ชีวิตในโลกแห่งวัตถุทุกวันนี้มีเรื่องราวมากมายที่ทำให้มนุษย์หลงลืมและหันเหออกจากหนทางแห่งพระเจ้า มนุษย์ต้องตกอยู่ในวังวนของปัญหามากมายที่ดูจะซับซ้อนกว่าปัญหาของคนในยุคก่อนมากนัก และปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้ชีวิตมนุษย์มีแต่ความขมขื่นและความทุกข์ แต่ในความวุ่นวายและความทุกข์นี้หากมนุษย์หันกลับมาสู่คำสอนของกุรอาน มนุษย์จะพบหนทางแห่งแสงสว่าง และจะทำให้การใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความวุ่นวายนี้ได้พบกับความผาสุก
ดังที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ตรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
فَأَمَّا مَنْ أَعْطَىٰ وَاتَّقَىٰ ﴿٥﴾ وَصَدَّقَ بِالْحُسْنَىٰ ﴿٦﴾ فَسَنُيَسِّرُهُ لِلْيُسْرَىٰ ﴿٧﴾
"ส่วนผู้ที่บริจาคและสำรวมตน อีกทั้งเชื่อมั่นในสิ่งที่ดี เราก็จะให้เขาได้รับความสะดวกสบาย"
(บทอัลลัยล์ โองการที่ 5 - 7)
โองการข้างต้นนี้อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงต้องการนำเสนอวิธีการทำให้ชีวิตอันเต็มไปด้วยปัญหาและมีแต่ความยากลำบากของมนุษย์ให้เป็นชีวิตที่เรียบง่ายและสะดวกสบาย โดยโองการได้พูดถึงการบริจาคทาน การสำรวมตน รวมทั้งกล่าวถึงการทำให้ชีวิตเกิดความสะดวกสบายด้วย เราจะมาดูว่าสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
คำว่า “อะอ์ฏอ” ที่ในโองการนี้กล่าวถึงโดยไม่ได้เชื่อมกับคำใด จึงหมายถึง การให้และการบริจาคทุกสิ่งที่เป็นที่รักของมนุษย์ในหนทางที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงพอพระทัย การให้และการบริจาคในลักษณะเช่นนี้จะทำให้มนุษย์หลุดพ้นออกมาจากความเห็นแก่ตัว การเห็นตัวเองเป็นใหญ่ ไปสู่ตัวตนที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ คือความเป็นสูญ และไปสู่หนทางที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพึงพอพระทัย
คำว่า “อิตตะกอ” ก็จะหมายถึง การละเว้นสิ่งที่เป็นสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย รวมทั้งปฏิบัติในสิ่งที่จะเป็นเหตุนำไปสู่ความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นต้นทุนให้มนุษย์ออกห่างจากหนทางที่จะนำไปสู่กิเลสตัณหาและอารมณ์ใฝ่ต่ำ
เมื่อมนุษย์ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับคุณลักษณะของการเป็นผู้บริจาคในหนทางของพระเจ้า และเป็นผู้สำรวมตนอยู่ตลอดเวลา เขาจะพบกับแสงสว่างแห่งชีวิต จะมองโลกและสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยความสวยงามและความดีงาม และเขาก็จะไม่หลงใหลไปกับกิเลสตัณหาและอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเองที่มักจะฉายภาพความเลวร้ายทั้งหลายให้เป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ
ในทางตรงกันข้ามมนุษย์ที่หลงลืมพระเจ้าและไม่มีคุณลักษณะที่อัลกุรอานกล่าวไว้ข้างต้นเลย เขาจะเป็นผู้ที่ต้องการจะเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขาจะมีชีวิตอยู่และทำทุกอย่างเพื่อตัวของเขาเองเท่านั้น และโลกนี้จะไม่มีวันเพียงพอกับความต้องการของเขาอย่างแน่นอน แล้วดวงใจของเขาก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ ความอยาก หามาได้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันที่จะพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ และแน่นอนมนุษย์ที่มีคุณลักษณะเช่นนี้เขาจะรู้สึกเหมือนคนยากจนอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหยุดกิจการทั้งหมดหยุดแม้กระทั่งการแสวงหาปัจจัยยังชีพของเรา แต่ต้องการจะสื่อให้เห็นว่าการเห็นแก่ตัวและการหลงอยู่แต่ในโลกแห่งวัตถุ จะทำให้มนุษย์พบกับความยากลำบากและปัญหาในที่สุด
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่