หนึ่งในแบบอย่างและนโยบายในการดำเนินชีวิตที่เห็นได้อย่างชัดเจนของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) คือการให้ความสำคัญต่อบรรดาผู้อ่อนแอและคนยากจน (มุสตัฎอะฟีน)....
การอยู่ร่วมกับพวกเขา ยืนหยัดอยู่ในฝ่ายเดียวกับพวกเขา พิทักษ์เกียรติศักดิ์ศรีของพวกเขา พยายามที่จะขจัดปัดเป่าการถูกลิดรอนต่างๆ ของพวกเขา การนำพาพวกเขาไปสู่เกียรติศักดิ์ศรีที่แท้จริง การให้ความสนใจและเอาใจใส่ต่อผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิที่แท้จริงที่พวกเขาพึงจะได้รับ การให้สำคัญและความพยายามในการที่จะปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระจากความเป็นทาสในรูปแบบ การจัดเตรียมพื้นฐานสำหรับการยกระดับให้แก่พวกเขา การให้ความสำคัญต่อผู้ที่เรียกร้องสิทธิและผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ พวกเขาคือปวงบ่าวที่ดีที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า บรรดาผู้อ่อนแอ ผู้ถูกกดขี่และผู้ถูกลิดรอน (มุสตัฎอะฟีน) ที่เป็นคนดีมีคุณธรรม (ซอและห์) นั้น พวกเขาจะเป็นผู้สืบทอดมรดกในแผ่นดิน
รัฐที่เป็นสัจธรรมและดำรงอยู่บนความถูกต้อง จะต้องขจัดปัดเป่าการถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ ทั้งหมดของพวกเขาให้หมดไป พระผู้เป็นเจ้าทรงให้ความสนใจต่อพวกเขาเป็นพิเศษ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และบรรดาผู้สืบทอด (เอาซิยาอ์) ของท่านจะเอื้ออาทรและเอาใจใส่อย่างมากต่อพวกเขา ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) คือ «رحمة للعالمين» (ความเมตตาสำหรับชาวโลกทั้งมวล) (1) ความเมตตาของท่านนั้นแผ่ปกคลุมแก่บุคคลทั้งมวล แต่มีความเป็นพิเศษสำหรับคนยากจน ชนชั้นผู้อ่อนแอและผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) ที่เป็นคนดี (ซอและห์) ของสังคม ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น ศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าทั้งมวลมาจากชนชั้นผู้ถูกกดขี่และผู้ถูกลิดรอน (มุสตัฎอะฟีน) ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) กล่าวว่า
"อิสลามเป็นของทุกคน อิสลามเกิดขึ้นจากมวลชน และจะทำงานเพื่อมวลชน อิสลามมิได้เกิดขึ้นจากชนชั้นสูงของสังคม ท่านศาสดาผู้มีเกียรติก็มาจากหมู่ชนชั้นล่างของสังคม ท่านลุกขึ้นและยืนหยัดขึ้นท่ามกลางหมู่ชนเหล่านี้ บรรดาสาวก (อัซฮาบ) ของท่านก็คือกลุ่มชนชั้นล่าง พวกเขาเป็นกลุ่มชนชั้นที่สาม บรรดาชนชั้นสูงของสังคมเป็นผู้ที่ต่อต้านและอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกับท่านศาสดา (ท่านศาสดา) มาจากหมู่ชนเหล่านี้ และยืนหยัดต่อสู่เพื่อหมู่ชนเหล่านี้ และได้นำบทบัญญัติต่างๆ มาเพื่อประโยชน์ของหมู่ชนเหล่านี้" (2)
ศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าทั้งมวลเป็นเช่นนี้ พวกท่านจะอยู่กับชนชั้นผู้อ่อนแอผู้ถูกลิดรอน (มุสตัฎอะฟีน) จะยืนหยัดอยู่เคียงข้างพวกเขาเพื่อดำรงความยุติธรรมและรักษาสิทธิต่างๆ ของพวกเขา วัรรอม บินอบีฟะร๊อซ ได้กล่าวว่า
و كان سليمان بن داود عليهما السلام اذا اصبح تصفح وجوه الاغنياء والاشراف حتى يجىء الى المساكين فيقعد معهم و يقول: مسكين مع المساكين
“และสุไลมาน บุตรของดาวุด (อ.) นั้น เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา ท่านจะมองและพิจารณาดูใบหน้าของบรรดาผู้มั่งคั่งและชนชั้นสูง (ขุนนาง) จนกระทั่งเมื่อท่านมาถึงบรรดาผู้ยากไร้ ท่านจะนั่งร่วมวงกับพวกเขา และท่านจะกล่าวว่า : คนยากไร้ (ผู้น่าสงสาร) นั้นจะต้องอยู่กับบรรดาคนยากไร้” (3)
ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ถือว่าตนเองนั้นเป็นผู้ยากไร้ ท่านจะอยู่ในหมู่ของพวกเขา บรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมดจะเป็นเช่นนี้ และพวกท่านจะแนะนำสั่งเสียให้ประชาชนใช้ชีวิตเช่นนี้ มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า
ان عيسى عليه السلام لما اراد وداع اصحابه جمعهم و امرهم بضعفاء الخلق و نهاهم عن الجبابرة
“ท่านศาสดาอีซา (อ.) เมื่อท่านต้องการที่จะอำลาสาวกของท่าน ท่านได้รวมพวกเขา และสั่งพวกเขาให้อยู่กับประชาชนผู้อ่อนแอ และห้ามพวกเขาจาก (การมีจิตโน้มเอียงและการอยู่ใกล้ชิดกับ) บรรดาผู้มีอำนาจ (พวกทรราชและเผด็จการ)” (4)
ชนชั้นผู้อ่อนแอ (มุสตัฎอะฟีน) ในที่นี้หมายถึง บุคคลที่ไม่มีลักษณะเย่อหยิ่ง จองหอง หลงตนและมองว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น มุสตัดอะฟีนในที่นี้ตรงข้ามกับมุสตักบิรีน พวกเขาเหล่านี้คือบุคคลที่โลก (ดุนยา) และวัตถุ เป็นสิ่งเล็กน้อย ไร้ค่าและไม่มีความสำคัญใดๆ ในสายตาของพวกเขา แต่สัจธรรมเท่านั้นที่มีความสำคัญและมีเกียรติสำหรับพวกเขา ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) เมื่อท่านต้องการจะอธิบายถึงคุณลักษณะของท่านอบูซัร ฆิฟารี (ร.ฮ.) ท่านจะกล่าวถึงในนาม "มุสตัฎอะฟีน" และท่านจะอธิบายถึงคุณลักษณะของผู้ที่เป็นมุสตัฎอะฟีนผู้เป็นแบบอย่าง เช่นนี้ว่า
کَانَ لِی فِیمَا مَضَی اَخٌ فِی اللَّهِ وَ کَانَ یُعْظِمُهُ فِی عَیْنِی صِغَرُ الدُّنْیَا فِی عَیْنِهِ وَ کَانَ خَارِجاً مِنْ سُلْطَانِ بَطْنِهِ فَلَا یَشْتَهِی مَا لَا یَجِدُ وَ لَا یُکْثِرُ إِذَا وَجَدَ وَ کَانَ اَکْثَرَ دَهْرِهِ صَامِتاً فَإِنْ قَالَ بَذَّ الْقَائِلِینَ وَ نَقَعَ غَلِیلَ السَّائِلِینَ وَ کَانَ ضَعِیفاً مُسْتَضْعَفاً فَإِنْ جَاءَ الْجِدُّ فَهُوَ لَیْثُ غَابٍ وَ صِلُّ وَادٍ لَا یُدْلِی بِحُجَّهٍ حَتَّی یَاْتِیَ قَاضِیاً وَ کَانَ لَا یَلُومُ اَحَداً عَلَی مَا یَجِدُ الْعُذْرَ فِی مِثْلِهِ حَتَّی یَسْمَعَ اعْتِذَارَهُ وَ کَانَ لَا یَشْکُو وَجَعاً إِلَّا عِنْدَ بُرْئِهِ وَ کَانَ یَقُولُ مَا یَفْعَلُ وَ لَا یَقُولُ مَا لَا یَفْعَلُ وَ کَانَ إِذَا غُلِبَ عَلَی الْکَلَامِ لَمْ یُغْلَبْ عَلَی السُّکُوتِ وَ کَانَ عَلَی مَا یَسْمَعُ اَحْرَصَ مِنْهُ عَلَی اَنْ یَتَکَلَّمَ وَ کَانَ إِذَا بَدَهَهُ اَمْرَانِ یَنْظُرُ اَیُّهُمَا اَقْرَبُ إِلَی الْهَوَی فَیُخَالِفُهُ فَعَلَیْکُمْ بِهَذِهِ الْخَلَائِقِ فَالْزَمُوهَا وَ تَنَافَسُوا فِیهَا فَإِنْ لَمْ تَسْتَطِیعُوهَا فَاعْلَمُوا اَنَّ اَخْذَ الْقَلِیلِ خَیْرٌ مِنْ تَرْکِ الْکَثِیرِ
