ความเป็นชายชาตรี ; เรื่องราวความจงรักภักดีของท่านอับบาส (อ.)
ความเป็นชายชาตรี ; เรื่องราวความจงรักภักดีของท่านอับบาส (อ.)

"ซักกออ์ กัรบะลาอ์" (ผู้บริการน้ำแห่งกัรบาลา) ไม่ใช่เป็นแค่เพียงฉายานามเดียวของท่านอบุลฟัฎล์ อัล อับบาส (อ.) เท่านั้น แต่ก็สะท้อนให้ถึงข้อเท็จจริงแห่งการดำรงอยู่ของท่าน แม้ว่าตัวท่านเองจะกระหายน้ำอย่างมาก แต่ความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีที่ท่านมีต่ออิมามแห่งยุคสมัยของตน และความรักที่ท่านมีต่ออะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ก็ทำให้ท่านเอาชนะความกระหายน้ำของของตนได้

    ในบรรดาฉากทัศน์ทั้งหมดของอาชูรอ ภาพของท่านอับบาส บิน อะลี (อ.) ที่ประทับอยู่ในจิตใจทั้งหลาย คือภาพแห่งความจงรักภักดี การเสียสละ และความมีน้ำใจที่ไม่มีใครเทียบได้ ท่านอับบาส (อ.) ไม่เพียงแต่เป็นผู้ถือธงแห่งกัรบาลาเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้จัดหาน้ำ (ซักกออ์) ให้แก่เด็กๆ และสตรีที่กระหายน้ำ ซึ่งถูกปิดล้อมภายใต้การกดขี่และความอธรรม พวกเขาถูกปฏิเสธโดยศัตรูแม้กระทั่งน้ำดื่มสักจิบเดียว

    ท่านอับบาส (อ.) ซึ่งเป็นบุตรชายของท่านหญิงอุมมุลบะนีน (อ.) และเป็นน้องชายผู้องอาจกล้าหาญของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ยืนหยัดต่อสู้กับเหล่าศัตรูอย่างมั่นคงจนถึงวินาทีสุดท้ายและสละชีวิตของตนเพื่อที่จะนำน้ำดื่มกลับไปให้ถึงกระโจมเต็นท์ต่าง ๆ ที่กระหายน้ำ

ผู้บริการแห่งกัรบาลา ; แบบอย่างของความเป็นชายชาตรีที่แท้จริง

    "ซักกออ์ กัรบะลาอ์" (ผู้บริการน้ำแห่งกัรบาลา) ไม่ใช่เป็นแค่เพียงฉายานามเดียวของท่านอบุลฟัฎล์ อัล อับบาส (อ.) เท่านั้น แต่ก็สะท้อนให้ถึงข้อเท็จจริงแห่งการดำรงอยู่ของท่าน แม้ว่าตัวท่านเองจะกระหายน้ำอย่างมาก แต่ความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีที่ท่านมีต่ออิมามแห่งยุคสมัยของตน และความรักที่ท่านมีต่ออะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ก็ทำให้ท่านเอาชนะความกระหายน้ำของของตนได้

    เมื่อท่านมาถึงแม่น้ำยูเฟรตีส์ ท่านได้ใช้อุ้งมือทั้งสองวักน้ำขึ้นมาเพื่อที่จะดื่ แต่เมื่อระลึกถึงความกระหายน้ำของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ท่านจึงเทน้ำลงบนพื้นแล้วกล่าวว่า :

یا نَفْسُ مِنْ بَعْدِ الْحُسَیْنِ هُونِی وَ بَعْدَهُ لا کُنْتِ أَوْ تَکُونِی

“โอ้ชีวิตเอ๋ย ภายหลังจากฮุเซนแล้ว เจ้าช่างไร้ค่า และไม่ว่าเจ้าจะอยู่หรือไม่อยู่หลังจากเขาก็ตาม" (1)

    การเสียสละอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความความเสียสละและความจงรักภักดีขั้นสูงสุดของท่านอับบาส (อ.) เนื่องจากแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด ท่านก็ห้ามตัวเองจากการดื่มน้ำ และได้จัดการเติมน้ำลงในถุงน้ำสำหรับเด็กๆ ที่กระหายน้ำเพียงเท่านั้น

ท่านอับบาส (อ.) ในอัลกุรอานและหะดีษ

    แม้ว่าชื่อของท่านอับบาส (อ.) จะไม่ได้ถูกกล่าวถึงโดยตรงในคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ก็มีโองการจำนวนมากที่บรรยายถึงคุณลักษณะอันสูงส่งที่มีอยู่ในตัวของท่าน ตัวอย่างเช่น โองการที่ถูกประทานลงมาเกี่ยวกับบรรดาผู้เสียสละ (อีษาร) ทั้งหลาย :

