บทเรียนจากโคโรนา 2019 สำหรับมนุษย์ร่วมสมัย ในมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน

บทเรียนจากโคโรนา 2019 สำหรับมนุษย์ร่วมสมัย ในมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน

“ไวรัสโคโรนา 2019 ได้นำพาโลกไปสู่การล่มสลายของระบบคิดของมนุษย์สมัยใหม่ รัฐบาลและชนชาติต่างๆ ต้องใช้มาตรการกักตัวเพื่อหนีความท้าทายและปัญหาระดับโลกในครั้งนี้”

     ในสถานกาณ์ของโลกขณะนี้ที่ไวรัสโคโรนากำลังแพร่ระบาด มนุษย์สมัยใหม่ไร้ความสามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และในความเป็นจริงพวกเขาคิดว่า ด้วยกับความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่พวกเขามีอยู่นั้น พวกเขาจะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ พวกเขาจะลำพองตนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในการคิดคำนวณของตน พวกเขาจะไม่ใส่ใจใดๆ ต่อการบริหารจัดการของพระเจ้าในโลกแห่งการดำรงอยู่นี้

     วิธีคิดของมนุษย์สมัยใหม่คือการให้ความสนใจมุ่งอยู่กับเรื่องของเศรษฐศาสตร์ การลงทุนและปัจเจกบุคคล ผู้คนต่างมองหาช่องทางการลงทุน ซึ่งบางคนเพื่อที่จะออกห่างจากผู้คนอื่นๆ  ในสังคม เขายอมลงทุนซื้อเกาะและใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังที่นั่น!

     ไวรัสโคโรนา 2019 ได้นำโลกไปสู่การล่มสลายของระบบคิดของมนุษย์สมัยใหม่ รัฐบาลและชนชาติต่างๆ ต้องใช้มาตรการการกักตัวเพื่อหนีความท้าทายและปัญหาระดับโลกนี้ แน่นอนว่าในท่ามกลางวิกฤตินี้ บรรดาประเทศตะวันตกต่างก็ขโมยแมสก์ (หน้ากากอนามัย) ของกันและกัน และบางคนในประเทศเหล่านั้นก็ทำการปล้นอาหารในร้านค้าต่างๆ

     เพื่อที่จะสำรวจระบบคิด (ปัญญา) ของมนุษย์สมัยใหม่และให้คำตอบต่อคนร่วมสมัยโดยใช้มุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน เราจะมาพิจารณาเนื้อหาต่างๆ ต่อไปนี้ :

ไวรัสโคโรนานำความสูญเสียอะไรมาสู่มนุษย์?

     ไวรัสโคโรนา 2019 ได้นำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อบุคคลและสังคมที่ไม่อาจชดเชยได้มาสู่มนุษยชาติ ผลกระทบและผลพวงต่างๆ ของมัน จะมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์เป็นระยะเวลายาวนานหลายปีหรืออาจจะนานนับหลายศตวรรษก็เป็นได้ การเข้ามาของไวรัสที่อันตรายและสร้างความเสียหายนี้สู่ชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเพรียบพร้อมไปด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถที่จะให้บทเรียนและอุทาหรณ์มากมายสำหรับมนุษยชาติ ผู้คนทั้งหลายจำเป็นต้องคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับมัน และจำเป็นจะต้องหาทางแก้ไขและจัดระเบียบความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องในระหว่างมนุษน์ด้วยกันเอง ความสัมพันธ์ที่มีต่อโลกและต่อพระเจ้า และสร้างสถานะของพวกเขาใหม่ในวัฏจักรโลก

การบริหารจัดการโลกและจักรวาลอยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง

มนุษย์สามารถรับรู้บทเรียนอะไรจากไวรัสโคโรนาอุบาทว์นี้?

