คนที่มีหัวใจที่บริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพนั้น ในกิจการต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิตของเขาจะมีเส้นแดง (สัญญาณต้องห้าม) อยู่ท่ามกลางสิ่งทั้งมวลที่เขารัก และระหว่างความพึงพอพระทัยของพระเจ้าและมิตร (วะลีย์) ของพระเจ้า กับความปรารถนาและความต้องการต่าง ๆ ทางโลก (วัตถุ) นั้นพวกเขาจะเลือกเอาความพึงพอพระทัยของพระเจ้ามาก่อนเป็นอันดับแรก หนึ่งในคุณลักษณะของบรรดาวีรชนแห่งอาชูรอในหนทางของการพลีชีพเพื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นอิมาม (ผู้นำ) แห่งยุคสมัยของตนนั้น คือการมีหัวใจที่บริสุทธิ์ (ก็อลบุน ซะลีม)
เอกองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงอธิบายถึงสภาพของวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) ไว้ในโองการที่ 88 - 89 ของอัลกุรอาน บทอัชชุอะรออ์ โดยอ้างคำพูดของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่กล่าวว่า
يَوْمَ لَا يَنفَعُ مَالٌ وَلَا بَنُونَ * إِلَّا مَنْ أَتَى اللَّهَ بِقَلْبٍ سَلِيمٍ
"(จงรำลึกถึง) วันที่ทรัพย์สินและลูกๆ จะไม่ยังคุณประโยชน์ใดๆ นอกจากผู้ที่มาพบอัลลอฮ์ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์"
คำว่า “ซะลีม” (سَلِيمٌ) มาจากคำว่า “ซะลามะฮ์” (سَلامَةٌ) ซึ่งหมายถึง ความปลอดภัยจากเภทภัยทั้งด้านนอกและด้านใน (1) แต่ความหมายของคำว่า “ก็อลบุน ซะลีม”
(قَلْبٌ سَلِيمٌ) นั้น หมายถึง หัวใจที่ห่างไกลจากความป่วยไข้และความเบี่ยงเบนทางด้านศีลธรรมและความเชื่อทุกรูปแบบ (2)
พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า : ในวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) ไม่มีผลประโยชน์และความสุขใดๆ ของชีวิตทางโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติและลูกๆ ที่จะยังคุณประโยชน์แก่มนุษย์ และสิ่งเหล่านั้นจะไม่สามารถช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการลงโทษและความทุกข์ทรมานของวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) ได้เลย มีเพียงสิ่งหนึ่งที่จะมีคุณค่าและยังคุณประโยชน์ และนั่นก็คือ หัวใจที่บริสุทธิ์และดีงาม หัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์จากทุกรูปแบบของการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า สะอาดบริสุทธิ์จากความกลับกลอก (นิฟาก) และความโลภหลง หัวใจที่ไม่ยึดติดกับโลกแห่งวัตถุและความสุขชั่วคราวทั้งหลาย
ท่านอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ได้กล่าวในกรณีนี้ว่า : จุดประสงค์จากคำว่า “หัวใจที่บริสุทธิ์” (ก็อลบุน ซะลีม) นั้น หมายถึง หัวใจที่ว่างเปล่าจากทุกสิ่งที่เป็นเภทภัยต่อความเชื่อและความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง อย่างเช่น การตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งที่ชัดเจน (ญะลีย์) และซ่อนเร้น (ค่อฟีย์) มารยาทที่น่ารังเกียจ ผลต่างๆ ของความชั่ว และทุกรูปแบบของการยึดติดและผูกหัวใจไว้กับสิ่งอื่นจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะทำให้มนุษย์ถูกดึงดูดไปสู่มัน และจะเป็นสาเหตุทำให้ลักษณะของความมีจิตผูกพันและมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าเกิดความบกพร่อง (3)
