หนึ่งในคุณลักษณะอันสูงส่งทางด้านจริยธรรมนั้นคือ ความกตัญญูและการขอบคุณต่อผู้อื่นในความกรุณา การให้สิ่งที่ดีงามและการแสดงความรักต่อเรา
ความกตัญญู (ชุกร์) หมายถึง การรู้คุณในเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) และการขอบคุณต่อสิ่งนั้น ความสำคัญและความจำเป็นของความกตัญญูและการขอบคุณนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเนี๊ยะอ์มัต ไม่ว่าเนี๊ยะอ์มัตนั้นมีความยิ่งใหญ่เพียงใดการแสดงความกตัญญูและการขอบคุณก็จะมีความจำเป็นมากขึ้นเพียงนั้น ด้วยการพิจารณาถึงคำอธิบายนี้ การแสดงความกตัญญูและการขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจึงนับว่ามีความจำเป็นกว่าใครอื่นทั้งหมด ท่านรู้ไหมว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น!
ภายหลังจากพระผู้เป็นเจ้าแล้ว จำเป็นที่เราจะต้องขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) บรรดานักวิชาการศาสนาที่เป็นผู้ชี้นำทางเราสู่ความสำเร็จ ความผาสุกไพบูลย์ในชีวิตและสู่ทางนำของพระผู้เป็นเจ้า และต่อจากนั้นก็คือบิดามารดา และบรรดาครูผู้สอนวิชาความรู้ให้แก่เรา ต่อจากนั้นคือการขอบคุณและการแสดงความกตัญญูต่อทุกๆ คนที่มีส่วนช่วยเหลือบริการเราและสังคมของเราในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในบทลุกมาน โองการที่ 14 ว่า
اَنِ اشْكُرْ لی وَلِوالِدَیكَ
“เจ้าจงขอบคุณข้า และผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้าเถิด”
และในบทอัลนะห์ลุ โองการที่ 14 พระองค์ทรงตรัสว่า
وَاشْكُرُوا نِعْمَتَ اللَّهِ إِنْ كُنْتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَ
“และพวกเจ้าจงขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัตของอัลลอฮ์ หากพวกเจ้าเคารพภักดีเฉพาะพระองค์”
การขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ของพระผู้เป็นเจ้า
การขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัตของพระผู้เป็นเจ้า คือการที่เราจะต้องหลีกห่างจากการทำชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งปวง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า
شکر النعمه اجتناب المحارم
“การขอบคุณในเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงามที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า) คือการหลีกเลี่ยงจากสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย” (1)
กล่าวคือ จำเป็นที่เราจะต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง กำลังกาย ความรู้ ตำแหน่งหน้าที่ ความหนุ่มแน่นและเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) และสิ่งดีงามทั้งหลายที่ตนเองได้รับมานั้นไปในหนทางที่ศาสนาอนุมัติ (ฮะล้าล) ซึ่งจะต้องไม่นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้เป็นสื่อในการกระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า
คนที่ไม่ขอบคุณมนุษย์ ก็จะไม่ขอบคุณอัลลอฮ์
มุสลิมนั้นจำเป็นต้องขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อทุกคนที่กระทำดีและมอบสิ่งที่ดีงามให้แก่ตน คนที่ไม่แสดงความกตัญญูและขอบคุณในความดีงามของเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อเขา บุคคลเช่นนี้ก็จะไม่รู้จักการขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยเช่นกัน ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้กล่าวว่า
اَشْكَرُكُمْ لِلّهِ اَشْكَرُكُمْ لِلنّاسِ
“ผู้ที่ขอบคุณ (และกตัญญู) ต่ออัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกเจ้า คือผู้ที่ขอบคุณ (และแสดงความกตัญญู) ต่อมนุษย์มากที่สุดในหมู่พวกเจ้า” (2)
วิธีการขอบคุณและการแสดงความกตัญญู
การขอบคุณและการแสดงความกตัญญูนั้น บางครั้งอาจกระทำออกมาด้วยวาจา ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงประทานเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงาม) หนึ่งแก่เรา เราก็จะกล่าวว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮ์” (มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์) ซึ่งในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลามได้เน้นย้ำในการกล่าวคำพูดประโยคนี้ไว้เป็นอย่างมาก หรือในการที่เราจะกล่าวขอบคุณออกมาด้วยวาจาต่อบรรดาผู้ทรงความรู้ ครูบาอาจารย์ บิดามารดาและบุคคลอื่นๆ ที่กระทำดีต่อเรา
