ก่อนการมาของอิสลาม สตรีไม่มีสถานภาพใดๆ ทางสังคม และได้รับการดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรงในยุคญาฮิลียะฮ์ (อนารยะ) ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาจะฝังลูกผู้หญิงของตนเองทั้งเป็น (1) วัฒนธรรมและความเชื่อของอาหรับส่วนใหญ่ในยุคญาฮิลียะฮ์ (อนารยะ) จะถือว่าเกียรติศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจนั้นอยู่ในการมีลูกผู้ชาย การมีลูกสาวคือบ่อเกิดของความอัปยศและความไร้เกียรติ ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจะฆ่าลูกๆ ผู้หญิงของตน คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวในเรืองนี้ว่า :
وَ إِذا بُشِّرَ أَحَدُهُمْ بِالْأُنْثى ظَلَّ وَجْهُهُ مُسْوَدًّا وَ هُوَ کَظیمٌ
“และเมื่อคนใดในหมู่พวกเขาได้รับข่าวว่าได้ลูกผู้หญิง ใบหน้าของเขาก็จะหมองคล้ำในสภาพที่อัดอั้นด้วยความโกรธ” (2)
یَتَوارى مِنَ الْقَوْمِ مِنْ سُوءِ ما بُشِّرَ بِهِ أَ یُمْسِکُهُ عَلى هُونٍ أَمْ یَدُسُّهُ فِی التُّرابِ أَلا ساءَ ما یَحْکُمُونَ
“เขาจะซ่อนตัวเองจากกลุ่มชน เนื่องจากความเลวร้าย (ความอับอาย) ของสิ่งที่ได้ถูกแจ้งแก่เขา (ในสภาพที่ตัดสินใจไม่ถูกว่า) เขาจะเก็บเอาทารกนี้ไว้ด้วยความอัปยศหรือจะฝังมันลงในดิน พึงรู้เถิด! สิ่งที่พวกเขาตัดสินนั้นมันเลวร้ายยิ่งนัก” (3)
จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมเถื่อนนี้ ย้อนกลับไปในยุคสงครามระหว่างชนเผ่าบนีตะมีมกับกษัตริย์คอสโร (Khosrow) ของอิหร่าน ในสงครามครั้งนั้น ผู้หญิงจำนวนมากของชนเผ่านี้ตกเป็นเชลยศึกของกองทัพของคอสโร และถูกนำตัวไปยังตำหนักของกษัตริย์คอสโร และพวกเขาได้กักตัวสตรีเหล่านั้นไว้เป็นทาส หลังจากระยะเวลาหนึ่ง การประนีประนอมและสันติภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายได้เกิดขึ้น ชนเผ่าบนีตะมีมได้ร้องขอบรรดาเชลยสตรีของตนกลับคืน ทางตำหนักของคอสโรได้เปิดโอกาสให้พวกนางตัดสินใจเลือกว่าจะกลับไปยังเผ่าของตนหรือว่าจะอยู่ในตำหนักนี้ สตรีจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะกลับไปยังเผ่าของตน จึงทำให้ผู้ชายจากเผ่านี้เกิดความโกรธแค้นอย่างมาก พวกเขาจึงตัดสินใจว่า นับจากนี้เป็นต้นไป หากเด็กทารกผู้หญิงถือกำเนิดขึ้นมา พวกเขาจะฝังทารกเหล่านั้นทั้งเป็น และพวกเขาก็ทำเช่นนั้นจริงๆ ชนเผ่าอื่นๆ ก็ได้เรียนรู้จากพวกเขา และกระแสดังกล่าวก็ค่อยๆ แพร่ขยายไปทั่วทุกพื้นที่ การฆ่าเด็กผู้หญิงจึงกลายเป็นหนึ่งในประเพณีในท่ามกลางพวกเขาไปในที่สุด” (4)
การฝังทารกผู้หญิงทั้งเป็นในยุคญาฮิลียะฮ์ (อนารยะ) อาจเกิดจากเหตุผลต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ :
ผู้หญิงไม่มีบทบาทในทางเศรษฐกิจและการผลิต และเป็นภาระสำหรับการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้เอง คัมภีร์อัลกุรอานจึงกล่าวว่า :
وَ لا تَقْتُلُوا أَوْلادَکُمْ مِنْ إِمْلاقٍ نَحْنُ نَرْزُقُکُمْ وَ إِیَّاهُمْ.
