เที่ยงของวันที่ 11 ของเดือนมุฮัรรอม กองคาราวานของเชลยแห่งกัรบาลาได้เคลื่อนผ่านเรือนร่างของบรรดาชะฮีดและมุ่งหน้าไปยังเมืองกูฟะฮ์ ในวันที่ 11 ของเดือนมุฮัรรอม ปี ฮ.ศ. 61 อุมัร อิบนุซะอัด ได้มอบศีรษะของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) ให้แก่เคาลี เพื่อให้เขานำไปยังวังของอุบัยดิลลาอ์ อิบนิซิยาด
วันที่ 11 ของเดือนมุฮัรรอม ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 61 "อุมัร อิบนุซะอัด" ได้สร้างโศกนาฏกรรมและความอธรรมที่ใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่งไว้ในประวัติศาสตร์ของตน เขาได้จับกุมครอบครัวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และผู้รอดชีวิตจากการเป็นชะฮีดเป็นเชลยและในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวได้เคลื่อนเชลยเหล่านั้นเดินทางผ่านสถานที่ถูกสังหารของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบาลาและพาคารานมุ่งสู่เมืองกูฟะฮ์
การมอบศีรษะของอิมามฮุเซน (อ.) ให้กับเคาลีผู้ถูกสาปแช่ง
ในวันที่ 11 ของเดือนมุฮัรรอม ปี ฮ.ศ. 61 อุมัร อิบนุซะอัด ได้มอบศีรษะของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) ให้แก่เคาลี เพื่อให้เขานำไปยังวังของอุบัยดิลลาอ์ อิบนิซิยาด เคาลีได้วางศีรษะอันบริสุทธิ์นั้นลงบนอานม้าของเขา ในสภาพที่เขาไม่เข้าใจเลยว่าเขากำลังนำศีรษะของผู้ใดไป
อีกหน้าหนึ่งจากโศกนาฏกรรมนองเลือดแห่งกัรบาลา
แม้หลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ต่างๆ ของอาชูรอจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของการตกเป็นเชลยของอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านอิมาม (อ.) เหตุการณ์ต่างๆ เช่น การปล้นสะดมเสื้อผ้าของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) การควบม้าขึ้นเหยียบย่ำเรือนร่างอันบริสุทธิ์ของบรรดาชะฮีด การปล้นสะดมและจุดไฟเผากระโจมค่ายพักต่างๆ และการส่งศีรษะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไปยังเมืองกูฟะฮ์ เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์หลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมาม (อ.) ของเรา
ในวันที่ 11 ของเดือนมุฮัรรอม อาการป่วยของท่านอิมามสัจญาด (อ.) ได้แย่ลง และท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้ทำหน้าที่ดูแลท่านและเด็กๆ ในวันนั้นผู้หญิงและเด็กๆ กำลังรอการถูกควบคุมตัวเป็นเชลยด้วยสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าและเสื้อผ้าที่สกปรกและเปอะเปื้อนไปด้วยเลือด
การตัดศีรษะของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบาลา
ในสถานการณ์เช่นนี้เองที่ อุมัร อิบนุซะอัด ได้ออกคำสั่งให้กองทัพของเขาตัดศีรษะของบรรดาชะฮีดออกจากเรือนร่างของพวกเขา เพื่อส่งไปมอบให้บรรดาผู้ปกครองของเขาในเมืองกูฟะฮ์และเมืองชาม จากนั้น อุมัร อิบนุซะอัดก็สั่งให้แบ่งศีรษะของบรรดาชะฮีดในระหว่างเผ่าต่างๆ ที่เข้าร่วมในสงคราม เพื่อเป็นของขวัญให้แต่ละเผ่าได้มีส่วนเพื่อรับรางวัลเหมือนๆ กันจากยะซีดผู้ถูกสาปแช่ง ดูเหมือนว่าระดับการเข้าร่วมของชนเผ่าในกัรบะลาอ์เป็นตัวชี้วัดส่วนแบ่งของพวกเขา
ในขณะเดียวกัน เคาลี บินยะซีดได้แยกนำศีรษะอันบริสุทธิ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไปยังเมืองกูฟะฮ์ ส่วนศีรษะที่เหลือของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบาลาอ์นั้น "ชมร์ บินซียูชัน", "เกซ บินอัชอัษ", และ "อัมร์ บินฮัจญาจ" ได้นำไปยังเมืองกูฟะฮ์ก่อนกองคาราวานเชลยศึกแล้ว
การเคลื่อนขบวนคาราวานเชลยแห่งกัรบาลา
ในตอนเที่ยงของวันที่ 11 เดือนมุฮัรรอม เมื่อกองคาราวานเชลยศึกพร้อมแล้วที่จะออกเดินทาง อุมัร อิบนุซะอัดได้ออกคำสั่งให้จุดไฟเผากระโจมค่ายพักของพวกเขาก่อนออกเดินทาง ด้วยวิธีนี้ ผู้ที่เหลือรอดชีวิตจากเหตุการณ์วันอาชูรอและครอบครัวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นที่รักที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าก็ถูกควบคุมตัวเป็นเชลยด้วยสภาพเท้าเปือยเปล่า ในช่วงเวลานั้นเอง พวกเขาได้กล่าวกับกองทัพของ อุมัร อิบนุซะอัดว่า : "ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า พวกเจ้าจงนำเราเดินทางผ่านสถานที่ถูกสังหารของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยเถิด" เมื่อสายตาของบรรดาสตรีได้มองเห็นเรือนร่างที่โชกไปด้วยเลือดของท่านซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (อ.) และบรรดาสหายผู้ช่วยเหลือของท่าน เสียงร่ำไห้และเสียงโอดครวญก็ดังกึกก้องขึ้นในท้องทะเลทรายแห่งกัรบาลาอ์
ในหนังสือ "นูรุลอัยน์ ฟี มัชฮะดิลฮุซัยน์ (อ.)" ได้เขียนว่า ในวันที่ 11 ของเดือนมุฮัรรอม เป็นไปตามคำสั่งของอุมมัร อิบนุซะอัด บรรดาทหารของเขาได้ใช้กำลังบีบบังคับให้บรรดาสตรีแยกตัวออกจากเรือนร่างของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และคุมตัวพวกเขาเหมือนเป็นเชลยทั้ง ๆ ที่พวกเขาอยู่ในสภาพเศร้าโศกอย่างที่สุด อย่างไรก็ตาม มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของความเศร้าโศกครั้งใหญ่นี้ ได้ปลอบโยนเพื่อนร่วมทางของนางในตลอดเส้นทางของการเดินทาง
แหล่งอ้างอิง:
- นะฟะซุลมะฮ์มูม, เชคอับบาส กุมมี
- อัล ลุฮูฟ, ซัยยิดอิบนิฏอวูซ
- มักตะลุลฮุซัยน์ (อ.), บะห์รุลอุลูม
- มักตะลุลฮุซัยน์ (อ.), คอรัซมี
- อะอ์ยานุชชีอะฮ์, ซัยยิดมุห์ซิน อามีน
- นูรุลอัยน์ ฟี มัชฮะดิลฮุซัยน์ (อ.), อิสฟะรออีนี อิบรอฮีม บินมุฮัมมัด
- ออยิเนะฮ์ ดัร กัรบาลาสต์, มุฮัมมัดริฎอ ซังกะรี
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่