หลังจากที่ยะซีดเขียนจดหมายถึงวะลีด บิน อุตบะฮ์ ผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์ โดยออกคำสั่งให้เขาบีบบังคับให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้สัตยาบันต่อตนเอง หากมิเช่นนั้นก็จงสังหารและส่งศีรษะของท่านอิมาม (อ.) ไปให้เขา เมืองมะดีนะฮ์ก็กลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยสำหรับชีวิตของท่าน ดังนั้นท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงต้องออกจากมะดีนะฮ์ด้วยความจำเป็น .....
การยืนหยัดต่อสู้ (กิยาม) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นการยืนหยัดต่อสู้แห่งมนุษยชาติที่สำคัญมากที่สุดและมีคุณค่ามากที่สุดที่เกิดขึ้นมาในตลอดประวัติศาสตร์ การยืนหยัดต่อสู้ครั้งนี้มีมิติต่างๆ ที่หลากหลายในด้านส่วนบุคคล สังคม ศาสนา จิตวิญญาณ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงมีการวิเคราะห์ต่างๆ มากมายในเรื่องนี้ จากการพิจารณาประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เราได้ข้อสรุปว่า ท่านอิมาม (อ.) ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นนอกจากต้องเดินไปตามเส้นทางนี้ เพื่อพิสูจน์สิ่งนี้ เราจะชี้ให้เห็นถึงหลักฐานบางประการ :
จดหมายของยาซิดถึงผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์
ตราบใดที่มุอาวิยะฮ์ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อปูทางการขึ้นสู่อำนาจของยะซีด ลูกชายของตน เขาพยายามอย่างเต็มที่ในการแนะนำยะซีดในฐานะมกุฎราชกุมาร และพยายามหาทางให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบุคคลสำคัญของสังคมอิสลาม ให้สัตยาบัน (คำมั่นสัญญาว่าจะจงรักภักดี) ต่อยะซีด แต่บุคคลสำคัญบางคน อย่างเช่น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันต่อยะซีด
แต่ทันทีที่มุอาวิยะฮ์ได้เสียชีวิตลงในปี ฮ.ศ.60 และก่อนที่ข่าวการตายของมุอาวิยะฮ์จะถูกแพร่กระจายไปในหมู่ประชาชนนั้น ยะซีดเองได้เขียนจดหมายถึง "วะลีด บิน อุตบะฮ์" ผู้ปกครองหัวเมืองของตนในมะดีนะฮ์ โดยออกคำสั่งให้เขาเอาสัตยาบันจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) หรือมิเช่นนั้นก็ให้ทำการสังหารและส่งศีรษะของท่านไปให้เขา ซึ่งเราจะขอชี้ถึงบางตัวอย่างบางส่วนจากแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้
การบีบบังคับให้อิมามฮุเซน (อ.) ให้สัตยาบัน
ยะซีดได้เขียนจดหมายถึงวะลีด บิน อุตบะฮ์ ผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์ หลังจากการแจ้งข่าวการตายของมุอาวิยะฮ์ ผู้ปกครองเมืองชามแล้ว ดังนี้ว่า :
مِنْ يَزِيدَ أَمِيرِالْمُؤْمِنِينَ إِلَى الْوَلِيدِ بْنِ عُتْبَةَ، أَمَّا بَعْدُ فَإِنَّ مُعَاوِيَةَ... مَاتَ بأجلٍ... أَمَّا بَعْدُ فَخُذْ حُسيناً وَ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ عُمَرَ وَ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ الزُّبَيْرِ بِالْبَيْعَةِ أَخْذًا شَدِيدًا لَيْسَتْ فِيهِ رُخْصَةٌ حَتَّى يُبَايِعُوا
"จากยะซีด ผู้นำของศรัทธาชน ถึงวะลีด บิน อุตบะฮ์ สิ่งที่จะกล่าวหลังจากนี้คือ มุอาวิยะฮ์ได้เสียชีวิตแล้ว ... และประเด็นต่อไปคือ จงเอาซัตยาบันจากฮุเซน และอับดุลลอฮ์ อิบนิ อุมัร และอับดุลลอฮ์ อิบนิ ซุบัยร์ อย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าพวกเขาจะให้สัตยาบัน" (1)
ในจดหมายฉบับนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเด็ดขาดและการบีบบังคับให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ยอมให้สัตยาบันและให้คำมั่นสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อยะซีด