คัมภีร์อัลกุรอาน ในบทอัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 10 ไม่ได้กล่าวเกี่ยวกับบรรดาผู้กลับกลอก (มุนาฟิกีน) หรอกหรือว่า
فِي قُلُوبِهِم مَّرَضٌ فَزَادَهُمُ اللّهُ مَرَضًا وَلَهُم عَذَابٌ أَلِيمٌ بِمَا كَانُوا يَكْذِبُونَ
“ในหัวใจของพวกเขามีความป่วยไข้ ดังนั้นอัลลอฮ์จึงทรงเพิ่มพูนความป่วยไข้แก่พวกเขา และพวกเขาจะได้รับการลงโทษที่แสนเจ็บปวด ด้วยเหตุที่พวกเขาได้มุสา”
ในฮะดีษ (วจนะ) ที่ทรงคุณค่าหลายๆ บท ได้แนะนำให้เรารับรู้ถึง “หัวใจที่บริสุทธิ์” (ก็อลบุน ซะลีม) ไว้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ในฮะดีษ (วจนะ) จากท่านอิหม่ามซอดิก (อ.) ที่อธิบายโองการข้างต้น ท่านกล่าวว่า
وَ كُلُّ قَلْبٍ فِیهِ شِرْكٌ أَوْ شَكٌّ فَهُوَ سَاقِطٌ
“และทุกหัวใจที่มีการตั้งภาคี (ต่อพระผู้เป็นเจ้า) หรือความคลางแคลงสงสัยในมัน มันคือหัวใจที่ต่ำช้า” (4)
อีกด้านหนึ่งเราทราบดีว่า ความรักผูกพันที่รุนแรงต่อวัตถุและความลุ่มหลงในชีวิตทางโลกนั้น จะชักนำมนุษย์ไปสู่ความเบี่ยงเบนทางด้านศีลธรรมและความผิดบาปต่างๆ ทั้งมวล ดังที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า
حُبُّ الدُّنْيَا رَأْسُ كُلِّ خَطِيئَةٍ
"ความรักผูกพันต่อ (ชีวิตทาง) โลกนี้ คือบ่อเกิดของความผิดบาปทั้งมวล" (5)
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ หัวใจที่บริสุทธิ์จึงเป็นหัวใจที่ว่างเปล่าจากความรักผูกพันและ "ความลุ่มหลงในโลกแห่งวัตถุ" เช่นเดียวกับในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในการอรรถาธิบายโองการนี้ว่า
هو القلبُ الّذي سلم من حب الدنيا
"มันคือหัวใจที่ปลอดภัยจากความรัก (ผูกพัน) ต่อโลก” (6)
เมื่อพิจารณาถึงโองการที่ 197 ของอัลกุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮ์ ที่กล่าวว่า
وَتَزَوَّدُواْ فَإِنَّ خَيْرَ الزَّادِ التَّقْوَى وَاتَّقُونِ يَا أُوْلِي الأَلْبَابِ
“และพวกเจ้าจงตระเตรียมเสบียงเถิด เพราะแท้จริงเสบียงที่ดีงามที่สุดนั่นคือตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) และพวกเจ้าจงยำเกรงต่อข้าเถิด โอ้ปวงผู้มีวิจารณญาณทั้งหลาย”
เป็นที่ชัดเจนว่า หัวใจที่บริสุทธิ์ (ก็อลบุน ซะลีม) คือหัวใจซึ่งด้วยผลของความบริสุทธิ์จากความป่วยไข้และความผิดบาป ได้กลายเป็นบ่อเกิดของความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า
สรุป คำพูดสุดท้ายก็คือว่า “ก็อลบุน ซะลีม” (หัวใจที่บริสุทธิ์) คือ หัวใจที่ไม่มีสิ่งใดพำนักอยู่ในมัน นอกจาก พระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้ในการตอบคำถามเกี่ยวกับโองการนี้ว่า
الْقَلْبُ السَّلِیمُ الَّذِی یَلْقَى رَبَّهُ وَ لَیْسَ فِیهِ أَحَدٌ سِوَاهُ
"หัวใจที่บริสุทธิ์ คือหัวใจที่จะไปพบกับองค์พระผู้อภิบาลของมันโดยไม่มีสิ่งอื่นใดในมัน นอกจากพระองค์” (7)
ดังนั้น ผู้ศรัทธาทุกคนจะระวังรักษาหัวใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์จากทุกการยึดติด ทุกความหลงใหลผูกพันในสิ่งที่เป็นโลกแห่งวัตถุ ที่จะชักนำตัวเราไปสู่ความเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคือ ชีวิตแห่งปรโลก การยึดติดและความหลงใหลผูกพันดังกล่าวจะเป็นสื่อนำเราไปสู่ความผิดบาปและการละเมิดฝ่าฝืนต่างๆ และการออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
