ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับพฤติกรรมของมนุษย์
Powered by OrdaSoft!
No result.
ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับพฤติกรรมของมนุษย์

    โองการจำนวนหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอาน ในการกระทำความดีงามหรือการห้ามจากพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าเกลียดนั้น มาหลังจากคำสั่งและคำแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากอาหารต่างๆ ที่ฮะล้าล (อนุมัติตามบัญญัติของศาสนา) และมีความสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าอาหารที่ฮะล้าล (อนุมัติตามบัญญัติของศาสนา) และสะอาดบริสุทธิ์นั้น มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงต่อพฤติกรรมที่ดีงามและไม่ดีงามของมนุษย์

    หนึ่งในปัจจัยหลักสำหรับการพัฒนาและการขัดเกลาคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรม คือประเภทของอาหารในด้านของการเป็นที่อนุมัติ (ฮะล้าล) และต้องห้าม (ฮะรอม) ตามศาสนบัญญัติ อาหาต่างๆ ที่หลากหลาย ชนิดของอาหารที่จะบริโภค ถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณและคุณลักษณะต่างๆ ทางด้านจิตใจของมนุษย์ วิธีการในการบริโภคอาหารสามารถนำพามนุษย์ไปสู่ความผาสุกอันเป็นิรันดร์หรือความอับโชคอันเป็นนิรันดร์ได้ ด้วยเหตุนี้บรรดานักวิชาการด้านจริยศาสตร์ (อิลมุลอัคลาก) จึงให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้เป็นอย่างมาก และถือว่าการระมัดระวังในเรื่องนี้คือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการย่างก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล)

       ศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าคือศาสนาหนึ่งเดียวกัน และเป้าหมายก็คือเป้าหมายเดียวกัน นับจากศาสดาท่านแรกซึ่งได้แก่ท่านศาสดาอาดัม (อ.) จวบจนถึงศาสดาแห่งยุคสุดท้ายของโลก ซึ่งได้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ศาสดาทั้งปวงเหล่านั้นคือผู้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่แนวทางหนึ่งเดียวกัน เป็นผู้ชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายหนึ่งเดียวกัน ศาสดาทั้งหมดเหล่านั้นได้ย่างก้าวและเดินไปบนเส้นทางหนึ่งเดียวกัน ในยุคสมัยต่างๆ พวกท่านได้เรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติให้ก้าวเดินไปในเส้นทางหนึ่งเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างใดๆ ในแนวทางของพวกท่าน

       โอ้ผู้อ่านที่มีเกียรติทั้งหลาย! หากพวกท่านปรารถนาที่จะสัมผัสกับเส้นทางดังกล่าว ท่านทั้งหลายก็จงกำหนดเอา “ตักวา” (ความยำเกรงและการสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) เป็นแบบแผนในการปฏิบัติของท่านเถิด เพื่อพวกท่านจะได้รับความปลอดภัยจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า

       โองการจำนวนหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอาน ในการกระทำความดีงามหรือการห้ามจากพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าเกลียดนั้น มาหลังจากคำสั่งและคำแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากอาหารต่างๆ ที่ฮะล้าล (อนุมัติตามบัญญัติของศาสนา) และมีความสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าอาหารที่ฮะล้าล (อนุมัติตามบัญญัติของศาสนา) และสะอาดบริสุทธิ์นั้น มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงต่อพฤติกรรมที่ดีงามและไม่ดีงามของมนุษย์

       ตัวอย่างเช่น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า


یا أَیُّهَا الَّذینَ آمَنُوا کُلُوا مِنْ طَیِّباتِ ما رَزَقْناکُمْ وَ اشْکُرُوا لِلَّهِ إِنْ کُنْتُمْ إِیَّاهُ تَعْبُدُون

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า จากสิ่งดีๆ ทั้งหลาย และจงขอบคุณอัลลอฮ์เถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้เคารพภักดีเฉพาะพระองค์เท่านั้น” (1)

      ในโองการนี้ ภายหลังจากคำแนะนำสั่งเสียในเรื่องของการเลือกรับประทานจากอาหารและเนี๊ยะอ์มัตที่สะอาดบริสุทธิ์แล้ว ได้ออกค่ำสั่งให้ขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า

ในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า


وَ کُلُوا مِمَّا رَزَقَکُمُ اللَّهُ حَلالاً طَیِّباً وَ اتَّقُوا اللَّهَ الَّذی أَنْتُمْ بِهِ مُۆْمِنُون

“และพวกเจ้าจงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดี จากสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้เป็นปัจจัยชีพแก่พวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮ์ผู้ซึ่งพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่อพระองค์เถิด” (2)

      ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูเถิดว่า การอธิบายของโองการนี้เป็นไปในลักษณะที่ว่า เมื่อเราได้อ่านทำให้สัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่าง “การกิน” (จงบริโภค) และ “การมีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า” (และจงยำเกรงอัลลอฮ์)

      ในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า

یا أَیُّهَا النَّاسُ کُلُوا مِمَّا فِی الْأَرْضِ حَلالاً طَیِّباً وَ لا تَتَّبِعُوا خُطُواتِ الشَّیْطانِ إِنَّهُ لَکُمْ عَدُوٌّ مُبین

“โอ้มวลมนุษย์เอ๋ย! พวกเจ้าจงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดีจากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามย่างก้าวทั้งหลายของซาตาน (ชัยฏอน) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า” (3)

ในโองการนี้ก็เช่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคอาหารที่ฮาล้าลและสะอาด กับการออกห่างและการไม่ปฏิบัติตามย่างก้าวและการกระซิบกระซาบของซาตาน (ชัยฏอน) นั้นเป็นสิ่งที่ชัดเจน

      ในอีกโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า


یا ایُّها الرُّسُلُ کُلُوا مِنَ الطَّیِباتِ وَ اعْمَلُوا صالِحاً

“โอ้บรรดาศาสนทูตเอ๋ย! พวกเจ้าจงบริโภคจากสิ่งต่างๆ ที่สะอาดบริสุทธิ์ (ฮะล้าล) และจงกระทำความดีเถิด” (4)

      นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานบางท่านก็เห็นถึงความสำคัญในประเด็นเหล่านี้เช่นกันที่ว่า การกล่าวถึงสองประเด็นนี้ คือการบริโภคอาหารที่สะอาดบริสุทธิ์และการกระทำความดีติดตามกันมานั้น เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ในลักษณะหนึ่งของสิ่งทั้งสองนี้ และชี้ให้เห็นว่าอาหารชนิดต่างๆ นั้น มีผลทางด้านพฤติกรรมและจริยธรรมที่แตกต่างกันไป อาหารที่ฮะล้าล (อนุมัติตามศาสนบัญญัติ) และสะอาดบริสุทธิ์ จะทำให้จิตใจและจิตวิญญาณสะอาดบริสุทธิ์ จะเป็นบ่อเกิดของการกระทำที่ดีงาม จะทำให้มนุษย์เกิดความพร้อมที่จะปฏิบัติความดีงาม ส่วนอาหารที่ต้องห้าม (ฮะรอม) และไม่สะอาดบริสุทธิ์ จะทำให้จิตใจและจิตวิญญาณของมนุษย์เกิดความมัวหมอง จะผลักไสเขาไปสู่ทิศทางของความชั่วร้ายทางด้านพฤติกรรมและศีลธรรม และจะเป็นสาเหตุของการกระทำที่ไม่ดีงาม (5)

       ในโองการอื่นๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงกล่าวถึงชาวยิวกลุ่มหนึ่งซึ่งพวกเขามีประพฤติกรรมที่น่าเกลียดและไม่ถูกต้อง อย่างเช่น การสอดแนมหาข่าวเพื่อทำลายอิสลาม และการบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ ของคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสเกี่ยวกับพวกเขาว่า

أُولَٰئِكَ الَّذِينَ لَمْ يُرِدِ اللَّهُ أَن يُطَهِّرَ قُلُوبَهُمْ لَهُمْ فِي الدُّنْيَا خِزْيٌ وَلَهُمْ فِي الْآخِرَةِ عَذَابٌ عَظِيمٌ

“ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่อัลลอฮ์ไม่ทรงประสงค์ที่จะทำให้หัวใจของพวกเขาสะอาด โดยที่พวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้ และพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันมหันต์ในปรโลก” (6)

       แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสในโองการต่อไปโดยทันทีว่า


سَمَّاعُونَ لِلْکَذِبِ اکَّالُونَ لِلسُّحْتِ

“พวกเขาเป็นผู้ชอบฟังคำพูดมุสา (และ) ชอบบริโภคสิ่งต้องห้าม” (7)

      สำนวนของโองการทั้งสองนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสกปรกและความมืดมนของหัวใจของพวกเขาเป็นผลมาจากพฤติกรรมต่างๆ อย่างเช่น การปฏิเสธโองการต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และการบริโภคทรัพย์สินที่ต้องห้าม (ฮะรอม) อย่างเป็นอาจิณ (8)

     และในโองการหนึ่ง พระองค์ทรงกล่าวเกี่ยวกับสุราและการพนันว่า

إِنَّما یُریدُ الشَّیْطانُ أَنْ یُوقِعَ بَیْنَکُمُ الْعَداوَةَ وَ الْبَغْضاءَ فِی الْخَمْرِ وَ الْمَیْسِرِ وَ یَصُدَّکُمْ عَنْ ذِکْرِ اللَّهِ وَ عَنِ الصَّلاةِ فَهَلْ أَنْتُمْ مُنْتَهُون

“อันที่จริงมารร้าย (ชัยฏอน) นั้น เพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกันและเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนันเท่านั้น และมัน (ต้องการ) จะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์และการนมาซ แล้วพวกเจ้าจะยุติไหม” (9)

     โองการนี้ชี้ให้เห็นว่า อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่ต้องห้าม (ฮะรอม) อย่างเช่นสุรา มีผลกระทบในการก่อรูปขึ้นของความต่ำทรามทางด้านพฤติกรรมและศีลธรรมได้อย่างแท้จริง อย่างเช่น ความก้าวร้าว ความเกลียดชังและการเป็นศัตรู

     บรรดาศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ในการดำเนินชีวิตและในการบริโภคอาหารของพวกท่าน ทั้งนี้เนื่องจากการบริโภคอาหารนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมและจิตวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ในการชี้นำมวลมหาประชาชนนั้น พวกเขาจะต้องมีความระมัดระวังอย่างแท้จริงในการบริโภคอาหารของตนเอง


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 172
(2) อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 88
(3) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 168
(4) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 51
(5) ฮุซัย นี, ฮุเซน บินอะห์มัด, ตัฟซีรอิซนาอะชะรีย์, เล่มที่ 9, หน้าที่ 145 ; มะการิม ชีราซี และทีมงาน, ตัฟซีรนะมูเนะฮ์, เล่มที่ 14, หน้าที่ 255 ; มุห์ซิน กิรออะตี, เล่มที่ที่ 8, หน้าที่ 106
(6) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 41
(7) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 42
(8) ดู : มะการิมชีราซี และทีมงาน, จริยธรรมในคัมภีร์อัลกุรอาน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 208
(9) อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 91


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1462 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24787279
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
37187
52431
214661
24215661
1052944
1618812
24787279

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 19:58:34