“และพวกเจ้าอย่าฆ่าลูกๆ ของพวกเจ้าเนื่องจาก (กลัว) ความยากจน เราจะให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าและแก่พวกเขา” (5)
ในยุคญาฮิลียะฮ์ (อนารยะ) โดยปกติแล้วจะเกิดสงครามและความขัดแย้งในระหว่างเผ่าต่างๆ ชะตากรรมและการดำรงอยู่ของเผ่าขึ้นอยู่กับสงครามเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้เองเพื่อการทำสงครามต่างๆ นั้น พวกเขาจึงต้องการลูกๆ ผู้ชายที่มีความกล้าหาญ และสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากบรรดาสตรีและลูกๆ ที่เป็นผู้หญิง
ในสงครามต่างๆ นั้น บรรดาลูกสาวจะถูกจับเป็นเชลยศึก และจะถูกล่วงละเมิดโดยศัตรู จากเหตุผลดังกล่าว เพื่อจะได้ไม่ประสบกับปัญหาเหล่านี้ พวกเขาจึงฝังลูกๆ ผู้หญิงของตนเองทั้งเป็น (6)
ด้วยกับการมาของศาสนาอิสลาม สตรีได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีของตน และในสภาพบรรยากาศเช่นนี้ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
الْبَنَاتُ هُنَّ الْمُشْفِقَاتُ الْمُجَهَّزَاتُ الْمُبَارَکَاتِ
“บรรดาลูกสาวนั้น พวกนางเป็นบ่อเกิดของความเมตตา ปัจจัย (แห่งการดำเนินชีวิต) และความจำเริญต่างๆ” (7)
ในการให้ความสำคัญต่อสตรีในศาสนาอิสลามนั้น เพียงพอแล้วที่จะรับรู้ว่า หนึ่งในซูเราะฮ์ต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ถูกประทานลงมาในนามของสตรี (ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์) และจากโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ก็สามารถรับรู้ได้ว่า บรรทัดฐานของความเหนือกว่ากัน ณ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้น มิได้อยู่ที่เพศ แต่ทว่า “ตักวา” (ความยำเกรง) และการดำรงตนอยู่ในคำสั่งใช้และการออกห่างจากข้อห้ามต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่เป็นบรรทัดฐานความมีเกียรติเหนือกว่ากันของมนุษย์ โดยที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :
يا أَيُّهَا النّاسُ إِنّا خَلَقناكُم مِن ذَكَرٍ وَأُنثىٰ وَجَعَلناكُم شُعوبًا وَقَبائِلَ لِتَعارَفوا ۚ إِنَّ أَكرَمَكُم عِندَ اللَّهِ أَتقاكُم ۚ
“โอ้มวลมนุษย์ทั้งหลาย! แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้า จากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และเราได้ทำให้พวกเจ้าเป็นกลุ่มชนและเผ่าต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุดในหมู่พวกเจ้า” (8)
การกระทำและคำพูดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็แสดงให้เห็นว่าอิสลามนั้นให้ความสำคัญต่อสตรีเป็นอย่างยิ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ด้วยกับการเอาสัตยาบัน (บัยอัต) จากบรรดาสตรี ได้แสดงให้เห็นถึงสถานภาพทางการเมืองของพวกนาง (9) การแสดงออกอย่างให้เกียรติของท่านต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ผู้เป็นบุตรีของตน ก็เนื่องมาจากเหตุผลเดียวกันนี้ หลังจากการเสียชีวิตของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ผู้เป็นภรรยา ทุกครั้งที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เชือดแกะ ท่านจะส่งเนื้อส่วนหนึ่งไปมอบให้แก่บรรดามิตรสนิทของท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) และด้วยกับวิธีการดังกล่าวทำให้ท่านหญิงคอดีญะฮ์ (อ.) ได้ถูกรำลึกถึงและได้รับการให้เกียรติ (10)