القَلْبُ حَرَمُ اللهِ فَلا تُسْكِنْ فِي حَرَمِ الله غيَرَ الله
“หัวใจคือเขตหวงห้ามของอัลลอฮ์ ดังนั้น จงอย่าให้สิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ พำนักอยู่ในเขตหวงห้ามของพระองค์” (8)
การจัดระเบียบความรัก คือ หนทางสู่การมีหัวใจที่บริสุทธิ์
คนที่มีหัวใจที่บริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพนั้น ในกิจการต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิตของเขาจะมีเส้นแดง (สัญญาณต้องห้าม) อยู่ท่ามกลางสิ่งทั้งมวลที่เขารัก และระหว่างความพึงพอพระทัยของพระเจ้าและมิตร (วะลีย์) ของพระเจ้ากับความปรารถนาและความต้องการต่าง ๆ ทางโลก (วัตถุ) นั้นพวกเขาจะเลือกเอาความพึงพอพระทัยของพระเจ้ามาก่อนเป็นอันดับแรก
หนึ่งในคุณลักษณะของบรรดาวีรชนแห่งอาชูรอในหนทางของการพลีชีพเพื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นอิมาม (ผู้นำ) แห่งยุคสมัยของตนนั้น คือการมีหัวใจที่บริสุทธิ์ (ก็อลบุน ซะลีม) (*) เราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่า เราจะบรรลุสู่การมีคุณลักษณะสำคัญและมีคุณค่านี้ได้อย่างไรเพื่อจะเป็นหลักประกันความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ของเรา ทั้งชีวิตในโลกนี้และในปรโลก และเพื่อที่เราจะได้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ตอบรับต่อเสียงเรียกร้อง "ฮัล มิน นาซิริน" (هل من ناصر ينصرني؟) (มีใครไหมที่จะให้การช่วยเหลือฉัน?) ของท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) และยืนหยัดต่อสู้ในหนทางของท่าน
ในเนื้อต่อจากนี้ เราพยายามจะชี้ให้เห็นแนวทางในการบรรลุสู่การมีหัวใจที่บริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของบรรดาผู้ช่วยเหลือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
ความผิดพลาดของบรรดาผู้ที่อยู่ในแนวรบแห่งความเท็จในเหตุการณ์อาชูรอ และทำให้พวกเขาประสบกับความอัปยศชั่วนิรันดร์ก็คือ การที่พวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาควรรักสิ่งใดหรือใครมากกว่าในบรรดาคนที่พวกเขารัก
ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของกองทัพแห่งกูฟะฮ์ในวันอาชูรอคือพวกเขาไม่ได้ควบคุมและจัดระเบียบความรักของพวกเขา และไม่รู้ว่าระหว่างความรักโลก (วัตถุ) กับความรักอิมามของพวกเขานั้น พวกเขาควรจะรักและให้ความสำคัญต่ออิมามของตนมากกว่าโลกที่ไม่จีรังยั่งยืน
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงเตือนบรรดาผู้ที่ไม่ควบคุมความรักของตนไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :
قُلْ إِنْ كَانَ آبَاؤُكُمْ وَأَبْنَاؤُكُمْ وَإِخْوَانُكُمْ وَأَزْوَاجُكُمْ وَعَشِيرَتُكُمْ وَأَمْوَالٌ اقْتَرَفْتُمُوهَا وَتِجَارَةٌ تَخْشَوْنَ كَسَادَهَا
وَمَسَاكِنُ تَرْضَوْنَهَا أَحَبَّ إِلَيْكُمْ مِنَ اللَّهِ وَرَسُولِهِ وَجِهَادٍ فِي سَبِيلِهِ فَتَرَبَّصُوا حَتَّىٰ يَأْتِيَ اللَّهُ بِأَمْرِهِ ۗ وَاللَّهُ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الْفَاسِقِين
"จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า หากบรรดาบิดาของพวกเจ้า ลูก ๆ ของพวกเจ้า พี่น้องของพวกเจ้า และคู่ครองของพวกเจ้า และเครือญาติของพวกเจ้า และทรัพย์สมบัติที่พวกเจ้าแสวงหาไว้ และการค้าขายที่พวกเจ้ากลัวการซบเซาของมัน และบรรดาที่อยู่อาศัยที่พวกเจ้าพึงพอใจมันนั้น เป็นที่รักผูกพันแก่พวกเจ้ายิ่งกว่าอัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ และการต่อสู้ในทางของพระองค์แล้วไซร้ ดังนั้นพวกเจ้าก็จงรอคอยกันเถิดจนกระทั่งอัลลอฮ์จะทรงนำมาซึ่งบัญชา (แห่งการลงโทษ) ของพระองค์ และอัลลอฮ์นั้นจะไม่ทรงนำทางแก่กลุ่มชนที่ละเมิด" (9)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็ได้กล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า :
هُوَ الْقَلْبُ الَّذِي سَلِمَ مِنْ حُبِ الدُّنْيَا
"(หัวใจที่บริสุทธิ์นั้น) มันคือหัวใจที่บริสุทธิ์ (และปลอด) จากความรักโลก" (10)
อิสลามต่อต้านชีวิตทางโลกหรือไม่?
คำถามนี้อาจเกิดขึ้นในความคิดของเราหลายคนว่า ถ้าโลกนี้เลวร้ายและน่าตำหนิ แล้วทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงสร้างมันขึ้นมาและทรงทำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ในมัน? ในขณะที่เราควรจะต้องรู้ว่า ศาสนาอิสลามนั้นไม่เคยต่อต้านโลกและการดำเนินชีวิตอยู่ในมัน และโดยพื้นฐานแล้ว หากโลกนี้เลวร้าย พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงสร้างมันขึ้นมา การละทิ้งโลกและการหันหนีจากชีวิตและสิ่งประทาน (เนี๊ยะอ์มัต) ต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าที่มีอยู่ในโลกนั้นเป็นสิ่งที่น่าตำหนิอย่างยิ่งโดยที่อิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวไว้ในวจนะหนึ่งของท่านว่า :
لَيْسَ مِنَّا مَنْ تَرَكَ دُنْيَاهُ لِدِينِه
"คนที่ละทิ้งโลกของเขาเพื่อศาสนาของเขานั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากเรา” (11)
แล้วเหตุใดจึงตำหนิโลกและการหลงโลกถึงเพียงนี้?
แนวทางของอิสลามสำหรับการใช้ประโยชน์จากโลก
คำพูดทั้งหมดของศาสนาอิสลามและบรรดาผู้นำของอิสลาม ถูกสรุปไว้ในประเด็นนี้ที่ว่า เราควรจัดการกับโลกและประเด็นรอบข้างในระดับหนึ่งให้อยู่ในกรอบของการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า เราจะต้องปรับปรุงชีวิตทางโลกนี้ให้อยู่ในกรอบที่จะไม่ทำลายปรโลกของเรา เราควรจะต้องใช้ประโยชน์จากโลกและสิ่งประทาน (เนี๊ยะอ์มัต) ต่าง ๆ ของพระเจ้าทีมีอยู่ในมัน แต่ไม่ใช่ด้วยหนทางที่เป็นบาป ไม่ใช่ผ่านการกดขี่และการอธรรมต่อผู้คน ไม่ใช่ด้วยหนทางที่ต้องห้าม (ฮะรอม) ในมุมมองของอิสลามและบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ โลกที่ถูกตำหนิและไม่เป็นที่น่าพึงพอใจนั้นคือโลกที่บดบังความศรัทธาและความเชื่อของคนเราในลักษณะที่ความรัก ความหลงไหลต่อโลกและการบรรลุถึงมันจะกลายเป็นสาเหตุของการสูญเสียความศรัทธาและความเชื่อของบุคคล การไม่เชื่อฟังและเป็นปฏิปักษ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า
