รัฐบาลและระบอบการปกครอง หากมาจากพระผู้เป็นเจ้าและก่อรูปขึ้นบนพื้นฐานการอนุญาตของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว มันก็คือรัฐบาลแห่งพระผู้เป็นเจ้า หากมิฉะนั้นแล้วมันก็คือรัฐบาลแห่งมารที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากพระองค์ทรงตรัสว่า وَاجْتَنِبُوا الطَّاغُوتَ “และพวกเจ้าจงหลีกห่างจากเหล่ามาร” (อัลกุรอาน บทอันนะห์ลุ โองการที่ 36)
เราได้ยินและได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงลักษณะแห่งความเป็นมาร (ทรราช) ของระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ในอดีตของประเทศอิหร่าน แต่เหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาจึงเรียกระบอบการปกครองในอดีตด้วยคุณลักษณะนี้? โดยพื้นฐานแล้วลักษณะของความเป็นมาร (ทรราช) นั้นจะตรงข้ามกับรูปแบบของการปกครองแบบใด? ในบทความนี้เราจะตอบคำถามนี้โดยอาศัยการตรวจสอบพื้นฐานขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) และย่างก้าวแรกๆ ในการเริ่มต้นของการปฏิวัติอิสลาม
อำนาจการปกครองเป็นสิทธิ์ของใคร?
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างมวลมนุษย์ได้ทรงแนะนำตัวพระองค์เองว่า เป็นผู้ปกครองและเป็นผู้ทรงอภิสิทธิ์ในโลกแห่งการดำรงอยู่ทั้งมวล แรกเริ่มพระองค์ทรงตรัสว่า :
قُلِ اللَّهُمَّ مَالِكَ الْمُلْكِ
“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ว่า ข้าแต่อัลลอฮ์ผู้ทรงอภิสิทธิ์แห่งอำนาจการปกครองทั้งปวง”
(อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 26)
และพระองค์ได้ทรงแนะนำอีกว่า การเชื่อฟังพระองค์เป็นเพียงแนวทางเดียวสำหรับการบรรลุสู่ความสำเร็จ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :
فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ وَاسْمَعُوا وَأَطِيعُوا وَأَنْفِقُوا خَيْرًا لِأَنْفُسِكُمْ وَمَنْ يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ
“ดังนั้นพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ และจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามและบริจาคเถิด เพราะเป็นการดียิ่งสำหรับตัวของพวกเจ้าเอง และผู้ใดถูกปกป้องให้พ้นจากความตระหนี่แห่งจิตใจของเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ”
(อัลกุรอาน บทอัตตะฆอบุน โองการที่ 16)
ตามสองโองการนี้ มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะเชื่อฟังหรือปฏิบัติตามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด แต่ทว่าในเบื้องแรกเขาจะต้องดูว่าการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามนั้น เป็นไปในทิศทางของความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่? เนื่องจากผู้ทรงอภิสิทธิ์ที่แท้จริงของมนุษย์นั้น คือพระผู้เป็นเจ้า ความสำเร็จและความผาสุกของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับการเชื่อฟังพระองค์
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นนี้ การยอมรับและชื่อฟังต่อปวงศาสดา ก็เนื่องจากเป็นพระประสงค์และเป็นเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจึงเป็นที่อนุญาตด้วยเช่นกัน ดังที่พระองค์ทรงแนะนำสั่งเสียในเรื่องนี้ไว้และทรงตรัสว่า :
قُلْ أَطِيعُوا اللَّهَ وَالرَّسُولَ فَإِنْ تَوَلَّوْا فَإِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ الْكَافِرِينَ
“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจงเชื่อฟังอัลลอฮ์และศาสนทูต (ของพระองค์) เถิด แต่ถ้าพวกเขาผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงรักบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา”
(อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 32)
และในอีกโองการหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดชัดถึงหน้าที่ของบรรดาชาวมุสลิมหลังจากการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไว้ และทรงถือว่าการปฏิบัติตามบรรดาตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นที่อนุญาต และพระองค์ทรงตรัสว่า :
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَأُولِي الْأَمْرِ مِنْكُمْ
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และจงเชื่อฟังศาสนทูตและบรรดาผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า”
(อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 59)
แล้วบรรดาผู้ปกครองเหล่านี้ คือใคร?