    บทเรียนแรก คือ การที่มนุษย์จะรับรู้ว่าการบริหารจัดการโลกและจักรวาลอยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง มนุษย์สมัยใหม่เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของเขาที่ดูภายนอกน่าพิศวง ได้ทำให้พวกเขาหลงลำพองถึงขั้นกล่าวอ้างตนเป็นผู้บริหารจัดการโลกนี้และด้วยจินตนาการดิบของตน พวกเขาพยายามที่จะนำพระเจ้าออกจากเวทีของการบริหารจัดการโลกและจักรวาล

    วิกฤตโคโรนาได้แสดงให้เห็นว่าอำนาจของมนุษย์นั้นเล็กเกินกว่าที่จะสามารถกล่าวอ้างความเป็นพระเจ้าและความเป็นผู้บริหารจัดการโลก ความพยายามที่จะโค่นล้มพระเจ้าลงจากบัลลังก์แห่งการบริหารปกครองโลกและนำตัวเองขึ้นนั่งบนบัลลังก์แห่งการบริหารปกครองโลกแทนพระองค์

    คัมภีร์อัลกุรอานได้ย้ำเตือนว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์และทำให้เขา (มีรูปร่างที่) สวยงามและสมส่วน แต่มนุษย์กลับรู้สึกหลงลำพองตนอย่างไร้เหตุผลและก่อกบฏต่อพระเจ้า :

يَا أَيُّهَا الْإِنسَانُ مَا غَرَّكَ بِرَبِّكَ الْكَرِيمِ  الَّذِي خَلَقَكَ فَسَوَّاكَ فَعَدَلَكَ فِي أَيِّ صُورَةٍ مَّا شَاءَ رَكَّبَكَ

“โอ้มนุษย์เอ๋ย! อะไรเล่าที่ทำให้เจ้าลำพองตนต่อพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกียรติของเจ้า พระองต์คือผู้ทรงสร้างเจ้าแล้วทรงบันดาลให้ (รูปร่างของ) สมส่วน และทำให้เกิดความสมดุลแก่เจ้า พระองค์ได้ทรงประกอบเจ้าขึ้นในรูปลักษณ์ที่พระองค์ทรงประสงค์” (1)

    วิกฤตโคโรนาสามารถเป็นบทเรียนและอุทาหรณ์ที่สำคัญสำหรับมนุษย์ เพื่อที่จะทำให้พวกละวางจากความหลงลำพองตนเอง และยอมจำนนต่อความยิ่งใหญ่ของพระผู้ทรงสร้างผู้ทรงเดชานุภาพผู้ทรงสูงส่ง

สำนวนที่ว่ามนุษย์สมัยใหม่ได้หวนกลับไปสู่ความเหลวไหลและความไร้สาระในยุคที่ป่าเถื่อนอีกครั้งนั้นถูกต้องหรือไม่?

     บทเรียนที่สองซึ่งเกี่ยวกับคำถามข้อนี้ นั่นก็คือว่า ในยุคปัจจุบันความชั่วต่างๆ ได้ปรากฏอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ความชั่วบางอย่างเหล่านั้นได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคป่าเถื่อนในอดีต และมันได้สูญหายไปแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน มนุษย์ได้หันออกห่างจากมัน แต่แล้วมนุษย์สมัยใหม่ก็หวนกลับไปสู่พฤติกรรมความชั่วที่เหลวไหลของยุคป่าเถื่อนอีกครั้ง พยายามที่ฟื้นฟูพฤติกรรมความชั่วเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ด้วยชื่อที่ทันสมัย

