ความศรัทธาที่ทรงคุณค่าในทัศนะคัมภีร์อัลกุรอาน
Powered by OrdaSoft!
No result.

ความศรัทธาที่ทรงคุณค่าในทัศนะคัมภีร์อัลกุรอาน

     บางครั้งเราจะเห็นเมื่อเรานำโปสเตอร์หรือรูปภาพมาแปะติดกับฝาผนังโดยใช้กระดาษกาวที่คุณภาพไม่ดี ภายหลังจากที่อากาศร้อนหรือแดดส่องมา กาวนั้นก็จะพองตัวและละลาย จนในที่สุดรูปภาพก็จะร่วงหล่นลง ความศรัทธา (อีหม่าน) ของเราก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ หากความศรัทธา (อีหม่าน) ของเราเป็นความศรัทธาที่หย่อนยาน อ่อนแอและไร้ความมั่นคง ก็จะกลายเป็นสาเหตุที่ความศรัทธาจะลดน้อยลง แม้เราจะทำนมาซประกอบความดี แต่ในขณะเดียวกันเราก็กล้าที่จะกระทำความชั่วด้วย เหมือนดั่งเช่นบางคนในประวัติศาสตร์ แม้จะทำนมาซ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็สามารถที่จะฆ่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ เพียงเพราะถูกชักจูงจากผลประโยชน์ทางด้านวัตถุ

ความศรัทธาแบบใดที่มีคุณค่า?

     คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงประเภทต่างๆ ของความศรัทธาและความเชื่อของมนุษย์ วิพากษ์วิจารณ์และตำหนิบางส่วนของความศรัทธาเหล่านั้น

1.ความศรัทธาแบบชั่วครู่ชั่วยามและแบบฤดูกาล

     คนจำนวนมากเฉพาะช่วงเวลาที่เผชิญกับความทุกข์ยากและมรสุมต่างๆ แห่งชีวิตเท่านั้น ที่จะหันหน้าเข้าหาพระผู้เป็นเจ้าและทำการนมัสการ (อิบาดะฮ์) ต่อพระองค์ ทันทีที่ภัยมาถึงตัวพวกเขาก็จะบนบาน (นัซร์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และวิงวอนขอต่อพระองค์โดยผ่านสื่อ (ตะวัซซุ้ล) บรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ทุกท่านอย่างอย่างต่อเนื่องและเอาจริงเอาจัง แต่ทันทีที่ปัญหาและความทุกข์ยากเหล่านั้นได้คลี่คลายไป หรือจิตใจรู้สึกถึงความสงบและปลอดภัยจากสิ่งดังกล่าว พวกเขาก็จะหลงลืมจากพระผู้เป็นเจ้าเหมือนเช่นเดิม

     คนเหล่านี้เป็นบ่าวที่ชอบฝ่าฝืนและไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่ไม่ทำนมาซ ไม่ถือศีลอด ไม่คลุมฮิญาบและไม่ระวังรักษาความบริสุทธิ์หรือการรักนวลสงวนตัวแล้ว แต่พวกเขากลับเชื่อว่าขอให้จิตใจของเราสะอาดก็เพียงพอแล้ว คนเหล่านี้ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำ ตามสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอาน “พวกบูชาอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง” (مَنِ اتَّخَذَ إِلَهَهُ هَوَاهُ) (ผู้ที่ยึดเอาอารมณ์ใฝ่ต่ำเป็นพระเจ้าของตน) (ดูเพิ่มเติมจากอุรอานบทอัลญาซิยะฮ์ โองการที่ 23)

     คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงความศรัทธา (อีหม่าน) แบบชั่วครู่ชั่วยามหรือแบบฤดูกาล ไว้เช่นนี้ว่า

فَإِذَا رَكِبُوا فِی الْفُلْكِ دَعَوُا اللَّهَ مُخْلِصِینَ لَهُ الدِّینَ فَلَمَّا نَجَّاهُمْ إِلَى الْبَرِّ إِذَا هُمْ یُشْرِكُونَ

     “เมื่อพวกเขาโดยสารอยู่บนเรือ (และเมื่อมีเภทภัยมาประสบ) พวกเขาก็จะวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงช่วยให้พวกเขาปลอดภัยมาสู่พื้นดิน ทันใดนั้น พวกเขาก็ตั้งภาคี (ดั่งเดิม)”

(อัลกุรอานบทอัลอังกะบูต โองการที่ 65)

      คัมภีร์อัลกุรอานโองการนี้ได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเปรยให้เห็นอย่างสวยงามว่า : คนประเภทนี้ ทันทีที่พวกเขารู้สึกถึงภยันตราย และเมื่อมองเห็นว่าพายุร้ายกำลังจะทำให้เรือของตนอับปรางค์ พวกเขาก็จะเปล่งเสียงร้องว่า “ยาอัลลอฮ์” (โอ้พระผู้เป็นเจ้า) แต่เมื่อพวกเขาได้รับความปลอดภัยและขึ้นสู่ชายฝั่งที่สงบจากพายุร้าย พวกเขาก็หันกลับไปสู่สิ่งอื่นจากพระผู้เป็นเจ้าและตั้งภาคีต่อพระองค์เช่นเคย

      โองการนี้คัมภีร์อัลกุรอานได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเปรย “พายุและคลื่นทะเล คือสัญลักษณ์ของความทุกข์ยากของชีวิตทางโลกนี้ และชายฝั่งทะเลคือสัญลักษณ์ของการคลี่คลายและการขจัดความทุกข์ยากทั้งหลายให้หมดไป”

