكَ عَلَیْهِمْ أَجْمَعِیْنَ
คำอ่าน : ยา วะลียัลอาฟิยะฮ์, อัสอะลุกัลอาฟิยะฮ์, อาฟิยะตัดดีนิ วัดดุนยา วัลอาคิเราะฮ์, บิญาฮิ มุฮัมมะดิน วะ อิตเราะติฏฏอฮิเราะฮ์, ซอละวาตุกะ อะลัยฮิ อัจมะอีน
ความหมาย : “โอ้ผู้ทรงเป็นเจ้าของแห่งความสมบูรณ์ ข้าพระองค์วอนขอต่อพระองค์ซึ่งความสมบูรณ์ในศาสนา ในโลกนี้และในปรโลก ด้วยเกียรติยศของ (ศาสดา) มุฮัมมัดและเชื้อสายอันบริสุทธิ์ของท่าน ขอพระองค์ทรงประทานพรแด่ท่านเหล่านั้นทั้งหมดด้วยเทอญ”
أَللّهُمَّ إِنِّيْ أَسْأَلُكَ الرّاحَةَ عِنْدَ الْمَوْتِ وَ الْمَغْفِرَةِ بَعْدَ الْمَوْتِ وَ الْعَفْوَ عِنْدَ الْحِسَابِ
คำอ่าน : อัลลฮุมมะ อินนี อัสอะลุกัรรอหะตะ อินดัลเมาต์, วัลมัฆฟิเราะตะ บะอ์ดัลเมาต์, วัลอัฟวะ อินดัลหิซาบ
ความหมาย : “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงข้าพระองค์วอนขอต่อพระองค์ความง่ายดายในช่วงเวลาแห่งความตาย และการอภัยโทษภายหลังจากความตาย และกรให้อภัยในขณะการคิดบัญชี (แห่งการงาน)”
یَا مَنْ لَهُ الدُّنْیَا وَ الْآخِرَةُ اِرْحَمْ مَنْ لَیْسَ لَهُ الدُّنْیَا وَ الْآخِرَةَ
คำอ่าน : ยา มัน ละฮุดดุนยา วัลอาคิเราะฮ์, อิรฮัม มัน ลัยสะ ละฮุดดุนยา วัลอาคิเราะฮ์
ความหมาย : “โอ้ผู้ซึ่งโลกนี้และปรโลกเป็นของพระองค์ โปรดทรงเมตตาผู้ซึ่งโลกนี้และปรโลกไม่ใช่ของเขา”
رَبِّ اغْفِرْ وَ ارْحَمْ وَ تَجَاوَزْ عَمَّا تَعْلَمُ اِنَّكَ اَنْتَ الْأَعَزُّ الْأَجَلُّ الْأَكْرَمُ
คำอ่าน : ร็อบบิฆฟิร วัรฮัม, วะตะญาวัซ อัมมา ตะอ์ลัม, อินนะกะ อันตัลอะอัซซุลอะญัลลุลอักร็อม
ความหมาย : “ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดอภัยโทษให้ข้าพระองค์ โปรดเมตตาข้าพระองค์ และโปรดข้ามผ่าน (อย่าเอาโทษ) ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงรู้ แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงใจบุญเป็นที่สุด”
يَا خَيْرَ الْمَسْئُولِينَ وَ يَا خَيْرَ الْمُعْطِينَ ارْزُقْنِي وَ ارْزُقْ عِيَالِيْ مِنْ فَضْلِكَ الْوَاسِعِ فَإِنَّكَ ذُو الْفَضْلِ الْعَظِيْمِ
คำอ่าน : ยา ค็อยร็อลมัสอูลีน, วะ ยา ค็อยร็อลมุอ์ฏีน, อุรซุกนี วัรซุกอิยาลี มิน ฟัฎลิกัลวาซิอ์, ฟะอินนะกะ ซุลฟัฎลิลอะซีม
ความหมาย : “โอ้ผู้ทรงถูกวอนขอที่ดีที่สุด และโอ้ผู้ทรงให้ที่ดีที่สุด โปรดประทานปัจจัยดำรงชีพแก่ข้าพระองค์ และแก่ผู้ที่อยู่ในการดูแล (ครอบครัว) ของข้าพระองค์ จากความโปรดปรานที่กว้างขวางของพระองค์ เพราะแท้จริงพระองค์ทรงเป็นเจ้าของความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่”
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่