แนวทางการเลือกเส้นทางเพื่อมุ่งสู่พระผู้เป็นเจ้า
Powered by OrdaSoft!
No result.
แนวทางการเลือกเส้นทางเพื่อมุ่งสู่พระผู้เป็นเจ้า

 มนุษย์ไม่ใช่เป็นสิ่งดำรงอยู่ที่หยุดนิ่งและไร้การเคลื่อนไหว แต่ทว่าเขาเป็นผู้ที่จะต้องเดินทาง เคลื่อนไหวและก้าวไปข้างหน้า จุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวและการเดินทางนี้ก็คือ การไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า (ลิกออุลลอฮ์) นั่นเอง  

    ในช่วงเวลาที่ท่านเป็นผู้เดินทาง ท่านปรารถนาอย่างยิ่งที่จะไปถึงยังจุดหมายปลายทางด้วยความรวดเร็วและสะดวกสบาย ถ้าหากท่านต้องการจะออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งหรือประเทศหนึ่งโดยที่ในเส้นทางนั้นมีเครื่องบิน รถยนต์ เรือและพาหนะอื่นๆ ที่จะทำให้ท่านไปถึงจุดหมายปลายทางของท่านได้ บางทีตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทางที่ดีและมีความสะดวกสบายนั่นก็คือ การเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งนอกจากจะทำให้ท่านไปถึงจุดหมายโดยเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหล้าน้อยที่สุดแล้ว ความเร็วและความสะดวกสบายยังเป็นของขวัญที่จะทำให้เกิดความรู้สึกและความทรงจำที่ดีสำหรับท่านอีกด้วย

    มนุษย์ไม่ใช่เป็นสิ่งดำรงอยู่ที่หยุดนิ่งและไร้การเคลื่อนไหว แต่ทว่าเขาเป็นผู้ที่จะต้องเดินทาง เคลื่อนไหวและก้าวไปข้างหน้า จุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวและการเดินทางนี้ก็คือ การไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า (ลิกออุลลอฮ์) นั่นเอง คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวกับมนุษยชาติทั้งมวลว่า :

یا ایها الانسان انک کادح الی ربک کدحا فملاقیه 

“โอ้มนุษย์เอ๋ย แท้จริงเจ้าคือผู้บากบั่น (เดินทาง) สู่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้าอย่างแท้จริง แล้วเจ้าก็จะได้พบพระองค์”

(อัลกุรอาน บทอัลอินชิกอก โองการที่ 6)

    มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือผู้ปฏิเสธศาสนา ล้วนเป็นผู้เดินทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น และทุกคนจากพวกเขาจะต้องไปพบกับองค์พระผู้อภิบาลของพวกเขา จะแตกต่างกันก็แต่เพียงว่า บรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จะพบกับความวิจิตรงดงาม (ญะม้าล) และความเมตตา (เราะห์มัต) ของพระองค์ ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) จะพบกับความเกรียงไกร (ญะล้าล) และความพิโรธของพระองค์

    มนุษย์คนหนึ่งจะไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าด้วยกับคุณลักษณะ (ซิฟัต) “ارحم‌الراحمین” (อัรฮะมุรรอฮิมีน) คือ “ผู้ทรงเมตตาเหนือปวงผู้เมตตาทั้งหลาย” ส่วนมนุษย์อีกคนหนึ่งจะไปพบกับพระองค์ด้วยกับด้วยกับคุณลักษณะ (ซิฟัต) “اشد المعاقبین” (อะชัดดุลมุอากิบีน) ของพระองค์ คือ “ผู้ทรงลงโทษที่รุนแรงที่สุดในหมู่ผู้ลงโทษทั้งหลาย” เส้นทางและวิธีการที่จะไปถึงพระผู้เป็นเจ้าและการพบพระองค์นั้นไม่ได้ถูกจำกัด และไม่ว่ามนุษย์จะไปจากเส้นทางใดก็ตาม เขาจะไปถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่ท่ามกลางเส้นทางทั้งหลายนั้นมีเพียงเส้นทางเดียวที่เป็นทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฏ มุสตะกีม) และเป็นเส้นทางแห่งทางนำ (ฮิดายะฮ์) ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเส้นทางที่เบี่ยงเบน

    แนวทางที่เที่ยงตรงและแนวทางที่เบี่ยงเบนนั้น บรรดาคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์อัลกุรอานได้แนะนำไว้แล้ว และมนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้เลือกเส้นทางของตนเอง โดยที่เขาจะเลือกเอาเส้นทางที่เที่ยงตรงที่สุด หรือจะเลือกเอาเส้นทางที่คดเคี้ยวและเบี่ยงเบน แนวทางที่เที่ยงตรง (ซิรอฏ มุสตะกีม) เป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดและปลอดภัยที่สุดที่จะนำพามนุษย์ไปสู่พระผู้เป็นเจ้า

