ในเดือนนี้ ผู้ถือศีลอดได้รับโอกาสที่จะทำให้ตักวา (ความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า) เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในชีวิตของเขา และหนึ่งในแนวทางที่จะได้มาซึ่งตักวานั้นก็คือ "มุฮาซะบะฮ์" มุฮาซะบะฮ์นั้นหมายถึง การตรวจสอบตนเอง หากเราพบว่าตนเองได้กระทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นความดีแล้ว เราก็จะวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้เราประสบความสำเร็จที่จะดำเนินสิ่งนั้นต่อไป
คัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายถึงเป้าหมายของการถือศีลอดว่า เพื่อเสริมสร้างตักวา (ความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า) :
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ที่มาก่อนพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้มีความยำเกรง" (1)
นั่นหมายความว่า ในเดือนนี้ ผู้ถือศีลอดได้รับโอกาสที่จะทำให้ตักวา (ความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า) เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในชีวิตของเขา และหนึ่งในแนวทางที่จะได้มาซึ่งตักวานั้นก็คือ "มุฮาซะบะฮ์" มุฮาซะบะฮ์นั้นหมายถึง การตรวจสอบตนเอง หากเราพบว่าตนเองได้กระทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นความดีแล้ว เราก็จะวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้เราประสบความสำเร็จที่จะดำเนินสิ่งนั้นต่อไป แต่หากเราบกพร่องจากการกระทำในสิ่งที่เป็นความดีงาม เราก็จะพยายามหาทางที่จะชดเชยมัน
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
يا أبا ذرٍّ ، حاسِبْ نَفْسَكَ قَبلَ أنْ تُحاسَبَ ، فإنَّهُ أهْوَنُ لِحِسابِكَ غَدا ، وزِنْ نَفْسَكَ قَبلَ أنْ تُوزَنَ ، و تَجَهَّزْ للعَرْضِ الأكْبَرِ يَومَ تُعْرَضُ لا يَخْفى على اللّه ِ خافِيَةٌ
"โอ้อบูซัร! จงตรวจสอบตัวเองก่อนที่เจ้าจะถูกตรวจสอบ เพราะแท้จริงมันจะเป็นสิ่งง่ายดายกว่าสำหรับการตรวจสอบของเจ้าในวันพรุ่งนี้ (ปรโลก) และจงชั่งตัวของเจ้าเองก่อนที่เจ้าจะถูกชั่ง และจงเตรียมพร้อมตนสำหรับการปรากฏตัวที่ยิ่งใหญ่ในวันที่เจ้าจะถูกทำให้ปรากฏตัวขึ้น ซึ่งจะไม่มีสิ่งซ่อนเร้นใดๆ ถูกปิดบังต่ออัลลอฮ์ " (2)
ความสำคัญของการตรวจสอบตนเองนั้นมีมากถึงขั้นที่ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า :
لَيْسَ مِنّا مَنْ لَمْ يُحاسِبْ نَفْسَهُ فى كُلِّ يَوْمٍ فَاِنْ عَمِلَ خَيْرا اسْتَزادَ اللّهَ مِنْهُ وَ حَمِدَ اللّهَ عَلَيْهِ وَ اِنْ عَمِلَ شَيْئا شَرّا اسْتَغْفَرَ اللّهَ وَ تابَ اِلَيْهِ
"ไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากเรา ผู้ที่ไม่ได้ตรวจสอบตัวของเขาเองในทุกๆ วัน ดังนั้นหากเขากระทำดีแล้ว เขาก็จะขอให้อัลลอฮ์ทรงเพิ่มพูนมัน และเขาจะสรรเสริญขอบคุณอัลลอฮ์ และหากเขากระทำสิ่งที่เป็นความชั่วร้าย เขาจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์และสำนึกผิดต่อพระองค์" (3)
แหล่งที่มา :
(1) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 183
(2) อัลอะมาลี, เชคฏูซี, หน้าที่ 534, ฮะดีษที่ 1162
(3) วะซาอิลุชชีอะฮ์, ฮุรรุ้ลอามิลี, เล่มที่ 11, หน้าที่ 377
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่