บางครั้งการแสดงความกตัญญูและการขอบคุณนั้นสามารถแสดงออกมาได้ด้วยการกระทำ กล่าวคือ การที่เราจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องแสดงถึงการขอบคุณและความกตัญญู ตัวอย่างเช่น หากพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงามและปัจจัยอำนวยสุข) หนึ่งแก่เรา เราจะใช้สิ่งนั้นไปในหนทางแห่งการจงรักภักดีและการปฏิบัติตามพระบัญชาต่างๆ ของพระองค์ ไม่ใช่ในหนทางของการละเมิดฝ่าฝืนพระองค์ เช่น การที่เราจะใช้ทรัพย์สินเงินทองและพลังความสามารถของเราไปในหนทางของการรับใช้บริการประชาชนและสังคม
และบางครั้งเราจะทำการขอบคุณและแสดงออกถึงความกตัญญูด้วยหัวใจ กล่าวคือ การที่เราจะต้องเชื่อมั่นว่า การมีสุขภาพร่างกายที่ดี ความหนุ่มสาว ความสงบสุข ความเป็นมุสลิม ความศรัทธา การยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ความรู้ บิดามารดา ครูที่ดี รัฐอิสลามและอื่นๆ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงาม) ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้เรา การเชื่อมั่นด้วยหัวใจและการยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้คือเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) จากพระผู้เป็นเจ้า ในลักษณะเช่นนี้ คือระดับหนึ่งและเป็นวิธีการหนึ่งในการขอบคุณและการแสดงความกตัญญูต่อผู้ให้เนี๊ยะอ์มัตเหล่านั้น
หากมนุษย์ตระหนักและมีความเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งที่อยู่ในอำนาจการใช้สอยของตนเอง รวมทั้งโลกแห่งการดำรงอยู่ วิญญาณ ร่างกายและแม้แต่ความคิดของเขา ทั้งหมดเหล่านี้คือเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงาม) ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่เขาแล้ว เขาก็จะพบว่าเขานั้นไร้ความสามารถที่จะขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อเนี๊ยะอ์มัตเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราได้ตระหนักและสำนึกว่าแม้แต่การขอบคุณและการกล่าวคำว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮ์” เขาก็ต้องกระทำมันโดยการชี้นำ การประทานเตาฟีก (ความสำเร็จ) จากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งการใช้คำพูดที่โดยตัวของมันเองก็เป็นส่วนหนึ่งจากเนี๊ยะอ์มัตของพระองค์ ฉะนั้นทุกๆ การขอบคุณ คือเนี๊ยะอ์มัตหนึ่ง และทุกๆ สิ่งที่เป็นเนี๊ยะอ์มัตจำเป็นต้องขอบคุณ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำกล่าวที่ว่า “การขอบคุณและการแสดงความกตัญญูที่ดีที่สุด คือการยอมรับและการสารภาพถึงความไร้ความสามารถในการขอบคุณและการแสดงความกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้า”
นี่คือข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทุกครั้งที่เราจะทำการขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะโดยการนึกคิดหรือโดยวาจา หรือโดยการกระทำก็ตาม ความสามารถและการประสบความสำเร็จ (เตาฟีก) ในการขอบคุณดังกล่าวก็คือเนี๊ยะฮ์มัตใหม่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่เรา ด้วยเหตุนี้เอง การขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นได้ทำให้เรากลายเป็นหนี้บุญคุณใหม่ๆ ของพระองค์ และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ที่เราไม่สามารถจะขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ตามสิทธิที่พระองค์พึงจะได้รับ
ดังในบทมุนาญาต (คำภาวนาขอพร) “อัชชากิรีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในมุนาญาตทั้ง 15 บท ของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ที่ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
کیف لى بتحصیل الشکر و شکرى ایاک یفتقر الى شکر ، فکلما قلت لک الحمد وجب على لذلک ان اقول لک الحمد !
“ข้าฯ จะทำการขอบคุณ (อย่างครบถ้วนสมบูรณ์) ได้อย่างไรเล่า! ในขณะที่การขอบคุณของข้าฯ ต่อพระองค์ (ในครั้งนี้) ก็จำเป็นที่จะต้องมีการขอบคุณอีก โดยทุกครั้งที่ข้าฯ ได้กล่าวคำว่า “ละกัลลฮัมดุ์” (มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์) สิ่งดังกล่าวก็ยังจำเป็นต่อข้าฯ ที่จะต้องกล่าวคำว่า “ละกัลฮัมดุ์” (มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์) ต่อไปอีก”
ชายผู้กตัญญู และหญิงผู้มีความดีงาม
คุณค่าและความดีงามประการหนึ่งของการขอบคุณนั้น คือการที่มันจะเป็นสื่อเพิ่มพูนเนี๊ยะอ์มัตและจะทำให้เนี๊ยะอ์มัตนั้นดำเนินอยู่กับเราอย่างต่อเนื่อง พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสไว้ในบทอิบรอฮีม โองการที่ 7 ว่า
و لئن شکرتم لازیدنکم
“และหากพวกเจ้าขอบคุณ (และแสดงความกตัญญู) ข้าก็จะเพิ่มพูน (เนี๊ยะอ์มัต) ให้แก่พวกเจ้า”