“ในอดีตที่ผ่านมาฉันเคยมีพี่น้องคนหนึ่งใน (หนทาง) ของอัลลอฮ์ ความไม่สำคัญของโลก (แห่งวัตถุ) ในสายตาของเขาทำให้เขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในสายตาของฉัน เขาเป็นผู้ที่ออกจากอำนาจบงการของท้องของเขา โดยที่เขาจะไม่หื่นกระหายต่อสิ่งที่เขาไม่มี และจะไม่มักมากเมื่อเขามี ส่วนใหญ่ของชีวิตของเขานั้น เขาจะเป็นผู้ที่เงียบสงบ แต่หากเขาพูดเขาจะโดดเด่นเหนือผู้พูดทั้งหลาย เขาจะดับความหิวกระหายของบรรดาผู้วอนขอ (ดูภายนอก) เขาคือผู้อ่อนแอและผู้ถูกกดขี่ที่น่าสงสาร (มุสตัฎอะฟีน) แต่หากเมื่อ (มีงานที่ต้องใช้) ความจริงจัง เขาจะ (เคลื่อนไหว) ประหนึ่งราชสีแห่งป่าและงูใหญ่แห่งท้องทะเลทราย เขาจะไม่หยิบยกเหตุผลข้อพิสูจน์ใด จนกว่าจะมาปรากฏตัวต่อผู้พิพากษา เขาจะไม่กล่าวตำหนิผู้ใดในสิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะมีเหตุผล จนกว่าเขาจะได้รับฟังเหตุผลของเขาเสียก่อน เขาจะไม่โอดครวญต่อความเจ็บปวดใดๆ นอกจากเมื่อหายเป็นปกติแล้ว เขาจะพูดในสิ่งที่เขากระทำ จะไม่พูดในสิ่งที่เขาไม่ได้กระทำ แม้เขาจะถูกพิชิตในการพูด แต่จะไม่มีใครพิชิตเขาได้ในความสงบเงียบ เขามีความหื่นกระหายที่จะรับฟังมากกว่าการพูด เมื่อมีกิจการสองอย่างปรากฏขึ้นต่อเขา เขาจะคิดใคร่ครวญก่อนว่าสิ่งใดที่ใกล้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำมากกว่า แล้วเขาจะปฏิบัติตรงข้ามกับสิ่งนั้น ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในจริยธรรมเหล่านี้ และจงแข่งขันกันในสิ่งเหล่านี้เถิด แต่หากพวกท่านไม่สามารถที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดได้ ดังนั้นพึงรู้ไว้เถิดว่า การกระทำแม้เพียงเล็กน้อยของมัน ย่อมดีงามกว่าการละทิ้งทั้งหมดของมัน” (5)
มีรายงานจากท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ซึ่งเล่าว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสกับท่านในค่ำคืนแห่งเมี๊ยะอ์รอจญ์ว่า
يا احمد، ان المحبة لله هى المحبة للفقراء و التقرب اليهم، قال: و من الفقراء؟ قال: الذين رضوا بالقليل و صبروا على الجوع و شكروا على الرخاء و لم يشكوا جوعهم ولا ظمأهم و لم يكذبوا بألسنتهم ولم يغضبوا على ربهم ولم يغتموا على ما فاتهم و لم يفرحوا بما آتاهم. يا احمد، محبتى محبة الفقراء فادن الفقراء و قرب مجلسهم منك و ابعد الاغنياء و ابعد مجلسهم عنك فان الفقراء احبائى
“โอ้อะห์มัด! แท้จริงการมีความรักต่ออัลลอฮ์ คือการมีความรักต่อคนยากจนและการอยู่ใกล้กับพวกเขา” ท่านทูลถามว่า “คนยากจนนั้นพวกเขาเป็นใคร?” พระองค์ทรงตรัสว่า “คือบรรดาผู้ที่พึงพอใจต่อสิ่งเล็กน้อย อดทนต่อความหิวโหย และขอบคุณในความสุขสบาย พวกเขาจะไม่พร่ำบ่นโอดครวญในความหิวโหยและความกระหายของพวกเขา พวกเขาจะไม่พูดปดด้วยวาจาคำพูดของพวกเขา จะไม่โกรธเคืองต่อองค์อภิบาลของพวกเขา จะไม่ทุกข์โศกต่อสิ่งที่หลุดลอยไปจากพวกเขา และจะไม่ปีติยินดีต่อสิ่งที่ได้รับมา โอ้อะห์มัด! ความรักของข้า คือรักต่อคนยากจนขัดสน ดังนั้นเจ้าจงเข้าใกล้คนยากจนขัดสนและจงทำให้ที่ชุมนุมของพวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับเจ้า จงออกห่างจากคนร่ำรวย และจงทำให้ที่ชุมนุมของพวกเขาอยู่ห่างจากเจ้า เพราะแท้จริงคนยากจนนั้นเป็นที่รักของข้า” (6)
ท่านศาสดาแห่งความเมตตาและทางนำ ได้ชี้ให้เห็นสื่อที่จะนำพามนุษย์เข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือการมีความรักต่อคนยากจนและการอยู่ใกล้ชิดพวกเขา (7) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่าพวกเขาคือพี่น้องที่แท้จริง และได้กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า
يا على،ان الله تبارك و تعالى وهب لك حب المساكين والمستضعفين فى الارض فرضيت بهم اخوانا و رضوابك اماماً
“โอ้อะลี! แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงมอบความรักที่มีต่อผู้ยากจนและผู้ถูกกดขี่ในแผ่นดินให้แก่เจ้า ดังนั้นเจ้าจึงพึงพอใจที่จะเลือกพวกเขาเป็นพี่น้อง และพวกเขาก็พึงพอใจที่จะเลือกเจ้าเป็นผู้นำ...” (8)
การให้ความสำคัญและความห่วงใยต่อผู้อ่อนแอ (มุสตัฏอะฟีน) ความพยายามในการช่วยเหลือเกื้อกูลกลุ่มชนผู้ถูกลิดรอนนั้น ผสมผสานอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ โดยสัญชาติญาณทางธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮ์) ของมนุษย์นั้นเขาไม่สามารถที่จะหันหลังให้กับบุคคลเหล่านี้ได้ มนุษย์โดยสัญชาติญาณทางธรรมชาติแล้วเขาจะรักผู้อ่อนแอ (มุสตัฏอะฟีน) และให้ความสนใจต่อพวกเขา
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กำชับสั่งเสียบรรดาสาวกของท่านให้อยู่ใกล้ชิดกับบรรดาผู้ยากจนและผู้อ่อนแอ ให้ความรักต่อพวกเขา และพยายามในการช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขา ท่านซัลมานฟาริซี (ร.ฮ.) กล่าวว่า
أوصاني خليلي بسبع خصال لا أدعهن على كل حال : أوصاني أن انظر إلى مَن هو دوني ، ولا أنظر إلى مَن هو فوقي ، وأنْ أُحبّ الفقراء وأدنو منهم ، وأنْ أقول الحقّ وإن كان مرّا ، وأن أصل رحمي وإنْ كانت مدبرة ، ولا أسأل الناس شيئاً ، وأوصاني أن أُكثر من قول : " لا حول ولا قوة إلا بالله العلي العظيم " فإنها كنز من كنوز الجنة
