การถือศีลอด คือศาสนบัญญัติประการหนึ่งของอิสลาม เช่นเดียวกับศาสนบัญญัติอื่นๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมนุษย์ไม่อาจที่จะรับรู้และประจักษ์ถึงคุณค่าและปรัชญาทั้งหมดของมันได้ ความรู้อันจำกัดของมนุษย์ไม่สามารถพิชิตความลี้ลับที่แฝงเร้นและให้คำตอบแก่ตัวเองในสิ่งที่ยังไม่รู้ทั้งหมดเหล่านั้นได้ บางทีอาจเป็นไปได้ว่าสักวันหนึ่งความรู้ของมนุษย์อาจจะไปถึงในระดับที่สมบูรณ์มากกว่านี้ ซึ่งในวันนั้นม่านหมอกแห่งความไม่รู้อีกมากมายจะถูกเปิดแก่เขา และวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) แห่งหลักคำสอนและข้อบัญญัติต่างๆ ของอิสลามจะถูกทำให้เป็นที่ประจักษ์แก่เขา
ด้วยเหตุนี้ความไม่รู้ถึงปรัชญาหรือวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) และเหตุผลของข้อบัญญัติต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้าจะต้องไม่เป็นสื่อยับยั้งเราจากการปฏิบัติมัน และเป็นสาเหตุทำให้เรากลายเป็นผู้ละเมิดฝ่าฝืนต่อพระบัญชาของพระองค์ การปฏิบัติตามบทบัญญัติในลักษณะะเช่นนี้มิใช่เป็นการปฏิบัติตามอย่างไรเหตุผล หรือเป็นการหลับหูหลับตา แต่เป็นการปฏิบัติตามบนพื้นฐานของความรู้ (อิลม์) และความมั่นใจ (ยะกีน) ทั้งนี้เนื่องจากมุสลิมทราบดีว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงรอบรู้และทรงปรีชาญาณในทุกๆ เรื่อง และพระองค์ไม่ทรงประสงค์สิ่งใดจากปวงบ่าวของพระองค์ นอกจากความดีงามและความผาสุกไพบูลย์ของพวกเขา ฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ทรงบัญชาให้เราปฏิบัติตาม ย่อมเป็นสิ่งที่ดีงามและจะเป็นสื่อนำเราไปสู่ความสำเร็จและผาสุกไพบูลย์โดยแท้จริง และทุกสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติห้าม ย่อมเป็นโทษภัยกับเราทั้งทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณ
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) และคุณค่าทั้งหมดของข้อบัญญัติต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าได้ แต่เราก็สามารถประจักษ์ถึงบางส่วนของมันได้ไม่มากก็น้อย ตามที่มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ฉะนั้นในเนื้อหาของบทความนี้เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของเดือนรอมาฎอนซึ่งการถือศีลอดวาญิบได้ถูกกำหนดให้มุสลิมทุกคนปฏิบัติในเดือนนี้ นับเป็นสิ่งที่ดียิ่งที่เราจะมารับรู้ถึงวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) และคุณค่าบางประการของการถือศีลอดที่มีปรากฏอยู่ในวจนะของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)
คุณค่าของการถือศีลอด
การถือศีลอดมีคุณประโยชน์ต่างๆ มากมายทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณ เป็นสื่อเยียวยาร่างกายและก่อให้เกิดพลังแก่จิตวิญญาณ จะช่วยชำระมนุษย์ให้สะอาดบริสุทธิ์จากคุณลักษณะต่างๆ ที่ต่ำทราม การถือศีลอดมีผลอย่างมากในการสร้างบุคคลให้เป็นคนดี (ซอลิห์) และเสริมสร้างสังคมให้เกิดความสะอาดบริสุทธิ์ และมีอิทธิพลอย่างสูงในการชำระขัดเกลาจิตในของมนุษย์
คุณค่าทางด้านการแพทย์และสุขภาพพลานามัยของการถือศีลอดซึ่งนับได้ว่าเป็นคุณประโยชน์ที่เล็กน้อยที่สุดของข้อบัญญัตินี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนยิ่งที่บางทีอาจไม่จำเป็นต้องอธิบายและกล่าวซ้ำ ซึ่งประชาชนส่วนมากก็มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จะข้อชี้ให้เห็นถึงส่วนหนึ่งจากคุณค่าต่างๆ ทางด้านสุขภาพพลานามัยนี้
กระเพาะและระบบการย่อยอาหารนับได้ว่าเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดในร่างกายของมนุษย์ โดยปกติคนเรารับประทานอาหารวันละสามมื้อ ตลอดทั้งวันระบบการย่อยอาหารจะทำหน้าที่ย่อยสลาย ซึมซับและขับถ่ายอย่างต่อเนื่อง ในด้านหนึ่ง การถือศีลอดจะช่วยให้อวัยวะเหล่านี้ได้หยุดพักจากการทำงาน และในอีกด้านหนึ่ง ไขมันและสิ่งต่างๆ ที่ถูกสะสมซึ่งมีอันตรายต่อร่างกาย จะถูกทำให้สลายตัวและลดน้อยลงไปจากร่างกายของเรา