ผู้เดินทางท่ามกลางความมืด

     ผู้ที่อยู่ในความเคลือบแคลงสงสัย อยู่ในความไม่รู้ (ญะฮัล) และความเผอเรอนั้น พวกเขาจะเลือกเส้นทางที่เบี่ยงเบนและมืดมน พวกเขาไม่สามารถที่จะเดินทางไปบนเส้นทางที่มืดมนได้ เพราะบนเส้นทางที่เบี่ยงเบนทั้งหลายนั้นจะไร้ซึ่งแสงสว่างและรัศมี (นูร) ดังนั้นบางครั้งอาจจะมีประกายแสงปรากฏขึ้นแก่เขา เขาก็จะเดินไปภายใต้ประกายแสงนั้น แต่ทันทีที่ประกายแสงนั้นหายไปเขาก็หยุดยืนโดยไม่สามารถจะเดินต่อไปได้

یَکَادُ الْبَرْقُ یَخْطَفُ أَبْصَارَهُمْ کُلَّمَا أَضَاءَ لَهُمْ مَشَوْا فِیهِ وَإِذَا أَظْلَمَ عَلَیْهِمْ قَامُوا وَلَوْ شَاءَ اللَّهُ لَذَهَبَ بِسَمْعِهِمْ وَأَبْصَارِهِمْ إِنَّ اللَّهَ عَلَیٰ کُلِّ شَیْءٍ قَدِیرٌ

“สายฟ้าแลบเกือบจะเฉี่ยวสายตาของพวกเขาไป คราใดที่มันให้แสงสว่างแก่พวกเขา พวกเขาก็จะเดินไปในแสงสว่างนั้น และทันทีที่มันมืดลงแก่พวกเขา พวกเขาก็จะหยุดยืน และหากอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้ว แน่นอนพระองค์ก็ทรงทำลายหูและตาของพวกเขาไปแล้ว แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง”

(อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 20)

ผู้ที่อ่อนแอและไร้ความสามารถในการเดินทาง

    การปฏิบัติตามการกระซิบกระซาบของมารร้าย (ชัยฏอน) จะทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ที่อ่อนแอและไร้ซึ่งความสามารถ ซึ่งมันจะบั่นทอนความสามารถในการเดินทางไปจากพวกเขา ความผิดบาปต่างๆ ที่พวกเขาได้ประกอบไว้นั้น จะทำให้พวกเขาเดินไปประหนึ่งดังสัตว์เลื้อยคาน อย่างเช่นงูและจระเข้

وَاللَّهُ خَلَقَ کُلَّ دَابَّةٍ مِنْ مَاءٍ فَمِنْهُمْ مَنْ یَمْشِی عَلَیٰ بَطْنِهِ وَمِنْهُمْ مَنْ یَمْشِی عَلَیٰ رِجْلَیْنِ وَمِنْهُمْ مَنْ یَمْشِی عَلَیٰ أَرْبَعٍ یَخْلُقُ اللَّهُ مَا یَشَاءُ إِنَّ اللَّهَ عَلَیٰ کُلِّ شَیْءٍ قَدِیرٌ

“และอัลลอฮ์ทรงสร้างสิ่งมีชีวิตทุกชนิดขึ้นมาจากน้ำ โดยที่บางชนิดในหมู่พวกมันจะเคลื่อนย้ายด้วยท้องของมัน และบางชนิดจะเดินสองเท้า และบางชนิดจะเดินสี่เท้า อัลลอฮ์จะทรงสร้างสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง”

(อัลกุรอาน บทอันนูร โองการที่ 45)

     บางส่วนจากมนุษย์จะเคลื่อนย้ายไปด้วยท้องของเขา

فمنهم من یمشی علی بطنه

“บางชนิดในหมู่พวกมันจะเคลื่อนย้ายด้วยท้องของมัน”

    ผู้ที่ชอบนินทาใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น และลิ้นของพวกเขาที่มีพิษภัยต่อผู้อื่นนั้น พฤติกรรมเหล่านี้จะทำลายเนื้อแท้ของการเคลื่อนไหวและการเดินทางสู่พระผู้เป็นเจ้าไปจากพวกเขา ท่านลองบอกซิว่า ผู้ที่เดินด้วยท้องนั้นจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้หรือไม่?