พร้อมกับการถูกประทานลงมาของโองการที่ 59 ของซูเราะฮ์ (บท) อันนิซาอ์ และการหยิบยกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “การเชื่อฟังบรรดาผู้ปกครอง” คำถามได้เกิดขึ้นสำหรับบรรดาสาวก (ซอฮาบะฮ์) ว่า ผู้ปกครองเหล่านี้คือใครกัน? ดังนั้นพวกเขาจึงถามคำถามจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อัลอันซอรี คือหนึ่งในจำนวนบุคคลเหล่านั้น เขาได้ถามท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เกี่ยวกับ “อุลิลอัมร์” (บรรดาผู้ปกครอง) และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวตอบว่า “พวกเขาคือตัวแทนของฉันและเป็นอิมาม (ผู้นำ) ของปวงมุสลิมภายหลังจากฉัน คนแรกของพวกเขาคือ อะลี บินอบีฏอลิบ ....” และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวชื่อบุคคลเหล่านั้นตามลำดับจนครบสิบสองคน โดยไปสิ้นสุดที่อิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (1)
ตามโองการอัลกุรอานและการอรรถาธิบาย (ตัฟซีร) มัน หลังจากพระผู้เป็นเจ้าและศาสนทูตของพระองค์ การเชื่อฟังจะอนุญาตได้เฉพาะสำหรับบรรดาอิมาม (อ.) เท่านั้น และบรรดาอิมามเหล่านี้จะสามารถอนุญาตให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามบุคคลอื่นจากตนได้หรือไม่?
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ท่านอิมามซอดิก (อ.) จึงได้กล่าวในการตอบคำถามเกี่ยวกับการยอมรับการตัดสินชี้ขาดของบุคคลอื่น ๆ ว่า :
يَنْظُرَانِ إِلَى مَنْ كَانَ مِنْكُمْ مِمَّنْ قَدْ رَوَى حَدِيثَنَا وَ نَظَرَ فِي حَلاَلِنَا وَ حَرَامِنَا وَ عَرَفَ أَحْكَامَنَا فَلْيَرْضَوْا بِهِ حَكَماً فَإِنِّي قَدْ جَعَلْتُهُ عَلَيْكُمْ حَاكِماً فَإِذَا حَكَمَ بِحُكْمِنَا فَلَمْ يَقْبَلْهُ مِنْهُ فَإِنَّمَا اِسْتَخَفَّ بِحُكْمِ اَللَّهِ وَ عَلَيْنَا رَدَّ وَ اَلرَّادُّ عَلَيْنَا اَلرَّادُّ عَلَى اَللَّهِ وَ هُوَ عَلَى حَدِّ اَلشِّرْكِ بِاللَّهِ
“(คู่กรณี) ทั้งสองจงพิจารณาดูบุคคลจากพวกท่านว่าบุคคลใดที่รายงานฮะดีษของเรา (ศาสดาและอะฮ์ลุบัยติ์) และดูใน (เรื่อง) ฮะลาล (สิ่งอนุมัติ) และฮะรอม (สิ่งต้องห้าม) ของเรา และเขามีความรู้ในบทบัญญัติต่างๆ ของเรา ดังนั้นพวกเขาก็จงพึงพอใจให้เขาทำการตัดสินชี้ขาดเถิด เพราะแท้จริงฉันได้กำหนดให้เขาเป็นผู้ทำการตัดสินชี้ขาดต่อพวกท่าน แล้วเมื่อเขาได้ทำการตัดสินชี้ขาดด้วยคำตัดสินของเรา แต่เขา (คู่กรณี) ไม่ยอมรับคำตัดสินจากเขา ดังนั้นแท้จริงแล้วเขาไม่ให้ความสำคัญต่อคำตัดสินของอัลลอฮ์ และเขาได้ปฏิเสธเรา และผู้ที่ปฏิเสธเรานั้น เขาก็คือผู้ปฏิเสธอัลลอฮ์ และอยู่ในขั้นของการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์” (2)
และท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้กำหนดชัดถึงหน้าที่ของประชาชนในยุคการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านไว้ โดยกล่าวว่า :
وَ أَمَّا الْحَوَادِثُ الْوَاقِعَةُ فَارْجِعُوا فِيهَا إِلَى رُوَاةِ حَدِيثِنَا فَإِنَّهُمْ حُجَّتِي عَلَيْكُمْ وَ أَنَا حُجَّةُ اللَّهِ عَلَيْكُم
“และสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นพวกท่านก็จงย้อนไปหาบรรดาผู้รายงานฮะดีษของเราในเรื่องนั้น เพราะแท้จริงพวกเขาคือข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) ของฉันเหนือพวกท่าน และฉันคือข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) ของอัลลอฮ์เหนือพวกท่าน” (3)
จากบรรดาฮะดีษและโองการอัลกุรอานเหล่านี้ ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) จึงได้ทำการอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับ “วิลายะตุลฟะกีฮ์” (อำนาจการปกครองของนักนิติศาสตร์ทางศาสนา) และได้กล่าวว่า “วันนี้ฟุกอฮาอ์ (บรรดานักวิชาการศาสนา) ของอิสลาม คือฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) เหนือประชาชน ทำนองเดียวกับที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) คือฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ของอัลลอฮ์ และทุกๆ กิจการได้ถูกมอบหมายแก่ท่าน... ฟุกอฮาอ์ (บรรดานักวิชาการศาสนา) ก็เป็นข้อพิสูจน์จากอิมาม (อ.) ที่มีเหนือประชาชนเช่นเดียวกัน และทุกๆ สิ่งและทุกกิจการงานของชาวมุสลิมได้ถูกมอบหมายให้แก่พวกเขา” (4)
การปกครองแห่งพระเจ้าหรือการปกครองแห่งมาร!
คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าอำนาจการปกครองทรราช (มาร) นั้น อยู่ตรงข้ามกับอำนาจการปกครองของพระผู้เป็นเจ้า และถือว่าบรรดาผู้ที่ยอมรับอำนาจการคุ้มครองของมารนั้น พวกเขาคือผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) โดยกล่าวว่า :
اللَّهُ وَلِيُّ الَّذِينَ آمَنُوا يُخْرِجُهُم مِّنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّورِ ۖ وَالَّذِينَ كَفَرُوا أَوْلِيَاؤُهُمُ الطَّاغُوتُ يُخْرِجُونَهُم مِّنَ النُّورِ إِلَى الظُّلُمَاتِ ۗ أُولَٰئِكَ أَصْحَابُ النَّارِ ۖ هُمْ فِيهَا خَالِدُونَ
“อัลลอฮ์นั้นคือผู้ปกครองของบรรดาผู้ที่ศรัทธา โดยที่พระองค์จะทรงนำพวกเขาออกจากความมืดมนทั้งหลายสู่แสงสว่าง และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น บรรดาผู้ปกครองของพวกเขาก็คือ ฎอฆูต (มาร) โดยที่พวกมันจะนำพวกเขาออกจากแสงสว่างไปสู่ความมืดมนทั้งหลาย คนเหล่านี้คือชาวนรก โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล”
(อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 257)
ในอีกโองการหนึ่งได้กล่าวตำหนิผู้ที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของฏอฆูต (มาร) โดยกล่าวว่า :
أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِينَ يَزْعُمُونَ أَنَّهُمْ آمَنُوا بِمَا أُنزِلَ إِلَيْكَ وَمَا أُنزِلَ مِن قَبْلِكَ يُرِيدُونَ أَن يَتَحَاكَمُوا إِلَى الطَّاغُوتِ وَقَدْ أُمِرُوا أَن يَكْفُرُوا بِهِ وَيُرِيدُ الشَّيْطَانُ أَن يُضِلَّهُمْ ضَلَالًا بَعِيدًا
“เจ้ามิได้มองดูบรรดาผู้ที่อ้างตนว่าพวกเขาศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้าดอกหรือ? โดยที่เขาเหล่านั้นต้องการที่จะมอบการตัดสินให้แก่ฏอฆูต (มาร) ทั้งๆ ที่พวกเขาถูกใช้ให้ปฏิเสธมัน และชัยฏอน (ซาตาน) นั้นต้องการที่จะให้พวกเขาหลงทางที่ห่างไกล”
(อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 60)
