มีริวายะฮ์คำรายงานมากมายเกี่ยวกับสันติภาพนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่า สนธิสัญญาสันติภาพ การไม่รุกราน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินี้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของสนธิสัญญาและความตกลง ดูเหมือนว่าเป้าหมายของท่านอิมาม (อ.) ในสนธิสัญญานี้คือการสร้างพื้นฐานและโอกาสให้กับท่านศาสดาอีซา (อ.) ในการก้าวไปอย่างเป็นธรรมชาติในการชี้นำชาติตะวันตก และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อและนโยบายของพวกเขาในโอกาสนี้ และเพื่อเปิดเผยการเบี่ยงเบนของรัฐบาลและอารยธรรมตะวันตก
ดังที่เราจะเห็นในริวายะฮ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญานี้ มีความคล้ายคลึงกันมากมายระหว่างสันติภาพครั้งนี้กับสนธิสัญญาสันติภาพฮุดัยบียะฮ์ที่ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ทำกับชาวกุเรช ในสันติภาพและการสงบศึกครั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันในการละทิ้งสงครามต่อกันเป็นเวลา 10 ปี และพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกการไม่ทำสงครามครั้งนั้นว่า “ฟัตฮุลมุบีน” (ชัยชนะอันชัดแจ้ง) แต่ผู้ปกครองอธรรมของกุเรชได้ละเมิดสนธิสัญญานี้ฝ่ายเดียว และเปิดเผยเจตนาอันชั่วร้ายของพวกเขา
การกระทำของพวกเขาดังกล่าวได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมานับถือศาสนาอิสลาม และเป็นเหมือนใบอนุญาตให้ปราบปรามอำนาจของพวกตั้งภาคีต่อพระเจ้า (พวกพหุเทวนิยม) และพวกปฏิเสธศรัทธาต่อพระเจ้า (พวกอเทวนิยม) ในการสงศึกครั้งนี้ก็เช่นกัน ชาวตะวันตกจะละเมิดสนธิสัญญากับชาวมุสลิมและเปิดเผยธรรมชาติของการละเมิดและการรุกรานของพวกเขา ตามคำกล่าวของริวายะฮ์ต่าง ๆ นั้น พวกเขาจะเป็นผู้นำภูมิภาคนี้เข้าสู่สงครามและความโกลาหล โดยมีทหารจำนวนนับล้านนาย และเกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งตามคำอธิบายของริวายะฮ์เหล่านี้ สงครามครั้งนี้จะยิ่งใหญ่กว่าสงครามเพื่อปลดปล่อยอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) เสียอีก
มีรายงานจากท่าน (ซ็อลฯ) ว่าท่านได้กล่าวว่า :
بينكم وبين الروم أربع هدن، الرابعة على يد رجل من آل هرقل، تدوم سنين " سنتين " فقال له رجل من عبد القيس يقال له السؤدد بن غيلان: من إمام الناس يومئذ؟ فقال: المهدي من ولدي
"สนธิสัญญาสงบศึกสี่ฉบับจะเกิดขึ้นระหว่างพวกท่านกับชาวโรม (ชาวตะวันตก) โดยฉบับที่สี่ จะลงนามโดยบุรุษคนหนึ่งจากวงศ์วานเฮราคลิอัส ซึ่งจะดำเนินอยู่ไม่กี่ปี (สองปี) ในเวลานี้เองชายคนหนึ่งจากเผ่าอับดุลก็อยซ์ ชื่อ ซุอ์ดัด บิน ฆีลาน ได้ถามว่า : "ในวันนั้น ผู้นำ (อิมาม) ของประชาชนคือใคร?" ท่านกล่าวว่า : "มะฮ์ดี จากลูกหลานของฉัน" (1)
และนี่คือริวายะฮ์ที่สิบสอง จากริวายะฮ์ทั้งหมดสี่สิบริวายะฮ์ของฮาฟิซ อบูนะอีม เกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) มีรายงานจากฮุซัยฟะฮ์ บิน ยะมาน ซึ่งเขาได้กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