“(ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)) สหายรักของฉัน ได้กำชับสั่งเสียฉันไว้เจ็ดประการ โดยไม่ให้ละทิ้งมันในทุกสภาพการณ์ นั่นคือ ท่านสั่งเสียฉันให้มองดูคนที่มีสถานะต่ำกว่าฉัน และไม่ให้ฉันมองดูคนที่มีสถานะเหนือกว่าฉัน ให้ฉันรักคนยากจนและให้อยู่ใกล้ชิดกับพวกเขา ให้ฉันพูดความจริงแม้ว่าจะขมขื่น ให้ฉันผูกสัมพันธ์ต่อเครือญาติ แม้ว่าเขาจะหันหลังให้ ไม่ให้ฉันขอสิ่งใดจากมนุษย์ และท่านได้สั่งเสียฉันให้กล่าวประโยคประโยคนี้ให้มากๆ คือ
لا حول ولا قوة إلا بالله العلي العظيم
“ไม่มีอานุภาพและพลังอำนาจใด เว้นแต่ด้วย (การอนุมัติของ) ผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงยิ่งใหญ่ เพราะแท้จริงมัน (ประโยคนี้) คือขุมคลังหนึ่งจากบรรดาขุมคลังของสวรรค์” (9)
ท่านลุกมานฮะกีม ได้แนะนำสั่งเสียบุตรชายของท่านว่า
يا بنى جاور المساكين و اخصص الفقراء و المساكين من المسلمين
"โอ้ลูกรักของพ่อ! จงอยู่ร่วมเคียงกับบรรดาคนขัดสน และอุทิศตัวเองให้แก่บรรดาคนยากจนและคนขัดสนจากบรรดามุสลิม (ผู้ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า)" (10)
คุณค่าของมนุษย์ขึ้นอยู่กับระดับของความรักที่เขามีต่อบรรดาบุคคลที่เป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้า มันซูร บัซร็อจญ์ ได้เล่าว่า ฉันได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “ทำไมข้าพเจ้าถึงได้ยินท่านพูดถึงท่านซัลมาน ฟาริซีมากมายถึงเพียงนี้” ท่านอิมามซอดิก (อ.) “อย่าเรียกเขาว่า ซัลมาน ฟาริซี แต่จงเรียกเขาว่า ซัลมาน มุฮัมมะดี! เจ้ารู้ไหมว่าทำไม่ฉันจึงกล่าวถึงเขามากมายเพียงนี้” มันซูร บัซร็อจญ์กล่าวว่า ฉันตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “นั่นเนื่องมาจากคุณลักษณะสามประการของเขา ประการแรกคือ เขาจะให้ความสำคัญต่อความต้องการของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ก่อนความต้องการของตน ประการที่สอง เขาจะมีความรักต่อคนยากจนและให้ความสำคัญต่อบุคคลเหล่านั้นมากกว่าคนร่ำรวย ประการที่สาม เขามีความรักต่อความรู้และต่อบรรดาผู้มีความรู้” (11)
บรรดาผู้ที่เป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้านั้น พวกเขาคือสื่อแห่งความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า บรรดาผู้ยากจนขัดสนผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) หัวใจของพวกเขาจะไม่ผูกพันและยึดติดอยู่กับโลกแห่งวัตถุ พวกเขาคือผู้มีศรัทธา และเป็นสื่อนำมาซึ่งความกรุณาและการอนุเคราะห์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อสิ่งถูกสร้างทั้งมวลของพระองค์ วากิดีได้เขียนไว้ว่า มีผู้เล่าให้ฉันฟังว่า อักรอมะฮ์ได้กล่าวว่า : ประชาชนได้ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวิธีการแบ่งทรัพย์สินที่ยึดมาได้จากเชลยศึกในสงครามบะดัร ดังนั้นท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงออกคำสั่งให้นำทรัพย์สินเชลยทั้งหมดนั้นกลับคืนมาสู่กองคลัง (บัยตุ้ลมาล) และทรัพย์สินทั้งหมดได้ถูกมอบคืน บรรดาผู้กล้าหาญทั้งหลายต่างคิดว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จะมอบทรัพย์เชลยเหล่านั้นให้กับพวกตนเพียงเท่านั้น โดยที่บรรดาผู้อ่อนแอจะไม่ได้รับสิ่งใด แต่แล้วท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ออกคำสั่งให้แบ่งทรัพย์เชลยเหล่านั้นให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซะอัด บินอะบีวักก๊อศ ได้กล่าวว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! นักรบที่ขี่ม้าออกศึกเพื่อปกป้องหมู่ชนนั้นสมควรหรือที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่าเทียมกับผู้อ่อนแอผู้ไร้ความสามารถ” ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “มารดาของเจ้าจงร่ำไห้เสียใจต่อเจ้าเถิด!
هل تنصرون الا بضعفائكم؟
ไม่ใช่เพราะด้วยสื่อผู้อ่อนแอเหล่านี้ดอกหรือที่พวกท่านได้รับช่วยการช่วยเหลือ?” (12)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
انما ينصر الله هذه الامة بضعيفها ، بدعوتهم و صلاتهم و اخلاصهم
“แท้ที่จริงอัลลอฮ์จะทรงช่วยเหลือประชาชาตินี้ด้วยสื่อผู้อ่อนแอของมัน ด้วยการวิงวอนขอของพวกเขา การนมาซของพวกเขา และความบริสุทธิ์ใจของพวกเขา” (13)
ดังนั้น บรรดาผู้อ่อนแอ (มุสตัฎอะฟีน) ที่เป็นคนดีมีคุณธรรม (ซอและห์) คือปวงบ่าวผู้เป็นที่รักยิ่งที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาคือบุคคลกลุ่มแรกที่ศรัทธาต่อท่านศาสดา และในทุกยุคสมัยจะเป็นเช่นนี้ ชำซุดดีน ซะฮะบี ได้เขียนว่า “คนกลุ่มแรกที่ศรัทธาต่อท่านศาสดานั้นคือบรรดาคนยากจน และทุกๆ ศาสดาที่ถูกส่งมาก็จะเป็นแบบนี้เช่นกัน คนกลุ่มแรกที่ศรัทธาต่อพวกท่านก็คือบรรดาคนยากจน” (14)
ผู้ที่มีหัวใจผูกพันต่อโลกแห่งวัตถุน้อยที่สุดนั้น พวกเขาย่อมจะมีโอกาสได้รับทางนำมากที่สุด และจะเอาสัจธรรมเป็นที่ตั้งและยึดถือผู้ที่อยู่กับสัจธรรมเป็นผู้นำ ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้นำของบรรดาผู้ถูกกดขี่ผู้อ่อนแอ (มุสตัฎอะฟีน) ทั้งหลาย ได้กล่าวว่า
“ฉันคือยะอ์ซูบของบรรดาผู้ศรัทธา ส่วนทรัพย์สมบัติและความมั่งคั่งนั้น คือยะอ์ซูบของบรรดาคนชั่ว” (15)
“ยะอ์ซูบ” นั้นคือนางพญาผึ้งที่ทุกสิ่งทุกอย่างของบรรดาผึ้งจะขึ้นอยู่กับมัน หลังจากคำพูดประโยคนี้ ท่านชะรีฟ ริฎอ ได้เขียนว่า “ความหมายของมันก็คือ บรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จะปฏิบัติตามฉัน และคนชั่วจะเลือกตามทรัพย์สมบัติ เช่นเดียวกับที่บรรดาผึ้งซึ่งจะปฏิบัติตามนายของมัน” ดังนั้นผู้ที่หัวใจของพวกเขาผู้พันอยู่กับความร่ำรวยมั่งคั่ง ตำแหน่งชื่อเสียงและอำนาจ พวกเขาจะไม่มอบหัวใจให้กับทางนำ พวกเขาจะนับถือศาสนาก็เพียงเพื่อสนองตอบปัจจัยทางวัตถุของตนเอง ดังเช่นที่ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ได้เห็นท่านอัมมาร บินยาซีร กำลังพยายามที่จะโน้มนำมุฆีเราะฮ์ บินชุอ์บะฮ์ ไปสู่จุดหมายแห่งพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่เขากลับหนีออกจากสัจธรรมและหันหลังให้กับมัน ดังนั้นท่านจึงกล่าวกับอัมมาร บินยาซีร ว่า
