คุณลักษณะปวงบ่าวผู้ประเสริฐที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า(ซ.บ.)

คุณลักษณะปวงบ่าวผู้ประเสริฐที่สุด ของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.)

ใครก็ตามที่ใช้ความพยายามของตนเองไปในทิศทางที่จะทำให้การกระทำและพฤติกรรมของตนสอดคล้องและเป็นไปตามพระประสงค์ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง เขาผู้นั้นก็ได้จะเป็นส่วนหนึ่งจากปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

      ปวงบ่าวที่เป็นคนดีและผู้มีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้าจะมีบุคลิกภาพและคุณลักษณะเฉพาะต่างๆ อย่างไรบ้าง? ในซูเราะฮ์ใดบ้างของคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะเฉพาะต่างๆ ของปวงบ่าวที่เป็นคนดีและผู้มีคุณธรรมเอาไว้?

     ในสำนวนของโองการที่ 105 ของอัลกุรอานบทอัลอันบิยาอ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดปวงบ่าวที่เป็นคนดีและผู้มีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้าจะได้รับการสืบทอดมรดกของแผ่นดิน โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า

وَلَقَدْ كَتَبْنَا فِی الزَّبُورِ مِن بَعْدِ الذِّكْرِ أَنَّ الْأَرْضَ یَرِثُهَا عِبَادِیَ الصَّالِحُونَ

“และแน่นอนยิ่ง เราได้บันทึกไว้ในคัมภีร์ซะบูร หลังจากคัมภีร์เตารอตว่า แท้จริงแผ่นดินนี้ ปวงบ่าวที่ดีมีคุณธรรมของเราจะเป็นผู้สืบมรดกมัน”

      แต่ในคำตอบที่ว่า "ปวงบ่าวที่ดีมีคุณธรรม" นั้นมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไรบ้าง? จำเป็นที่จะต้องกล่าวว่า ในมุมโดยทั่วไปแล้ว ใครก็ตามที่ใช้ความพยายามของตนเองไปในทิศทางที่จะทำให้การกระทำและพฤติกรรมของตนสอดคล้องและเป็นไปตามพระประสงค์ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง เขาผู้นั้นก็ได้จะเป็นส่วนหนึ่งจากปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

      ในเรื่องนี้คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะเฉพาะบางประการของพวกเขาไว้ในโองการต่างๆ ตัวอย่างเช่น

  1. พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า

یُۆْمِنُونَ بِاللّهِ وَالْیَوْمِ الآخِرِ وَیَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَیَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَیُسَارِعُونَ فِی الْخَیْرَاتِ وَأُوْلَـئِكَ مِنَ الصَّالِحِینَ

“พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลก และกำชับกันให้กระทำความดี และห้ามปรามจากความชั่ว และต่างรีบเร่งกันในสิ่งดีงามทั้งหลาย และคนเหล่านี้แหละคือผู้ที่เป็นคนดีมีคุณธรรม”

(อัลกุรอานบทอาลุอิมรอน โองการที่ 114)

  1. พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า

وَمَن یُطِعِ اللّهَ وَالرَّسُولَ فَأُوْلَـئِكَ مَعَ الَّذِینَ أَنْعَمَ اللّهُ عَلَیْهِم مِّنَ النَّبِیِّینَ وَالصِّدِّیقِینَ وَالشُّهَدَاء وَالصَّالِحِینَ وَحَسُنَ أُولَـئِكَ رَفِیقًا

“และผู้ใดก็ตามที่เชื่อฟังอัลลอฮ์และศาสนทูต ดังนั้นคนเหล่านี้จะได้อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ทรงให้ความโปรดปรานแก่พวกเขา อันได้แก่บรรดาศาสดา บรรดาผู้สัจจริง บรรดาผู้สละชีพ (ทางของอัลลอฮ์) และบรรดาผู้มีคุณธรรม และคนเหล่านี้แหละเป็นมิตรที่ดียิ่ง

(อัลกุรอานบทอันนิซาอ์โองการที่ 69)

  1. พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า

وَالَّذِینَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ لَنُدْخِلَنَّهُمْ فِی الصَّالِحِینَ

“และบรรดาผู้ศรัทธา และกระทำความดีนั้น แน่นอนเราจะให้พวกเขาเข้าอยู่ในหมู่ผู้มีคุณธรรมทั้งหลาย”

(อัลกุรอานบทอัลอังกะบูตโองการที่ 9)