يكون بينكم وبين بني الأصفر هدنة، فيغدرون بكم في حمل امرأة، يأتون في ثمانين غاية في البر والبحر، كل غاية اثنا عشر ألفا، فينزلون بين يافا وعكا، فيحرق صاحب مملكتهم سفنهم، يقول لأصحابه قاتلوا عن بلادكم فيلتحم القتال. ويمد الأجناد بعضهم بعضا، حتى يمدكم من بحضر موت اليمن. فيومئذ يطعن فيهم الرحمان برمحه، ويضرب فيهم بسيفه، ويرمي فيهم بنبله، ويكون منه فيهم الذبح الأعظم
“จะมีการทำสัญญาสงบศึกระหว่างพวกท่านกับชาวบนูอัศฟาร์ (ชนผิวเหลือง) แต่พวกเขาจะทรยศพวกท่านภายในระยะเวลาการตั้งครรภ์สตรี (หลังจากเก้าเดือน) และจะโจมตีพวกท่านทางบกและทางทะเลด้วยกองทัพแปดสิบกอง โดยแต่ละกองมีทหารหนึ่งหมื่นสองพันนาย ซึ่งจะยกพลขึ้นบกระหว่างเมืองญัฟฟาและเอเคอร์ผู้ปกครองอาณาจักรของพวกเขาจะจุดไฟเผาเรือของพวกเขาและจะสั่งให้พวกพ้องของเขาปกป้องและต่อสู้เพื่อแผ่นดินและประเทศของพวกเขา จากนั้นสงครามและการสังหารหมู่จะเริ่มต้นขึ้นในทั้งสองฝ่าย ทหารและกองทัพจะรีบเข้ามาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้แต่ผู้ที่อยู่ในฮาดรามูตในเยเมนก็จะเข้ามาช่วยเหลือพวกท่าน ในวันนั้น พระผู้ทรงเมตตาที่สุดจะพุ่งหอกใส่พวกเขา ฟันพวกเขาด้วยดาบของพระองค์ และยิงธนูใส่พวกเขา และการเชือดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะเกิดขึ้นจากพระองค์ท่ามกลางพวกเขา" (2)
และยังได้กล่าวไว้อีกว่า :
ترسي الروم فيما بين صور إلى عكا، فهي الملاحم
“บรรดาเรือของชาวโรมันจะทอดสมอและจอดอยู่ระหว่างเมืองไทร์ (ซูร) และเมืองเอเคอร์ ซึ่งจะเป็นการจัดทัพและสมรภูมิที่ยิ่งใหญ่” (3)
และยังได้มีกล่าวไว้อีกว่า :
(إن) لله ذبحين في النصارى، مضى أحدهما، وبقي الاخر
“แท้จริงสำหรับอัลลอฮ์นั้นจะมีการเชือด (สังหาร) ในหมู่คริสเตียนอยู่สองครั้ง ครั้งหนึ่งผ่านไปแล้ว และอีกครั้งหนึ่งยังคงอยู่” (4)
สำหรับความหมายของคำพูดที่กล่าวว่า “พระผู้ทรงเมตตาที่สุดจะพุ่งหอกใส่พวกเขา ฟันพวกเขาด้วยดาบของพระองค์....” นั้นก็คือ อัลลอฮ์จะทรงช่วยเหลือชาวมุสลิมต่อต้านศัตรูด้วยความช่วยเหลือของเหล่าทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) ของพระองค์และความช่วยเหลือที่มองไม่เห็น (ฆ็อยบ์) ของพระองค์
และยังได้กล่าวไว้อีกว่า :
ثم يسلط الله على الروم ريحا وطيرا تضرب وجوههم بأجنحتها فتفقأ أعينهم، وتتصدع بهم الأرض فيتلجلجوا في مهوا (كذا) بعد صواعق ورواجف تصيبهم. ويؤيد الله الصابرين ويوجب لهم الاجر كما أوجب لأصحاب محمد صلى الله عليه وسلم وتملا قلوبهم وصدورهم شجاعة وجرأة
"แล้วอัลลอฮ์จะทรงส่งลมและนกมาพิชิตชาวโรมัน นกจะกระพือปีกใส่หน้าของพวกเขา ดวงตาของพวกเขาจะถลนออกมาจากเบ้าตา และแผ่นดินจะแยกตัวออกต่อพวกมัน แล้วพวกเขาจะถูกฟ้าผ่าและแผ่นดินไหว และพวกเขาจะตกลงไปในหุบเขาและเหวลึก และอัลลอฮ์จะทรงช่วยเหลือบรรดาผู้ที่อดทนและตอบแทนพวกเขาอย่างดี เช่นเดียวกับที่พระองค์ตอบแทนเหล่าสาวกของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และเติมเต็มหัวใจและหัวอกของพวกเขาด้วยความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง" (5)