دعه يا عمار فانه لم ياخذ من الدين الا ما قاربه من الدنيا و على عمد لبس على نفسه ليجعل الشبهات عاذراً لسقطاته
“จงปล่อยเขาไปเถิด โอ้อัมมาร! เพราะแท้จริงเขาจะไม่ยึดมั่นต่อศาสนา นอกจากสิ่งที่จะทำให้เขาเข้าใกล้กับ (ผลประโยชน์ทาง) โลกเพียงเท่านั้น เขาได้นำตัวเองเข้าสู่ความเคลือบแคลงโดยตั้งใจ เพื่อที่เขาจะทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยเหล่านั้นเป็นข้ออ้างสำหรับการละเมิดฝ่าฝืนและการปฏิเสธของตน” (16)
ดังนั้นจะต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อผู้อ่อนแอ ผู้ถูกกดขี่ ผู้ถูกลิดรอนและชนชั้นล่างของสังคม เพราะคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะให้การสนับสนุนค้ำจุนศาสนา การให้ความสำคัญและการเอาใจใส่ต่อพวกเขาจะเป็นสื่อทำให้เพิ่มจำนวนของผู้ศรัทธาและมีความพร้อมที่จะเผชิญศึกสงครามกับเหล่าศัตรู ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
و انما عمادالدين و جماع المسلمين و العدة للاعداء ، العامة من الامة: فليكن صغوك لهم و ميلك معهم
“และแท้จริงแล้วหลักค้ำของศาสนาและการรวมตัวของมุสลิม และการเตรียมพร้อมสำหรับ (การป้องกัน) เหล่าศัตรูนั้น คือประชาชนทั่วไปของประชาชาตินี้ ดังนั้นเจ้าจงรับฟังพวกเขาและจงมีจิตใจโน้มเอียงที่จะอยู่รวมกับพวกเขา” (17)
การวางแนวและการกำหนดทิศทางของอิสลาม
คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ชัดเจนในเรื่องนี้ และพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดแนวทางไว้แก่ศาสนทูตของพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า
و اصبر نفسك مع الذين يدعون ربهم بالغداة والعشى يريدون وجهه ولا تعد عيناك عنهم تريد زينة الحياة الدنيا و لا تطع من اغفلنا قلبه عن ذكرنا و اتبع هواه و كان امره فرطا
“และจงอดทนให้ตัวของเจ้าอยู่ร่วมกับบรรดาผู้วิงวอนต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา ทั้งยามเช้าและยามเย็น โดยที่พวกเขาปารถนาความพึงพอพระทัยของพระองค์ และอย่าให้สายตาของเจ้าหันเหออกไปจากพวกเขา โดยที่เจ้าจะปรารถนาความสวยงามแห่งชีวิตทางโลกนี้ และเจ้าอย่าเชื่อฟังผู้ที่เราได้ทำให้หัวใจของเขาละเลยจากการรำลึกถึงเรา และปฏิบัติตามอารมณ์ต่ำของเขา และกิจการของเขาคือการละเมิด (และความอธรรม)” (18)
นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานเขียนเกี่ยวกับสาเหตุการประทาน (ชะอ์นุนุซูล) ของโองการนี้ว่า โองการนี้ถูกประทานลงมาในเรื่องของบรรดามุสตัฎอะฟีน (ผู้อ่อนแอผู้ถูกลิดรอน) อย่างเช่น ท่านซัลมาน ท่านอบูซัร ท่านซุฮัยบ์ ท่านอัมมาร ท่านค็อบบ๊าบและบุคคลอื่นๆ ที่เป็นผู้ยากจนในหมู่ซอฮาบะฮ์ เหตุการณ์ก็คือว่า : บรรดาผู้ที่มีหัวใจโน้มเอียงมาสู่อิสลาม (مولفة قلوبهم) ได้มาพบท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และกล่าวกับท่านว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) หากท่านนั่งเป็นประมุขของที่ชุมนุม และขับไล่พวกที่สวมใส่ขนสัตว์ที่มีกลิ่นเหม็นและสกปรกเหล่านี้ออกไปให้ไกลจากตัวท่าน พวกเราจะมาหาท่านและจะยอมรับศาสนาของท่าน อุปสรรคกีดขวางการเข้าร่วมในที่ชุมนุมของท่านไม่ใช่อื่นใดเลย นอกจากพวกเหล่านี้เท่านั้น”
บรรดาผู้ยโสโอหัง ผู้หยิ่งผยองและหลงตนเอง (มุสตักบิรีน) ซึ่งไม่มีความอดทนพอที่จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้อ่อนแอผู้ถูกลิดรอน (มุสตัฎอะฟีน) และคนยากจนนั้น พวกเขาต้องการให้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เขามาอยู่ในหมู่พวกเขาและอยู่ร่วมเคียงข้างพวกเขา โดยละทิ้งคนยากจนและชนชั้นล่างของสังคม พวกเขากล่าวว่า ถ้าหากท่านขับไล่พวกเขาออกไป พวกเราจะมายังท่าน พวกเรามีความร่ำรวย มีความมั่งคั่งและมีอำนาจหน้าตาในสังคม ท่านศาสนทูตควรจะกล่าวกับคนพวกนี้อย่างไร? ท่านจะกล่าวว่า อิสลามไม่ต้องการพวกท่านกระนั้นหรือ ในขณะที่ศาสนาอิสลามนั้นเป็นของทุกคนและท่านคือ “رحمة للعالمين” (ความเมตตาสำหรับชาวโลกทั้งมวล) หรือท่านจะกล่าวว่า ตกลง ฉันยอมรับพวกท่าน และจะให้พวกท่านนั่งร่วมอยู่เคียงข้างฉัน และฉันจะให้คนยากจนเหล่านี้ถอยห่างออกไปจากฉัน ในขณะที่คนยากจนเหล่านั้น คือสิ่งถูกสร้างที่ดีเลิศที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าและให้การช่วยเหลือแก่ท่านมาตั้งแต่แรกเริ่ม โองการอัลกุรอานข้างต้นจึงถูกประทานลงมาและกำหนดแนวทางและหน้าที่ที่ชัดเจนแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (19)
ภายหลังจากที่โองการนี้ถูกประทานลงมา ท่านศาสนทูตจึงยืนขึ้นและค้นหาผู้อ่อนแอ ผู้ถูกลิดรอนและคนยากจน และพบพวกเขาอยู่ที่หลังสุดของมัสยิด ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับการทำอิบาดะฮ์และการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า ท่านหันไปหาพวกเขา และกล่าวว่า
الحمد لله الذى لم يمتنى حتّى أمرنى أن اصبر نفسى مع رجال من أمتى، معكم المحيا و معكم الممات
“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ ผู้ซึ่งมิได้ทำให้ฉันจบชีวิตลง จนกระทั่งพระองค์ทรงบัญชาแก่ฉันให้อดทนต่อตัวของฉันเอง ให้อยู่ร่วมกับเหล่าบุรุษจากประชาชาติของฉัน ฉันจะมีชีวิตอยู่กับพวกท่านและฉันจะตายกับพวกท่าน” (20)
ท่านมัรฮูมฎ็อบรีซี กล่าวว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ไม่มีความปรารถนาต่อโลกแห่งวัตถุและเครื่องประดับของมันแต่อย่างใด แต่ทว่าท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ผู้นำของพวกตั้งภาคี (มุชริกีน) จะศรัทธาต่ออิสลาม เพื่อที่โดยสื่อของพวกเขาจะทำให้ไพร่พลและเครือญาติที่ใกล้ชิดของพวกเขาหันมาศรัทธาและยอมรับอิสลามด้วย ซึ่งโองการนี้ได้กล่าวต่อท่านและบัญชาแก่ท่านว่า จงอยู่ร่วมกับคนยากจนขัดสนและบรรดาผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) จงอย่าหันห่างออกจากพวกเขา และอย่าได้หันเหไปสู่ชนชั้นสูง (21)
พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดแนวทางที่จำเป็นและชัดเจนให้แก่ท่านศาสนทูต นั่นคือจะต้องไม่ทอดทิ้งผู้อ่อนแอผู้ถูกดขี่ จะต้องไม่สนใจและให้ความสำคัญต่อผู้หลงโลกและผู้ที่เป้าหมายของพวกเขาคือโลกแห่งวัตถุ (ابناء الدنيا) (22) ด้วยเหตุนี้เอง พระผู้เป็นเจ้าจึงบัญชาแก่ศาสนทูตของพระองค์ให้อยู่ร่วมกับคนยากจน คนอ่อนแอและผู้ถูกกดขี่ ต้องให้ความสำคัญในการอยู่ใกล้และดูแลเอาใจใส่พวกเขา คำบัญชานี้คือคำบัญชาที่จะยังคงดำเนินอยู่ตลอดไปเกี่ยวกับคนยากจน คนอ่อนแอและผู้ถูกกดขี่ที่เป็นมุสลิมจวบจนถึงวันสิ้นโลก (กิยามะฮ์) (23)
แหล่งกำเนิดทางสังคมของบรรดาศาสดา
บรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้ามีแหล่งกำเนิดมาจากประชาชน (24) พวกท่านมาจากชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ตลอดช่วงการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติภารกิจของท่านนั้น พวกท่านไม่เคยนำตัวเองเข้าไปผูกพันและเป็นทาสของบรรดาอำนาจจอมปลอมใดๆ พวกท่านมิได้เป็นเช่นบรรดานักปฏิรูปคนอื่นๆ จำนวนมาก ที่เพื่อจะให้ได้มาซึ่งอำนาจและเป้าหมายในการปฏิรูป พวกเขานำตัวเองเข้าไปขึ้นตรงกับผู้มีอำนาจและรัฐบาลนั้นๆ แต่พวกท่านจะขึ้นตรงและสัมพันธ์ไปยังสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือสัจธรรม ซึ่งพลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ของพวกท่านก็ได้มาจากสิ่งนั้นเช่นกัน พวกท่านถูกแต่งตั้งมาจากท่ามกลางชนชั้นผู้อ่อนแอและผู้ถูกกดขี่ จากใจกลางของประชาชนผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความยากจนและการบีบครั้นต่างๆ ของสังคม พวกท่านได้ลิ้มรสและสัมผัสอยู่กับความยากลำบากและความขมขื่นต่างๆ ของชีวิต ของบรรดาผู้ที่ถูกลิดรอนและถูกกีดกันทางสังคม ภายหลังจากการได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดา พวกท่านก็ไม่เคยก้าวเข้าไปยังพระราชวังของสุลต่านเพื่อพึงพาการสนับสนุนของเขาในการทำให้บรรลุภารกิจของท่าน
จำนวนมากของนักปฏิรูปในหน้าประวัติศาสตร์มักจะเป็นเช่นนี้ คือ พวกเขาจะมาจากชนชั้นสูงของสังคม เป็นพวกขุนนาง พวกลูกหลานกษัตริย์ ชนผู้สูงศักดิ์และอยู่เคียงข้างกับผู้มีอำนาจ แต่บรรดาศาสดาจะมาจากท่ามกลางหมู่ชนชั้นล่าง เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่หันมาศรัทธาและสนับสนุนภารกิจของพวกท่าน นั่นก็คือชนชั้นผู้ถูกลิดรอนและผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) ในสายตาของชนชั้นสูงนั้น พวกท่านถูกนับว่าเป็นพวกต่ำต้อยและไร้เกียรติ และด้วยเหตุผลแห่งความยากจน พวกท่านจะถูกพิจารณาว่าไม่มีราคาใดๆ ตลอดทุกยุคสมัยจะเป็นเช่นนี้ นับตั้งแต่ช่วงเริมต้นของการประกาศเรียกร้องเชิญชวนสู่การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า (เตาฮีด) และการนำเอาบทบัญญัติของพระองค์มาประกาศใช้ จวบจนถึงยุคสิ้นสุดของศาสดาท่านสุดท้าย
พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสเกี่ยวกับท่านศาสดานูห์ (อ.) ผู้ซึ่งเป็นศาสดาท่านแรกที่พระองค์ทรงเล่าเรื่องราวของท่านไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ได้เริ่มต้นภารกิจการเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ไปสู่เตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) และนำเอาคัมภีร์และบทบัญญัติมาจากพระองค์ ท่านได้ยืนหยัดขึ้นเพื่อปรับชนชั้นและกำจัดความขัดแย้งต่างๆ ทางสังคม (25) โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า
و لقد ارسلنا نوحا الى قومه انى لكم نذير مبين . ان لا تعبدوا الا الله انى اخاف عليكم عذاب يوم اليم فقال الملاء الذين كفروا من قومه ما نراك الا بشراً مثلنا و ما نراك اتبعك الا الذين هم اراذلنا بادى الراى و ما نرى لكم علينا من فضل بل نظنّكم كاذبين
“และโดยแน่นอน เราได้ส่งนูห์ไปยังกลุ่มชนของเขา (โดยกล่าวว่า) ‘แท้จริงฉันเป็นผู้ตักเตือนที่ชัดเจนต่อพวกท่าน พวกท่านอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์ แท้จริงฉันกลัวว่าการลงโทษในวันอันเจ็บปวดจะประสบกับพวกท่าน’ แล้วบรรดาชนชั้นนำซึ่งเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาจากกลุ่มชนของเขากล่าวว่า ‘เรามิได้เห็นท่านเป็นอื่นใด นอกจากสามัญชนเช่นเดียวกับเรา และเรามิได้เห็นผู้ใดปฏิบัติตามท่าน นอกจากบรรดาผู้ต่ำช้าของพวกเราที่มีความคิดเห็นตื้นๆ และเรามิได้เห็นว่าพวกท่านประเสริฐกว่าพวกเรา แต่เราคิดว่าพวกท่านเป็นพวกโกหก” (26)
บรรดาชนชั้นสูงของสังคมนั้น คือบ่อเกิดหลักของความชั่วร้ายและความเสื่อมทราม และคนกลุ่มนี้เองที่เป็นผู้ชูธงในการต่อต้านบรรดาศาสดา พวกเขาได้ลุกขึ้นต่อต้านท่านศาสดานูห์ (อ.) ด้วยเช่นกัน พวกเขาไม่ยอมรับบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุผลที่พวกท่านมาจากหมู่ชนชั้นล่าง บรรดาผู้ปฏิบัติตามศาสดาทั้งหลาย ในสายตาของพวกยโสโอหังพวกหลงตน (มุสตักบิรีน) นั้น ถือว่าเป็นพวกชนชั้นต่ำ ไม่มีราคาใดๆ แต่ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าบรรดาหมู่ชนที่เชื่อมั่นและศรัทธาต่อท่านศาสดานูห์ (อ.) นั้น พวกเขาไม่ใช่อันธพาล ไม่ใช่คนต่ำต้อยและไร้เกียรติ แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าบรรดาศาสดาทั้งหลายนั้น ก่อนภารกิจใดๆ ท่านจะช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ถูกกดขี่ผู้ถูกลิดรอนและให้ความสำคัญต่อคนกลุ่มนี้ และยืนหยัดต่อสู้กับบรรดามหาอำนาจผู้กดขี่ที่อหังการในสังคม จึงทำให้คนกลุ่มแรกที่ตอบรับการประกาศเรียกร้องเชิญชวนของพวกท่าน ก็คือชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ผู้ถูกลิดรอนและคนยากจนนั่นเอง ซึ่งในสายตาของพวกชนชั้นสูงผู้มีอำนาจของสังคมถือว่าบรรทัดฐานของสถานภาพและคุณค่านั้นคือความมีอำนาจ ชื่อเสียงและความมั่งคั่ง จึงมองบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นคนชั้นต่ำและไร้คุณค่า (27)
