“เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร”(ผู้ถือสาส์น) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) กับภารกิจที่ไม่เสร็จสิ้น
Powered by OrdaSoft!
No result.
 “เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร”(ผู้ถือสาส์น) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) กับภารกิจที่ไม่เสร็จสิ้น

เป็นครั้งที่สาม ที่ "เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร" ได้รับเลือกให้เป็นทูต (ผู้ถือสาส์น) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ระหว่างมักกะฮ์และกูฟะฮ์ ในภารกิจนี้ เขาเป็นผู้ถือจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซัยยุดุชชุฮะดาอ์ (หัวหน้าบรรดาชะฮีด) ที่เขียนถึงบรรดาแกนนำของเมืองกูฟะฮ์

    ในบรรดาสหายของท่านซัยยุดุชชุฮะดาอ์ (อ.) ที่ถูกสังหารก่อนเหตุการณ์กัรบาลา โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ถือสาส์นของท่านอิมามฮุเซน (อ.) หรือไม่ก็เป็นผู้ร่วมเดินทางของบรรดาผู้ถือสาส์นของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไปยังกูฟะฮ์ ในช่วงเวลาก่อนที่ท่านอิมามจะไปถึงยังแผ่นดินอิรัก และด้วยผลจากแผนสมคบคิดของอุบัยดุลลอฮ์และความไม่ซื่อสัตย์ของชาวกูฟะฮ์ ทำให้พวกเขาต้องเป็นชะฮีด (มรณะสักขี) ก่อนที่จะเข้าสมทบกับกองทัพของท่านอิมาม (อ.)

    ในบรรดาชะฮีดเหล่านี้ ได้แก่ "เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร อัล ซ็อยดาวี" ซึ่งทำหน้าที่เป็นทูตของท่านอิมามฮุเซน (อ.) หลายครั้ง และในที่สุดก็เป็นชะฮีด (มรณะสักขี) ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติภารกิจของเขา และไม่กี่วันก่อนเหตุการณ์กัรบาลา

    "เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร บิน ฮุซัยมะฮ์ อัล อะซะดี อัล ซ็อยดาวี" มาจากเผ่า "อะซัด" หนึ่งในชาวอาหรับอัดนานีทางตอนเหนือของคาบสมุทร ชนเผ่านี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในด้านความกล้าหาญ ความมีเกียรติ และความรักความผูกพันที่มีต่ออะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)  เกซมีความเกี่ยวข้องและเป็นเครือญาติกับ "ฮะบีบ บิน มุซอฮิร อัล อะซะดี", "มุสลิม บิน เอาซะญะฮ์" และ "มุซะฮ์ฮัร บิน คอลิด" ซึ่งทั้งสามคนเป็นซอฮาบะฮ์ (สาวก) ของศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)

    หลังจากการเดินทางของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ออกจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร เป็นหนึ่งในผู้ที่นำจดหมายของชาวกูฟะฮ์ไปมอบให้ท่านอิมาม (อ.) เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่สองของบรรดาผู้นำจดหมายของชาวกูฟะฮ์ที่เข้ามาในนครมักกะฮ์พร้อมกับ "อับดุรเราะห์มาน บิน อับดุลลอฮ์" พร้อมด้วยจดหมาย 150 ฉบับ และนำไปมอบให้กับท่านอิมามฮุเซน (อ.) และได้เชื้อเชิญท่านให้เดินทางไปยังเมืองกูฟะฮ์ ท่านอิมาม (อ.) ได้ส่งเกซไปกูฟะฮ์พร้อมกับมุสลิม บิน อะกีล (1)

    ในเมืองกูฟะฮ์ เมื่อมุสลิมเห็นการต้อนรับของประชาชนชาวเมือง เขาจึงเขียนจดหมายเชิญท่านอิมาม (อ.)ไปยังกูฟะฮ์ และผู้ถือจดหมายนี้ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเกซ บิน มุซะฮ์ฮัร ซึ่งเดินทางไปหาท่านฮิมาม (อ.) พร้อมกับ "อับบาส บิน ชะบีบ" ผู้เป็นทูตของท่านอิมาม (อ.) ในมักกะฮ์ (2) ตามรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ นั้น เกซ หลังจากไปถึงกูฟะฮ์ได้ไม่นาน เขาก็ต้องกลับมาที่มักกะฮ์และไปพบท่านอิมาม (อ.)

เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร กับภารกิจที่ไม่เสร็จสิ้น

    หลังจากที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เดินทางมุ่งสู่อิรักและผ่านสถานที่หยุดพักหลายแห่ง กองคาราวานของท่านก็ได้มาถึงยังจุดพักที่มีชื่อว่า "ฮาญิซ" (3) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค "บัฏนุลรุมมะฮ์" ในสถานที่นี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เขียนจดหมายถึงประชาชนในเมืองกูฟะฮ์และบุคคลที่มีชื่อเสียงของเมือง รวมถึง "สุไลมาน บิน ซอร์ด" และ "ริฟาอะฮ์ บิน ชัดดาด" และส่งมันไปยังกูฟะฮ์โดยเกซ (4)

    นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร ทำหน้าที่ถือสาส์นของท่านอิมาม (อ.) เมื่อเขามาถึงตำบลกอดิซียะฮ์  โดยคำสั่งของอุบัยดุลลอฮ์ อิบนิ ซิยาด "ฮะซีน บิน นะมีร" ได้สร้างป้อมทหารที่แข็งแกร่งซึ่งประกอบด้วยทหารอาหรับจำนวน 4,000 นายขึ้นในตำบลกอดิซียะฮ์ และปิดช่องทางความเป็นไปได้ที่จะเข้าและออกจากเมืองกูฟะฮ์ อุบัยดุลลอฮ์ได้ออกคำสั่งให้เขาตรวจค้นและจับกุมเกซ (5) เกซ บิน มุซะฮ์ฮัร เมื่อรู้ข่าวดังกล่าวจึงได้ตัดสินใจชีกทำลายจดหมายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในทันที หลังจากการจับกุม ฮะซีนได้ส่งตัวเขาไปอุบัยดุลลอฮ์ มีคำถามและคำตอบต่างๆ ได้เกิดขึ้นระหว่างอุบัยดุลลอฮ์และเกซ ซึ่งบ่งบอกถึงจิตวิญญาณอันแข็งแกร่งของเกซ

    อิบนุ ซิยาดถามว่า : "เจ้าเป็นใคร?"

    เขาตอบว่า : "ฉันเป็นบุรุษผู้หนึ่งจากบรรดาชีอะฮ์ของท่านอะลี (อ.) และฮุเซน (อ.) ลูกชายของท่าน"

    อิบนุ ซิยาดถามว่า : "ทำไมเจ้าถึงฉีกจดหมายทิ้ง?"

    เขาตอบว่า : เพื่อที่เจ้าจะได้ไม่ล่วงรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของจดหมายนั้น"

    อิบนุ ซิยาดถามอีกว่า : จดหมายนั้นมาจากใคร และใครเป็นคนเขียนมัน?

    เกซตอบว่า : "มาจากฮุเซน บิน อะลี (อ.) ที่เขียนถึงชาวกูฟะฮ์จำนวน และฉันไม่รู้จักชื่อของพวกเขา"

    อิบนุ ซิยาดโกรธและกล่าวว่า : "ขอสาบานต่อพระเจ้าว่า ฉันจะไม่ปล่อยเจ้า เว้นแต่เจ้าจะบอกชื่อของคนเหล่านั้น หรือเจ้าจะต้องไปยืนบนมิมบัร (ธรรมาสน์) และด่าประณามฮุเซน บิดาและพี่ชายของเขาอย่างเปิดเผย มิฉะนั้นฉันจะฆ่าเจ้า"

    เกซซึ่งเห็นว่าข้อเสนอนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะนำเสนอเนื้อหาของสาส์นของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้ชาวกูฟะฮ์ได้รับรู้ เขาจึงตอบรับข้อเสนอของอิบนุ ซิยาดในทันที และกล่าวว่าเขาจะขึ้นไปบนมิมบัร (ธรรมาสน์) และกล่าวประณามฮุเซน

    ด้วยวิธีนี้เองที่เกซ ได้ขึ้นไปบนธรรมาสน์และหลังจากสรรเสริญสดุดีพระผู้เป็นเจ้าและซอละวาต (ประสาทพร) แด่ท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) แล้ว เขาก็พูดถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) โดยกล่าวว่า :

