สิทธิแห่งความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้า

สิทธิแห่งความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้า

ในทัศนะของอิสลามถือว่าทุกๆ เนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ความสุขสบายและปัจจัยอำนวยประโยชน์ต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้แก่มนุษย์ขณะที่เขาดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้นั้น ล้วนแล้วแต่มีสิทธิ (ฮักก์) ต่างๆ ควบคู่อยู่ด้วย และมนุษย์ทุกคนจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามสิทธิ (ฮักก์) ของเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) เหล่านั้น เราจะไม่พบเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) หรือปัจจัยอำนวยสุขอันใดเลยแม้แต่เพียงประการเดียว ที่เมื่อมันได้มาสู่มือของมนุษย์แล้ว มนุษย์ไม่มีหน้าที่รับต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อมัน หรือไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามสิทธิ (ฮักก์) ของมัน

      การที่เราปฏิบัติตามสิทธิ (ฮักก์) ของเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ต่างๆ นั้นถือเป็นการขอบคุณ (ชุกร์) และเป็นการแสดงออกถึงการรู้คุณในเนี๊ยะอ์มัตของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะเดียวกัน การแสดงออกเช่นนี้จะเป็นสื่อในการเพิ่มพูนเนี๊ยะอ์มัตดังกล่าว ในทางตรงข้ามกัน การไม่ปฏิบัติตามหรือการไม่รักษาไว้ซึ่งสิทธิของเนี๊ยะอ์มัตเหล่านั้น จะเป็นต้นเหตุของความบกพร่องและการสูญสลายของเนี๊ยะอ์มัตนั้นๆ ดังที่ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนุอะบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า

     “แท้จริงสำหรับอัลลอฮ์นั้นทรงมีสิทธิอยู่ในทุกๆ เนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตามสิทธินั้น พระองค์ก็จะทรงเพิ่มพูนให้แก่เขา และผู้ใดก็ตามที่บกพร่องในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าว มันจะเป็นสาเหตุนำไปสู่ความสูญสลายของเนี๊ยะอ์มัตและการรีบเร่งสู่การลงโทษ” (1)

     ในคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า การขอบคุณ (ชุกร์) คือสื่อทำให้เกิดการเพิ่มพูนในเนี๊ยะอ์มัต ส่วนการเนรคุณและการไม่ปฏิบัติตามสิทธิของเนี๊ยะอ์มัต ไม่เพียงแต่จะทำให้มนุษย์สูญเสียและถูกยับยั้งจากการได้รับเนี๊ยะอ์มัตในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้เพียงเท่านั้น แต่ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น จากผลของการเนรคุณและการไม่ปฏิบัติตามสิทธิของเนี๊ยะอ์มัตนั้นคือ จะทำให้มนุษย์ต้องประสบกับการลงโทษอันร้ายแรงในโลกหน้า (อาคิเราะฮ์) อีกด้วย โดยที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า

     “แน่นอนยิ่งหากพวกเจ้าขอบคุณ ข้าย่อมจะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า แต่หากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงโทษของข้านั้นช่างรุนแรงยิ่งนัก” (2)       

      อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้นั้น สิ่งดีงามและความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ใดๆ ก็ตามที่สูญสลายและหลุดลอยไปจากมือของมนุษย์แล้ว ย่อมเป็นเรื่องที่ยากเสียเหลือเกินที่มันจะกลับคืนมาสู่มนุษย์ได้อีก ซึ่งท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า“ช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน ในสิ่งที่ได้สูญเสียไปแล้วนั้น ที่จะย้อนกลับมาใหม่” (3)       

     ชีวิตของเราคือเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) หนึ่ง อายุขัยของคนเราก็คือเนี๊ยะอ์มัตหนึ่ง ความหนุ่มสาว การมีสุขภาพร่างกายที่ดี พละกำลังที่เข้มแข็ง การมีเงินทองร่ำรวย และอื่นๆ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งจากเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ ซึ่งเมื่อมันหมดไป มันก็ไม่อาจย้อนกลับคืนมาสู่เราได้อีก ด้วยเหตุนี้เองในหลักคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) จึงตอกย้ำแก่พวกเราให้ใช้เนี๊ยะอ์มัตต่างๆ อย่างระมัดระวัง จงรู้ถึงคุณค่า จงปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของเนี๊ยะอ์มัตเหล่านั้น ดังที่ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า

      “ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตนให้ดีงามในการอยู่ร่วมกับเนี๊ยะอ์มัตทั้งหลายก่อนที่มันจะจากไป เพราะแท้จริงแล้วมันจะต้องจากไปอย่างแน่นอน และมันจะเป็นสักขีพยานต่อเจ้าของของมันในสิ่งที่เขาได้ประพฤติปฏิบัติต่อมัน” (4)        