    มนุษย์บางกลุ่มที่ชอบบริโภคทรัพย์ที่ได้มาจากหนทางที่ฮะรอม (ต้องห้าม) กินสินบน ดอกเบี้ยและทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้า พวกเขาจะเดินทางไปประหนึ่งดังสัตว์สี่เท้า

فمنهم من یمشی علی اربع

“และบางชนิดในหมู่พวกมันจะเดินด้วยสี่เท้า”

   ท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญดูให้ดีว่า พฤติกรรมและการกระทำ (อะมั้ล) ต่างๆ ของมนุษย์จะก่อรูปเป็นวิธีการในการเดินทางของตนในการข้ามผ่านสะพาน “ซิรอฏ” (สะพานที่ทอดผ่านนรกเพื่อข้ามไปสู่สวรรค์) ทั้งนี้เนื่องจากในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) นั้นเป็นวันแห่งการปรากฏรูปลักษณ์ที่แท้จริงของการกระทำ (อะมั้ล) ต่างๆ ของมนุษย์ สิ่งที่เราได้ปฏิบัติในโลกนี้ (ดุนยา) ซึ่งดวงตาทั้งสองของเราไร้ความสามารถที่จะมองเห็นเนื้อแท้ด้านในของการกระทำต่างๆ เหล่านั้น ในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) เนื้อแท้ด้านในของการกระทำ พฤติกรรมและเจตนา (เหนียต) ทั้งหลายของเราจะถูกเปิดเผยให้เราได้เห็น และบนเส้นทางดังกล่าวนี้มีบางกลุ่มจะเดินทางไปโดยที่ใบหน้าและร่างกายของเขาจะถูไถไปกับพื้นดิน

أَفَمَنْ یَمْشِی مُکِبًّا عَلَى وَجْهِهِ أَهْدَى أَمْ مَنْ یَمْشِی سَوِیًّا عَلَى صِرَاطٍ مُسْتَقِیمٍ

“ผู้ที่เดินในสภาพที่ใบหน้าของเขาคว่ำคะมำ จะเป็นผู้ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องกว่า หรือว่าผู้ที่เดินตัวตรงอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง”

(อัลกุรอาน บทอัลมุลก์ โองการที่ 22)

   ตามความหมายที่สวยงามนั่นก็คือ บุคคลเหล่านี้จะเดินทางไปในสภาพของคนที่อ่อนแอและต่ำต้อยไร้เกียรติ การประพฤติชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า จะทำให้พวกเขาอยู่ในสภาพของคนเป็นง่อยทุพลภาพ ในโลก (ดุนยา) เราจะพบเห็นตัวอย่างมากมาย บรรดาผู้ที่จมปลักอยู่ในโคลนตรมแห่งความชั่วอันเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ของตนนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะแหวกว่ายและขวนขวายสักเพียงใดก็ตาม พวกเขาก็จะยิ่งจมดิ่งลงสู่ก้นบึ้งของมัน แน่นอนว่าเป้าหมายอันไร้แก่นสารทางวัตถุ ความร่ำรวยมั่งคั่ง ความหลงระเริงทางโลกแห่งวัตถุและอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกเขา ได้ทำให้พวกเขาหลงลืมจากพระผู้เป็นเจ้า

ผู้ศรัทธา (มุฮ์มิน) จะเดินไปภายใต้รัศมี (นูร) ที่สมบูรณ์

    พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า สำหรับการเดินทางในโลก (ดุนยา) นี้ มนุษย์จะต้องอาศัยแสงสว่างและรัศมี (นูร) และประทีปที่จะให้แสงสว่างแก่เส้นทางนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยกับความศรัทธา (อีหม่าน) และความยำเกรง (ตักวา) เพียงเท่านั้น แสงแห่งศรัทธา (อีหม่าน) และทางนำ (ฮิดายะฮ์) จะให้ความสว่างไสวแก่เส้นทางของพวกเขา ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่ย่างก้าวเข้าไปสู่ความชั่วและความผิดบาปแม้แต่เพียงฝุ่นละออง ใช่แล้ว! พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงนำทางแก่พวกเขา

یَا أَیُّهَا الَّذِینَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَآمِنُوا بِرَسُولِهِ یُؤْتِکُمْ کِفْلَیْنِ مِنْ رَحْمَتِهِ وَیَجْعَلْ لَکُمْ نُورًا تَمْشُونَ بِهِ وَ یَغْفِرْ لَکُمْ غڑ وَاللَّهُ غَفُورٌ رَحِیمٌ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงยำเกรงอัลลอฮ์ และจงศรัทธาต่อศาสนทูตของพระองค์เถิด พระองค์จะทรงประทานความเมตตาของพระองค์ให้แก่พวกเจ้าสองเท่า และจะทรงบันดาลแสงสว่าง (นูร) แก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้เดินไป (ท่ามกลางหมู่ชน) ด้วยกับมัน และพระองค์จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยยิ่ง ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