แต่เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่งนัก ทั้งๆ ที่ศาสนาอิสลามเป็นผู้ปลดปล่อยสตรี แต่วันนี้กลับถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิของสตรี
ท่านอิบนิอับบาสกล่าวว่า ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้วาดเส้นสี่เส้นและกล่าวว่า พวกท่านรู้หริไม่ว่านี่มันคืออะไร พวกเขากล่าวกันว่า อัลลอฮ์และศาสดาเท่านั้นที่ทรงรู้ ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
أَفْضَلُ نِسَاءِ أَهْلِ الْجَنَّةِ : خَدِيجَةُ بِنْتُ خُوَيْلِدٍ ، وَفَاطِمَةُ بِنْتُ مُحَمَّدٍ ، وَآسِيَةُ بِنْتُ مُزَاحِمٍ امْرَأَةُ فِرْعَوْنَ ، وَمَرْيَمُ ابْنَةُ عِمْرَانَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُنَّ أَجْمَعِينَ
ผู้หญิงชาวสวรรค์ที่มีความประเสริฐที่สุด คือ คอดีญะฮ์ บุตรีของคุวัยลิด ฟาติมะฮ์บุตรีของมุฮัมมัด และอาซียะฮ์บุตรีของมุซาฮิม ภรรยาของฟิรอูน และมัรยัม บุตรีของอิมรอน ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยในนางทั้งหมด
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
خيرُ نساءِ العالمينَ أربعٌ : مريمُ بنتُ عمرانَ ، وخديجةُ بنتُ خويلدٍ و فاطمةُ بنتُ محمدٍ وآسيةُ امرأةُ فرعونَ
ผู้หญิงที่ดีที่สุดแห่งสากลโลกมีสี่คน คือ มัรยัม ,คอดีญะฮ์,ฟาติมะฮ์ และอาซียะฮ์
ซอฮิฮ์ อัลญามิอุซซอฆีร เล่ม 1 : 628 ฮะดีษที่ 3328
สรุปคือ ฮะดีษซอฮิฮ์สามบทข้างต้น พิสูจน์ว่า สตรีที่เป็น อินซาน กามิล มีสี่ท่าน คือ 1,อาซียะฮ์ 2,มัรยัม 3,คอดีญะฮ์ 4,ฟาติมะฮ์
แหล่งที่มา :
(1) ฟุรูห อะบะดียัต, ญะอ์ฟัร ซุบฮานี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 48 ; อุซุดุลฆอบะฮ์, อิบนุอะซีร, เล่มที่ 4, หน้าที่ 200
(2) อัลกุรอาน บทอันนะฮ์ลุ โองการที่ 58
(3) อัลกุรอาน บทอันนะฮ์ลุ โองการที่ 59
(4) ตัฟซีร อัลมีซาน, อัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี, แปลโดย ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร มุซาวี ฮัมดานี, เล่มที่ 12, หน้าที่ 401
(5) อัลกุรอาน บทอัลอันอาม โองการที่ 151
(6) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, มะการิม ชีราซี, เล่มที่ 11, หน้าที่ 270 ; ตัฟซีร อัตยะบุลบะยาน, ซัยยิดอับดุลฮุเซน ฏ็อยยิบ, เล่มที่ 8, หน้าที่ 143 ; ตัฟซีร นูร, มุห์ซิน กิรออะตี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 410
(7) กันซุลอุมมาล, มุตตะกี ฮินดี, เล่มที่ 16, หน้าที่ 454, ฮะดีษที่ 45399
(8) อัลกุรอาน บทอัลฮุญุร๊อต โองการที่ 13
(9) ซุนัน อิบนิมาญะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 594 ; ตารีค อิสลาม, มุฮัมมัด อิบรอฮีม อายาตี, หน้าที่ 324 และ 326
(10) อัลอิซอบะฮ์, อิบนุฮาญัร อัลอัสกอลานี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 275
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่