อิมรอน บินอับดุลมุฏฏอลิบ (อบูฏอลิบ) ผู้พิทักษ์ที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม
อิมรอน บินอับดุลมุฏฏอลิบ (อบูฏอลิบ) ผู้พิทักษ์ที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม

"อิมรอน บินอับดุลมุฏฏอลิบ" รู้จักกันดีในนามว่า "อบูฏอลิบ" คือหัวหน้าเผ่าบนีฮาชิมและเป็นบิดาของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ท่านและ "อับดุลลอฮ์" บิดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ถือกำเนิดมาจากมารดาคนเดียวกัน ชื่อของท่านคือ “อิมรอน” และเนื่องจากบุตรชายคนโตของท่านคือ “ฏอลิบ” ประชาชนจึงเรียกท่านว่า “อบูฏอลิบ” (บิดาของฏอลิบ) หลังจากการเสียชีวิตของ “อับดุลมุฏฏอลิบ” บิดาของท่าน ท่านจึงได้รับผิดชอบการอุปการะเลี้ยงดูท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)

    ท่านอบูฏอลิบ (อ.) ได้ให้การสนับสนุนและปกป้องท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อย่างเต็มที่และไม่เคยทอดทิ้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แม้แต่ช่วงเวลาเดียว บรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) ชาวมักกะฮ์จะทำร้ายและทรมานบุคคลที่ไม่มีกลุ่มชนและเผ่าของตัวเองหรือผู้คอยให้การคุ้มครองอย่างรุนแรง จนกระทั่งบรรดาบุคคลอย่างเช่น ยาซิรและซุมัยยะฮ์ ภายใต้การทรมานต่างๆ ของบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ที่สามารถแบกรับความอดทนเอาไว้ได้และยอมเป็นชะฮีด และคนอีกกลุ่มหนึ่งต้องอพยพไปยังแผ่นดินหะบะชะฮ์ (เอธิโอเปียในปัจจุบัน) แต่ชาวกุเรช (มุชริกีน) ก็ไม่สามารถกระทำการใดๆ ต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ และทั้งหมดเหล่านี้เป็นหนี้บุญคุณต่อการปกป้องคุ้มครองต่างๆ อย่างจริงจังของท่านอบูฏอลิบ (อ.)

    นโยบายที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนของอบูฏอลิบ (อ.) ในการสนับสนุนและคุ้มครองท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ทำให้ชาวกุเรช (มุชริกีน) หมดความอดทน จนกระทั่งทำให้พวกเขาตัดสินใจคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจต่อชาวมุสลิม และชาวมุสลิมถูกบังคับให้ต้องอพยพไปอาศัยอยู่ใน “หุบเขาอบูฏอลิบ” ในที่สุดตัวท่านอบูฏอลิบเองไม่สามารถแบกรับการกดดันและการบีบครั้นที่รุนแรงที่เกิดขึ้นกับท่านในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ทำให้ท่านล้มป่วยและเสียชีวิตลงในหุบเขานั้น [1]

    หลังจากการเสียชีวิตของท่านอบูฏอลิบ (อ.) ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เนื่องจากขาดผู้คุ้มครอง ต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่ยากลำบากแสนเข็ญที่สุด และท้ายที่สุดบรรดามุชริกีนชาวกุเรชเนื่องจากไม่มีท่านอบูฏอลิบแล้ว พวกเขาได้ตัดสินใจที่จะสังหารท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ด้วยการช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าทำให้ท่านศาสดาล่วงรู้ถึงแผนการร้ายของพวกเขา จึงสามารถเอาชีวิตรอดไปได้อย่างปลอดภัยและได้อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์

    แม้ว่าจะด้วยกับการสนับสนุนและการคุ้มครองต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ของท่านอบูฏอลิบที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ก็มีชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ที่ไร้ความเป็นธรรมบางส่วนเชื่อว่าท่านเสียชีวิตลงในสภาพที่เป็นมุชริก (ผู้ตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า)

    คำตอบแรก : ด้วยกับการให้การสนับสนุนและการคุ้มครองอย่างเต็มที่ของท่านอบูฏอลิบที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นี้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่ท่านจะจากโลกนี้ไปโดยปราศจากศรัทธา (อีหม่าน)? หากจะตอบว่าการปกป้องคุ้มครองของท่านอบูฏอลิบต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น เนื่องมาจากความรักความผูกพันที่มีต่อเผ่าพันธุ์และกลุ่มชนของตนเองเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นเราก็จะขอถามว่า อบูละฮับซึ่งเป็นมุชริก (ผู้ตั้งภาคี) และเป็นกาฟิร (ผู้ปฏิเสธพระเจ้า) และซูเราะฮ์หนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในการตำหนิประณามเขานั้น ไม่ใช่เครือญาติที่ใกล้ชิดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หรือ? แล้วทำไมท่านอบูฏอลิบหรือท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงไม่ปกป้องเขาเนื่องจากความรักและความผูกพัน (ตะอัซซุบ) ทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์?