     ความชั่วต่างๆ อย่างเช่น พฤติกรรมรักร่วมเพศแทนการเลือกคู่ครอง การเปลือยกายของสตรี การเป็นทาสยุคใหม่ที่ถูกนำเสนอโดยโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ประโยชน์นิยม (Utilitarianism) แทนที่ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม ความฟุ่มเฟือยและความสุรุ่ยสุร่ายที่สุดโต่งในการผลิตและการบริโภค (ลัทธิบริโภคนิยม) การทำให้การหย่าร้างเป็นเรื่องปกติและแพร่หลาย การไม่สนใจเด็กกำพร้าของสังคม การพึ่งพิงความรู้ของมนุษย์จนเกินขอบเขต การเข่นฆ่าเด็ก การขับไล่ประชาชนของประเทศหนึ่งออกจากที่อยู่อาศัยและบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา อุตริกรรม (บิดอะฮ์) ต่างๆ อย่างเช่น ญิฮาดุนนิกาห์ การเข่นฆ่าผู้คนด้วยข้อหาความเป็นมุสลิมและการจำกัดขอบเขตศาสนาให้แคบลง ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของความเหลวไหลไร้สาระและการย้อนกลับไปสู่ยุคแห่งความป่าเถื่อน ซึ่งแต่ละอย่างเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับความพินาศของกลุ่มชนต่างๆ

โรคโควิด -19 เป็นสัญญาณเตือนมนุษย์สมัยใหม่ เพื่อให้เขาละทิ้งความชั่วสมัยใหม่และไม่เคยมีมาก่อนทั้งหลาย

    ในคัมภีร์อัลกุรอานโองการที่ 80 ถึง 84 ของ(อัลกุรอานบทม) บทอัลบากอเราะฮ์ ได้อธิบายถึงเรื่องราวของศาสดาลูฏ (อ.) และกลุ่มชนของท่าน โดยที่ท่านศาสดาลูฏ (อ.) ได้เตือนกลุ่มชนของตนเกี่ยวกับความชั่วใหม่ที่พวกเขากำลังกระทำ คือ การรักร่วมเพศ แต่แทนที่พวกเขาจะยอมรับคำแนะนำและเลิกการทำชั่วที่ไม่เคยมีมาก่อนของพวกเขานี้ พวกเขากลับเนรเทศ ขับไล่ศาสดาลูฏ (อ.) และผู้ที่ศรัทธาต่อท่านออกไปจากเมือง ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงส่งฝนกำมะถันลงมายังพวกเขาและฝนนั้นได้ทำลายพวกเขาทั้งหมดโดยไม่มีใครเหลือรอด

     ตามสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอาน ใครก็ตามที่ต่อต้านพระผู้เป็นเจ้าและศาสนทูตของพระองค์ ผลของมันก็คือการประสบกับฟิตนะฮ์ (การลงโทษ) ในโลกนี้และโทษทัณฑ์ในปรโลก :

وَ مَنْ يُشاقِقِ اللَّهَ وَ رَسُولَهُ فَإِنَّ اللَّهَ شَدِيدُ الْعِقابِ

“และผู้ใดฝ่าฝืนและต่อต้านอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ลงโทษที่รุนแรงยิ่ง” (2)

     โรคโควิด -19 เป็นคำเตือนหนึ่งสำหรับมนุษย์สมัยใหม่เพื่อให้พวกเขาละทิ้งความชั่วสมัยใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั้งหลาย และเพื่อให้พวกเขาได้รู้ว่าการต่อต้านพระเจ้าและศาสนทูตของพระองค์นั้น จะไม่มีผลอื่นใดนอกจากความทุกข์ยากต่างๆ ทางโลกนี้และโทษทัณฑ์ในปรโลก

มีบทเรียนอื่นใดอีกบ้างที่สามารถรับรู้ได้จากโรคระบาดสมัยใหม่นี้?