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า : ในหมู่ชาวบนีอิสราเอล มีชายผู้มีคุณธรรม (ซอและห์) คนหนึ่งซึ่งมีภรรยาเป็นคนดีมีคุณธรรมเช่นเดียวกัน วันหนึ่งชายผู้นั้นได้เห็นในความฝันว่า มีผู้กล่าวกับเขาว่า “พระผู้เป็นเจ้าจะทรงกำหนดอายุขัยที่ยืนยาวแก่ท่าน โดยที่ครึ่งหนึ่งจากอายุขัยของท่านนั้น ท่านจะใช้ชีวิตอยู่ในความสุขสบายและความมั่งมี ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจากอายุขัยของท่านจะอยู่ในความทุกข์ยากและความแร้นแค้น ท่านจงเลือกเอาว่าท่านต้องการครึ่งใดก่อน” ชายชาวบนีอิสรออีลผู้นี้ได้กล่าวตอบว่า “ฉันมีภรรยาที่เป็นคนดีเป็นคู่ชีวิตของฉัน ฉันต้องขอปรึกษากับนางก่อน ท่านจงกลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้วฉันจะให้คำตอบ"
ในช่วงเช้าของวันใหม่ เขาได้เล่าเรื่องราวของความฝันให้ภรรยาได้รับรู้ นางกล่าวว่า “ท่านจงเลือกเอาครึ่งแรกก่อนเถิด จงเลือกเอาชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย (อาฟิยะฮ์) ก่อนเถิด บางทีพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเมตตาแก่เรา และอาจจะทรงประทานเนี๊ยะอ์มัตแก่เราอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” ในค่ำคืนต่อมาเมื่อบุคคลผู้นั้นมาปรากฏตัวในความฝันอีกครั้งหนึ่ง ชายชาวบนีอิสราเอลผู้นี้จึงกล่าวว่า “เราขอเลือกครึ่งแรก (คือการมีชีวิตที่สุขสบาย) ก่อน” ชายในฝันกล่าวตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นชีวิตที่สุขสบายจงเป็นของท่าน นับจากวันนั้นเป็นต้นไป" ปัจจัยอำนวยสุขต่างๆ ทางด้านวัตถุได้พรั่งพรูเข้ามาสู่ชีวิตของชายผู้นี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นภรรยาของเขาเองก็คอยกำชับสั่งเสียเขาว่า “จงใช้เนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้นี้ไปในการช่วยเหลือเกื้อกูลเครือญาติที่ใกล้ชิดและบรรดาผู้ยากจนขัดสน และแบ่งปันมันแก่เพื่อนบ้านและพี่น้องของท่านด้วย”
เมื่อครึ่งหนึ่งของชีวิตที่ถูกสัญญาไว้ได้ผ่านพ้นไป บุคคลในฝันได้กลับมาปรากฏตัวในความฝันของเขาอีกครั้งหนึ่ง และได้กล่าวกับเขาว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงขอบใจและตอบแทนความดีงามในการกระทำต่างๆ ของท่าน และทรงมอบชีวิตอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือของท่านให้อยู่ในความสุขสบายและความกว้างขวางในชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเช่นที่ผ่านมา" (3)
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 158 ว่า
و من تطوع خیرا فان الله شاکر علیم
“และผู้ใดที่กระทำความดีโดยสมัครใจ ดังนั้นแท้จริงอัลลอฮ์ คือผู้ขอบคุณ (ด้วยการตอบแทนรางวัลแก่เขา) อีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง”
และที่ตรงข้ามกับการขอบคุณและความกตัญญู นั้นคือ “การเนรคุณ” การเนรคุณต่อเนี๊ยะอ์มัต หมายถึง การที่เราไม่ขอบคุณและไม่รู้ถึงคุณค่าของเนี๊ยะอ์มัต การเนรคุณดังกล่าวนี้บางครั้งเป็นการเนรคุณที่มนุษย์มีต่อกัน ไม่แสดงการขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อกัน ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือโดยการกระทำ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
من قصرت یده بالمکافاه فلیطل لسانه بالشکر
“ผู้ใดที่ไร้ความสามารถในการตอบแทน (ความดีของผู้อื่นด้วยการกระทำ) ดังนั้นเขาจงขอบคุณด้วยวาจา” (4)
และบางครั้งถือเป็นการเนรคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า คือการไม่รู้คุณค่าในเนี๊ยะอ์มัตของพระองค์ ไม่ให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านั้น ใช้มันไปอย่างฟุ่มเฟือย หรือในหนทางที่ฮะรอม (ต้องห้าม) หรือไม่เชื่อมั่นว่าเนี๊ยะอ์มัตเหล่านั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตำหนิประณามผู้เนรคุณไว้อย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น ในบทอะบะซะ โองการที่ 17 พระองค์ได้ทรงตรัสว่า
قتل الاناس ما اکفره
“มนุษย์นั้นถูกสังหารเสียก็ดี เขาช่างเนรคุณเสียนี่กระไร”
และในบทอิบรอฮีม โองการที่ 7 ได้กล่าวว่า
و لئن کفرتم ان عذابی لشدید
“หากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงโทษของข้านั้นรุนแรงอย่างยิ่งนัก”
เชิงอรรถ :
(1) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 68
(2) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 68, หน้า 38
(3) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 14, หน้า 491
(4) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 11
บทความโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่