ดูเหมือนว่าเป้าหมายของพวกเขาในการนำกองทัพเรือเข้ามาระหว่างเมืองจาฟฟาและเมืองเอเคอร์ หรือระหว่างเมืองไทร์และเมืองเอเคอร์ ดั่งที่จะเห็นได้จากสองริวายะฮ์นี้ ก็เพื่อยึดปาเลสไตน์คืนและส่งคืนให้ชาวยิวอีกครั้ง และเพื่อใช้อัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) เป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์การทหารของพวกเขาและใช้เป็นข้ออ้างที่ดูว่ามีความชอบธรรมสำหรับการรุกรานและการโจมตีของพวกเขา
และในริวายะฮ์ต่อไปนี้ระบุว่าพวกเขาจะเดินทัพไปตามแนวชายฝั่งอาริชในอียิปต์ไปจนถึงอันติออกในตุรกี มีรายงานจากฮุซัยฟะฮ์ บิน ยะมาน ซึ่งเขาได้กล่าวว่า :
فتح لرسول الله صلى الله عليه وآله فتح لم يفتح له مثله منذ بعثه الله تعالى فقلت له: يهنيك الفتح يا رسول الله قد وضعت الحرب أوزارها. فقال: هيهات هيهات، والذي نفسي بيده إن دونها يا حذيفة لخصالا ستا.. وذكر آخرها صلى الله عليه وآله فتنة الروم وغدرهم بالمسلمين بثمانين راية، وأنهم ينزلون ما بين أنطاكية إلى العريش
"การพิชิตได้เกิดขึ้นสำหรับท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) การพิชิตเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับท่านมาก่อนเลยนับตั้งแต่อัลลอฮ์ทรงแต่งตั้งท่านมามา ฉันจึงกล่าวแก่ท่านว่า : "โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! ขอแสดงความยินดีกับท่านด้วยต่อการพิชิตครั้งนี้ สงครามได้สิ้นสุดและวางภาระของมันลงแล้ว" ท่านกล่าวว่า : "หาใช่เช่นนั้นไม่! หาใช่เช่นนั้นไม่! ขอสาบานต่อผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ โอ้ฮุซัยฟะฮ์เอ๋ย! ยังมีอีกหกประการ ...." และประการสุดท้าย ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า : "มันคือ ฟิตนะฮ์ของชาวโรมันและการทรยศของพวกเขาต่อชาวมุสลิมด้วยธง (กองทหาร) แปดสิบธง และว่าพวกเขาจะยกพลขึ้นบกระหว่างอันติออกและอาริช" (6)
ในริวายะฮ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงมาของอีซา (อ.) ได้กล่าวว่าสงครามจะยุติลงในช่วงเวลานั้น และประเด็นนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นจริงที่ว่า สงครามของเรากับชาวโรมัน (ชาวตะวันตก) ซึ่งยังไม่สิ้นสุดลงและจะยังไม่สิ้นสุดลงจนกว่าท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะปรากฏตัว และท่านศาสดาอีซา (อ.) จะลงมาจากฟากฟ้า และพระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานชัยชนะเหนือพวกเขาแก่เราในขั้นตอนของการทรยศระดับโลกของพวกเขา
และในริวายะฮ์บทหนึ่งได้กล่าวว่า :
في فلسطين وقعتان في الروم، تسمى إحداهما القطاف، والاخرى الحصاد " أي تكون الثانية كاسحة أكثر من الأولى.