ในบรรดาคำรายงาน (ริวายะฮ์) ของอิสลาม ได้ชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ทางด้านร่างกายและสุขภาพพลานามัยของการถือศีลอดไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่ง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงถือศีลอดเถิด แล้วพวกท่านจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์” (1)
และในอีกคำรายงานหนึ่ง ท่านกล่าวว่า “กระเพาะอาหารคือบ่อเกิดของทุกความเจ็บป่วย และการงดเว้นคือสุดยอดของทุกยารักษา” (2)
ในการพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ ทำให้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญบางคนประจักษ์ได้ว่า การงดเว้นจากการกินและการดื่ม คือวิธีการเยียวยารักษาความเจ็บป่วยที่ยอดเยี่ยมอย่างหนึ่ง อเล็กซี่ ซูโฟรีน นักการแพทย์ร่วมสมัยชาวรัสเซีย ได้กล่าวว่า “95 เปอร์เซ็นต์จากความเจ็บป่วยต่างๆ ของประชาชน เกิดจากกระเพาะอาหาร และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง…เมื่อมนุษย์งดเว้นจากการกิน และทำการถือศีลอดจนครบสมบูรณ์ ร่างกายก็จะค่อยๆ ใช้ประโยชน์จากอาหารต่างๆ ที่ถูกสะสมไว้ และจะนำเอาสิ่งที่ถูกสะสมไว้ภายในไปใช้เป็นพลังงาน” (3)
เขายังได้กล่าวอีกว่า “การบำบัดโรคโดยวิธีการถือศีลอดจะให้ประโยชน์อย่างสูงสำหรับการเยียวยารักษาภาวะโลหิตจาง ลำไส้อ่อนอักเสบธรรมดาและเรื้อรัง โรคฝีหนองภายนอก วัณโรค รูมาติสซึม โรคเกาต์ โรคบวมน้ำ โรคปลายประสาทที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง บางที่เหนื่อย อ่อนแรง อ่อนใจ อาการจิตซึม เบื่ออาหารและนอนไม่หลับ อาการปวดต้นขา โรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับตา โรคเบาหวาน โรคผิวหนังต่างๆ โรคไต โรคตับ และอื่นๆ การเยียวยารักษาโรคโดยวิธีการงดอาหาร ไม่จำกัดเฉพาะโรคต่างๆ ข้างต้นเท่านั้น ทว่าโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางร่างกายของมนุษย์และเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ก็สามารถเยียวยารักษาได้โดยวิธีการงดอาหารเช่นกัน” (4)
ดร.จอน โฟรมูสัน ได้กล่าวถึงการถือศีลอดในฐานะการชำระล้างอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย (หัวใจ ตับ ปอด ไต ม้าม กระเพาะและลำไส้) โดยเขากล่าวว่า “ในช่วงเริ่มแรกของการถือศีลอดนั้นลิ้นจะแข็ง เหงื่อตามร่างกายจะออกมาก ปากจะมีกลิ่นเหม็น และบางครั้งจะมีน้ำมูกไหล ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการชำระล้างโดยสมบูรณ์ของร่างกาย หลังจากสามสี่วันกลิ่นปากก็จะหมดไป กรดยูริกก็จะลดน้อยลง ผู้ถือศีลอดก็จะรู้สึกเบาตัวและสบายเป็นพิเศษ ในสภาพเช่นนี้ อวัยวะต่างๆ ของร่างกายจะอยู่ในสภาพของการพักผ่อน” (5)
การถือศีลอดคือสื่อยับยั้งความชั่ว
การถือศีลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) เหนือมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถกระทำได้ คือสื่ออันทรงพลังในการเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งความยำเกรง (ตักวา) และการยับยั้งตนจากความชั่ว คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ข้อนี้ของการถือศีลอด ด้วยประโยคถ้อยคำที่ว่า “เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (6)
ตักวา (ความยำเกรง) และการยับยั้งตน มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) และการเสริมสร้างบุคลิกภาพของผู้เป็นมุสลิม และเพื่อที่จะไปให้ถึงยังคุณค่าอันสูงส่งดังกล่าวนี้ ซึ่งนับได้ว่าการถือศีลอดเป็นอิบาดะฮ์ที่ประเสริฐสุดของเดือนอันจำเริญ นั่นก็คือการยับยั้งตนเองจากความชั่วทั้งหลาย
มีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในขณะที่ท่านกำลังอธิบายถึงคุณค่าต่างๆ ของเดือนร่อมะฎอนให้ประชาชนฟังอยู่นั้น ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ได้ถามท่านว่า “อะมั้ล (การกระทำ) ที่ประเสริฐที่สุดในเดือนนี้คืออะไร” ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ตอบว่า “คือการยับยั้งตนจากบรรดาข้อห้ามของอัลลอฮ์” (7)
ผู้ถือศีลอดที่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ข้อนี้ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขแห่งความสมบูรณ์ (ชัรฏุลกะม้าล) ของการถือศีลอด ซึ่งจะทำให้จิตวิญญาณแห่งความยำเกรงในตัวเขาเกิดความแข็งแกร่งขึ้น การฝึกฝนและการขัดเกลาตนในขณะถือศีลอดในช่วงเดือนร่อมะฎอนเป็นสิ่งที่ง่ายดายกว่าสำหรับเรา ทั้งนี้เนื่องจากความหิว ความกระหาย และข้อจำกัดอื่นๆ ของการถือศีลอด จะช่วยดับไฟแห่งความใคร่และอารมณ์ตัญหาที่ก่อการละเมิดในตัวมนุษย์ลงได้ในระดับหนึ่ง และจะช่วยจัดเตรียมพื้นฐานความพร้อมให้แก่ผู้ถือศีลอดในการฝึกฝนตักวา (ความยำเกรง) และการยับยั้งตนเอง และด้วยความระมัดระวังและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จะก่อให้เกิดพลังในการยับยั้งตนจากความชั่วให้เกิดขึ้นใจตัวเขา และจะกลายเป็นคุณลักษณะที่ฝังแน่นอยู่กับตัวเขาตลอดไป
บทบาทของการถือศีลอดในการเสริมสร้างเจตนารมณ์อันเข้มแข็ง
อำนาจการปกครองเหนือตัวมนุษย์ที่เลวร้ายและมีอันตรายมากที่สุด คืออำนาจการปกครองและการครอบงำของอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจะทำให้มนุษย์ตกเป็นทาส และนำพาพวกเขาไปสู่ความตกต่ำและความชั่วร้าย การต่อสู้กับอำนาจครอบงำของอารมณ์ใฝ่ต่ำซึ่งถูกเรียกว่า “ญิฮาดอักบัร” (การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด) จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยช่วยเหลือและเจตนารมณ์อันแข็งแกร่งมั่นคง
มนุษย์ด้วยกับการถือศีลอด ซึ่งได้แก่การงดเว้นจากการกิน การดื่ม และการยับยั้งตนจากข้อห้ามต่างๆ ในความเป็นจริงแล้ว เขากำลังทำสงครามต่อสู้กับความต้องการต่างๆ ของตนเอง การฝึกฝนการกระทำดังกล่าวนี้ จะทำให้เจตนารมณ์และการตัดสินใจของมนุษย์เกิดความเข้มแข็ง และจะช่วยปลดปล่อยจิตวิญญาณของเขาให้หลุดพ้นจากพันธนาการและการครอบงำของอารมณ์ใฝ่ต่ำและกิเลสต่างๆ
ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า “มนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด คือบุคคลที่ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง” (8) และในอีกวจนะหนึ่งท่านกล่าวว่า “…และมนุษย์ที่เข้มแข็งที่สุด คือบุคคลที่พิชิตอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองได้” (9)
ดังนั้นผู้ถือศีลอดคือมนุษย์ที่มีความประเสริฐที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาคือผู้ที่ต่อสู้กับความต้องการและอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง และหากพวกเขาใช้ความอุตสาห์พยายามในการใช้ประโยชน์ดังกล่าวนี้จากการถือศีลอดของตนเป็นอย่างดีแล้ว พวกเขาจะกลายเป็นผู้พิชิตเหนือจิตใจของตนเอง และจะเป็นมนุษย์ที่มีความเข้มแข็งที่สุดด้วยเช่นกัน
หัวใจที่ผ่องแผ้วและสะอาดบริสุทธิ์
การถือศีลอดจะทำให้ดวงประทีบแห่งมะอ์ริฟะฮ์ (การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า) และความเข้าใจในคำสอนต่างๆ ของพระองค์เจิดจรัสขึ้นในหัวใจของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถือศีลอดในช่วงเวลาหนึ่งเดือนเต็มในเดือนรอมาฎอนจะทำให้อำนาจการครอบงำของอารมณ์ใคร่และความต้องการต่างๆ แห่งชัยฎอน (มารร้าย) ถูกขับออกไปจากจิตวิญญาณของมนุษย์ และอำนาจการปกครองของตักวา (ความยำเกรง) และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้าจะเข้ามาแทนที่ความมืดมนแห่งความใคร่และอารมณ์ใฝ่ต่ำ จิตวิญญาณภายในของมนุษย์ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นแสงสว่างและรัศมีภายในจิตใจของเขา
