"หนึ่งในกฎเกณฑ์สากลอันเป็นธรรมชาติในโลกแห่งการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า คือกฎของเหตุและผล (อิลละฮ์ วะ มะอ์ลูล) หรือกล่าวอีกสำนวนหนึ่งคือ “การกระทำและผลของการกระทำ” กฎเกณฑ์สากลดังกล่าวนี้ หมายถึง ทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ย่อมมีสาเหตุและสิ่งที่เป็นผลทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ ขึ้นมา ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสิ่งใดหรือปรากฏการณ์ใดๆ เกิดขึ้น โดยปราศจากสาเหตุที่มา"
ทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบันและในอนาคต ล้วนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์สากลนี้ทั้งสิ้นโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ผลต่างๆ ของความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า รวมทั้งผลต่างๆ ของเตาบะฮ์ (การสำนึกผิดและการกลับเนื้อกลับตัว) ก็รวมอยู่ในกฎเกณฑ์สากลอันเป็นธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้านี้ด้วยเช่นกัน การสำนึกในผิดบาป (เตาบะฮ์) และการกระทำความชั่ว ก็ย่อมจะต้องมีผลกระทบและผลพวงต่างๆ ที่จะติดตามมาเช่นเดียวกัน ผลเหล่านี้บางครั้งจะปรากฏในโลกนี้ และบางครั้งอาจจะปรากฏในปรโลก (อาคิเราะฮ์)
ผลของการกระทำความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้า
ความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้า มีผลกระทบที่เลวร้ายต่อจิตใจและจิตวิญญาณของมนุษย์ ทั้งต่อชีวิตในโลกนี้และในปรโลก ซึ่งจะขอชี้ให้เห็นตัวอย่างบางส่วนของมัน ณ ที่นี้
- ทำลายและสร้างความเสียต่อหัวใจของมนุษย์
ความชั่วจะทำลายหัวใจของมนุษย์ หัวใจซึ่งเป็นเขตหวงห้ามและเป็นที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า หัวใจซึ่งเป็นสถานที่และแหล่งแห่งการติดต่อสัมพันธ์โดยตรงต่อพระผู้เป็นเจ้า หัวใจซึ่งเป็นศูนย์กลางของจิตวิญญาณและเป็นรากฐานของการพัฒนาและเสริมสร้างความศรัทธาของมนุษย์ ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า
القَلْبُ حَرَمُ اللهِ فَلا تُسْكِنْ فِي حَرَمِ الله غيَرَ الله
“หัวใจคือเขตหวงห้ามของอัลลอฮ์ ดังนั้นท่านจงอย่าให้สิ่งอื่นจากอัลลอฮ์พำนักอยู่ในเขตหวงห้ามของพระองค์” (1)
ความชั่วจะทำลายหัวใจและสร้างความอ่อนแอให้กับพลังต่างๆ ทางจิตวิญญาณ และจะเผาไหม้รากของต้นไม้แห่งศรัทธา (อีหม่าน)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
إِذَا أَذْنَبَ الرَّجُلُ خَرَجَ فِى قَلْبِهِ نُكْتَةٌ سَوْدَاءُ فَإِنْ تَابَ انْمَحَتْ وَ إِنْ زَادَ زَادَتْ حَتَّى تَغْلِبَ عَلَى قَلْبِهِ فَلَا يُفْلِحُ بَعْدَهَا أَبَداً
“เมื่อบุคคลใดกระทำบาป จุดสีดำหนึ่งจะปรากฏขึ้นในหัวใจของเขา ดังนั้นหากเขาเตาบะฮ์ (สารภาพผิดและกลับตัวกลับใจ) จุดสีดำนั้นก็จะลบเลือนไป และหากเขากระทำบาปเพิ่มขึ้น จุดสีดำก็จะเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมันจะพิชิตหัวใจของเขา โดยที่หลังจากนั้นเขาจะไม่พานพบกับความสำเร็จ (และความดีงาม) อีกเลย” (2)
- ความชั่วจะทำลายความศรัทธา
ความชั่วจะทำลายการกระทำ (อะมั้ล) ที่เป็นความดีงามต่างๆ ของมนุษย์ และจะทำให้บั้นปลายสุดท้ายของเขาประสบกับความพิโรธของเพลิงไฟแห่งนรก ท่านมุลลา อะห์มัด นะรอกี นักจริยศาสตร์อิสลาม (อิลมุลอัคลาก) ได้กล่าวว่า “การทำความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืน จะเป็นตัวทำลายความศรัทธา (อีหม่าน) และทำให้พบกับจุดจบบั้นปลายที่เลวร้าย นั่นก็คือจะทำให้พำนักอยู่ในไฟนรกชั่วกัปชั่วกัลป์ ผลของความผิดบาปและความชั่วที่มีต่อความศรัทธา (อีหม่าน) ก็เหมือนกับอาหารต่างๆ ที่เป็นพิษและเป็นอันตราย หรืออาหารที่ถูกผสมไปด้วยยาพิษที่มีต่อร่างกายของมนุษย์... ผลของความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนนั้นจะค่อยๆ สะสมทับถมอยู่ในจิตใจของมนุษย์ จนกระทั่งทำให้ธรรมชาติของจิตใจ (นัฟซ์) เกิดความเสียหาย จะทำลายผู้ศรัทธาและสร้างความหายนะให้กับจิตวิญญาณของเขา” (3)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงผลพวงของการทำความชั่วอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สำนึกและกลับเนื้อกลับตัว โดยกล่าวว่า
ثُمَّ كَانَ عَاقِبَةَ الَّذِينَ أَسَاءُوا السُّوأَىٰ أَنْ كَذَّبُوا بِآيَاتِ اللَّهِ وَكَانُوا بِهَا يَسْتَهْزِئُونَ