พวกเขากล่าวว่า พวกเราไม่เห็นพวกที่อยู่รอบตัวท่านเป็นอื่นใด นอกจากพวกชั้นต่ำ บรรดาผู้ปฏิบัติตามท่านนั้นคือคนต่ำทรามของสังคม ถ้าหากเราศรัทธาและปฏิบัติตามท่าน พวกเราก็จะถูกลดสถานะลงมาเท่าเทียมกับพวกเขาและจะกลายเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา ซึ่งไม่คู่ควรกับเกียรติและสถานะที่เหนือกว่าที่พวกเรามีอยู่ มันจะทำให้คุณค่าและตำแหน่งที่พวกเรามีอยู่ในสังคมถูกลดต่ำลง (28)
บรรดาชนชั้นสูงที่มีหัวใจผูกพันอยู่กับลาภยศสรรเสริญต่างๆ ที่จอมปลอมนั้น จะยึดเอากำเนิดที่มาของประชาชนที่ยืนอยู่กับสัจธรรมเป็นสื่อในการคัดค้านและการปฏิเสธของตน
قالوا يا شعيب ما نفقه كثيراً مما تقول و انا لنراك فينا ضعيفاً و لولا رهطك لرجمناك و ما انت علينا بعزيز
“พวกเขากล่าวว่า โอ้ชุอัยบ์เอ๋ย! เราไม่เข้าใจส่วนมากจากสิ่งที่ท่านกล่าว และแท้จริงเราเห็นว่าท่านเป็นคนอ่อนแอในหมู่พวกเรา ถ้ามิใช่เพราะ (การเคารพใน) เผ่าชนของท่านแล้ว เราจะเอาหินขว้างปาท่าน และท่านเองนั้นก็มิได้มีเกียรติเหนือพวกเราแต่อย่างใด” (29)
สิ่งที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือ พวกเขาได้เรียกเผ่าชนของท่านศาสดาชุอัยบ์ โดยใช้คำว่า “เราะฮ์ฏุน” ซึ่งในทางภาษาอาหรับจะใช้เรียกหมู่ชนที่มีจำนวนน้อยที่ประกอบด้วยคนจำนวน 3 หรือ 7 คน หรือ 10 คน หรือตามคำพูดของนักภาษาศาสตร์บางคนบอกว่าอย่างมากไม่เกิน 40 คน นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องการจะบอกว่า ที่มาและแหล่งกำเนิดของท่านนั้นอ่อนแอมาก และถ้าหากพวกเราประสงค์พวกเราก็สามารถจัดการกับพวกท่านได้อย่างง่ายดาย ศาสดาทั้งมวลจะเป็นเช่นนี้ พวกท่านจะเป็นมนุษย์ที่อยู่ห่างไกลจากแวดวงของเหล่ากษัตริย์และพวกศักดินา ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งของหมู่ชนเหมือนกับประชาชนคนอื่นๆ สิ่งนี้เองที่บรรดาชนชั้นสูงผู้ยโสโอหังยอมรับไม่ได้ ดังเช่นที่พวกเขากล่าวกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า
و قالوا ما لهذا الرسول يأكل الطعام و يمشى فى الاسواق لولا انزل اليه ملك فيكون معه نذيراً او يلقى اليه كنز او تكون له جنة ياكل منها و قال الظالمون ان تتبعون الا رجلا مسحوراً
“และพวกเขากล่าวว่า ไฉนศาสนทูตผู้นี้จึงกินอาหารและเดินในตลาด ทำไมจึงไม่มีทวยเทพ (มะลัก) ผู้หนึ่งถูกส่งมากับเขา เพื่อจะได้เป็นผู้ตักเตือนร่วมกับเขา (และเป็นหลักฐานพิสูจน์ถึงความสัจจริงของเขา) หรือมีคลังสมบัติถูกส่งมาให้เขา หรือให้เขามีสวนแห่งหนึ่ง เพื่อเขาจะได้รับประทานจากสิ่งที่มีอยู่ในสวนนั้น และบรรดาผู้อธรรมกล่าวว่า พวกท่านมิได้ปฏิบัติตามผู้ใด นอกจากชายผู้วิกลจริตเท่านั้น” (30)
สำหรับพวกเขาไม่อาจยอมรับได้ที่ว่า มนุษย์ที่ปราศจากทรัพย์สมบัติและตำแหน่งทางสังคมจะเป็นศาสดาที่ถูกส่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า และพวกเขากล่าว ทำไมอัลกุรอานจึงไม่ถูกประทานลงมาให้กับคนร่ำรวย
و قولوا لو لا نزل هذا القرآن على رجل من القريتين عظيم
“และพวกเขากล่าวว่า ทำไมอัลกุรอานจึงไม่ถูกประทานลงมาให้แก่ชายผู้มีความสำคัญแห่งสองเมืองนี้” (31)
สำหรับผู้ที่มีลักษณะเยี่ยงฟาโรห์นั้นยอมรับไม่ได้ และเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่มนุษย์ที่ไม่มีทรัพย์สมบัติมหาศาลจะเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้พวกเขาประดับประดาตนไปด้วยสิ่งสวยงามและเครื่องประดับแห่งชีวิตทางโลกนี้ พระองค์ก็สามารถที่จะกระทำได้ แต่ทว่าบรรดาศาสดามาจากท่ามกลางหมู่ชนทั่วไปและนำเอาความดีงามและคุณค่าต่างๆ ที่แท้จริงมา หัวใจของบรรดาศาสดาถูกบรรจุจนเต็มเปี่ยมไปด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ความพอเพียงและความเรียบง่าย ซึ่งมิได้บรรจุด้วยความโลภหลง ความมักมากและความผูกพันต่อสีสันและเครื่องประดับแห่งโลกวัตถุ
ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ได้อธิบายถึงความจริงข้อนี้ในคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) “อัลกอซิอะฮ์” ของท่านเช่นนี้ว่า
"มูซาบุตรของอิมรอน ได้เข้าไปพบฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) พร้อมกับ (ฮารูน) พี่ชายของตน ในสภาพที่สวมเสื้อผ้าขนสัตว์ และในมือของแต่ละคนถือไม้เท้าอยู่ ท่านทั้งสองได้ยื่นเงื่อนไขแก่ฟิรเอาน์ว่า หากยอมจำนนต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า เขาจะยังคงอยู่ในอำนาจการปกครองและคงความเป็นกษัตริย์ของตนได้ต่อไป และจะยังคงมีเกียรติและมีอำนาจอยู่สืบไป แต่เขากล่าวว่า “พวกท่านไม่รู้สึกประหลาดใจต่อบุคคลทั้งสองนี้เลยหรือ ที่ยื่นเงื่อนไขว่า การดำรงอยู่ของอำนาจการปกครองและเกียรติยศของข้าขึ้นอยู่กับความต้องการต่างๆ ของพวกเขา ในขณะที่ความยากจนและความไร้เกียรติปกคลุมอยู่ทั่วสภาพการดำรงอยู่ของพวกเขา (ถ้าพวกเขาเป็นผู้สัตย์จริง) ทำไมกำไลทองต่างๆ จึงไม่ถูกประทานลงมาให้แก่พวกเขา” คำพูดเช่นนี้ของฟาโรห์เกิดจากการมองเห็นทองคำและการสะสมความมั่งคั่งว่าเป็นสิ่งสำคัญ การสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำมาจากขนสัตว์แสดงถึงความต่ำต้อยไร้เกียรติ
จากนั้นท่านอิมามอะลี กล่าวต่อว่า (แต่) ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์เช่นนั้น ในขณะที่พระองค์ส่งบรรดาศาสดาลงมาและมอบขุมทรัพย์ เหมืองแร่ทองคำและสวนต่างๆ ที่เขียวขจีให้แก่พวกท่าน พระองค์ก็ย่อมทำได้ และหากพระองค์ทรงประสงค์ที่จะส่งบรรดานกจากฟากฟ้าและสัตว์ป่าในโลกให้มารวมอยู่ในอำนาจการใช้สอยของพวกท่าน ก็ย่อมทำได้ แต่หากพระองค์กระทำเช่นนั้น การทดสอบต่างๆ ก็จะหมดไป ผลรางวัลและการตอบแทนก็จะไร้ความหมาย สัญญาแห่งรางวัลและการลงโทษก็จะไร้ประโยชน์ รางวัลตอบแทนสำหรับผู้ที่ยอมรับพวกท่านก็จะไม่มีความจำเป็น และผู้ศรัทธาทั้งหลายก็จะไม่คู่ควรต่อการรับรางวัลตอบแทนในคุณงามความดี....” (32)