เมื่อพิจารณาโองการเหล่านี้และโองการอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง ถือได้ว่าหนึ่งในเส้นแดงและข้อห้ามของอัลกุรอาน คือ การยอมรับอำนาจการปกครองของฏอฆูต (มาร)
ด้วยการรู้จักช่วงเวลาในยุคของการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และแน่นอนด้วยกับการพิจารณาโองการและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ จำนวนมากในเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐบาลและการปกครอง ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้วาดภาพให้เห็นถึงโฉมหน้าของรัฐบาลทรราชไว้เช่นนี้ว่า “ถ้าหากฟะกีฮ์ (นักการศาสนา) ไม่เข้ามาทำการปกครองเอง... มันก็คือ (รัฐบาล) ทรราช มีเพียงสองอย่างคือ รัฐบาลของพระเจ้า หรือไม่ก็รัฐบาลทรราช (ฏอฆูต) หากไม่ได้เกิดขึ้นโดยบัญชาของพระเจ้า และประธานาธิบดีไม่ได้ถูกแต่งตั้งโดยฟะกีฮ์ (นักการศาสนา) แล้ว ... ถือว่าไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ เมื่อไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแล้ว ก็คือทรราช (ฏอฆูต) การเชื่อฟังเขาก็คือการเชื่อฟังทรราช และการเข้าสู่วงจรอำนาจของเขา ก็คือการเข้าสู่วงจรของทรราช ทรราชเมื่อถูกทำลายลง โดยพระบัญชาของพระเจ้าผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่ง บุคคลหนึ่งก็จะถูกแต่งตั้งขึ้น” (5)
โดยหลักการแล้วท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ถือว่าอำนาจการปกครองเป็นของพระเจ้าเพียงเท่านั้น และความเป็นผู้ปกครองเหนือทุกรัฐบาลก็ต้องมาจากพระเจ้าและเป็นสิทธิ์ของพระเจ้า และท่านได้สรุปว่า รัฐบาลที่มาจากพระเจ้าเท่านั้นที่อนุญาตให้ทำการปกครองได้ และหากมิเช่นนั้นแล้วถือเป็นฏอฆูร (ทรราช)
บทสรุป :
สิ่งที่เกิดขึ้นบนเส้นทางของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน คือการย้อนกลับไปสู่ปัญหาที่สำคัญและเป็นประเด็นแห่งพระเจ้า เป็นระยะเวลายาวนานหลายปีที่ประชาชนต้องทนต่อบรรดารัฐบาลต่างๆ ที่เป็นทรราช และไม่ใช่ศาสนา อันเกิดจากความไม่รู้ ความกลัวและอื่นๆ พวกเขาได้เดินตามทางของพวกทรราชและปฏิบัติตามพวกเขา แต่ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่แห่งพระเจ้าของท่าน ท่านได้ทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการปฏิบัติตามรัฐบาลต่างๆ แห่งพระเจ้า และเมื่อท่านได้รับการต้อนรับจากสาธารณชนและการสนับสนุนของประชาชนต่อประเด็นนี้ ท่านจึงทำหน้าที่การเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ได้รับชัยชนะโดยการช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า และจะดำเนินต่อเนื่องไปจวบจนถึงการยืนหยัดขึ้นต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) อินชาอัลลอฮ์ (หากพระเจ้าทรงประสงค์)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ยะนาบีอุลมะวัดดะฮ์, กุนดูซี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 494
(2) อัลกาฟี, กุลัยนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 67
(3) กิตาบุลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้าที่ 291
(4) วิลายะตุลฟะกีฮ์, อิมามโคมัยนี, หน้าที่ 82
(5) ซอฮีเฟะฮ์ อิมาม, เล่มที่ 10, หน้าที่ 221
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่