(อัลกุรอาน บทอัลฮะดีด โองการที่ 28)

ผู้ที่เดินด้วยร่างกายที่ตั้งตรง

   ผู้เดินทางที่ยืนอยู่ในทางที่เที่ยงตรง (ซิรอฏ มุสตะกีม) เขาจะย่างก้าวไปด้วยความมั่นคงและปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ในเส้นทางของตนเอง ท่านลองบอกซิว่า กลุ่มใดที่จะเดินทางได้ดีกว่า ระหว่างผู้ที่คลานและถูไถไปกับพื้นดินอย่างน่าอัปยศอดสูภายใต้ความมืดสนิทของเส้นทาง กับผู้ที่เดินทางไปในสภาพที่เดินตัวตรงอย่างมั่นคงภายใต้แสงสว่างและรัศมี (นูร) ที่สมบูรณ์

أَفَمَنْ یَمْشِی مُکِبًّا عَلَیٰ وَجْهِهِ أَهْدَیٰ أَمَّنْ یَمْشِی سَوِیًّا عَلَیٰ صِرَاطٍ مُسْتَقِیمٍ

“ผู้ที่เดินในสภาพที่ใบหน้าของเขาคว่ำคะมำ จะเป็นผู้ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องกว่า หรือว่าผู้ที่เดินตัวตรงอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง”

(อัลกุรอาน บทอัลมุลก์ โองการที่ 22)

แสงสว่าง (นูร) คืออะไร?

     ความตาย (อัลเมาต์) และการมีชีวิต (อัลฮะยาต) หมายถึง การปฏิเสธ (กุฟร์) และความศรัทธา (อีหม่าน) ในความเป็นจริงแล้ว มันคือความตายและการมีชีวิตทางด้านจิตวิญญาณ ใช่แล้ว! ความศรัทธา (อีหม่าน) ไม่ใช่ความเชื่ออย่างผิวเผิน แต่มันอยู่ในสถานะของจิตวิญญาณที่จะพบเห็นในร่างกายของผู้ที่มีความศรัทธา (อีหม่าน) และมันจะส่งผลในทุกอณูแห่งการดำรงอยู่และการดำเนินชีวิตของมนุษย์

     จุดประสงค์ของคำว่า “นูร” (แสงสว่างหรือรัศมี) ที่นอกเหนือไปจากคัมภีร์อัลกุรอาน และคำสอนต่างๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอิมาม (อ.) แล้ว ยังหมายถึงวิสัยทัศน์และความเข้าใจใหม่ๆ ซึ่งการมีความศรัทธามั่น (อีหม่าน) ต่อพระผู้เป็นเจ้าจะให้สิ่งนี้แก่มนุษย์ และขอบเขตแห่งวิสัยทัศน์และมุมมองของเขาจะก้าวไกลไปกว่าชีวิตทางด้านวัตถุและกรอบสี่เหลี่ยมของโลกแห่งวัตถุ และจะยกระดับเขาขึ้นสู่การมองเห็นและความเข้าใจในโลกอันกว้างไกลและสูงส่ง และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จะมองด้วยรัศมี (นูร) แห่งพระผู้เป็นเจ้า” 

     คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

أَوَ مَنْ کَانَ مَیْتًا فَأَحْیَیْنَاهُ وَجَعَلْنَا لَهُ نُورًا یَمْشِی بِهِ فِی النَّاسِ کَمَنْ مَثَلُهُ فِی الظُّلُمَاتِ لَیْسَ به خارجٍ مِنْهَا غڑ کَذَٰلِکَ زُیِّنَ لِلْکَافِرِینَ مَا کَانُوا یَعْمَلُونَ

“และอุปมาผู้ที่ตายไปแล้ว เราได้ให้เขามีชีวิตใหม่ขึ้นมา และเราได้ให้แสงสว่างแก่เขา ซึ่งเขาใช้แสงสว่างนั้นเดินไปในหมู่มนุษย์ กับผู้ที่อยู่ในความมืดทั้งหลายที่ไม่อาจออกมาจากความมืดเหล่านั้นได้ จะเหมือนกันกระนั้นหรือ ในทำนองนั้นแหละที่ถูกประดับประดาให้ดูสวยงามแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้กระทำกัน”

(อัลกุรอาน บทอัลอันอาม โองการที่ 122)


ผู้เขียน : มัรยัม ค็อนดาบี

แปล : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1030 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24782899
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
32807
52431
210281
24215661
1048564
1618812
24782899

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 18:24:50