     บทเรียนที่สามก็คือ มนุษย์นั้นยังมีชีวิตที่ยั่งยืนถาวรและเป็นนิรันดร์อยู่เบื้องหน้า มนุษย์สมัยใหม่ได้ลืมส่วนที่สอง ส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของพวกเขาลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในปรโลก พวกเขาคาดคิดว่าชีวิตทั้งหมดของพวกเขาได้ถูกสรุปไว้ในช่วงเวลาไม่กี่วันของโลกนี้เท่านั้น การลืมชีวิตในปรโลกและการยึดติดอยู่กับชีวิตทางโลกนี้จะทำให้ความไร้ศีลธรรมจำนวนมากมาบติดตามมา พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

یَعْلَمُونَ ظَاهِرًا مِنَ الْحَیَاةِ الدُّنْیَا وَهُمْ عَنِ الْآخِرَةِ هُمْ غَافِلُونَ

 “พวกเขารู้แต่เพียงภายนอกของชีวิตทางโลกนี้เพียงเท่านั้น ในขณะที่พวกเขาหลงลืมจาก (ชีวิตใน) ปรโลก” (3)

     บทเรียนที่สี่ก็คือ การบ่อนทำลายของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินชีวิตนั้นได้มีมากเกินขอบเขตและการแพร่ขยายของการบ่อนทำลายนี้ได้ทำให้เกิดการสูญเสียความสมดุลของโลก สิ่งที่เห็นได้ในวันนี้ก็คือ การเกิดอุทกภัย สึนามิ ไฟป่า แผ่นดินไหว โรคภัยและอื่นๆ ขึ้นอย่างกว้างขวางในโลกนั้น มันไม่ใช่สิ่งใดเลยนอกจากผลิตผลและผลลัพธ์ของการบ่อนทำลายของมนุษย์ในโลกนั่นเอง คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

ظَهَرَ الْفَسَادُ فِی الْبَرِّ وَالْبَحْرِ بِمَا کَسَبَتْ أَیْدِی النَّاسِ لِیُذِیقَهُمْ بَعْضَ الَّذِی عَمِلُوا لَعَلَّهُمْ یَرْجِعُونَ

“การบ่อนทำลายได้ปรากฏขึ้นทั้งในพื้นบกและพื้นน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายไว้ เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาประกอบไว้ โดยหวังว่าพวกเขาจะหวนกลับ (สู่พระองค์)” (4)

    วิกฤตโคโรนาเตือนมนุษย์ให้หวนกลับมาสู่ตัวเอง กลับเนื้อกลับตัวและวางมือจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินและอย่าได้พยายามทำลายสภาพแวดล้อมของการดำเนินชีวิตไปมากกว่านี้

มนุษย์สมัยใหม่ในปัจจุบันคิดว่าพวกเขาสามารถจะแก้ปัญหาของมนุษย์ทั้งหมดได้ แต่ทำไมเขาถึงไร้ความสามารถในประเด็นของไวรัสโคโรนา?

     คำตอบสำหรับคำถามข้อนี้เราจะอธิบายในรูปของบทเรียนที่ห้านั่นก็คือว่า พระเจ้าทรงประทานภูมิปัญญาและสติปัญญาให้แก่มนุษย์เพื่อใช้ในการขยายวิทยาการและความรู้ของมนุษย์และเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาทางด้านวัตถุบางอย่างของพวกเขา ในฐานะเป็นส่วนเสริมความสมบูรณ์ของวิวรณ์ (วะห์ยู) แห่งพระเจ้า แต่ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ ความรู้และความสำเร็จต่างๆ ที่ผ่านมาซึ่งดำเนินไปอย่างรวดเร็วนั้น ได้เป็นสื่อทำให้มนุษย์สมัยใหม่หลงลืมจากส่วนที่สองนั่นคือ วะห์ยู (วิวรณ์) แห่งพระเจ้า

     วิกฤตโคโรนาได้เปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนของความรู้ของมนุษย์ โดยที่มนุษย์คาดคิดว่าโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และความรู้ของตน พวกเขาจะสามารถตอบสนองทุกความต้องการของตนเองได้ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวะห์ยู (วิวรณ์) แห่งฟากฟ้า คัมภีร์อัลกุรอานได้เตือนว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนความรู้แก่มนุษย์ แต่เมื่อใดที่มนุษย์รู้ว่าตนเองพอเพียง พวกเขาก็จะละเมิดและก่อการกบฏ :