     นอกเหนือจากโองการเหล่านี้ที่เราได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น ในอัลกุรอานบทอัลฟุรกอน (บทที่ 25 โองการที่ 63 ถึง 75) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของปวงบ่าวที่ดีเลิศของพระองค์ไว้ ในนาม “عِبَادُ الرَّحْمَنِ” (ปวงบ่าวของพระผู้ทรงเมตตา) ซึ่งมีด้วยกัน 12 คุณลักษณะ และในช่วงท้ายพระองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า : ถ้าหากปวงบ่าวคนใดของพระผู้เป็นเจ้ามีคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้ แน่นอนยิ่งเขาคือผู้ได้รับทางนำ และจะได้รับผลรางวัลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่จากพระผู้เป็นเจ้า

     คัมภีร์อัลกุรอานในบทนี้ได้อธิบายคุณลักษณะต่างๆ ของปวงบ่าวที่ดีเลิศของพระผู้เป็นเจ้าไว้อย่างชัดเจน พร้อมกับนำเสนอแนวทาง และเรียกร้องผู้ที่ปฏิบัติตามไปสู่การเสริมสร้างและการขัดเกลาตน ภายใต้คุณลักษณะ 12 ประการ ในความเป็นจริงแล้ว โองการเหล่านี้ได้ชูประเด็น ความเป็นคนดีมีคุณธรรม” และได้ชี้ถึงบรรทัดฐานของความเป็นเลิศและความเหนือกว่าของมนุษย์ไว้ใน 12 คุณลักษณะ โดยที่บางคุณลักษณะเป็นการกระทำที่จะเสริมสร้างคุณค่าที่ดีงามขึ้นในตัวเอง และบางคุณลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงจากพฤติกรรมที่จะทำลายคุณค่าที่ดีงามในตัวเอง ซึ่งแต่ละประการจากคุณลักษณะเหล่านี้ คือพื้นฐานสำคัญและเป็นกุญแจนำไปสู่คุณลักษณะที่ดีงามอื่นๆ และจะเป็นสื่อแห่งความผาสุกไพบูลย์ในทุกๆ ด้านของมนุษย์

คุณลักษณะ 12 ประการ ของปวงบ่าวที่ดีเลิศของพระผู้เป็นเจ้า หรือ “عِبَادُ الرَّحْمَنِ” (ปวงบ่าวของพระผู้ทรงเมตตา) ที่ถูกกล่าวถึงในโองการเหล่านี้ได้แก่

  1. การมีความอ่อนน้อมถ่อมตน (โองการที่ 63)
  2. การมีความสุขุมคัมภีรภาพ เมื่อเผชิญกับคนโง่เขลาเบาปัญญา (โองการที่ 63)
  3. การทำอิบาดะฮ์ (นมัสการ) ต่อพระผู้เป็นเจ้าในยามค่ำคืน (โองการที่ 64)
  4. เกรงกลัวต่อการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า และแสดงออกสิ่งดังกล่าวด้วยการอธิษฐานและวิงวอนขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากสิ่งนั้น (โองการที่ 65 และ 66)
  5. การใช้จ่ายที่พอเหมาะพอควร หลีกเลี่ยงจากความฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่ายและความตระหนี่ถี่เหนียว (โองการที่ 67)
  6. มีความบริสุทธิ์ใจในการเคารพภักดี และการยอมรับในเอกานุภาพ (เตาฮีด) ของพระผู้เป็นเจ้า (โองการที่68)
  7. หลีกเลี่ยงจากการฆ่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ (โองการที่ 68)
  8. การครองตนอยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์ และหลีกห่างจากการผิดประเวณี (โองการที่ 68)
  9. การหลีกเลี่ยงจากการเป็นพยานเท็จ และการเข้าร่วมในกิจการงานต่างๆ ที่เป็นความมดเท็จ (โองการที่ 72)
  10. การผ่านสิ่งไร้สาระที่ไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ใดๆ ไปอย่างมีเกียรติ และแสดงถึงความไม่เห็นด้วยและการคัดค้าน (โองการที่ 72)
  11. การคิดใคร่ครวญในความหมายของโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน และการรับรู้คำสอนและคำตักเตือนที่ถูกต้องจากโองการเหล่านั้น (โองการที่ 73)
  12. การอธิษฐานและและการวิงวอนขอคู่ครองและลูกหลานที่เป็นคนดีมีคุณธรรมจากพระผู้เป็น และขอให้พระองค์ทรงบันดาลให้ตัวเราเป็นผู้นำของคนดีและปวงผู้มีความยำเกรงต่อพระองค์ (โองการที่ 74)