وَ یُؤْثِرُونَ عَلى أَنْفُسِهِمْ وَ لَوْ کانَ بِهِمْ خَصاصَةٌ

“และพวกเขาจะเสียสละและให้ความสำคัญต่อผู้อื่นก่อนตนเอง ถึงแม้ว่าตนเองจะมีความต้องการอย่างยิ่งยวดก็ตาม" (2)

    โองการนี้ได้บรรยายคุณลักษณะเด่นของท่านอับบาส (อ.) ได้อย่างงดงาม บุคคลผู้ซึ่งเมื่ออยู่ในภาวะที่จำเป็นและกระหายน้ำอย่างยิ่ง กลับนึกถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง

    ในหะดีษบทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านอับบาส (อ.) ว่า :

کانَ عَمُّنا الْعَبَّاسُ بْنُ عَلِیٍّ نافِذَ البَصیرَةِ، صُلبَ الإیمانِ، جاهَدَ مَعَ أبی‌ عَبْدِ اللّه وَ أبْلَى بَلاءً حَسَناً وَ مَضَى شَهیداً

“ท่านอับบาส บินอะลี อาของเราเป็นผู้ที่มีความเข้าใจที่ลุ่มลึกและหลักแหลม เป็นผู้ที่มีความศรัทธาแกร่งกล้ามั่นคง ท่านได้ต่อสู้เคียงข้างท่านอบาอับดิลลาฮ์ (อ.) และได้แสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้อย่างงดงาม และได้จบชีวิตลงด้วยการเป็นชะฮีด" (3)

ความจงรักภักดีจวบจนลมหายใจสุดท้าย

    ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ท่านอับบาส (อ.) ได้กลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าด้วยแขนทั้งสองที่ถูกตัดออกจากร่างกาย ด้วยดวงตาทั้งสองที่เต็มไปด้วยเลือด แต่ด้วยหัวใจที่สงบมั่น ท่านไม่สามารถที่จะนำน้ำไปให้ถึงยังกระโจมเต็นท์ต่างๆ ได้อีกต่อไป แต่ท่านก็บรรลุในการปฏิบัติภารกิจของท่านแล้ว

    ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ปรากฏตัวขึ้นข้าง ๆ ท่าน และโอบกอดท่านไว้ด้วยความเศร้าโศกอย่างสุดซึ้ง และกล่าวว่า :

الْآنَ اِنْکَسَرَ ظَهْری

“บัดนี้หลังของฉันได้หักแล้ว...” (4)

    ประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงสถานะที่เป็นพิเศษของท่านอับบาส (อ.) ที่มี ณ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านไม่เพียงแต่เป็นน้องชายเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนโล่ห์ ผู้ปกป้อง ผู้สนับสนุน และที่พึ่งพิงสำหรับอิมามแห่งยุคสมัยของตนอีกด้วย

    เรื่องราวของการเป็นผู้บริการน้ำ (ซักกออ์) แห่งกัรบาลาของท่านอับบาส (อ.) ไม่ได้จบลงแค่เพียงในกัรบาลาเท่านั้น แต่ทว่าได้กลายมาเป็นแบบอย่างตลอดช่วงประวัติศาสตร์สำหรับบรรดาผู้ที่รักในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และการเสียสละ (อีษาร) ท่านสอนแก่เราว่าความรักและความผูกพันที่แท้จริง จะปรากฏความหมายของมันให้เห็นในการเสียสละและการให้ ท่านได้แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถเป็นผู้ให้น้ำ (ซักกอ์) และเสียสละได้ด้วยริมฝีปากที่กระหายน้ำ และยังสามารถที่จะถือธงแห่งสัจธรรมและความจริงได้แม้ด้วยแขนที่ถูกตัดขาด

    วันนี้ ชื่อของท่านอับบาส (อ.) ยังคงสร้างแรงบันดาลใจต่อไป ท่านไม่เพียงแต่เป็นผู้ให้น้ำ (ซักกออ์) แห่งกัรบาลาเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ให้น้ำแห่งความรู้และความศรัทธาอีกด้วย คอยชี้นำหัวใจที่กระหายน้ำทุกดวงไปสู่แหล่งแห่งความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และความศรัทธา (อีหม่าน) ซึ่งชี้นำทุกดวงใจที่กระหายไปสู่แหล่งแห่งความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) และการเสียสละ (อีษาร)

    ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน ขอความสันติสุขจงมีแด่มือทั้งสองที่ถูกตัดขาดของท่าน ขอความสันติสุขจงมีแด่ถุงน้ำที่ฉีกขาดของท่าน และขอความสันติสุขจงมีแด่ความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์ที่ไม่มีใครเทียบได้ของท่าน


เชิงอรรถ :

1. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 45, หน้า 42

2. อัลกุรอานบทอัลฮัชร์ โองการที่ 9

3. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 44, หน้า 298

4. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 45, หน้า 42


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 162 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25565546
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
2009
3144
16464
25511222
22435
179402
25565546

อ 04 ก.พ. 2025 :: 14:54:21