عَلَّمَ الْإِنْسَانَ مَا لَمْ یَعْلَمْ  کَلَّا إِنَّ الْإِنْسَانَ لَیَطْغَى  أَنْ رَآهُ اسْتَغْنَى

“พระองค์ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ หามิได้ แท้จริงมนุษย์นั้นจะก่อการละเมิดอย่างแน่นอน เพราะการที่เขาคิดว่า เขาพอเพียง (ไม่ต้องพึ่งพาใคร) แล้ว” (5)

     วิกฤคโคโรนาได้เผยให้เห็นจุดอ่อนของความรู้ของมนุษย์เพื่อทำให้มนุษย์ได้รู้ว่า พวกเขาไม่อาจทำให้ชีวิตในโลกนี้ก้าวไปข้างหน้าได้โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และความรู้อันจำกัดของเขา และในเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตรายของชีวิต พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาพลังอำนาจที่เหนือกว่าและที่พึ่งพิงที่แข็งแกร่งกว่าวิทยาศาสตร์ และพลังอำนาจที่เหนือกว่านั้นไม่ใช่ใครอื่น นอกจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเอกะ ผู้ไม่มีใครเหมือน ผู้ซึ่งได้ทรงสร้างมนุษย์และทรงบริหารจัดการโลกนี้

บทเรียนที่หกและเจ็ดของโคโรนาสำหรับคนร่วมสมัยจากมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน

จงอธิบายบทเรียนอื่นๆ ของโรคโคโรนาจากมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน

     บทเรียนที่หกก็คือ ภายใต้ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ มนุษย์ได้บรรลุความสำเร็จต่างๆ โดยที่ความก้าวหน้าเหล่านี้ควรจะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของสาธารณชนและสุขสบายของสังคมโดยรวม แต่มนุษย์สมัยใหม่ไม่เพียงแต่มิได้ใช้ความก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้ไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน แต่กลับใช้ประโยชน์ในทางมิชอบจากมัน และกลายเป็นเครื่องมือสำหรับความอธรรมและการกดขี่ในมือของบรรดาประเทศที่มีอำนาจ และโดยสื่อดังกล่าวนี้ พวกเขาจะเหยียบย่ำสิทธิของชนชาติที่อ่อนแอทั้งหลาย

     คัมภีร์อัลกุรอานเตือนมนุษย์ทั้งหลายให้ได้คิดใคร่ครวญว่า ผลของความอธรรมและการกดขี่ที่เกิดขึ้นในทุกสังคมจะทำให้สังคมนั้นๆ เผชิญกับการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า :

وَلَوْ یَرَى الَّذِینَ ظَلَمُوا إِذْ یَرَوْنَ الْعَذَابَ أَنَّ الْقُوَّةَ لِلَّهِ جَمِیعًا وَأَنَّ اللَّهَ شَدِیدُ

“และหากบรรดาผู้อธรรมเห็นขณะที่พวกเขามองเห็นการลงโทษอยู่นั้น (แน่นอนพวกเขาจะต้องตระหนักดีว่า) แท้จริงอำนาจทั้งมวลนั้นเป็นของอัลลอฮ์ และแท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ลงโทษที่รุนแรงยิ่ง” (6)

    ในอีกโองการหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอานได้เตือนมนุษย์ให้ระวังการกดขี่และความอยุติธรรมทางสังคม เพราะถ้าหากการกดขี่ทางสังคมมีมากขึ้นและการลงโทษแห่งพระเจ้ามาถึงแล้ว ไม่เพียงแต่ผู้กดขี่เท่านั้นที่จะถูกลงโทษ ทว่ามันจะครอบคลุมผู้คนในสังคมทั้งหมดด้วย :

وَاتَّقُوا فِتْنَةً لَا تُصِیبَنَّ الَّذِینَ ظَلَمُوا مِنْکُمْ خَاصَّةً وَاعْلَمُوا أَنَّ اللَّهَ شَدِیدُ الْعِقَابِ