2. ความศรัทธาที่เกิดจากการเชื่อตามผู้อื่น

      บางครั้งความศรัทธา (อีหม่าน) และความเชื่อของเรา เกิดจากการลอกเลียน (ตักลีด) และการเชื่อตามพ่อแม่และบรรพบุรุษ โดยปราศจากหลักฐานและการใช้เหตุผลใดๆ เหมือนดังความศรัทธาของผู้เคารพบูชาเทวรูป ที่พวกเขาตอบโต้คำเรียกร้องเชิญชวนของบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า ตัวอย่างเช่นคัมภีร์อัลกุรอานที่กล่าวว่า

وَإِذَا قِيلَ لَهُمْ تَعَالَوْا إِلَى مَا أَنْـزَلَ اللَّهُ وَإِلَى الرَّسُولِ قَالُوا حَسْبُنَا مَا وَجَدْنَا عَلَيْهِ آبَاءَنَا أَوَلَوْ كَانَ آبَاؤُهُمْ لا يَعْلَمُونَ شَيْئًا وَلا يَهْتَدُونَ

“และเมื่อมีผู้กล่าวกับพวกเขาว่า ท่านทั้งหลายจงมาสู่สิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานลงมาเถิด และมาสู่ศาสนทูตเถิด พวกเขาก็กล่าวว่า เป็นการพอเพียงสำหรับเราแล้ว สิ่งที่เราได้พบบรรพบุรุษของเรากระทำมันมา ถึงแม้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาไม่เข้าใจสิ่งใด และไม่ได้รับทางนำกระนั้นหรือ”

(อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 104)

3. ความศรัทธาแบบผิวเผิน

      บางกลุ่มมีความศรัทธาแบบผิวเผินและตื้นเขิน และความศรัทธาที่แท้จริงไม่ได้เข้าสู่หัวใจ ความคิดและจิตวิญญาณของเขา คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า

قَالَتِ الْأَعْرَابُ آمَنَّا قُل لَّمْ تُۆْمِنُوا وَلَكِن قُولُوا أَسْلَمْنَا وَلَمَّا یَدْخُلِ الْإِیمَانُ فِی قُلُوبِكُمْ وَإِن تُطِیعُوا اللَّهَ وَرَسُولَهُ لَا یَلِتْكُم مِّنْ أَعْمَالِكُمْ شَیْئًا إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَّحِیمٌ

“ชาวอาหรับชนบทกล่าวว่า เราศรัทธาแล้ว จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า พวกท่านยังมิได้ศรัทธา แต่จงกล่าวเถิดว่า เราเข้ารับอิสลามแล้ว เพราะความศรัทธานั้นยังมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกท่าน และหากพวกท่านเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์แล้ว พระองค์จะไม่ทำให้การงานของพวกท่านบกพร่องลงแต่ประการใด แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัลกุรอานบทอัลฮุญุรอต โองการที่ 14)

      ความศรัทธา (อีหม่าน) เป็นเหมือนต้นไม้ที่ให้ดอกผล หากต้นกล้าแห่งความศรัทธานี้ถูกปลูกลงบนหัวใจและจิตวิญญาณของผู้ใด เมื่อได้รับน้ำและทะนุบำรุงอย่างถูกต้องแล้ว มันก็จะให้ผล (คือการกระทำ) ดังนั้นผู้ที่ปราศจากอะมั้ลซอและห์ (การกระทำที่ดีงาม) พวกเขาก็ไม่มีความศรัทธาและความเชื่อที่ถูกต้องแท้จริง จึงไม่ปรากฏผลออกมาให้เห็นในการกระทำของตน

ความศรัทธาที่แท้จริง

     ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน ความศรัทธา (อีหม่าน) ที่จะถูกนับว่ามีคุณค่าได้นั้น คือความศรัทธาที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการคิดใคร่ครวญและการใช้เหตุใช้ผลเพียงเท่านั้น ความศรัทธาเช่นนี้เองที่จะเป็นความศรัทธาที่มั่นคงแข็งแกร่งและจะไม่ถูกฉกชิง ไม่ถูกชักจูงให้เกิดความเบี่ยงเบน และจะไม่ถูกทำลายลงไปได้อย่างง่ายดาย แต่จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่จะนำพามนุษย์สู่การปฏิบัติ เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายและความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิต คัมภีร์อัลกุรอานได้เน้นย้ำถึงการคิดใคร่ครวญและการใช้เหตุผล และถือว่าเป็นคุณลักษณะหนึ่งของปวงผู้มีสติปัญญา โดยกล่าวในเรื่องนี้ว่า

إِنَّ فِی خَلْقِ السَّماواتِ وَ الْأَرْضِ وَ اخْتِلافِ اللَّیْلِ وَ النَّهارِ لآیاتٍ لِاولِی الْأَلْبابِ الَّذِینَ یَذْكُرُونَ اللَّهَ قِیاماً وَ قُعُوداً وَ عَلى جُنُوبِهِمْ وَ یَتَفَكَّرُونَ فِی خَلْقِ السَّماواتِ وَ الْأَرْضِ رَبَّنا ما خَلَقْتَ هذا باطِلاً سُبْحانَكَ فَقِنا عَذابَ النَّارِ 

“แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และการหมุนเปลี่ยนตามกันไปของกลางวันและกลางคืนนั้น ย่อมเป็นหลักฐานสำหรับปวงผู้มีปัญญา คือบรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์ ทั้งในยามยืนและยามนั่ง และในสภาพที่นอนตะแคง และพวกเขาพินิจใคร่ครวญในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน (และกล่าวว่า) โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าพระองค์ พระองค์มิทรงสร้างสิ่งนี้มาโดยไร้สาระ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ โปรดปกป้องเหล่าข้าพระองค์ให้พ้นจากการลงโทษของไฟนรกด้วยเถิด”

(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการ 190)


บทความ : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 710 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์