أيّها الناس إنّ هذا الحسين بن علي خير خلق الله ابن فاطمة بنت رسول الله صلّى الله عليه وآله، وأنا رسوله، وقد فارقته في الحاجز فأجيبوه

"โอ้ประชาชนเอ๋ย! แท้จริงฮุเซน บิน อะลี ผู้นี้ เป็นสิ่งถูกสร้างของอัลลอฮ์ (มนุษย์) ที่ประเสริฐที่สุด ท่านเป็นบุตรชายของบุตรีของศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และฉันเป็นผู้ถือสารของท่าน และฉันเพิ่งแยกทางมาจากท่านที่ฮาญิซ ดังนั้นพวกท่านจงตอบรับท่านเถิด" (6‍‍‍‍)

     จากนั้นเขาก็สาปแช่งอุบัยดิลลาฮ์ และบรรพบุรุษของเขา

    อิบนุ ซิยาด เมื่อได้ยินเช่นนั้นก็โกรธจัด และได้ออกคำสั่งให้โยนเกซ บิน มุซะฮ์ฮัรลงมาจากด้านบนของวังทันทีในสภาพที่ถูกมัดมือมัดเท้าไว้ด้วยเชือก และหั่นร่างของเขาเป็นชิ้นๆ และด้วยวิธีนี้เอง เกซก็เป็นชะฮีด (มรณะสักขี) ก่อนที่จะเข้าร่วมกับกองทัพของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) (7)

    ในสถานที่หยุดพักที่ "อุซัยบ์ อัล ฮิญานาต" ใกล้กับเมืองกูฟะฮ์ ในการพบกับพบกับชาวชีอะห์หลายพันคนที่มาจากกูฟะฮ์เพื่อพบท่านอิมาม (อ.) ท่านอิมาม (อ.) ได้สอบถามพวกเขาเกี่ยวกับสภาพของเกซ บิน มุซะฮ์ฮัร และพวกเขาก็ได้เล่าเรื่องราวการเป็นชะฮีดของเขาแก่ท่าน ท่านอิมามรู้สึกเศร้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในกูฟะฮ์และการถูกสังหารอย่างโหดร้ายของผู้ถือสาส์นของท่าน จนท่านต้องร้องไห้อย่างไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และได้วิงวอนขอพรให้แก่บรรดาชีอะฮ์ที่เป็นชะฮีดในหนทางสู่เป้าหมายของท่าน โดยกล่าวว่า :

جعل الله له الجنة ثواباً، اللهم اجعل لنا ولشيعتنا منزلاً كريماً إنك على كل شيء قدير

          "ขออัลลอฮ์ทรงประทานสวรรค์เป็นรางวัลตอบแทนสำหรับเขา โอ้อัลลอฮ์! โปรดประทานสถานที่พำนักอันมีเกียรติแก่เหล่าข้าฯ และแก่ชีอะฮ์ของเหล่าข้าฯ แท้จริงพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง" (8)


แหล่งอ้างอิง :

1. มุรูญุซซะฮับ, ซะฮะบี, เล่ม 3, หน้า 248

2. ตารีคฏอบารี, เล่ม 5, หน้า 375

3. ฮาญิร หมายถึง สิ่งกีดขวาง และสถานที่คล้ายหุบเขาที่มีน้ำสะสม เป็นสถานที่พักระหว่างทางจากมักกะฮ์ถึงกูฟะฮ์ ซึ่งตั้งอยู่ก่อนถึงคุซัยมียะฮ์

4. มุอ์ญะมุลบุลดาน, เล่ม 2 หน้า 370; อันซาบุลอัชรอฟ, บะลาซะรี, เล่ม 3, หน้า 166

5. อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, เล่ม 2 หน้า 418

6. อันซาบุลอัชรอฟ, บะลาซะรี, เล่ม 3, หน้า 167; วักอะตุฏฏ็อฟ, หน้า 160

7. ตารีคฏอบารี, เล่ม 5 หน้า 395; อัล-อัคบาร อัล-ฏุวาล, หน้า 246ราฟ, เล่ม 11, หน้า 164.

8. อัลฟุตูห์, อิบนุ อะอ์ซัม, เล่ม 5, หน้า 83


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1246 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

22263840
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
45951
49453
249870
21646861
148317
1600060
22263840

พฤ 03 ต.ค. 2024 :: 19:59:12