"ในปาเลสไตน์จะมีการประทะสงครามสองครั้งกับชาวโรมัน ครั้งหนึ่งเรียกว่า “การเด็ด” และอีกครั้งเรียกว่า “การเกี่ยว” (7)
ซึ่งหมายความว่า ครั้งที่สองนั้นจะเลวร้ายและทำลายล้างมากยิ่งกว่าครั้งแรก
ริวายะฮ์ต่อไปนี้ชี้ให้เห็นว่า สงครามของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) กับชาวตะวันตกเป็นสงครามที่ไม่เท่าเทียมกัน และแน่นอนว่าดุลอำนาจดูเหมือนจะเข้าข้างพวกเขา ดังนั้นนักรบอาหรับบางส่วนที่มีหัวใจอ่อนแอจึงเข้าร่วมกับพวกเขา และที่เหลือก็ยังคงวางตัวเป็นกลาง อิบนุฮัมมาด ได้รายงานจากมุฮัมมัด อิบนุกะอับ ในการตีความโองการนี้ :
سَتُدْعَوْنَ إِلَىٰ قَوْمٍ أُوْلِى بَأْسٍۢ شَدِيدٍۢ تُقَٰتِلُونَهُمْ
"ในไม่ช้าพวกเจ้าจะถูกเรียกให้ไปต่อสู้กับกลุ่มคนที่มีอำนาจเข้มแข็ง"
ซึ่งเขากล่าวว่า : “คือ ชาวโรมันในวันแห่งการสู้รบอันยิ่งใหญ่” เขากล่าวว่า : “อัลลอฮ์ทรงทรงเรียกชาวอาหรับให้ไปต่อสู้กับพวกปฏิเสธในช่วงเริ่มต้นของศาสนาอิสลาม พวกเขากล่าวว่า : “ทรัพย์สมบัติ ผู้หญิง และเด็กๆ ของเราทำให้เรายุ่ง” แล้วพระองค์ทรงตรัสว่า : “ในไม่ช้าพวกเจ้าจะถูกเรียกให้ไปต่อสู้กับกลุ่มคนที่มีอำนาจเข้มแข็ง” ในวันแห่งการสู้รบอันยิ่งใหญ่ พวกเขาก็จะพูดสิ่งเดียวกับที่พวกเขาได้เคยพูดในช่วงเริ่มต้นของอิสลาม แล้วโองการนี้ก็ลงมาเกี่ยวกับพวกเขาว่า : "พระองค์จะลงโทษพวกท่านด้วยการลงโทษอันแสนเจ็บปวดยิ่ง" ซ็อฟวานกล่าวว่า : “ท่านเชค (อาจารย์) ของเราได้กล่าวกับเราว่า ในวันนั้น ชาวอาหรับบางส่วนจะกลายเป็นผู้ละทิ้งศาสนา (มุรตัด) ของพวกเขา และอีกบางส่วนก็จะมีความลังเลสงสัยและจะหันหลังออกจากการช่วยเหลืออิสลามและกองทัพของศอิสลาม”
พวกละทิ้งศาสนา (มุรตัดดูน) คือพวกที่ยืนอยู่ฝ่ายชาวโรมัน และพวกที่หันหลัง (มุตะวัลลูน) ออกจากการช่วยเหลืออิสลาม ก็คือผู้ที่วางตัวเป็นกลาง และการลงโทษอันเจ็บปวดของพวกเขาจะเกิดขึ้นโดยมือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) หลังจากที่ท่านได้รับชัยชนะเหนือชาวโรมัน
อิบนุฮัมมาดได้รายงานริวายะฮ์บทหนึ่งที่เปรียบเทียบรางวัลของบรรดาผู้พลีชีพ (ชะฮีด) ในสงครามครั้งนี้กับรางวัลของบรรดาผู้พลีชีพในสงครามบะดัรที่ร่วมต่อสู้กับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) โดยกล่าวว่า :
"ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : บรรดาผู้ถูกฆ่า (ชะฮีด) ที่ดีที่สุดภายใต้ท้องฟ้านี้นับตั้งแต่ที่อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสร้างมนุษย์ คนแรกในหมู่พวกเขา คือ : ฮาบีล (อาเบล) ผู้ถูกฆ่าอย่างอธรรมโดยกอบีล (คาอิน) ผู้ถูกสาปแช่ง ต่อจากนั้นคือบรรดาศาสดาผู้ถูกฆ่าโดยประชาชาติของพวกเขา โดยที่ศาสดาเหล่านั้นได้ถูกส่งมาเพื่อชี้นำพวกเขา และขณะที่พวกเขากล่าวว่า พระผู้อภิบาลของเราคืออัลลอฮ์ และพวกเขาเรียกร้องผู้คนมาสู่พระองค์ ต่อจากนั้นคือผู้ศรัทธาแห่งวงศ์วานของของฟาโรห์ (มุอ์มิน อาลิ ฟิรเอาน์) จากนั้นคือสหายของยาซีน จากนั้นคือฮัมซะฮ์ บิน อับดุลมุฏฏอลิบ จากนั้นคือบรรดาผู้ที่ถูกฆ่าในสงครามอุฮุด จากนั้นคือผู้ที่ถูกฆ่าในฮุดัยบียะฮ์ จากนั้นคือผู้ที่ถูกฆ่าในสงครามอะห์ซาบ จากนั้นคือผู้ที่ถูกฆ่าในสงครามหุนัยน์ จากนั้นคือผู้ที่ถูกฆ่าหลังจากฉันโดยคอวาริจญ์ ผู้หลงผิดจนออกจากศาสนา (มาริเกาะฮ์) ผู้โฉดชั่ว หลังจากนั้นคือเหล่านักต่อสู้ในเส้นทางของอัลลอฮ์... จนกระทั่งจะเกิดสงครามใหญ่ของชาวโรมันขึ้น ซึ่งบรรดาผู้ที่ถูกฆ่า (ชะฮ๊ด) ในสงครามนี้จะเหมือนกับผู้ถูกฆ่าแห่งสงครามบะดัร" (8)