บรรดาศาสดาผู้เป็นบ่าวที่ประเสริฐที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นเช่นนี้ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้เป็นตราประทับของพวกท่านก็ดำเนินชีวิตอยู่เยี่ยงเดียวกับชนชั้นผู้อ่อนแอผู้ถูกกดขี่ และจะแสดงความเป็นห่วงเป็นใยและให้ความสำคัญต่อกิจการต่างๆ ของหมู่ชนเหล่านั้น
นโยบายและแนวทางของท่านศาสดาแห่งอิสลาม
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้เป็นศาสดาท่านสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า ถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ยากไร้และชนชั้นผู้อ่อนแอผู้ถูกกดขี่ ท่านไม่เคยละทิ้งจากสถานะและจิตวิญญาณเช่นนี้เลย ท่านกอฎี อัยยาฎ ได้เขียนว่า
و كان احب الاسامى اليه ان يقال له مسكين
“ชื่อที่ท่านชื่นชอบมากที่สุดที่ประชาชนจะเรียกท่าน คือ คำว่า “มิสกีน” (ผู้ยากไร้)” (33)
ท่านศาสดาถือว่าท่านมาจากบุคคลเหล่านั้น และมาเพื่อทำหน้าที่รับใช้พวกเขา
อิบนุมัสอูด กล่าวว่า ชายคนหนึ่งได้มาพบท่านศาสดาและพุดคุยกับท่านในสภาพที่ร่างกายของเขาสั่นเทา ท่านศาสดากล่าวกับเขาว่า
هوّن عليك فانى لست بملك انما انا ابن امراة تاكل القديد
“จงทำตัวตามสบายเถิด ฉันไม่ใช่กษัตริย์ แท้จริงแล้วฉันก็เป็นลูกของหญิงคนหนึ่งที่รับประทานเนื้อตากแห้ง” (34)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) รังเกียจวิถีชีวิตของบรรดากษัตริย์และซุลต่านทั้งหลาย ท่านไม่ชอบพิธีรีตองและพฤติกรรมต่างๆ ของพวกเหล่านั้น ดังเช่นที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า
كان يكره ان يتشبه بالملوك
“ท่านรังเกียจที่จะทำตัวเหมือนบรรดากษัตริย์” (35)
อบูอะมามะฮ์กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในขณะที่เดินถือไม้เท้าออกมาจากบ้าน พวกเราลุกขึ้นยืนเพื่อให้เกียรติท่าน ท่านกล่าวว่า
لا تقوموا كما يقوم الاعاجم يعظم بعضهم بعضاً
“พวกท่านไม่ต้องลุกขึ้นยืนเหมือนกับที่ชาวเปอร์เซียลุกขึ้นให้เกียรติต่อกัน” (36)
อะห์มัด อิบนุฮัมบัล, อบูดาวูด และติรมีซี ได้รายงานไว้ในฮะดีษบทหนึ่งที่ฮะมาด บินซะละมะฮ์ได้บอกเล่ามาจากท่านอะนัส บินมาลิก ว่า ท่ามกลางบรรดามุสลิม ไม่มีผู้ใดเป็นที่รักยิ่งสำหรับพวกเขาเท่ากับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) แต่ถึงเพียงนั้นก็ตาม เมื่อพวกเขาเห็นท่านศาสนทูต พวกเขาก็ไม่ลุกขึ้นยืนให้เกียรติท่าน เพราะพวกเขารู้ว่า ท่านไม่ชอบสิ่งนี้ (37) และเมื่อท่านเข้ามาในที่นั่งชุมนุม ท่านจะนั่งลงในสถานที่ๆ ใกล้ที่สุดที่เข้าไปถึง (38) และเมื่อท่านขี่พาหนะท่านจะไม่ยอมให้ใครเดินไปกับท่าน เว้นแต่จะให้เขาผู้นั้นขึ้นขี่พาหนะไปกับท่าน แต่หากเขาผู้นั้นไม่ยอมขึ้นขี่พาหนะ ท่านจะบอกกับเขาว่า ท่านจงเดินนำหน้าไปก่อน และไปรอฉันที่นั่นที่นี่ (38)
และมีรายงานเกี่ยวกับท่านอิมามอะลี (อ.) เช่นเดียวกันว่า ผู้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้าทุกท่านจะมีวิถีการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ฎ็อรร๊อร บินฎุมเราะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสหายผู้ใกล้ชิดของท่านอิมามอะลี (อ.) วันหนึ่งเขาเดินไปหามุอาวิยะฮ์พร้อมกับผู้ร่วมทางของเขา มุอาวิยะฮ์กล่าวกับเขาว่า “ท่านจงบรรยายคุณลักษณะของอะลีให้ฉันฟังหน่อยซิ” เขากล่าวว่า “ฉันต้องขออภัยในเรื่องนี้” แต่มุอาวิยะฮ์ก็รบเร้าและบังคับให้ฉันพูด เมื่อเป็นเช่นนั้นฉันจึงกล่าวว่า
“ท่านอะลีจะสวมเสื้อผ้าสั้นๆ (จะไม่สวมใส่ชุดยาวรุ่มร่ามซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงและเป็นสัญลักษณ์ของความเย่อหยิ่ง) ท่านจะไม่รับประทานอาหารที่มีรดชาดอร่อย ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า เมื่อท่านอยู่ในหมู่พวกเรา ท่านก็จะปฏิบัติตนเหมือนกับพวกเรา ทุกครั้งที่เราถามสิ่งใดจากท่าน ท่านจะตอบพวกเรา และทุกครั้งที่เราไปหาท่าน ท่านจะเริ่มต้นพูดคุยกับพวกเราก่อน (และแสดงความเป็นกันเองกับพวกเรา) ทุกครั้งที่พวกเราเชื้อเชิญท่านเป็นแขก ท่านจะตอบรับพวกเรา ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า ถึงแม้ว่าท่านจะมีความใกล้ชิดกับเรา และเราก็มีความใกล้ชิดกับท่านมากเพียงนี้ แต่กระนั้นก็ตาม เนื่องจากความน่าเกรงขามของท่านเราไม่กล้าที่จะเริ่มต้นคำพูดใดๆ กับท่านก่อน เมื่อท่านยิ้ม ไรฟันของท่านจะปรากฏให้เห็นเรียงเป็นระเบียบเหมือนไข่มุก ท่านจะให้เกียรติประชาชนที่เคร่งครัดศาสนา ท่านจะรักและเมตตาคนยากไร้ ท่านจะคอยจัดหาอาหารให้แก่เด็กกำพร้า เครือญาติใกล้ชิดและผู้ยากไร้ จัดหาเสือผ้าให้คนที่ไม่มี และจะคอยช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม... ผู้ที่มีความเข้มแข็งจะไม่กล้ากระทำการละเมิดต่อหน้าท่าน และผู้ที่อ่อนแอก็จะไม่สิ้นหวังจากการช่วยเหลือและความยุติธรรมของท่าน” (39)
แนวทางและวิถีปฏิบัติเช่นนี้ก็เพื่อที่จะทำให้แบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ในการให้ความสำคัญ ความเป็นห่วงเป็นใย และการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่ของสังคมให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน และเพื่อที่บรรดาผู้ที่อ่อนแอผู้ถูกลิดรอนทั้งหลายจะได้รับรูว่า บรรดาเอาลิยาอุลลอฮ์ (ผู้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า) นั้นมาจากพวกเขา ความอุตสาห์พยายามของพวกท่านก็เพื่อที่จะยกระดับความเป็นอยู่ และเสริมสร้างเกียรติศักดิ์ศรีให้แก่พวกเขา
แหล่งอ้างอิง