อุมัร อิบนิซะอัด เพื่อที่จะบรรลุสู่อำนาจการปกครองทางโลก และเพื่อที่จะได้นั่งบัลลังก์ผู้ปกครองเมืองเรย์ เขาพร้อมที่จะยืนเผชิญหน้ากับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในวันอาชูรอและพร้อมที่จะสังหารท่านอิมาม (อ.) และบรรดาสหายของท่านด้วยวิธีที่ชั่วร้ายที่สุด และเพื่อที่จะทำให้ภารกิจของตนในกัรบะลาเสร็จสิ้นสมบูรณ์นั้น เขาได้ตะโกนก้องออกมาว่า :
مَنْ يَنْتَدِبُ لِلْحُسَيْنِ ع فَيُوَاطِئُ الْخَيْلَ ظَهْرَه
"ใครบ้างที่จะอาสานำม้าขึ้นไปเหยียบย่ำร่างของฮุเซน?" (12)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวถึงความรักและความหลงไหลต่อโลกว่า :
حُبُ الدُّنْيَا رَأْسُ كُلِّ خَطِيئَة
"ความรักหลงไหลต่อ (ชีวิตทาง) โลกนี้ คือบ่อเกิดของความผิดบาปทั้งมวล" (13)
ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ก็ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
إن جَعَلتَ دِينَكَ تَبَعاً لدُنياكَ أهلَكتَ دينَكَ ودُنياكَ وكُنتَ في الآخرةِ مِن الخاسِرينَ ، إن جَعَلتَ دُنياكَ تَبَعاً لِدينِكَ أحرَزْتَ دِينَكَ ودُنياكَ وكُنتَ في الآخرةِ مِن الفائزينَ
"หากท่านทำให้ศาสนาของท่านตามหลังโลกของท่าน ท่านจะทำลายทั้งศาสนาของท่านและโลกของท่าน และท่านจะเป็นหนึ่งในผู้ขาดทุน แต่ถ้าหากท่านทำให้โลกของท่านตามหลังศาสนาของท่าน ท่านก็จะรักษาทั้งศาสนาของท่านและโลกของท่านไว้ได้ และท่านจะเป็นหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จในปรโลก” (14)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ตัฟซีร อัลมีซาน (ฉบับแปลภาษาเปอร์เซีย), ลัลามะฮ์ซัยยิดมุฮัมมัดฮุเซน ฏอบาฏอบาอี, เล่มที่ 15, หน้าที่ 404
(2) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, อายะตุลลอฮ์นาซิร มะการิม ชีราซี, เล่มที่ 15, หน้าที่ 89
(3) ตัฟซีร อัลมีซาน (ฉบับแปลภาษาเปอร์เซีย), เล่มที่ 17, หน้าที่ 223
(4) อุซูลุลกาฟี, เชคมุฮัมมัด บินญะอ์กูบ อัลกุลัยนี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 129
(5) ตัฟซีร มัจญ์มะอุลบะยาน, อะมีนุ้ลอิสลาม อัฏฏ็อบริซี, เล่มที่ 7 และ 8, หน้าที่ 305
(6) แหล่งอ้างอิงเดิม
(7) บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์ มุฮัมมัด บากิร มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 67, หน้าที่ 54
(8) มีซานุลฮิกมะฮ์, เรย์ ชะฮ์รี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 212
(*) หัวใจที่บริสุทธิ์ (ก็อลบุน ซะลีม) คำว่า “ซะลีม” (سَلِيمٌ) มาจากคำว่า “ซะลามะฮ์” (سَلامَةٌ) ซึ่งหมายถึง ความปลอดภัยจากเภทภัยทั้งด้านนอกและด้านใน และความหมายของคำว่า “ก็อลบุน ซะลีม” (قَلْبٌ سَلِيمٌ) นั้น หมายถึง หัวใจที่ห่างไกลจากความป่วยไข้และความเบี่ยงเบนทางด้านศีลธรรมและความเชื่อทุกรูปแบบ
(9) อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 24
(10) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 7, หน้า 152
(11) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 75, หน้า 321
(12) อัลลุฮูฟ, หน้า 134
(13) มิศบาฮุชชะรีอะฮ์, หน้า 138
(14) อุยูนุลหิกัม วัลมะวาอิซ, หน้า 161
แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่