      ใช่แล้ว! ปวงบ่าวที่ดีเลิศและเป็นดีมีคุณธรรมนั้น จะต้องมีคุณลักษณะเหล่นนี้อยู่ในตัวเอง เพื่อที่จะไปถึงยังจุดสูงสุดของความสมบูรณ์ (กะมาล) ต่างๆ และการที่พวกเราจะกล่าวสลาม (วิงวอนขอความสันติสุข) ให้แก่ปวงบ่าวผู้เป็นคนดีมีคุณธรรมในทุกวันๆ ละห้าครั้ง โดยที่เราจะกล่าวว่า

السَّلاَمُ عَلَيْنَا وَعَلَى عِبَادِ اللَّهِ الصَّالِحِينَ

“ขอความสันติสุข (จากอัลลอฮ์) พึงมีแด่เรา และแด่ปวงบ่าวผู้เป็นคนดีมีคุณธรรมของอัลลอฮ์

     ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้เป็นการย้ำเตือนและการกำชับสั่งสอนแก่มวลมุสลิมตลอดเวลาว่า ให้พวกเขานำพาตัวเองเข้ามาอยู่ในหมู่ของปวงบ่าวผู้เป็นคนดีมีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้า และเขาเหล่านั้นจะต้องรับรู้ว่า การเป็นบ่าวที่ดีมีคุณธรรมของพระพระผู้เป็นเจ้านั้น จะต้องมีคุณลักษณะพิเศษต่างๆ โดยหากพวกเขาแสวงหามันและทำให้มันเกิดขึ้นในตัวเองได้แล้ว พวกเขาก็จะได้รับสิทธิ์และเข้าอยู่ในสลาม (การวิงวอนขอความสันติสุข) และการประสิทธิ์ประสาทพรจากตัวเราเองและจากผู้ที่กระทำนมาซทั้งมวล

     อินชาอัลลอฮ์ (หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์) ขอพระองค์ทรงประทานเตาฟีก (ความสำเร็จ) ให้กับเราทุกคน ในการเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีงามและสูงส่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง และเข้าอยู่ในสลาม (การวิงวอนขอความสันติสุข) และการประสิทธิ์ประสาทพรจากตัวเราเองและจากผู้ที่กระทำนมาซทั้งมวลด้วยเทอญ

      โองการต่างๆ และความหมายที่กล่าวถึงคุณลักษณะของปวงบ่าวที่เป็นคนดีมีคุณธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

وَعِبَادُ الرَّحْمَنِ الَّذِينَ يَمْشُونَ عَلَى الْأَرْضِ هَوْنًا وَإِذَا خَاطَبَهُمُ الْجَاهِلُونَ قَالُوا سَلَامًا

“และปวงบ่าว (พิเศษ) ของ (อัลลอฮ์) พระผู้ทรงเมตตานั้น คือบรรดาผู้ที่เดินบนแผ่นดินด้วยความถ่อมตน และเมื่อพวกโง่เขลากล่าว (และแสดงวาจาที่โง่เขลาเบาปัญญา) กับพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า “สลาม” (และจากไปด้วยความสันติและความสุขุมคัมภีรภาพ)"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 63)

وَالَّذِينَ يَبِيتُونَ لِرَبِّهِمْ سُجَّدًا وَقِيَامًا

"และบรรดาผู้ใช้เวลาในยามกลางคืน ทำการซุญูดและยืน (นมาซ) ต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 64)

وَالَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا اصْرِفْ عَنَّا عَذَابَ جَهَنَّمَ إِنَّ عَذَابَهَا كَانَ غَرَامًا

"และบรรดาผู้ที่กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา โปรดทรงปัดป้องการลงโทษของนรกให้พ้นไปจากเรา แท้จริงการลงโทษของมันนั้นช่างทุกข์ทรมานและยึดยาวนานนัก" (อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 65)

إِنَّهَا سَاءَتْ مُسْتَقَرًّا وَمُقَامًا

"แท้จริงนรกนั้นเป็นที่อยู่และที่พำนักอันเลวร้ายยิ่ง"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 66)

وَالَّذِينَ إِذَا أَنْفَقُوا لَمْ يُسْرِفُوا وَلَمْ يَقْتُرُوا وَكَانَ بَيْنَ ذَلِكَ قَوَامًا

"และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาจะไม่สุรุ่ยสุร่าย และจะไม่ตระหนี่ แต่จะดำรงสภาพความเป็นสายกลาง (พอเหมาะพอควร) ระหว่าง (ทั้งสองสภาพ) นั้น"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 67)

وَالَّذِينَ لَا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَهًا آَخَرَ وَلَا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ وَلَا يَزْنُونَ وَمَنْ يَفْعَلْ ذَلِكَ يَلْقَ أَثَامًا

"และบรรดาผู้ที่ไม่วิงวอนขอพระเจ้าอื่นใดเคียงคู่กับอัลลอฮ์ และพวกเขาจะไม่ฆ่าชีวิต ซึ่งอัลลอฮ์ทรงห้ามไว้ เว้นแต่โดยสิทธิ์อันชอบธรรม และพวกเขาจะไม่ละเมิดประเวณี และผู้ใดกระทำสิ่งนั้น เขาก็จะได้รับโทษทัณฑ์ที่รุนแรง"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 68)

يُضَاعَفْ لَهُ الْعَذَابُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَيَخْلُدْ فِيهِ مُهَانًا

"การลงโทษในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) จะถูกเพิ่มทวีสำหรับเขา และเขาจะอยู่อย่างถาวรในนั้นอย่างอัปยศยิ่ง"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 69)

إِلَّا مَنْ تَابَ وَآَمَنَ وَعَمِلَ عَمَلًا صَالِحًا فَأُولَئِكَ يُبَدِّلُ اللَّهُ سَيِّئَاتِهِمْ حَسَنَاتٍ وَكَانَ اللَّهُ غَفُورًا رَحِيمًا

"เว้นแต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว และศรัทธา และประกอบการงานที่ดี โดยที่เขาเหล่านั้น อัลลอฮ์จะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาให้เป็นความดีงาม และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 70)

وَمَنْ تَابَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَإِنَّهُ يَتُوبُ إِلَى اللَّهِ مَتَابًا

"และผู้ใดกลับเนื้อกลับตัวและกระทำความดี ดังนั้นแท้จริงเขากลับเนื้อกลับตัวเข้าสู่อัลลอฮ์อย่างแท้จริง"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 71)

وَالَّذِينَ لَا يَشْهَدُونَ الزُّورَ وَإِذَا مَرُّوا بِاللَّغْوِ مَرُّوا كِرَامًا

"และบรรดาผู้ที่ไม่เป็นพยานในการเท็จ (และไม่เข้าร่วมในที่ชุมนุมที่เป็นเหลวไหล) และเมื่อพวกเขาผ่านเรื่องไร้สาระ พวกเขาผ่านไปอย่างมีเกียรติ"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 72)

وَالَّذِينَ إِذَا ذُكِّرُوا بِآَيَاتِ رَبِّهِمْ لَمْ يَخِرُّوا عَلَيْهَا صُمًّا وَعُمْيَانًا

"และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาถูกกล่าวเตือนด้วยโองการทั้งหลายของพระผู้อภิบาลของพวกเขา พวกเขาจะไม่ทรุดกายลงต่อโองการเหล่านั้น อย่างคนคนหูหนวกตาบอด"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 73)

وَالَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَامًا

"และบรรดาผู้ที่กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา โปรดทรงประทานแก่เราซึ่งคู่ครองของเราและลูกหลานของเรา ให้เป็นแก้วตาดวงใจของเรา และโปรดทรงทำให้เราเป็นผู้นำแก่ปวงผู้ยำเกรง"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 74)

أُولَئِكَ يُجْزَوْنَ الْغُرْفَةَ بِمَا صَبَرُوا وَيُلَقَّوْنَ فِيهَا تَحِيَّةً وَسَلَامًا

"คนเหล่านั้นจะได้รับการตอบแทนฐานันดรอันสูงสุดในสรวงสวรรค์ เนื่องจากการที่พวกเขาได้อดทน และพวกเขาจะได้รับการต้อนรับด้วยการคารวะและประสานสันติสุข"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 75)

خَالِدِينَ فِيهَا حَسُنَتْ مُسْتَقَرًّا وَمُقَامًا

"โดยที่พวกเขาจะเข้าพำนักอย่างถาวรอยู่ในนั้น ช่างเป็นที่พำนักและที่อาศัยที่ดีงามยิ่ง"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน  โองการที่ 76)


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่