“และพวกเจ้าจงระวังการลงโทษ ซึ่งมันจะไม่ประสบกับบรรดาผู้อธรรมในหมู่พวกเจ้าโดยเฉพาะเท่านั้น และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้น ทรงเป็นผู้ลงโทษที่รุนแรงยิ่ง” (7)

    ไวรัสโคโรนาสามารถที่จะเตือนมนุษย์ร่วมสมัยเพื่อให้ละมือจากการกดขี่และการอธรรมทางสังคมทั้งหมดเหล่านี้ และย่างก้าวไปในทิศทางของความยุติธรรมและความเสมอภาคทางสังคม

    บทเรียนที่เจ็ดก็คือ มนุษย์ร่วมสมัยมีความโลภและเป็นผู้ฟุ่มเฟือย ทุกวันนี้สังคมต่างแข่งขันกันโดยผ่านการโฆษณาชวนเชื่อระดับโลกเพื่อการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น วิธีการดังกล่าวนี้ทำให้ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ หมายถึง ความพอเพียง (กอนาอะฮ์) ได้สูญเสียไป และวิญญาณของค่านิยมทางด้านจริยธรรมนี้ถูกทำลายไป การสะสมทรัพย์และความโลภได้แพร่ขยาย นั่นคือสิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ย้ำเตือนไว้ :

أَلْهَاکُمُ التَّکَاثُرُ حَتَّى زُرْتُمُ الْمَقَابِرَ  کَلَّا سَوْفَ تَعْلَمُونَ  ثُمَّ کَلَّا سَوْفَ تَعْلَمُونَ کَلَّا لَوْ تَعْلَمُونَ عِلْمَ الْیَقِینِ  لَتَرَوُنَّ الْجَحِیمَ  ثُمَّ لَتَرَوُنَّهَا عَیْنَ الْیَقِینِ ثُمَّ لَتُسْأَلُنَّ یَوْمَئِذٍ عَنِ النَّعِیمِ

“การแข่งขันกันในสะสมทรัพย์สมบัติได้ทำให้พวกเจ้าเพลิดเพลิน จนกระทั่งพวกเจ้าได้ไปเยือนหลุมฝังศพ หามิได้! ในไม่ช้าพวกเจ้าจะได้รู้  และหามิได้! ในไม่ช้าพวกเจ้าจะได้รู้  หามิได้! หากพวกเจ้าได้รู้อย่างมั่นใจแล้ว แน่นอน พวกเจ้าก็จะเห็นไฟที่ลุกโชน แล้วแน่นอนพวกเจ้าก็จะได้เห็นมันด้วยสายตาที่เชื่อมั่น แล้วในวันนั้นพวกเจ้าจะถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปราน (ที่เคยได้รับในโลกนี้)” (8)

    ดังนั้นโรคโควิด – 19 ที่เกิดจากไวรัสโคโรนานี้สามารถที่จะเครื่องมือปลุกมนุษย์ให้ละทิ้งความโลภหลงทั้งหมดนี้และทำให้พวกเขาหันกลับมาสู่ความพอเพียงในการผลิตและการบริโภค


เชิงอรรถ :

1. อัลกุรอานบทอัลอินฟิฏอร โองการที่ 6 - 8

2. อัลกุรอานบทมอัลอันฟาล โองการที่ที่ 13

3. อัลกุรอานบทมอัรรูม โองการที่ที่ 7

4. อัลกุรอานบทมอัรรูม โองการที่ที่ 41

5. อัลกุรอานบทมอัลอะลัก โองการที่ที่ 5 - 7

6. อัลกุรอานบทมอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ที่ 165

7. อัลกุรอานบทมอัลอันฟาล โองการที่ที่ 25

8. อัลกุรอานบทมอัตตะกาษุร โองการที่ที่ 1-8


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 321 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25828776
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
1818
3896
25865
25771458
16592
136052
25828776

พฤ 03 เม.ย. 2025 :: 08:43:20