การออกคำสั่งสังหารอิมาม (อ.) ในกรณีไม่ให้สัตยาบัน
ในหนังสือยะอ์กูบีได้บันทึกเนื้อความเกี่ยวกับจดหมายของยะซีดถึงผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์ไว้เช่นนี้ว่า :
إِذَا أَتَاكَ كِتَابِي هَذَا فَأُحْضِرِ اَلْحُسَيْنَ بْنَ عَلِيٍ وَ عَبْدِ اَللَّهِ بْنِ اَلزُّبَيْرِ فَخُذْهُمَا بِالْبَيْعَةِ لِي فإِنِ امْتَنَعَا فَاضْرِبْ أَعْنَاقَهُمَا وَ ابْعَثْ لِي بِرُءُوسِهِمَا
"เมื่อจดหมายนี้ของฉันไปถึงเจ้าแล้ว ดังนั้นก็จงเรียกตัวฮุเซน บิน อาลี และอับดุลลอฮ์ อิบนุ ซุบัยร์มาพบ และจงเอาสัตยาบันจากเขาทั้งสองให้แก่ฉัน แต่หากเขาทั้งสองปฏิเสธ ก็จงฟันคอของทั้งสองคนแล้วส่งศีรษะของพวกเขาไปให้ฉัน” (2)
ในจดหมายฉบับนี้เขาได้ออกคำสั่งอย่างชัดเจนให้สังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในกรณีที่ท่านปฏิเสธที่จะให้สัตยาบัน
บนพื้นฐานรายงานทั้งสองนี้ เมืองมะดีนะฮ์ได้กลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งสำหรับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ดังนั้น ท่านอิมาม (อ.) มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นนอกจากเพียงสองทางเลือกเท่านั้น :
ทางเลือกแรก : คือ การที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะยอมให้สัตยาบันและให้คำมั่นสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อยะซีด ในกรณีนี้นอกจากเป็นความอัปยศอดสูแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนคาดคิดว่า การให้สัตยาบันของท่านอิมาม (อ.) เป็นตราประทับรับรองพฤติกรรมและการกระทำที่ชั่วร้ายทั้งหมดของยะซีด และในท้ายที่สุดจะเป็นผลทำให้รากฐานของอิสลามถูกทำลายไปตามกาลเวลา เพราะเนื่องจากโดยการขึ้นสู่อำนาจของยะซีดนั้น เท่ากับเป็นจุดจบของอิสลาม (3)
ทางเลือกที่สอง : การที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะปฏิเสธการให้สัตยาบันต่อยะซีด ในกรณีนี้ เพื่อที่จะรักษาชีวิตของตนและครอบครัวของท่าน และชีวิตของชาวชีอะฮ์ จำเป็นที่ท่านจะต้องละทิ้งออกไปจากเมืองมะดีนะฮ์
เหตุผลการปฏิเสธการให้สัตยาบันจากคำพูดจองอิมามฮุเซน (อ.)
แน่นอนว่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันต่อยะซีด และเลือกแนวทางที่สอง คือการละทิ้งออกจากนครมะดีนะฮ์ และเดินทางมุ่งสู่นครมักกะฮ์พร้อมด้วยคาราวานครอบครัวของท่าน และประกาศการยืนหยัดต่อต้านอำนาจปกครองของยะซีดอย่างเปิดเผย และในที่นี้จะชี้ให้เห็นเหตุผลบางส่วนจากการปฏิเสธการให้สัตยาบันต่อยะซีดของท่านอิมามฮัเซน (อ.) :
1. ในค่ำคืนแรกที่จดหมายของยะซีด ไปถึงวะลีด บิน อุตบะฮ์ ผู้ปกครองหัวเมืองมะดีนะฮ์ เขาได้ส่งม้าเร็วไปเชิญตัวท่านอิมาม (อ.) มาพบ และหลังจากแจ้งข่าวการตายของมุอาวิยะฮ์ เขาก็เรียกร้องให้ท่านอิมาม (อ.) ให้สัตยาบันต่อยะซีด แต่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันต่อเขา โดยที่ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าววะลีด บิน อุตบะฮ์ เช่นนี้ว่า :
أيها الأمير! إنا أهل بيت النبوة، ومعدن الرسالة، ومختلف الملائكة، ومحل الرحمة، بنا فتح الله وبنا يختم، ويزيد رجل فاسق، شارب للخمر، قاتل النفس المحرمة، معلن بالفسق، ومثلي لا يبايع مثله
"โอ้อมีร! แท้จริงเราคือครอบครัวแห่งศาสดา เป็นแหล่งกำเนิดแห่งสาส์น (ของพระผู้เป็นเจ้า) เป็นสถานที่ไปมาหาสู่ของมวลมลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) และเป็นสถานที่ลงพระเมตตา (จากพระผู้เป็นเจ้า) พระองค์ทรงให้อิสลามเริ่มต้นจากพวกเรา และด้วยครอบครัวของเราเช่นกันที่พระองค์จะทรงทำให้อิสลามดำเนินไปสู่จุดหมาย ส่วนยะซีด (คนที่เจ้าหวังจะให้ฉันให้สัตยาบันต่อเขา) นั้นคือคนชั่ว ดื่มสุราเมรัย ผู้ที่ฆ่าสังหารชีวิตบริสุทธิ์ ผู้ทำบาปอย่างเปิดเผย และคนอย่างฉันจะไม่ให้สัตยาบันต่อคนเยี่ยงยะซีด" (4)
