ความอิจฉาคือหนึ่งในรากเง้าสำคัญของความชั่วร้ายทั้งมวล และเป็นหนึ่งในกับดักของมาร (ชัยฏอน) ที่อันตรายอย่างยิ่ง มันคือกับดักที่ได้ทำงานของมันนับตั้งแต่ยุคแรกของการสร้างมนุษย์ และทำให้ “กอบีล” บุตรชายของอาดัม (อ.) กลายเป็นเหยื่อของมัน
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสไว้ในโองการที่ 54 ของบทอันนิซาอ์ว่า
أَمْ يَحْسُدُونَ النَّاسَ عَلَىٰ مَا آتَاهُمُ اللَّهُ مِن فَضْلِهِ فَقَدْ آتَيْنَا آلَ إِبْرَاهِيمَ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَآتَيْنَاهُم مُّلْكًا عَظِيمًا
“หรือว่าพวกเขาอิจฉามนุษย์ (มุฮัมมัดและวงศ์วานของเขา) ในสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่พวกเขา จากความกรุณาของพระองค์ แน่นอนเราก็ได้ประทานคัมภีร์และวิทยญาณให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีม (ซึ่งชาวยิวก็เป็นส่วนหนึ่งจากวงศ์วานของเขา) และมอบอำนาจปกครองอันยิ่งใหญ่แก่พวกเขา (ปวงศาสดาแห่งบนีอิสรออีล) มาแล้วเช่นกัน”
หนึ่งในลักษณะที่ชั่วร้ายทางศีลธรรมที่ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้ส่งผลกระทบที่เลวร้ายอย่างมากทั้งต่อบุคคลและสังคม นั่นก็คือความอิจฉา “ความอิจฉา” หมายถึง "ความไม่พอใจต่อเนี๊ยะอ์มัต (ความดีงามและความโปรดปราน) ต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้แก่ผู้อื่น และปรารถนาที่จะให้สิ่งเหล่านั้นสิ้นสลายไปจากพวกเขา กระทั่งว่าบางครั้งถึงกับพยายามในการทำลายสิ่งดังกล่าว" ความอิจฉานั้นจะทำให้จิตวิญญาณของมนุษย์เกิดความมัวหมอง จะทำให้บรรยากาศของการดำเนินชีวิตของเขาเกิดความมืดมน และทำให้สภาพแวดล้อมของสังคมเต็มไปด้วยวิกฤตและไร้ความสงบสุข!
ผู้ที่อิจฉานั้นจะไม่มีความสุขทั้งในชีวิตทางโลกนี้และในปรโลก ด้วยเหตุที่พวกเขาจะใช้ความพยายามทั้งหมดไปในการที่จะทำลายเนี๊ยะอ์มัต (ความดีงามและความสุขสบาย) ไปจากผู้ที่ถูกอิจฉา จะทำให้พวกเขายื่นมือสู่การก่ออาชญากรรมและความชั่วต่างๆ อย่างเช่น การพูดโกหก การนินทา การใส่ร้ายและการเบียดเบียนต่างๆ กระทั่งว่าหากความอิจฉานั้นรุนแรงและถึงขั้นวิกฤต พวกเขาก็ไม่ละเว้นที่จะยื่นมือสู่การเข่นฆ่าและการหลั่งเลือด!
