แท้จริงคำพูดต่างๆ ท่านอิมามอะลี (อ.) ประหนึ่งปาฏิหาริย์ และคำพูดส่วนนี้ก็คือส่วนหนึ่งจากคำพูดที่ยอดเยี่ยมที่สุดของท่าน คำพูดในบทความนี้มีคำแนะนำตักเตือนที่สำคัญยิ่งสามประการ ซึ่งความดีงามทั้งในชีวิตทางโลกนี้และชีวิตแห่งปรโลก ทั้งของบุคคลและสังคมที่แฝงอยู่
قال على (علیه السلام) لِرَجُل سَأَلَهُ اَنْ یَعِظَهُ :
«لا تَکُنْ مِمَّنْ یَرْجُوا الاْخِرَةَ بِغَیْرِ الْعَمَلِ، وَ یُرَجِّی التَّوْبَةَ بِطُولِ الاَْمَلِ، یَقُولُ فِى الدُّنْیا بِقَوْلِ الزّاهِدینَ وَ یَعْمَلُ فِیها بِعَمَلِ الرّاغِبینَ
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับชายผู้หนึ่งที่ขอให้ท่านแนะนำตักเตือนเขาว่า "เจ้าจงอย่าเป็นส่วนหนึ่งจากผู้ที่มุ่งหวังปรโลกโดยปราศจากการกระทำ (อะมั้ล) และประวิงเวลาการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) ด้วยความคาดหวังที่ยาวไกล และพูดเกี่ยวกับโลกนี้ด้วยคำพูดของบรรดาผู้สมถะ (ที่ตัดขาดจากโลกแห่งวัตถุ) ขณะที่ปฏิบัติตนในโลกนี้ด้วยการกระทำของบรรดาผู้ที่หื่นกระหาย (ในวัตถุ)" (1)
คำอธิบาย
แท้จริงคำพูดต่างๆ ท่านอิมามอะลี (อ.) ประหนึ่งปาฏิหาริย์ และคำพูดส่วนนี้ก็คือส่วนหนึ่งจากคำพูดที่ยอดเยี่ยมที่สุดของท่าน คำพูดในบทความนี้มีคำแนะนำตักเตือนที่สำคัญยิ่งสามประการ ซึ่งความดีงามทั้งในชีวิตทางโลกนี้และชีวิตแห่งปรโลก ทั้งของบุคคลและสังคมที่แฝงอยู่
พวกเขามิได้ให้ราคาและความสำคัญใดๆ ต่อสวรรค์เลย เพียงแค่การพูดโดยปราศจากการปฏิบัตินั้นไม่อาจทำให้มนุษย์พบกับความรอดพ้นได้ เพียงแค่การกล่าวอ้างความรักในศาสนาและความผูกพันต่อวิลายะฮ์และบรรดาผู้นำทางศาสนานั้นไม่อาจเยียวยาแก้ไขอุปสรรคใดๆ ของเราได้เลย และด้วยกับลมปากที่ปราศจากการปฏิบัติ (อะมัล) นั้นไม่อาจคาดหวังความสุขสบายและการมีชีวิตที่ผาสุกไพบูลย์ในปรโลกได้
การกล่าวอ้างความรักและการยอมรับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) จะเกิดคุณประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราจะต้องมีการปฏิบัติความดีงาม (อะมั้ลซอและห์) ต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อที่ว่าหากเราได้พลาดพลั้งกระทำสิ่งที่ผิดพลาดและความผิดบาปไปบ้างในบางครั้ง การยอมรับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ชะฟาอัต (การให้ความอนุเคราะห์) และอื่นๆ ในทำนองนี้ จะช่วยยังคุณประโยชน์และช่วยทดแทนความผิดพลาดและบาปต่างๆ ได้ จากเนื้อหาข้างต้นนั้นเป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า ผู้ที่กล่าวอ้างความรักต่อครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในขณะที่พวกเขาไม่มีเสบียงของความดีงาม (อะมั้ลซอและห์) ใดๆ เลยนั้น พวกเขาเหล่านั้นช่างอยู่ในความผิดพลาดเสียยิ่งกระไร!
การสำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) และการย้อนกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้านั้นไม่อาจเข้ากันได้กับการมีความฝันและความคาดหวังที่ยาวไกลไม่จบสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเราไม่รู้ถึงอนาคตของตัวเอง และไม่อาจล่วงรู้ถึงวาระแห่งความตายของตน คนที่ไม่รู้ว่าในอีกอึดใจข้างหน้าเขาจะยังมีชีวิตอยู่หรือว่าเขาจะตายนั้น เขาจะมีความคาดหวังและความเพ้อฝันที่ยาวไกลได้อย่างไรกัน! และบุคคลที่มีความคาดหวังที่ไม่จบสิ้นนั้น เขาจะสามารถกลับตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) ได้อย่างไร! วาระแห่งความตาย (อะญัล) นั้นคือสัญญาณเตือนภัย และเป็นตัวยาที่สำคัญสำหรับการเยียวยารักษาอาการป่วยไข้ทางด้านจิตวิญญาณนี้ ในช่วงเวลาที่วาระแห่งความตาย (อะญัล) ของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) มาถึงนั้น แม้แต่การนั่งก็ยังไม่ได้รับอนุญาตสำหรับท่าน ท่านถูกถอดวิญญาณในสภาพที่กำลังยืนอยู่ (2) ดังนั้นจึงไม่สมควรที่เราจะประวิงเวลาของการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) ด้วยความคาดหวังที่ยาวไกล (ว่าเรายังจะมีชีวิตอยู่อีกยาวนาน)
คำแนะนำตักเตือนประการที่สามของท่านอิมามอะลี (อ.) ก็คือ : จงอย่าเป็นเหมือนบรรดาผู้ที่ระหว่างคำพูดและการกระทำของพวกเขามีความขัดแย้งและแตกต่างกัน! ผู้ที่เมื่อพวกเขาพูดเกี่ยวกับโลกนี้ พวกเขาจะพูดประหนึ่งว่าพวกเขาเป็นผู้มีสมถะและเป็นผู้ตัดขาดจากโลกนี้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วพวกเขากลับเป็นผู้ที่มีหัวใจผูกพันกับวัตถุและลุ่มหลงในโลกนี้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจงพยายามทำให้คำพูดและการกระทำของท่านสอดคล้องและตรงกัน ความวิบัติจงประสบกับผู้ที่เมื่อพวกเขาพูดพร่ำพรรณนาถึงความรักของตนที่มีต่อท่านอิมามอะลี (อ.) แต่ในขณะเดียวกัน การกระทำและพฤติกรรมของพวกเขายังสอดคล้องตรงกันกับเหล่ามุอาวียะฮ์ทั้งหลาย! พวกเขาจะพูดเกี่ยวกับเรื่องของจิตวิญญาณและการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า แต่ขณะเดียวกัน พวกเขากลับยังคงจมปลักอยู่ในโลกของวัตถุนิยมและบูชาความหรูหราฟุ่มเฟือย!
ผู้ที่หื่นกระหายในวัตถุ (อัรรอฆิบีน) นั้นคือคนพวกใด? พวกเขาคือกลุ่มคนที่ยืนอยู่บนทางสองแพ่ง พวกที่ยืนหันหลังให้กับพระผู้เป็นเจ้าและหันหน้าเข้าสู่โลกแห่งวัตถุ
มนุษย์เมื่อยืนอยู่บนทางสองแพ่งดังกล่าว สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม
กลุ่มแรก คือผู้ที่เลือกเส้นทางของโลกแห่งวัตถุอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ และหันหลังให้กับพระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์
กลุ่มที่สอง คือบุคคลที่ตรงข้ามกลับกลุ่มแรก พวกเขาจะหันกลับสู่พระผู้เป็นเจ้า ปฏิบัติคุณงามความดีและมุ่งหน้าสู่ชีวิตหลังความตายและปรโลก
กลุ่มที่สาม คือผู้ที่อยู่ในความลังเลใจ สับสนและตัดสินใจไม่ถูก เหมือนดั่งเช่น อุมัร อิบนิซะอัด ที่แสวงหาอำนาจการปกครองเมืองเรย์ โดยแลกกับการสังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) แต่ในขณะเดียวกันก็คาดหวังที่จะไปสู่สรวงสวรรค์ คนกลุ่มนี้ระหว่างสติปัญญาและอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกเขาจะทำสงครามกัน แต่ในที่สุดสติปัญญาของพวกเขาก็จะถูกพิชิตและปราชัย! ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องตรวจสอบและประเมินตัวเราเอง เพื่อให้ประจักษ์ว่าเราอยู่ในกลุ่มใด
เชิงอรรถ :
[1] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลิมาตุลกอศ๊อร, อันดับที่ 150
[2] ตัฟซีรนะมูเนะฮ์, เล่มที่ 18, หน้าที่ 44 และตารีคอัลอันบิยาอ์, หน้าที่ 197
ที่มา : เว็บไซต์เมาอูด
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่