การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ อย่างเช่น โดยการลักขโมย การฉ้อโกง การหลอกลวง การโกงตราชั่ง หรือโดยการแสวงหารายได้ด้วยวิธีที่ไม่สุจริตอื่นๆ ทั้งหมดเหล่านี้ ในสำนวนริวายะฮ์ (คำรายงาน) และฮะดีษเรียกมันว่า “การบริโภคทรัพย์สินต้องห้าม” ซึ่งผลพวงต่างๆ ที่เลวร้ายที่ไม่อาจหลีกหนีได้นั้นได้ถูกเตือนและเน้นย้ำไว้อย่างชัดเจนในตัวบทต่างๆ ของอิสลาม
การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ อย่างเช่น โดยการลักขโมย การฉ้อโกง การหลอกลวง การโกงตราชั่ง หรือโดยการแสวงหารายได้ด้วยวิธีที่ไม่สุจริตอื่นๆ ทั้งหมดเหล่านี้ ในสำนวนริวายะฮ์ (คำรายงาน) และฮะดีษเรียกมันว่า “لقمة الحرام” (ลุกมะตุ้ลฮะรอม) หรือ “การบริโภคทรัพย์สินต้องห้าม” ซึ่งผลพวงต่างๆ ที่เลวร้ายที่ไม่อาจหลีกหนีได้ของมันได้ถูกเตือนและเน้นย้ำไว้อย่างชัดเจนในตัวบทต่างๆ ของอิสลาม ทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานและในฮะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)
ในเนื้อหาต่อไปนี้จะชี้ให้เห็นถึงบางส่วนจากผลพวงที่เลวร้ายของ “ลุกมะตุ้ลฮะรอม” (การบริโภคทรัพย์สินต้องห้าม) เพื่อเป็นการย้ำเตือนตัวพวกเราทุกคนให้ระมัดระวังในเรื่องนี้ให้มากขึ้น แน่นอนยิ่งว่าการป้องกันไว้ก่อนนั้นย่อมดีกว่าและง่ายดายกว่าการแก้ไขและการเยียวยารักษา
การนมาซที่ไร้ค่าและดุอาอ์ที่จะไม่ถูกตอบรับ
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنْ أَکَلَ لُقْمَةَ حَرَامٍ لَمْ تُقْبَلْ لَهُ صَلَاةٌ أَرْبَعِینَ لَیْلَةً وَ لَمْ تُسْتَجَبْ لَهُ دَعْوَةٌ أَرْبَعِینَ صَبَاحاً وَ کُلُّ لَحْمٍ یُنْبِتُهُ الْحَرَامُ فَالنَّارُ أَوْلَى
“ผู้ใดที่บริโภคอาหารต้องห้าม การนมาซของเขาจะไม่ถูกยอมรับถึงสี่สิบคืน และดุอาอ์ของเขาจะไม่ถูกตอบรับถึงสี่สิบวัน และเนื้อหนังทุกส่วนที่อาหารฮะรอมได้ทำให้มันงอกเงยขึ้นมานั้นควรคู่ต่อไฟนรก” (1)
ในตำรายงานของฮะดีษกุดซี พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
فَمِنْكَ الدُّعَاءُ وَ عَلَیَّ الْإِجَابَهُ فَلَا تَحْجُبْ عَنِّی دَعْوَهً إِلَّا دَعْوَهَ آکِلِ الْحَرَامِ
“การวอนขอนั้นมาจากเจ้า และการตอบรับนั้นเป็นหน้าที่ของข้า ดังนั้นจะไม่มีการวอนขอใดซ่อนเร้นไปจากข้า นอกจากการวอนขอของผู้บริโภคสิ่งต้องห้าม” (2)
บุคคลผู้หนึ่งได้ไปพบท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เขาได้กล่าวกับท่านว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ ข้าพเจ้าควรปฏิบัติอย่างไร”
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวตอบเขาว่า
طَهِّرْ مَأْکَلَكَ وَ لَا تُدْخِلْ بَطْنَكَ الْحَرَامَ
“จงทำให้อาหารของเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ (จากสิ่งต้องห้าม) และจงอย่าให้สิ่งต้องห้ามใดๆ เข้าสู่ท้องของเจ้า” (3)
การสาปแช่งของมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ)
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
إذا وَقَعَتِ اللُّقْمَةُ مِنْ حَرامٍ فى جَوْفِ العَبْدِ لَعَنَهُ كُلُّ مَلَكٍ فِى السَّماواتِ وَفِى الأرْضِ
“เมื่ออาหารต้องห้ามได้เข้าไปอยู่ในกระเพาะของบ่าวคนใด มะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ทั้งหมดในชั้นฟ้าทั้งหลายและในแผ่นดินจะสาปแช่งเขา” (4)
กล่าวคือ มวลมะลาอิกะฮ์จะวิงวอนของต่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ผลักไสเขาออกจากความเมตตาของพระองค์