บางทีคำว่า "บรรดาผู้ถูกฆ่าในฮุดัยบียะฮ" ที่กล่าวถึงในริวายะฮ์อาจเป็นความผิดพลาดหรือเป็นการเพิ่มเติมเข้ามา เพราะแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สงครามและการเสียชีวิตที่ฮุดัยบียะฮ์ไว้เลย
และในตำราอ้างอิงของชีอะฮ์ที่รายงานจากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) มีการกล่าวถึงว่า บรรดาผู้พลีชีพ (ชะฮ๊ด) ที่ดีที่สุด ณ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง คือ บรรดาสหายของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นนายของบรรดาผู้พลีชีพ และบรรดาผู้พลีชีพที่อยู่กับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)
ส่วนในช่วงเวลาของการโจมตีครั้งสุดท้ายของชาติตะวันตกที่จะเกิดกับดินแดนอิสลามของเรานั้น บรรดาริวายะฮ์ได้กล่าวถึงว่า ระยะเวลาของการทำสัญญาสงบศึกกับพวกเขานั้นคือเจ็ดปี แต่พวกเขาจะทรยศและละเมิดมันหลังจากสองปี และบางริวายะฮ์ก็กล่าวว่า พวกเขาจะทรยศหลังจากสามปี :
يكون بين المهدي وطاغية الروم صلح بعد قتله السفياني ونهب كلب، حتى يختلف تجاركم إليهم وتجارهم إليكم، ويأخذون في صنعة سفنهم ثلاث سنين.. حتى ترسي الروم فيما بين صور إلى عكا، فهي الملاحم
"จะมีสนธิสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างมะฮ์ดีกับจอมเผด็จการแห่งโรมันหลังจากที่เขาได้สังหารซุฟยานีและการยึดทรัพย์สงครามจากเผ่ากัลบ์ จนกระทั่งบรรดาพ่อค้าของพวกท่านและพ่อค้าของพวกเขาจะได้เดินทางไปยังประเทศของกันและกัน และพวกเขา (ชาวโรมัน) จะใช้เวลาสามปีในการสร้างเรือของพวกเขา... จนกระทั่งชาวโรมันจะทอดสมอระหว่างไทร์และเอเคอร์ และนี่คือการต่อสู้ครั้งใหญ่" (9)
ริวายะฮ์ที่ผ่านไปนั้นกล่าวถึงเรื่องราวการทรยศและการละเมิดสนธิสัญญาของพวกเขา ว่าเป็นเวลาเท่ากับหญิงตั้งครรภ์ กล่าวคือ เก้าเดือนหลังจากการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ ... พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงรอบรู้
เชิงอรรถ :
1. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 51, หน้า 80
2. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 141
3. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 142
4. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 115
5. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 124
6. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 118
7. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 136
8. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 131
9. ต้นฉบับตัวเขียน, อิบนุฮัมมาด, หน้า 142
ต่อจากบทความ : คลิกอ่านบทความ : การลงมาของศาสดาอีซา (อ.) จากฟากฟ้า
ที่มา : หนังสือ “ยุคแห่งการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี (อ.)
ผู้เขียน : อัลลามะฮ์อะลี อัล กูรอนี
แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2025 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่