ในความเป็นจริงแล้วสามารถกล่าวได้ว่า ความอิจฉาคือหนึ่งในรากเง้าสำคัญของความชั่วร้ายทั้งมวล และเป็นหนึ่งในกับดักของมาร (ชัยฏอน) ที่อันตรายอย่างยิ่ง มันคือกับดักที่ได้ทำงานของมันมานับตั้งแต่ยุคแรกของการสร้างมนุษย์ ทำให้ “กอบีล” บุตรชายของอาดัม (อ.) กลายเป็นเหยื่อของมัน และทำให้เขาลงมือสังหาร “ฮาบีล” น้องชายของตัวเอง ด้วยเหตุนี้เองในริวายะฮ์ต่างๆ จึงนับว่าความอิจฉานั้นคือหนึ่งในสามรากเหง้าและเป็นที่มาของการปฏิเสธ (กุฟร์) สามรากเหง้าดังกล่าว ได้แก่ ความหลงตน ความโลภหลงและความอิจฉาริษยา ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
اُصُولُ الْکُفْرِ ثَلاثَةُ: الْحِرْصُ وَاْلاِسْتِکْبارُ وَالْحَسَدُ; فَاَمّا الْحِرْصُ فَاِنَّ آدَمَ حِیْنَ نُهِىَ عَنِ الشَّجَرَةِ حَمَلَهُ الْحِرْصُ اَنْ اَکَلَ مِنْها، وَاَمّا اْلاِسْتِکْبارُ فَاِبْلِیْسُ حِیْنَ اُمِرَ بِالسُّجُودِ لاِدَمَ اِسْتَکْبَرَ، وَاَمّا الْحَسَدُ فَاِبْنا آدَمَ حَیْثُ قَتَلَ اَحَدُهُما صاحِبَه
"รากฐานที่มาของการปฏิเสธ (กุฟร์) นั้นมีสามประการคือ ความโลภหลง ความยโสโอหังและความอิจฉา สำหรับความโลภหลงนั้น (เกิดขึ้น) เมื่ออาดัม (อ.) ถูกห้ามจากต้นไม้ (สวรรค์) แล้วความโลภหลงได้บังคับเขาให้กินจาก (ผลของ) ต้นไม้นั้น (จนเป็นเหตุทำให้เขาต้องถูกขับออกจากสวรรค์) ส่วนความยโสโอหังนั้น (ปรากฏขึ้น) เมื่ออิบลีสได้ถูกบัญชาให้ทำการสุญูด (กราบกราน) ต่ออาดัม มันได้แสดงความยโสโอหัง (ปฏิเสธต่อการสุญูดจ จึงเป็นเหตุทำให้มันถูกสาปแช่งและถูกขับไล่ออกจากพระเมตตาของอัลลอฮ์) ส่วนความอิจฉานั้นปรากฏขึ้นเมื่อบุตรชายสองคนของอาดัม (อ.) (คือกอบีลและฮาบีล) โดยที่ (เป็นเหตุทำให้) คนหนึ่งจากทั้งสองได้ฆ่าอีกคนหนึ่ง" (1)
"ผู้อิจฉา" นั้นในความเป็นจริงแล้ว คือผู้ที่คัดค้านต่อต้านฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงถูกนับว่าเป็นประเภทหนึ่งของการปฏิเสธ (กุฟร์) และการตั้งภาคี (ชิรก์) จุดที่ตรงข้ามกับความอิจฉาคือ "ความปรารถนาดี" นั่นก็คือการที่คนเราจะรู้สึกมีความสุขและความพึงพอใจต่อเนี๊ยะอ์มัต (ความดีงามและความโปรดปราน) ต่างๆ ที่ผู้อื่นได้รับ และพยายามที่จะรักษามัน และถือว่าความสุขของตนอยู่ในความสุขของผู้อื่น และมองผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วยสายตาเดียวกันกับการมองผลประโยชน์ของตน
ความอิจฉาที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในโองการที่ 54 ของอัลกุรอานบทอันนิซาอ์ ได้ชี้ถึงเรื่องราวของชาวยิว เราได้รับรู้ว่าคนกลุ่มใหญ่จากชาวยิวที่ได้อ่านคุณลักษณะและสัญญาณต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในคัมภีร์ของตน ทำให้พวกเขาได้เดินทางจากแผ่นดิน "ชาม" ไปสู่ดินแดน "มะดีนะฮ์" เพื่อที่จะได้รับเกียรติและความภาคภูมิใจในการพบกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และเฝ้ารอคอยการปรากฏตัวของท่านอย่างต่อเนื่อง และคอยแจ้งข่าวดีต่อตนเองอยู่เสมอมา แต่หลังจากการถือกำเนิดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ส่วนมากของพวกเขานอกจากจะไม่ให้การสนับสนุนท่านตามความเชื่อมั่นของตนแล้ว กลับกลายเป็นผู้ต่อต้านอย่างร้ายกาจต่อท่านอีกด้วย เหตุผลหลักของมันก็คือ "ความอิจฉา" และอีกประการหนึ่งก็คือการที่ได้เห็นว่า "ผลประโยชน์ทางวัตถุของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย" เกี่ยวกับเรื่องนี้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสไว้ในในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