(1) อัลกุรอานบทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่ 107
وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาสำหรับชาวโลกทั้งมวล”
(2) ดัรญุซตุญู รอฮ์ อาซ กะลาม อิมาม, เล่มที่ 1, มุสตัฎอะฟีน, มุสตักบิรีน, พิมพ์ครั้งที่ 1, สำนักพิมพ์อะมีร กะบีร, ปี 1361 (ปีอิหร่าน)
(3) ตันบีฮุ้ลค่อวาฏิร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 203 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 14, หน้าที่ 83
(4) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 96, หน้าที่ 214
(5) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, วิทยปัญญาที่ 289
(6) อิรชาดุ้ลกุลูบ, เล่มที่ , หน้าที่ 200-201 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 77, หน้าที่ 23
(7) มะการิมุ้ลอัคลาก, หน้าที่ 50 ; ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
نور الحكمة الجوع- و التباعد من الله الشبع- و القربة إلى الله حب المساكين و الدنو منهم
“สื่อนำมาซึ่งรัศมีแห่งวิทยปัญญา คือความหิวโหย และสื่อที่จะทำให้ออกห่างจากอัลลอฮ์ คือความอิ่ม และสื่อที่จะทำให้เกิดความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ คือความรักต่อบรรดาผู้ยากจนขัดสนและการอยู่ใกล้ชิดต่อพวกเขา”
(8) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 39, หน้าที่ 306 ; อะมาลี อัฏฏูซี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 184
(9) อัลมะฮาซิน, หน้าที่ 288 ; ตันบีฮุ้ลค่อวาฏิร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 231 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 69, หน้าที่ 388
(10) อัลอิคติซ๊อซ, หน้าที่ 337
(11) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 22, หน้าที่ 327
(12) อัลมะฆอซี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 99 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 96, หน้าที่ 214
(13- อัดดุรรุ้ลมันซูร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 237
(14) กิตาบุ้ลกะตาบิร, หน้าที่ 213
ان النبى اول من آمن به الفقراء و كذلك كل نبى ارسل اول من أمن به الفقراء
“แท้จริงท่านศาสดานั้น ชนกลุ่มแรกที่ศรัทธาต่อท่านคือคนยากไร้ และเช่นเดียวกันนี้ ทุก ๆ ศาสดาที่ถูกส่งมาชนกลุ่มแรกที่ศรัทธาต่อท่านคือคนยากไร้”
(15) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, วิทยปัญญาที่ 316 ; ริยาฎุลนะฎอเราะฮ์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 96 ; อัลอิสตีอาบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 169
(16) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, วิทยปัญญาที่ 405
(17) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, จดหมายฉบับที่ 53
(18) อัลกุรอานบทอัลกะฮ์ฟี่ : อายะฮ์ที่ 28
(19) มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 3, หน้าที่ 465 ; อัลญามิอ์ ลิอะห์กามิลกุรอาน, เล่มที่ 10, หน้าที่ 390 ; ตัฟซีรฏ็อบรี, เล่มที่ 15, หน้าที่ 155 ; อัซบาบุนนุซูล, หน้าที่ 202
(20) มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 3, หน้าที่ 465 ; ตัฟซีรรูฮุลมะอานี, เล่มที่ 15, หน้าที่ 262 ; ตัฟซีรบะยานุซซะอาดะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 464
(21) มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 3, หน้าที่ 465
(22) กิตาบุลกะบาอิร, หน้าที่ 214 ; ญามิอุ้ลญามิอ์ ฟี ตัฟซีรุ้ลกุรอานิ้ลมะญีด, เล่มที่ 1, หน้าที่ 884
(23) ตันบีฮุลฆอฟิลีน, หน้าที่ 86
(24) อัลฮะยาต, เล่มที่ 2, หน้าที่ 65-66
(25) ตัฟซีรอัลมีซาน, เล่มที่ 10, หน้าที่ 228
(26) อัลกุรอานบทฮูด โองการที่ 25-28
(27) ตัฟซีรนะมูเนะฮ์, เล่มที่ 9, หน้าที่ 71-72
(28) ตัฟซีรอัลมีซาน, เล่มที่ 10, หน้าที่ 203
(29) อัลกุรอานบทฮูด โองการที่ 91
(30) อัลกุรอานบท อัลฟุรกอน โองการที่ 7-8
(31) อัลกุรอานบท อัซซุครูฟ โองการที่ 31
(32) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ธรรมเทศนาที่ 192
(33) อัชชิฟาอ์ บิตะอ์รีฟ ฮุกูกิลมุสฏอฟา, เล่มที่ 1, หน้าที่ 196
(34) ซุนันอิบนิมาญะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 1101 ; มุสตัดร็อก อัลฮากิม, เล่มที่ 2, หน้าที่ 466 ; มัจญ์มะอุซซะวาอิด, เล่มที่ 9, หน้าที่ 20
(35 อัลกาฟี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 272 ; บิฮารูลอันวาร, เล่มที่ 16, หน้าที่ 262
(36) อัชชิฟาอ์ บิตะอ์รีฟ ฮุกูกิลมุสฏอฟา, เล่มที่ 1, หน้าที่ 168 ; มะการิมุ้ลอัคลาก, หน้าที่ 26
(37) ชะมาอิลุรร่อซูล, หน้าที่ 121 ; มะการิมุ้ลอัคลาก, หน้าที่ 16
لم يكن شخص احب اليهم من رسول الله صلى الله عليه و سلم؛ قال: و كانوا اذا راوه لم يقوموا لما يعلمون من كراهيته لذلك
“ไม่มีบุคคลใดเป็นที่รักยิ่งสำหรับพวกเขามากไปกว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เขากล่าวว่า และเมื่อใดก็ตามที่ท่านเข้ามา พวกเขาจะไม่ลุกขึ้นยืน ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขารู้ว่าท่านไม่ชอบสิ่งนั้น”
(38) มะการิมุ้ลอัคลาก, หน้าที่ 22
كان لا يدعي احدا يمشي مع اذا كان راكباً حتي بحمله معه فان ابي قال: تقوم امامي و ادركني في المكان الذي تريد
“ท่านจะปล่อยให้ผู้ใดเดินไปกับท่าน ในขณะที่ท่านขี่พาหนะ นอกจากท่านจะให้เขาขึ้นขี่ไปกับท่าน แต่ถ้าหากเขาปฏิเสธ ท่านจะกล่าวว่า : ท่านจงไปยืนรอข้างหน้าฉัน ฉันจะตามท่านไปในสถานที่ที่ท่านต้องการ”
(39) อามาลี อัซซุดูก, หน้าที่ 44 และ 46 ; อัลคิซ๊อล, เล่มที่ 1, หน้าที่ 130 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 16, หน้าที่ 99 และ 215
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่