2. และอีกครั้งหนึ่งในเช้าวันรุ่งขึ้นของคืนนั้นเอง เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้พบกับมัรวาน บิน หะกัม ซึ่งอยู่ในที่ประชุมในคืนที่ผ่านมาด้วย เขาได้สั่งย้ำอีกครั้ง ให้ท่านอิมาม (อ.) ให้สัตยาบันต่อยะซีด บิน มุอาวิยะฮ์ โดยกล่าวว่า :
إنّي آمرك ببيعة أمير المؤمنين يزيد؛ فإنّه خير لك في دينك ودنياك
"ฉันขอสั่งให้ท่านให้สัตยาบันต่อท่านอมีรุลมุอ์มินีนยะซีดเสียเถิด เพราะมันจะสิ่งที่ดีสำหรับท่านทั้งต่อศาสนาของท่านและโลกนี้ของท่าน"
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ตอบโต้เขาไปเช่นนี้ว่า :
اِنّا لِلّهِ وَاِنّا اِلَيْهِ راجِعُونَ وَعَلَى الاِْسْلامِ الْسَّلامُ اِذ قَدْ بُلِيَتِ الاُْمَّةُ بِراعٍ مِثْلَ يَزيدَ، وَلَقَدْ سَمِعْتُ رَسُولَ اللّه ِ صلي الله عليه و آله يَقُولُ: اَلْخِلافَةُ مُحَرَّمَةٌ عَلى آلِ اَبى سُفيانَ
"แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และเราต้องกลับคืนสู่พระองค์ และอิสลามจะต้องพบกับจุดจบ เมื่อประชาชาติได้ถูกทดสอบด้วยผู้ปกครองเยี่ยงยะซีด และแน่นอนยิ่งฉันได้ยินท่านศาสนทูตของอัลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า อำนาจการปกครองนั้นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับวงศ์วานแห่งอบีซุฟยาน" (5)
ดังนั้น เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ปฏิเสธการให้สัตยาบันต่อยะซีด ท่านจึงไม่สามารถจะอยู่ในมะดีนะฮ์ต่อไปได้ และสาเหตุที่ท่านอิมาม (อ.) จำเป็นต้องออกจากมะดีนะฮ์ ก็ด้วยเหตุผลความไม่ปลอดภัยอีกต่อไปของมะดีนะฮ์สำหรับท่านอิมาม (อ.) และครอบครัว รวมทั้งสำหรับชาวชีอะฮ์ เพราะหากท่านคงอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์และถูกสังหาร ก็จะมีผู้กล่าวได้ว่า ทำไมฮุเซน บิน อะลี (อ.) จึงไม่ออกไปจากมะดีนะฮ์ เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่รอด? นอกจากนี้หากอยู่ในมะดีนะฮ์และถูกสังหารในเมืองนี้ ท่านก็จะไม่สามารถส่งข้อความใดๆ อย่างเช่น การกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว การพิทักษ์ปกป้องสัจธรรม การฟื้นฟูซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) การเปิดโปงพฤติกรรมและความชั่วร้ายของบนีอุมัยยะฮ์ ฯลฯ ไปสู่ประชาชนได้เลย
การเดินทางสู่มักกะฮ์ของอิมามฮุเซน (อ.)
หลังจากที่มะดีนะฮ์ได้กลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตสำหรับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ทางเลือกเดียวสำหรับท่านก็คือเมืองมักกะฮ์ เนื่องจากช่วงเวลาของการประกอบพิธีฮัจญ์กำลังใกล้เข้ามาแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนในเมืองมักกะฮ์จะตอบรับเสียงเรียกร้องเชิญชวนของท่านและะให้การช่วยเหลือท่าน ดังนั้นหากท่านเลือกที่จะเดินทางไปยังเมืองอื่น ความเป็นไปได้ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น และตามรูปการณ์แล้ว มีทางเลือกเดียวสำหรับท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือเมืองมักกะฮ์
แหล่งที่มา :
1. อัล บิดายะฮ์ วัล นิฮายะฮ์, อิบนุ กะซีร, เล่ม 8, หน้า 157
2. ตารีค อัล ยะอ์กูบี, อะห์มัด อบี ยะอ์กูบ, เล่ม 2, หน้า 241
3. อัล ลุฮูฟ, ซัยยิดอิบนิฏอวูซ, หน้า 24
4. อัลฟุตูห์, อิบนุ อะอ์ซัม, เล่ม 5, หน้า 14
5. บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 44, หน้า 326
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่