อิมามซัจญาด (อ.) ผู้ถือธงในการต่อสู้กับความเสื่อมทรามทางศีลธรรม
อิมามซัจญาด (อ.) ผู้ถือธงในการต่อสู้กับความเสื่อมทรามทางศีลธรรม

ในช่วงชีวิตของอิมามท่านที่ 4 มีงานหลายด้าน หนึ่งในนั้นคืองานด้านจริยธรรม ท่านอิมามซัจญาด (อ.) มุ่งมั่นกับการให้ความรู้และการเปลี่ยนแปลงศีลธรรมในสังคมอิสลาม เนื่องจากตามการวิเคราะห์ของท่านอิมาม (อ.) ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของโลกอิสลามที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมแห่งกัรบาลานั้นเกิดจากการเสื่อมถอยและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมธรรมของประชาชน ....

    จากมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นไปไม่ได้ที่ชนชาติหนึ่งจะได้พบกับความผาสุกไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) ที่แท้จริง ในขณะที่ประชาชนของสังคมนั้นๆ เสื่อมทรามทางศีลธรรม สังคมจะคงอยู่ได้ถ้าประชาชนไม่ประสบกับความเสื่อมทรามทางศีลธรรม ผู้คนที่มีนิสัย "รักความสบาย" รักความสนุกสนาน รักความฟุ้งเฟ้อ เสพสุขทางโลกและความเสเพล หมกมุ่นอยู่กับการพนันและการดื่มสุรา พัวพันกับการติดสินบน การปล้นสิทธิของกันและกัน คุ้นเคยกับการโหดร้ายต่อกัน พวกเขาเหล่านี้คือผู้เสื่อมทรามทางศีลธรรม คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

وَ إِذا أَرَدْنا أَنْ نُهْلِكَ قَرْيَةً أَمَرْنا مُتْرَفيها فَفَسَقُوا فيها فَحَقَّ عَلَيْهَا الْقَوْلُ فَدَمَّرْناها تَدْميراً

          "และเมื่อเราปรารถนาที่จะทำลายบ้านเมืองใด เราได้บัญชาไปยังชนชั้นสูง (พวกมัวเมาในความมั่งคั่ง) ของมัน แต่แล้วพวกเขากลับฝ่าฝืน (คำบัญชา) ดังนั้น ประกาศิต (การลงโทษ) จึงสมควรแล้วแก่มัน แล้วเราก็ได้ทำลายมันจนพินาศสิ้น" (1)

    โดยสื่อของชนชั้นสูง (พวกหลงละเลิงกับความมั่งคั่ง) ความมัวเมา ความชั่วและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมก็ถูกเปิดทางให้มันเข้ามาในสังคม ผลที่ติดตามมาของมันตามสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอาน ก็คือ "ตัดมีร" (การทำลายล้าง) ความพินาศและการสิ้นสลาย เมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในหมู่พวกเขา ประชาชนทั้งหลายก็จะว่างเปล่า ไร้ความคิดและไร้จิตวิญญาณ ผู้คนจะไม่คิดสิ่งใดนอกจากปากท้องและเรื่องใต้กระโปรงของพวกเขา และเฉพาะเรื่องในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงแต่ศีลธรรมของพวกเขาจะเสื่อมทรามเท่านั้น แม้แต่ความคิดของพวกเขาก็จะเสื่อมทราม และประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า [ตัวอย่าง] เหล่านี้มีมากมายเพียงใด! (2)

    หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของมัน คือ ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของสังคมอิสลามในยุคสมัยของบนีอุมัยยะฮ์ ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและการทุจริตที่เป็นผลนำไปสู่เหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของอาชูรอ และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเรือนร่างของศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์

    การแพร่กระจายของความลุ่มหลงวัตถุ การยึดติดกับชีวิตทางโลก การคอรัปชั่น การใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ และความสำส่อนทางเพศ ได้เข้าครอบงำความกระตือรือร้นและความหวงแหนทางศาสนาและสำนึกของความรับผิดชอบทางศาสนา เมืองมะดีนะฮ์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นแรกของการจัดตั้งรัฐบาลอิสลาม หลังจากเวลาผ่านไปไม่นานก็กลายเป็นศูนย์กลางของนักดนตรี นักร้องที่เก่งที่สุด และนักเต้นระบำที่มีชื่อเสียงที่สุด ถึงขั้นที่เมื่อราชสำนักของเมืองชามต้องการประกาศนักร้องที่เก่งที่สุด พวกเขาจะนำนักร้องและนักดนตรีมาจากเมืองมะดีนะฮ์!

    ความอุกอาจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากหนึ่งร้อยหรือสองร้อยปี แต่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเป็นชะฮีดของลูกชายสุดที่รักของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ (อ.) และแก้วตาดวงใจของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และแม้กระทั่งก่อนหน้านั้น คือในสมัยของมุอาวิยะฮ์! ดังนั้น มะดีนะฮ์จึงกลายเป็นศูนย์กลางของความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและความสำส่อน และบรรดาลูกหลานของคนใหญ่คนโตทั้งหลาย หรือแม้แต่คนหนุ่มสาวบางคนที่อยู่ในบ้านของบนีฮาชิม ก็ประสบกับความเสื่อมทรามและความสำส่อนเช่นกัน! บรรดาผู้อาวุโสของรัฐบาลที่เสื่อมเสียเหล่านี้ก็รู้ดีว่า พวกเขาควรทำอะไร ต้องทำสิ่งใด และพวกเขาจะต้องส่งเสริมอะไร ความหายนะนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับมะดีนะฮ์เพียงเท่านั้น ที่อื่นๆ ก็เผชิญกับความเสื่อมถอยทางศีลธรรมแบบเดียวกันนี้ (3)

    หลังจากเหตุการณ์อาชูรอ ท่านอิมามซัจญาด (อ.) สามารถยืนหยัดขึ้นเพียงลำพังและป้องกันไม่ให้รากฐานของศาสนาถูกทำลาย หากไม่ใช่เพราะความพยายามของท่านอิมามซัจญาด (อ.) การเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) คงจะสูญเปล่าและผลต่างๆ ของการพลีอุทิศชีวิตของท่านคงจะไม่เหลืออยู่ การมีส่วนร่วมขอท่านอิมามซัจญาด (อ.) ในการพิทักษ์ศาสนาจึงถือเป็นส่วนร่วมที่ยิ่งใหญ่

    ในช่วงชีวิตของท่านอิมามซัจญาด (อ.) มีงานหลายด้าน หนึ่งในนั้นคืองานด้านจริยธรรม ท่านอิมามซัจญาด (อ.) มุ่งมั่นกับการให้ความรู้และการเปลี่ยนแปลงศีลธรรมในสังคมอิสลาม เนื่องจากตามการวิเคราะห์ของท่านอิมาม (อ.) ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของโลกอิสลามที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมแห่งกัรบาลานั้นเกิดจากการเสื่อมถอยและความเสื่อมทรามของศีลธรรมธรรมของประชาชน หากประชาชนมีศีลธรรมตามอิสลาม ยะซีด, อิบนุซิยาด, อุมัร บินซะอัดและคนอื่นๆ ก็จะไม่สามารถสร้างโศกนาฏกรรมดังกล่าวได้ หากประชาชนไม่เสื่อมถอยทางด้านศีลธรรมถึงเพียงนั้น หากพวกเขาไม่นั่งติดอยู่กับดินถึงเพียงนั้น หากพวกเขาไม่ออกห่างจากอุดมการณ์ต่างๆ และความชั่วร้ายไม่เข้าครอบงำพวกเขาถึงเพียงนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลทั้งหลาย - ถึงแม้ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะไร้ศีลธรรมก็ตาม แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีศาสนาและชั่วร้ายก็ตาม - จะสามารถบังคับประชาชนไปสู่การสร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เช่นนั้นได้ หมายถึงการสังหารบุตรชายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบุตรชายของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ (อ.) นี่เป็นเรื่องตลกอย่างนั้นหรือ!? ที่ชนชาติหนึ่งจะกลายเป็นต้นตอของความเสื่อมทรามทั้งหมดเมื่อศีลธรรมของพวกเขาถูกทำลาย ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้ตรวจสอบพบสิ่งนี้ในรูปโฉมของสังคมอิสลาม และท่านได้มุ่งมั่นที่จะชำระล้างรูปโฉมที่น่าเกลียดนี้และทำให้ศีลธรรมดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ ดุอาอ์ "มะการิมุลอัคลาค" (จริยธรรมที่สูงส่ง) ถึงแม้จะเป็นคำอธิษฐาน แต่มันคือบทเรียน และ “ซอฮีฟะฮ์ ซัจญาดียะฮ์” คือคำอธิษฐาน แต่มันเป็นบทเรียน (4)