امْ یحْسُدُونَ النَّاسَ عَلَی مَا آتَاهُمُ اللَّهُ مِنْ فَضْلِهِ فَقَدْ آتَینَا آلَ ابْرَاهِیمَ الْکتَابَ وَ الْحِکمَةَ وَ آتَینَاهُمْ مُلْکاً عَظِیماً
“หรือว่าพวกเขาอิจฉามนุษย์ (มุฮัมมัดและวงศ์วานของเขา) ในสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่พวกเขา จากความกรุณาของพระองค์ แน่นอนเราก็ได้ประทานคัมภีร์และวิทยญาณให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีม (ซึ่งชาวยิวก็เป็นส่วนหนึ่งจากวงศ์วานของเขา) และมอบอำนาจปกครองอันยิ่งใหญ่แก่พวกเขา (ปวงศาสดาแห่งบนีอิสรออีล) มาแล้วเช่นกัน” (2)
ใช่แล้ว! วันหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานตำแหน่งศาสดา (นุบูวะฮ์) ความรู้และอำนาจการปกครองให้แก่อิบรอฮีม (อ.) ซึ่งชาวยิวเองก็เป็นส่วนหนึ่งจากวงศ์วานของท่าน และอีกวันหนึ่งพระองค์ได้ทรงประทานเนี๊ยะอ์มัต (ความดีงาม) เหล่านี้ให้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และวงศ์วานของท่าน ทั้งหมดเหล่านี้เป็นไปตามความเหมาะสม (มัศละฮ์) และวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ต่างๆ ชาวยิวในยุคสมัยนั้นพึงพอใจกระนั้นหรือที่คนอื่นๆ จะอิจฉาพวกเขา? ดังนั้นมาตอนนี้เมื่อถึงคราวของผู้อื่นทำไมไฟแห่งความอิจฉาจึงลุกโชนขึ้นภายในจิตใจของพวกเขา และไม่ละเว้นจากอาชญากรรมใดๆ ทั้งสิ้น
ความอิจฉาในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ในริวายะฮ์ (คำรายงานต่างๆ ของอิสลาม ได้ตำหนิความอิจฉาไว้อย่างรุนแรง ซึ่งเกี่ยวกับลักษณะนิสัยที่ต่ำทรามทั้งหลายนั้นมีน้อยนักที่จะถูกตำหนิรุนแรงถึงเพียงนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างเราจะพิจารณาดูเพียงบางส่วนจากฮะดีษ (วจนะ) ทั้งหลายเหล่านั้น
1.ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านกล่าวว่า
الْحَسَدُ یأْکلُ الْحَسَنَاتِ کمَا تَأْکلُ النَّارُ الْحَطَبَ
"ความอิจฉาจะกินความดีงามทั้งหลาย เหมือนดังที่ไฟจะกินไม้ฟืน" (3)
วจนะบทนี้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ไฟของความอิจฉานั้นสามารถที่จะเผาไหม้ผลผลิตของความความผาสุกและความดีงาม (ฮะซะนาต) ทั้งมวลของมนุษย์ และจะทำลายความเหนื่อยยากต่างๆ ชั่วอายุขัยของเขาลง โดยที่เขาจะจากโลกนี้ไปอย่างมือเปล่า
2.ความหมายเดียวกันนี้ได้ถูกรายงานไว้จากท่านอิมามบากิร (อ.) และท่านอิมามซอดิก (อ.) ในรูปที่รุนแรงกว่า โดยที่ท่านทั้งสองได้กล่าวว่า
انَّ الْحَسَدَ یأْکلُ الْایمانَ کمَا تَأْکلُ النَّارُ الْحَطَبَ
“ความอิจฉาจะกินความศรัทธา (อีหม่าน) ทั้งหลาย เหมือนดังที่ไฟจะกินไม้ฟืน" (4)
ใช่แล้ว! ลักษณะนิสัยที่ต่ำทรามของความอิจฉานั้นไม่เพียงแต่จะเผาไหม้ความดีงามต่างๆ ให้เป็นจุลลงเท่านั้น ทว่ามันจะเผาไหม้ทำลายความศรัทธาของคนเราลงอีกด้วย
3.ในฮะดีษ (วจนะ) จากท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านกล่าวว่า
الْحَسَدُ شَرُّالْامْرَاضِ
"ทั้งหมดเหล่านี้เป็นไปตามความเหมาะสม (มัศละหะฮ์) และวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์)" (5)
ตามฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ ไม่มีความป่วยไข้ทางศีลธรรมชนิดใดที่จะเลวร้ายยิ่งไปกว่าความอิจฉา
เชิงอรรถ :
(1) อุซูลุลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 289
(2) อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 54
(3) อัลมะฮัจญะตุลบัยฎออ์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 325
(4) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 306, ฮะดีษที่ 1 และ 2
(5) ฆุร่อรุลหิกัม, (อธิบายภาษาเปอร์เซีย) เล่มที่ 1, หน้าที่ 91
บทความ : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่