      ส่วนหนึ่งจากสิทธิของเนี๊ยะอ์มัตแต่ละประการนั้น คือการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับเนี๊ยะอ์มัตนั้นๆ มนุษย์ไม่มิสิทธิที่จะใช้เนี๊ยะอ์มัตทั้งหลายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ได้ตามอำเภอใจ หรือใช้ไปตามที่หัวใจของตนเองปรารถนา เพราะทุกๆ เนี๊ยะอ์มัตนั้นจะต้องถูกสอบสวนจากพระผู้เป็นเจ้า “แล้วในวันนั้นพวกเจ้าจะถูกสอบถามเกี่ยวกับความโปรดปรานทั้งปวง (ที่ได้รับในโลกนี้)” (5)

      ขั้นตอนพื้นฐานที่สุดในการแสดงความรู้คุณและการปฏิบัติตามสิทธิ (ฮักก์) ของเนี๊ยะอ์มัต นั่นคือ การที่เราจะต้องใช้มันไปในหนทางของการแสดงออกถึงการเคารพภักดี (ฏออัต) ต่อพระผู้เป็นเจ้า จงอย่าใช้มันไปในหนทางของการละเมิดฝ่าฝืน (มะอ์ซิยะฮ์) ต่อพระองค์ ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า

      “สิ่งจำเป็นขั้นต่ำสุด (ขั้นพื้นฐาน) ที่ท่านทั้งหลายพึงมีต่ออัลลอฮ์ คือการที่พวกท่านจะต้องไม่ใช้ประโยชน์จากเนี๊ยะอ์มัตของพระองค์ไปในหนทางของการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระองค์” (6)        

      ยกตัวอย่างง่ายๆ ซึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า “และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์ขึ้นมาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อให้พวกเขาเคารพภักดีต่อข้า” (7)

      ตามเนื้อหาของโองการอัลกุรอาน เป้าหมายของอัลลอฮ์ (ซบ.) ในการสร้างมนุษย์ ก็เพื่อให้มนุษย์ทำการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) ต่อพระองค์ คำว่า “อิบาดะฮ์” ในที่นี้มิได้หมายถึงการนมาซ การถือศีลอด การทำฮัจญ์ และการอิบาดะฮ์ในรูปแบบเฉพาะอื่นๆ ที่ถูกกำหนดไว้เพียงเท่านั้น แต่คำว่า “อิบาดะฮ์” (การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์) ในที่นี้หมายถึง การมอบชีวิตทั้งหมดของเราในหนทางของการแสดงออกซึ่งการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์ และสิทธิ (ฮักก์) ของการดำรงอยู่ของมนุษย์ (ตามโองการอัลกุรอานข้างต้นนี้) ก็คือการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) และการฏออะฮ์ (เชื่อฟังปฏิบัติตาม) อัลลอฮ์ (ซบ.) นั่นเอง

      ด้วยเหตุนี้บุคคลใดก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนข้างต้นของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวคือ มิได้ใช้เนี๊ยะอ์มัตของอัลลอฮ์ (ซบ.) ไปในหนทางของการฏออะฮ์ (เชื่อฟังปฏิบัติตาม) พระองค์ แต่กลับใช้มันไปในหนทางของการละเมิด (มะอ์ซิยะฮ์) ต่อพระองค์ แน่นอนที่สุดเขาได้ทำลายและมิได้ปฏิบัติตามสิทธิของเนี๊ยะอ์มัตของพระองค์ ดังนั้นเขาคือผู้ที่เนรคุณต่อเนี๊ยะอ์มัต และนอกจากเป็นการทำลายเนี๊ยะอ์มัตแล้ว ยังเป็นการทำลายตัวเองและกำลังนำพาตัวเองไปสู่ความหายนะอีกด้วย ดังที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า

      “เจ้าไม่เห็นดอกหรือบรรดาผู้ที่เปลี่ยนความโปรดปรานของอัลลอฮ์มาเป็นความอกตัญญู และได้นำพากลุ่มชนของพวกเขาเข้าสู่ที่พำนักแห่งความหายนะ มันคือนรกญะฮันนัม ซึ่งพวกเขาจะต้องเข้าไปอยู่ในนั้น และมันเป็นที่พำนักอันเลวร้ายที่สุด” (8)      

      ดังนั้นหน้าที่ของเราทุกคนคือการปฏิบัติตามสิทธิต่างๆ ของเนี๊ยะอ์มัตของอัลลอฮ์ (ซบ.) และจำเป็นที่เราจะต้องแสดงออกด้วยการรู้คุณและขอบคุณ (ชุกร์) ในเนี๊ยะอ์มัตของพระองค์ และการขอบคุณที่ดีที่สุดนั้นคือการใช้เนี๊ยะอ์มัตต่างๆ ของพระองค์ไปในหนทางของการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์

แหล่งอ้างอิง :

(1) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 10, หน้า 109

(2) อัลกุรอานบทอิบรอฮีม โองการที่ 7

(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 16

(4) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 10, หน้า 107

(5) อัลกุรอานบทอัตตะกาซุร โองการสุดท้าย

(6) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 111

(7) อัลกุรอานบทอัซซาริยาต โองการที่ 56

(8) อัลกุรอานบทอิบรอฮีม โองการที่ 28, 29


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่