ดุอาอ์ “อัล เฆาะรีก” (الْغَرِیْق) เป็นบทดุอาอ์ที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้สอนแก่ อับดุลลอฮ์ บิน ซะนาน เพื่อขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ศาสนามั่นคงอยู่ในหัวใจของเราในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
โดยที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า : ในไม่ช้า พวกท่านจะตกอยู่ในความสงสัย และจะคงอยู่โดยขาดความรู้และคำแนะนำ ไม่มีใครจะรอดพ้นจากมันได้ นอกจากผู้ที่วิงวอนขอด้วยดุอาอ์ "อัล เฆาะรีก" ฉันถามท่านว่า : ดุอาอ์ อัล เฆาะรีกนั้นเป็นอย่างไร? ท่านกล่าวว่า : คือ ท่านจะกล่าวว่า :
یَا أللّٰهُ یَا رَحْمٰنُ یَا رَحِیْمُ، یا مُقَلِّبَ القُلُوْبِ، ثَبِّتْ قَلْبِيْ عَلیٰ دِیْنِك
คำอ่าน : “ยา อัลลอฮุ ยา เราะห์มานุ ยา เราะฮีม, ยา มุก็อลลิบัลกุลูบ, ซับบิต ก็อลบี อะลา ดีนิก"
ความหมาย : "โอ้ อัลลอฮ์ โอ้ ผู้ทรงเมตตา โอ้ ผู้ทรงปรานียิ่ง โอ้ ผู้ทรงผลิกผันหัวใจทั้งหลาย โปรดทรงทำให้หัวใจของข้าพระองค์มั่นคงอยู่ในศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด"
อับดุลลอฮ์ บิน ซะนาน ได้กล่าวโดยเพิ่มคำว่า “และสายตาทั้งหลาย” (وَالْأَبْصَار) เข้าไปด้วยโดยกล่าวว่า :
یَا أللّٰهُ یَا رَحْمٰنُ یَا رَحِیْمُ، یا مُقَلِّبَ القُلُوْبِ وَالْأَبْصَارِ، ثَبِّتْ قَلْبِيْ عَلیٰ دِیْنِك
ท่านอิมามซอดิก (อ.) จึงกล่าวกับเขาว่า : "อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ เกรียงไกร คือผู้ทรงผลิกผันหัวใจและสายตาทั้งหลาย (แต่ท่านไม่ต้องเพิ่มคำว่า "และสายตาทั้งหลาย" เข้าไป) แต่จงอ่านดั่งที่ฉันสอน คือ :
یا مُقَلِّبَ القُلُوْبِ، ثَبِّتْ قَلْبِيْ عَلیٰ دِیْنِك
ซัยยิดอิบนุฏอวูซ ได้ให้เหตุผลว่า บางทีการที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ห้ามไม่ให้เขากล่าวเพิ่มคำว่า “وَالْأَبْصَارِ” (และสายตาทั้งหลาย) เขาไปในตัวบทดุอาอ์ ก็เนื่องจากในวันพิพากษา (กิยามะฮ์) นั้น ทั้งหัวใจและสายตาจะเปลี่ยนแปลง (2) และความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งก็คือ ดุอาอ์บทนี้ อาจให้ผลตามที่วิงวอนขอก็ด้วยวิธีที่ท่านอิมามสอนนี้เท่านั้น
การตั้งชื่อดุอาอ์บทนี้ว่า “ดุอาอ์ อัล เฆาะรีก” (คำวิงวอนขอของผู้จมน้ำ) อาจเนื่องมาจากว่า เป็นช่วงเวลาที่อันตราย เนื่องจากเป็นไปได้ที่คนเราจะจมลงสู่ฟิตนะฮ์ ความเสื่อมทรามทางศีลธรรม การหันห่างออกจากศาสนาและความหายนะต่าง ๆ ได้ทุกเมื่อ อีกความเป็นไปได้หนึ่งก็คือ อาจจะหมายถึง มารยาทของการวิงวอนขอด้วยดุอาอ์บทนี้ คือ ผู้วิงวอนขอจะต้องวิงวอนขอด้วยสภาพเหมือนกับคนที่กำลังจะจมน้ำตายนั่นเอง
คำว่า “ดุอาฮ์ อัล ฆอรีก” (คำอธิษฐานของคนจมน้ำ) ถูกกล่าวถึงหลายครั้งในหะดีษต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายถึงคำอธิษฐานที่เฉพาะเจาะจง แต่กลับหมายถึงการที่บุคคลนั้นอธิษฐานเหมือนกับว่าตนกำลังจะจมน้ำ ดั่งเช่นที่ปรากฏอยู่ในริวายะฮ์บทนี้ที่ว่า :
یَا عِیْسی اُدْعُنِيْ دُعَاءَ الْحَزِیْنِ الْغَرِیْقِ الَّذِيْ لَیْسَ لَهُ مُغِیثٌ
“โอ้อีซาเอ๋ย! จงวิงวอนขอข้า เหมือนกับการวิงวอนของผู้เศร้าโศกและผู้ที่กำลังจมน้ำ ผู้ซึ่งไม่มีผู้ช่วยเหลือใดๆ สำหรับเขา" [3]”
ก่อนหน้าที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) จะสอนให้อ่านดุอาอ์ อัล เฆาะรีกนี้ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็มักจะวิงวอนขอด้วยบทดุอาอ์ที่คล้ายกันนี้อยู่เสมอว่า :
یا مُقَلِّبَ القُلُوْبِ، ثَبِّتْ قَلْبِيْ عَلیٰ دِیْنِك
คำอ่าน : “ยา มุก็อลลิบัลกุลูบ, ซับบิต ก็อลบี อะลา ดีนิก”
ความหมาย : “โอ้ ผู้ทรงผลิกผันหัวใจทั้งหลาย โปรดทรงทำให้หัวใจของข้าพระองค์มั่นคงอยู่ในศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด" [4]
เชิงอรรถ :
1. กะมาลุดดีน, เชคซอดูก, หน้า 351, หะดีษที่ 49
2. มุฮะญุดดะอะวาต, ซัยยิดอิบนุฏอวูส, หน้า 333
3. มุสนัด อบีบะซีร, อบูบะซีร, เล่มที่ 1, หน้า 239.
4. สุนันติรมิซี, ติรมิซี, เล่ม 4, หน้า 448
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2025 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่