“แล้วบั้นปลายของบรรดาผู้กระทำความชั่วนั้นก็คือโทษอันมหันต์ โดยที่พวกเขาปฏิเสธต่อหลักฐานทั้งหลายของอัลลอฮ์ และพวกเขาเย้ยหยันมัน” (4)
- การถูกยับยั้งจากความดีงามและปัจจัยดำรงชีพ (ริษกี)
หนึ่งในอันตรายและผลพวงอันเลวร้ายของความชั่วนั้น จะเป็นสื่อปิดกั้นและยับยั้งมนุษย์จากปัจจัยดำรงชีพ (ริษกี) และความจำเริญต่างๆ จากพระผู้เป็นเจ้า ความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า จะส่งผลกระทบในทางลบมากมายต่อมนุษย์ คนจำนวนมากมายที่หวังจะเพิ่มพูนปัจจัยอำนวยสุขทางด้านวัตถุและแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง โดยวิธีการที่แปดเปื้อนไปด้วยความชั่วและความผิดบาป แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ประสบกับความยากไร้และความสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยผลของการกระทำดังกล่าว
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
إنّ الرّجل لیذنب الذّنب فیدرأ عنه الرّزق
“แท้จริงบุคคลที่ทำความชั่วนั้น ริษกี (ปัจจัยดำรงชีพ) จะถูกผลักใสออกไปจากเขา” (5)
ในคำรายงานบทหนึ่งจากท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ท่านกล่าวว่า
اِنّ الحرامَ لا يَنمِي و اِن نَمي لا يُبارَك له فيه و ما اَنفقه لم يُؤجَر عليه و ما خلَّفه كان زاده اِلي النار
“แท้จริงสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) นั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเพิ่มพูน แต่หากมันเพิ่มพูนมันก็จะไม่มีความจำเริญและความดีงามใดๆ สำหรับเขา และสิ่งที่เขาได้บริจาคมันออกไป ก็จะไม่ได้รับรางวัลตอบแทน และสิ่งที่เขาละทิ้งมันไว้ (หลังจากความตาย) มันก็จะเป็นเสบียงสำหรับเขาสู่ไฟนรก” (6)
- การถูกยับยั้งจากการนมาซในยามค่ำคืน
โทษทัณฑ์และผลอีกประการหนึ่งของความชั่ว คือการถูกยับยั้งจากการทำอิบาดะฮ์ในยามดึกและการนมาซซอลาตุ้ลลัยน์ นมาซซอลาตุ้ลลัยน์นั้นมีคุณค่าและความดีงามมากมาย เขาจะพลาดพลังจากการปฏิบัติมันด้วยผลแห่งการกระทำความชั่วของตนเอง
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
انّ العبد لیذنب الذنب فیمنع به من قیام اللیل
“แท้จริงบ่าว (ของอัลลอฮ์) เมื่อกระทำบาป เขาจะถูกยับยั้งจากการนมาซยามค่ำคืน ด้วยผลของการกระทำบาปนั้น” (7)
- การถูกยับยั้งจากความสุขและความหวานชื่นของการอิบาดะฮ์
ผลอันเลวร้ายอีกประการหนึ่งของความชั่วก็คือ มนุษย์จะถูกยับยั้งจากความสุขและความหวานชื่นของการอิบาดะฮ์และการภาวนาขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า นี่คือโทษทัณฑ์และความสูญเสียประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยผลของการกระทำชั่วของเขา ในคำภาวนาขอพร (มุนาญาต) บทหนึ่ง ของท่านอิมามซัจญาด (อ.) ท่านวิงวอนเช่นนี้ว่า
اللهم احملنا فی سفن نجاتك و متعنا بلذیذ مناجاتك
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดทำให้เหล่าข้าพระองค์ได้ขึ้นอยู่ในเรือแห่งความปลอดภัยของพระองค์ด้วยเถิด และโปรดบันดาลให้เหล่าข้าพระองค์ได้รับประโยชน์จากความหวานชื่นของการภาวนาขอพรต่อพระองค์ด้วยเถิด”
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า : พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า
انّ ادنی ما اصنع بالعبد اذا آثر شهوته علی طاعتی ان احرمه لذیذ مناجاتی
“แท้จริงโทษทัณฑ์ที่เล็กน้อยที่สุด ที่ข้าจะให้บังเกิดขึ้นกับบ่าว เมื่อเขาได้ให้ความสำคัญต่ออารมณ์ใคร่ของเขามากกว่าการเชื่อฟังข้า คือการที่ข้าจะหักห้ามเขาจากการภาวนาของพรต่อข้า” (8)
บทสรุป :
สรุปก็คือ จำเป็นที่เราทุกคนจะต้องระมัดระวังจากความชั่ว และอย่าได้ทำลายชีวิตในโลกนี้และปรโลกของตนเองด้วยกับการทำความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนั่นหมายถึงความพินาศและความอัปยศอดสูของตัวเราเอง
แหล่งอ้างอิง :
1 – มีซานุลฮิกมะฮ์ เล่มที่ 2 หน้าที่ 212
2 – อัลกาฟี เล่มที่ 2 หน้าที่ 271
3 – เมี๊ยะอ์รอญุซซะอาดะฮ์ หน้าที่ 677 – 678
4 – อัลกุรอานบทอัรรูม โองการที่ 10
5 – บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 73 หน้าที่ 358
6 – อัลกาฟี เล่มที่ หน้าที่ 125
7 – บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 73 หน้าที่ 377
8 – เมี๊ยะอ์รอญุซซะอาดะฮ์ หน้าที่ 673
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่