    คำตอบที่สอง : ท่านอบูฏอลิบได้กล่าวบทกวีที่สวยงามมากบทหนึ่งไว้ในการสนับสนุนท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่เต็มเปี่ยมต่อความเป็นศาสดา (นุบูวะฮ์) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า :

لیعلم خیار الناس ان محمداً            نبی کموسی والمسیح بن مریم

اتانا بهدی مثل ما اتیا به                  فکل بامر الله یهدی و یعصم

     “มนุษย์ผู้มีเกียรติทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า แท้จริงมุฮัมมัดเป็นศาสดา เช่นเดียวกับมูซาและมะซีห์ บินมัรยัม

      เขาได้นำมาซึ่งทางนำ เช่นเดียวกับที่ศาสดาทั้งสองได้นำมา

ทุกท่านเหล่านั้นจะชี้นำและปกป้อง (มนุษย์) จากการกระทำบาป ด้วยพระบัญชาของอัลลอฮ์”

تمنیتم ان تقتلوه و انما                 امانیکم هذی کاحلام نائم

نبی اتاه الوحی من عند ربه          و من قال لا یقرع بها سن نادم

“(โอ้บรรดาหัวหน้าเผ่ากุเรชเอ๋ย) พวกท่านคาดหวังว่าจะสังหารเขา (มุฮัมมัด) ได้ แท้จริงสิ่งนี้เป็นเพียงความเพ้อฝันของพวกท่าน เหมือนกับความฝันของผู้นอนหลับเท่านั้น

    เขาคือศาสดาที่วะห์ยู (วิวรณ์) จากพระผู้อภิบาลของเขาได้มายังเขา และผู้ใดที่กล่าวว่า ไม่ใช่! เขาจะต้องขบฟันด้วยความสำนึกเสียใจ” [2]

    ในบทกวีเหล่านี้ ท่านอบูฏอลิบ (อ.) ได้ถือว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อยู่ในฐานะเดียวกับท่านศาสดามูซาและอีซา (อ.) และสิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความศรัทธา (อีหม่าน) ของท่านต่อความเป็นศาสดาของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)

    สิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือว่า “ซัยนี ดะห์ลาล” ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ได้อธิบายถึงบทกวีที่สวยงามเหล่านี้ไว้ในหนังสือของตนว่ามาจากคำพูดของท่านอบูฏอลิบ ดังนั้นด้วยกับบทกวีที่สวยงามที่รายงานโดยนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์นี้ เป็นไปได้หรือที่ท่านอบูฏอลิบจะจากโลกนี้ไปในสภาพที่เป็นมุชริก (ผู้ตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า)?

    คำตอบที่สาม : อัศบัฆ บินนะบาตะฮ์ เล่าว่า : ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า :

والله ما عبد أبي ولا جدّي عبد المطّلب ولا هاشم ولا عبد مناف صنماً قطّ

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! บิดาของฉันและปู่ของฉัน อับดุลมุฏฏอลิบและฮาชิมและอับดุลมะนาฟ ไม่เคยเคารพบูชารูปปั้นเลย”

    เมื่อมีผู้ถามว่า :

فما كانوا يعبدون؟

“แล้วพวกเขาเคารพบูชาสิ่งใด?”

    ท่านกล่าวว่า :

كانوا يصلّون إلى البيت على دين إبراهيم متمسّكين به

          “พวกท่านทำนมาซโดยผินหน้าไปยังบัยตุลลอฮ์ ตามแนวทางของศาสนาของอิบรอฮีมที่พวกท่านยึดมั่นต่อมัน” [3]

    อิบนุอบิลหะดีด มุอ์ตะซิลี กล่าวว่า : มีสายรายงานมากมายโดยที่บางคนได้รายงานจากอับบาส บินอับดุลมุฏฏอลิบ และบางคนรายงานจากอบูบักร บินอบีกอฮาฟะฮ์ว่า ท่านอบูฏอลิบไม่ได้จากโลกนี้ไป จนกระทั่งท่านได้กล่าว :

لا اله الاّ الله، محمّد رسول الله

          “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัด คือศาสนทูตของอัลลอฮ์” [4]

    คำตอบที่สี่ : มีผู้ถามท่านอิมามซัจญาด (อ.) เกี่ยวกับความศรัทธา (อีหม่าน) ของอบูฏอลิบ ท่านตอบว่า :

واعجباً إن الله تعالى نهى رسوله أن يقر مسلمة على نكاح كافر وقد كانت فاطمة بنت أسد من السابقات الى الإسلام ولم تزل تحت أبي طالب حتى مات

“ช่างน่าประหลาดใจยิ่งนัก! แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงห้ามศาสนทูตของพระองค์ที่จะคงสภาพสตรีมุสลิมอยู่ในการนิกาห์ (สมรส) กับชายผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) ในขณะที่ฟาฏิมะฮ์ บินติอะซัดเป็นหนึ่งในบรรดาผู้รีบรุดในการเข้ารับอิสลาม กลับยังคงสภาพอยู่ภายใต้ (การเป็นภรรยาของ) อบีฏอลิบ จนกระทั่งท่านเสียชีวิต” [5]

    หลักฐานทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านอบูฏอลิบได้ปิดบังอำพรางความศรัทธา (อีหม่าน) ของตนเองจากบรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ด้วยเหตุผลและเป้าหมายบางประการ เพื่อว่าจะสามารถทำให้ท่านสามารถปกป้องและคุ้มครองท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ดียิ่งขึ้น


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 383 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

26403873
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
2557
8184
38065
26283640
21840
234739
26403873

พฤ 03 ก.ค. 2025 :: 13:15:31