    ในยุคปัจจุบันก็เช่นกัน การล่มสลายของระบบศีลธรรมในสังคมอิสลามด้วยการผลักดันสังคมไปสู่ทิศทางของการคอร์รัปชั่นและความสำส่อนทางเพศ ส่งเสริมการดื่มสุรา การผิดประเวณี การพนัน ราคะตัณหา การคุลมฮิญาบอย่างไม่ถูกต้องและการไม่คลุมฮิญาบ ผ่านเครือข่ายดาวเทียม เครือข่ายสังคม [ซึ่งในบางแง่ดูเหมือนจะอันตรายยิ่งกว่าเครือข่ายดาวเทียม] ฯลฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเมืองของศัตรูของอิสลามและมหาอำนาจของโลก ดังนั้น สมาชิกแต่ละคนในสังคมอิสลามมีหน้าที่รับผิดชอบ ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า :

كُلُّكُمْ رَاعٍ، وَكُلُّكُمْ مَسْئُولٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ

          "พวกท่านทุกคนคือผู้ดูแล และพวกท่านทุกคนคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการดูแลของตน" (5)

     และโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทางด้านวัฒนธรรมของประเทศจำเป็นต้องพยายามผลักดันสังคมไปสู่การมีศีลธรรมและจิตวิญญาณให้มากยิ่งขึ้น


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 16

(2) หนังสือชุด รวมผลงานของอุซตาด ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี, เล่ม 25, หน้า 305

(3) สุนทโรวาทของท่านอิมามอะลี คอเมเนอี ในการเข้าพบของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ ,  10/05/1374 (ปีของเปอร์เซีย)

(4) สุนทโรวาทของท่านอิมามอะลี คอเมเนอี ในการเข้าพบของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ,  23/04/1372 (ปีของเปอร์เซีย)

(5) ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

أَلَا كُلُّكُمْ رَاعٍ، وَكُلُّكُمْ مَسْئُولٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ، فَالْأَمِيرُعَلَى النَّاسِ رَاعٍ، وَهُوَ مَسْئُولٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ، وَالرَّجُلُ رَاعٍ عَلَى أَهْلِ بَيْتِهِ، وَهُوَ مَسْئُولٌ عَنْهُمْ، فَالْمَرْأَةُ رَاعِيَةٌ عَلَى بَيْتِ بَعْلِهَا وَوَلَدِهِ، وَهِيَ مَسْئُولَةٌ عَنْهُمْ، أَلَا فَكُلُّكُمْ رَاعٍ، وَكُلُّكُمْ مَسْئُولٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ

          "พึงรู้เถิดว่า พวกท่านทุกคนคือผู้ดูแล และพวกท่านทุกคนคือผู้รับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการดูแลของตน และเจ้าเมืองคือผู้ดูแลประชาชน และเขาคือผู้รับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการดูแลของตน และผู้ชายคือผู้ดูแลครอบครัวของเขา และเขาคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการดูแลของตน และผู้หญิงคือผู้ดูแลบ้านและลุกๆ ของสามีของนาง และนางคือผู้รับผิดชอบต่อพวกเขา พึงรู้เถิดว่าพวกท่านทุกคนคือผู้ดูแล และพวกท่านทุกคนคือผู้รับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการดูแลของตน" (มัจมูอะฮ์ วัรรอม, เล่ม 1, หน้า 6)


บทตวามโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่