การวางรากฐานการอิบาดะฮ์บนเนินทราย
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
الْعِبَادَهُ مَعَ أَکْلِ الْحَرَامِ کَالْبِنَاءِ عَلَى الرَّمْلِ
“การอิบาดะฮ์ พร้อมกับการบริโภคสิ่งต้องห้ามนั้น เปรียบได้กับการปลูกสร้างบนเนินทราย” (5)
ไม่ต้องสงสัยเลวว่าอาคารปลูกสร้างดังกล่าวจะไร้ซึ่งความมั่นคงแข็งแรง มันจะพังทลายลงอย่างง่ายดายและจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าของของมัน เมื่อพิจารณาถึงฮะดีษบทนี้เคียงคู่กับโองการที่ 109 ของอัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ ที่กล่าวว่า :
أَفَمَنْ أَسَّسَ بُنْيَانَهُ عَلَىٰ تَقْوَىٰ مِنَ اللَّهِ وَرِضْوَانٍ خَيْرٌ أَم مَّنْ أَسَّسَ بُنْيَانَهُ عَلَىٰ شَفَا جُرُفٍ هَارٍ فَانْهَارَ بِهِ فِي نَارِ جَهَنَّمَ
“ผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และบนความโปรดปรานนั้นย่อมดีกว่า หรือว่าผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนปากเหวที่จะพังทลายลง แล้วมันก็พังทลายพาเขาลงไปในไฟนรก”
ทำให้เราได้รับรู้ว่า ในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน บุคคลเช่นนี้ที่ทำอิบาดะฮ์และในขณะเดียวกันก็ยังบริโภคสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) นั้น การอิบาดะฮ์ของเขาจะไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อเขา
การอิบาดะฮ์ที่จะถูกบันทึกว่าเป็นบาป
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنِ اکْتَسـَبَ مالاً حـَراماً لَـمْ یَـقْــبَـلِ اللهُ مـِنـْهُ صَـدَقَـةً وَلا عِــتْـقاً وَلا حـَجّاً وَلااعْــتِـمـاراً وَ کَتَبَ اللهُ عَزَّ وَ جَلَّ لَهُ بِعَدَدِ أَجْرِ ذلِکَ أَوْزَارا وَ مَا بَقِیَ مِنْهُ بَعْدَ مَوْتِهِ کَانَ زَادَهُ إِلَى النَّارِ
“ผู้ใดที่แสวงหาทรัพย์สินที่ต้องห้าม อัลลอฮ์จะไม่ทรงยอมรับ (การงานใดๆ) จากเขา ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทาน การปลดปล่อยทาส การทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ และอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรจะทรงบันทึกบาปแก่เขาเท่ากับจำนวนผลรางวัลของสิ่งนั้น และสิ่งที่คงเหลืออยู่หลังจากการตายของเขาก็จะเป็นเสบียงของเขาไปสู่ไฟนรก” (6)
การถูกหักห้ามจากการเห็นสระน้ำเกาษัร และการได้รับชะฟาอะฮ์ (การอนุเคราะห์)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในคำสั่งเสียของท่านต่อท่านอิมามฮะซัน (อ.) ว่า :
وَ لَا یَرِدُ عَلَى رَسُولِ اللَّهِ مَنْ أَكَلَ مَالًا حَرَاماً لَا وَاللَّهِ لَا وَاللَّهِ لَا وَاللَّهِ؛ وَ لَا یَشْرَبُ مِنْ حَوْضِهِ وَ لَا یَنَالُ شَفَاعَتَهُ
“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! บุคคลที่บริโภคทรัพย์สินต้องห้ามนั้น จะไปไม่ถึงยังท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ และเขาจะไม่ได้ดื่มกินจากสระน้ำของท่าน และจะไม่ได้รับชะฟาอะฮ์ (การอนุเคราะห์) จากท่าน” (7)
เชิงอรรถ :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 63, หน้าที่ 314
(2) อุดดะตุดดาอี วะนะญาฮุซซาอี, หน้าที่ 139
(3) แหล่งอ้างอิงเดิม
(4) อัดดะอะวาต, หน้าที่ 25
(5) อุดดะตุดดาอี วะนะญาฮุซซาอี, หน้าที่ 153
(6) ษะวาบุ้ลอะอ์มาล, หน้าที่ 282
(7) ดะอาอิมุ้ลอิสลาม, เล่มที่ 2, หน้าที่ 35
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่