ภายใต้จิตใจอันใสบริสุทธิ์ที่เกิดจากการถือศีลอดนี้ ผู้ถือศีลอดมิเพียงแต่ยับยั้งปากและท้องของตนเองจากการกินและการดื่มเท่านั้น แต่เขาจะต้องยับยั้งอวัยวะทุกส่วน เช่น มือ เท้า สายตา หูและลิ้นของตนเองจากการกระทำที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญญัติห้าม และเขาสามารถพัฒนาตนไปสู่ระดับอันสูงส่งของตักวาได้ ซึ่งแม้แต่ความนึกคิดในเรื่องของความชั่ว เขาก็สามารถหลีกเลี่ยงจากมันได้ และนี่คือระดับอันสูงส่งของการถือศีลอด
ในฮะดีษจากท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงการถือศีลอดในระดับนี้ โดยกล่าวว่า “การถือศีลอดของหัวใจจากการคิดในสิ่งที่เป็นบาปทั้งหลาย ย่อมประเสริฐกว่าการถือศีลอดของท้องจากอาหาร” (10)
หัวใจที่ผ่องแผ้วและจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์อันเป็นผลมาจากการถือศีลอด รวมถึงตักวา (ความยำเกรง) และการยับยั้งตนของผู้ถือศีลอด เปรียบได้ดั่งโล่ที่จะคอยปกป้องผู้ถือศีลอดให้พ้นจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากความชั่วร้ายต่างๆ ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่ง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “การถือศีลอดคือโล่ป้องกันจากไฟนรก” (11)
การถือศีลอดกับความอดทน
ความอดทน (ซ็อบร์) คือคุณลักษณะประการหนึ่งที่ถูกเน้นย้ำอย่างมากในจริยธรรมอิสลาม มนุษย์ผู้เป็นมุสลิม การดำเนินชีวิตส่วนบุคคลและทางสังคมของตนเอง เขาจะต่อสู้ในหนทางของเป้าหมายต่างๆ และจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคขวากหนามอย่างมากมายด้วยเช่นกัน ซึ่งหากปราศจากคุณลักษณะของความอดทน (ซ็อบร์) แล้ว การมีชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งหลาย และการไปถึงยังเป้าหมายต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก ความอดทน (ซ็อบร์) และการมีความอดกลั้น (ตะฮัมมุล) จะช่วยเพิ่มพูนพลังแห่งการยืนหยัดและการต่อสู้ให้แก่มนุษย์ และจะทำให้เจตนารมณ์ของเขาเกิดความเข้มแข็งและมั่นคง สังคมใดก็ตามที่ปราศจากความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยาก ย่อมไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และไม่สามารถที่จะมีชัยชนะเหนือศัตรูได้ ด้วยกับความอดทนอดกลั้นและการยืนหยัดเท่านั้นที่จะสามารถเผชิญหน้ากับบรรดาผู้อธรรม และสามารถทำลายล้างบรรดานักล่าผลประโยชน์ลงได้
การถือศีลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวันทั้งหลายที่ร้อนจัดและยาวนานของฤดูร้อน จะช่วยเสริมสร้างพลังแห่งความอดทนและการยืนหยัดให้แก่มนุษย์ และจะทำให้ความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์และความยากลำบากกลายเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับมนุษย์ ในฮะดีษบทหนึ่งจากท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า : ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนชะอ์บาน ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวคุฏบะฮ์ (เทศนา) ตอนหนึ่งของท่าน ซึ่งท่านได้กล่าวถึงเดือนร่อมะฎอนในนามเดือนแห่งความอดทน (ซ็อบร์) โดยกล่าวว่า “(เดือนร่อมะฎอนคือ) เดือนแห่งความอดทน และพึงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริงผลรางวัลของความอดทนนั่นคือสรวงสวรรค์” (12)
และมีคำรายงาน (ริวายะฮ์) จากท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) เกี่ยวกับคุณลักษณะพิเศษข้อนี้ของการถือศีลอดไว้เช่นเดียวกัน โดยที่ท่านได้กล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่ภัยพิบัติและความทุกข์ยากได้มาประสพกับบุคคลหนึ่ง ดังนั้นเขาจงถือศีลอด เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ทรงตรัสว่า : และพวกเจ้าจงแสวงหาความช่วยเหลือด้วยความอดทน (13) หมายถึง ด้วยการถือศีลอด“ (14)
การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบรรดาผู้ยากไร้
บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้กล่าวถึงเดือนร่อมะฎอนไว้ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) และบทดุอาอ์ต่างๆ ว่า “เป็นเดือนแห่งการแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจ (มุวาซาต)” (15)
ผลอันชัดเจนประการหนึ่งที่เกิดจากการถือศีลอด คือการปลุกจิตสำนึกในความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ผู้อ่อนแอและมีความยากจนขัดสน บุคคลที่มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ไม่เคยสัมผัสกับความทุกข์ยากจากความยากไร้และความหิวโหย เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะหลงลืมจากการนึกถึงคนยากจน การถือศีลอดนี่เองที่จะเป็นสื่อหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากสภาพของความหลงลืมดังกล่าว และจะทำให้พวกเขาได้รำลึกและรับรู้ถึงความทุกข์ยากต่างๆ ของคนยากจน เพื่อว่าพวกเขาจะได้เกิดความเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเอื้ออาทร ให้การแบ่งปันและความช่วยเหลือแก่ผู้ยากจนขัดสนเหล่านั้น
ในฮะดีษคำรายงานบทหนึ่ง มีผู้ถามท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) ว่า “ทำไมการถือศีลอดจึงถูกกำหนดให้เป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ)” ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบว่า “เพื่อว่าคนร่ำรวยจะได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของความหิวโหย และจะได้รำลึกถึงคนยากจน” (16)
ในฮะดีษอีกบทหนึ่งมีเนื้อความว่า : ฮิชาม บินฮะกัม ได้สอบถามท่านอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับเหตุผลของการถือศีลอด ท่านอิมามซอดิก (อ.) ตอบว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้การถือศีลอดเป็นหน้าที่บังคับ ก็เพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างคนรวยและคนจน เนื่องจากโดยปกติแล้ว คนรวยไม่เคยได้สัมผัสกับความหิวโหย ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกเมตตาสงสารคนจน คนรวยเมื่อเขาต้องการสิ่งใดเขาก็สามารถที่จะจัดหามันมาได้ ด้วยเหตุนี้อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งทรงประสงค์ที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในระหว่างปวงบ่าวของพระองค์ และจะทรงทำให้คนรวยได้ลิ้มรสของความหิวโหยและความทุกข์ยาก เพื่อพวกเขาจะได้เอื้ออาทรต่อผู้ที่อ่อนแอและเมตตาต่อผู้ที่หิวโหย” (17)
สิ่งที่ได้กล่าวไปทั้งหมดคือแง่มุมส่วนหนึ่งจากคุณค่าและผลของการถือศีลอด ซึ่งเป็นข้อบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่เราพอจะรับรู้ได้จากคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) แม้จะมีแง่มุมอื่นๆ มากกว่านี้ที่ปรากฏอยู่ในคำสอนของท่านเหล่านั้น แต่เนื่องจากเนื้อที่อันจำกัดของบทความ จึงขอนำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบโดยสังเขปเพียงเท่านี้
เชิงอรรถ :
- บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 96, หน้า 255
- บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 56, หน้า 290
- อ้างจากหนังสือ มะซาอิล ดัรมอนี, อับดุลการีม บีออซอร ชีราซี, หน้า 39
- เล่มเดิม หน้า 42
- เล่มเดิม หน้า 39-40
- อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 183
- อัรบะอีน, เชคบะฮาอี, หน้า 195
- ฆุร่อรุลฮิกัม, หน้า 90
- เล่มเดิม หน้า 91
- เล่มเดิม หน้า 203
- มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 5, หน้า 467
- อัลกาฟี, เล่มที่ 4, หน้า 66
- อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 45
- อัลกาฟี, เล่มที่ 4, หน้า 63
- เล่มเดิม, หน้า 66
- เล่มเดิม, หน้า 181
- วะซาอุลิชชีอะฮ์, เล่มที่ 7, หน้า 3
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่