การเปลี่ยนความชั่วให้เป็นความดีนั้นเป็นสิ่งที่ได้ถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจนในคัมภีร์อัลกุรอานและคำสอนของอิสลาม และในแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ ทางศาสนาได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ แต่สิ่งที่เป็นคำถามก็คือว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? เนื้อหาต่อไปนี้คือคำตอบของสถาบันศึกษาและวิจัยของ “เฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์” สำหรับคำถามข้อนี้
คำถาม : พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเปลี่ยนความชั่วต่าง ๆ ของบุคคลกลุ่มหนึ่งให้เป็นความดีอย่างไร? และจะครอบคลุมถึงความชั่วและบาปใหญ่ (กะบีเราะฮ์) ทั้งหลายด้วยหรือไม่?
คำตอบ : พระผู้เป็นเจ้าทรงถือว่าบาปที่ใหญ่ที่สุดนั้น คือการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระองค์ และทรงแนะนำว่าสิ่งนี้เป็นบาปที่จะไม่ได้รับการอภัยโทษให้ (1) แม้ว่าพระองค์จะทรงละวางจากบาปอื่นๆ แต่พระองค์จะไม่ทรงละวางจากบาปนี้ (การตั้งภาคีต่อพระองค์) และพระองค์ทรงกำหนดห้ามการเข้าสู่สวรรค์สำหรับผู้ที่ตั้งภาคี (มุชริก) (2) แต่ความสิ้นหวังจากความเมตตาและการอภัยโทษของพระผู้เป็นเจ้าก็เป็นอีกบาปหนึ่งที่จะไม่ได้รับการอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้า และมีเพียงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) เท่านั้นที่จะเป็นผู้สิ้นหวังจากความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (3)
ด้วยเหตุนี้เอง พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ทุกคนไปสู่การสำนึกผิด (เตาบะฮ์) และการหวนกลับสู่พระองค์ และพระองค์ได้ทรงให้คำมั่นสัญญาแก่พวกเขาว่า พระองค์จะทรงอภัยโทษบาปทั้งมวล (4) ในโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า หากปวงบ่าวสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัวและกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) ทั้งหลาย พระองค์จะทรงเปลี่ยนความชั่วและบาปทั้งหลายของพวกเขาให้เป็นความดี และขั้นตอนนี้สูงส่งกว่าขั้นตอนของการให้อภัย
ดังจะเห็นได้จากโองการที่พระองค์ทรงตรัสว่า :
إِلاَّ مَنْ تابَ وَ آمَنَ وَ عَمِلَ صالِحاً فَأُوْلئِكَ يُبَدِّلُ اللَّهُ سَيِّئاتِهِمْ حَسَناتٍ
“เว้นแต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัวและศรัทธา และกระทำความดี พวกเขาเหล่านั้นอัลลอฮ์จะทรงเปลี่ยนความชั่วทั้งหลายของพวกเขาให้เป็นความดี...” (5)
พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงคำว่า “ซัยยิอาต” (ความชั่วทั้งหลาย) ในรูปที่ครอบคลุม (มุฏลัก) และโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะครอบคลุมถึงความชั่วและบาปทั้งมวล แม้แต่การตั้งภาคี (ชิรก์) ที่เป็นบาปที่ใหญ่และร้ายแรงที่สุด
* เงื่อนไขต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงความชั่วให้เป็นความดี
แต่การเปลี่ยนความชั่วทั้งหลายให้เป็นความดี ดั่งที่รับรู้ได้จากโองการอัลกุรอานที่ถูกกล่าวถึงข้างต้นนั้นมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่บุคคลจำเป็นจะต้องปฏิบัติมัน มิเช่นนั้นแล้วมันก็จะไม่เป็นเช่นนี้
เงื่อนไขประการแรกก็คือว่า บุคคลที่ทำบาปจะต้องทำการสารภาพผิดและกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) อย่างแท้จริง และจะต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในการละทิ้งความชั่วทั้งหลาย ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า : การขออภัยโทษและการสารภาพผิดนั้นมี 6 เงื่อนไขคือ :
1. การสำนึกเสียใจต่อสิ่งที่ผ่านมา
2. การตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่หวนกลับไปกระทำบาปอีก
3. การชดเชยและการส่งมอบสิทธิต่างๆ ให้แก่ประชาชน
4. การปฏิบัติหน้าที่บังคับ (ฟะรีเฎาะฮ์) ทั้งหมดที่ได้ละทิ้งไป
5. การทำให้เนื้อหนังที่เจริญเติบโตขึ้นมากับสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) นั้นสลายไปด้วยกับความเศร้าโศกเสียใจอย่างมากมาย
6. การทำให้ร่างกายได้ลิ้มรสของความทุกข์ยากของการเชื่อฟัง (ฏออัต) พระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ลิ้มรสความหวานชื่นของการละเมิดฝ่าฝืน (มะฮ์ซิยะฮ์) (6)
เงื่อนไขประการที่สอง คืออีหม่าน (ความศรัทธา) ที่จะเป็นสื่อทำให้จิตใจ (นัฟซ์) สะอาดบริสุทธิ์จากความแปดเปื้อนของการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า
เงื่อนไขประการที่สาม คือการประกอบคุณงามความดี (อะมั้ลซอและห์) หากใครก็ตามที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้ พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงสัญญาว่า พระองค์จะทรงปกปิดความผิดบาปทั้งหลายของเขา ดั่งที่ท่านอิมามซฮดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “พระองค์จะทรงทำให้ความผิดบาปต่าง ๆ ลบเลือนไปจากความทรงจำของบรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) ที่ทำหน้าที่จดบันทึกความผิดบาปต่าง ๆ ของเขา และพระองค์จะทรงดลไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายของเขา และส่วนต่าง ๆ ของแผ่นดิน ให้ปกปิดความผิดบาปของเขา โดยที่ในวันที่เขาจะไปพบกับพระผู้อภิบาลของเขานั้น จะไม่มีสักขีพยานใดที่จะเป็นสักขีพยานในความผิดบาปใดต่อเขา" (7)
ดังนั้นเมื่อไม่มีร่องรอยใดๆ ของความผิดบาปปรากฏอยู่ในบัญชีแห่งอะมั้ล (การกระทำ) ของเขา ในสภาพที่เขาได้กระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) อย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่มีสิ่งใดที่จะถูกบันทึกในบัญชีอะมั้ลของเขาอีก นอกจากความดีงาม (หะซะนะฮ์) และนี่ก็คือการเปลี่ยนความชั่วและความผิดบาปทั้งหลายให้เป็นความดี
จำเป็นที่จะต้องรำลึกอยู่เสมอว่า การยอมรับการสารภาพผิดและการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้น คือพระมหากรุณาธิคุณ (ลุฏฟ์) หนึ่งที่พระองค์ทรงมีต่อปวงบ่าว เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่สิ้นหวัง และเมื่อใดก็ตามที่พวกเขารำลึกได้ พวกเขาก็จะหวนกลับมาสู่พระองค์ และพวกเขาจะรู้ว่าความสิ้นหวังจากการอภัยโทษและความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้านั้น ไม่คู่ควรกับปวงบ่าวผู้ศรัทธา และผู้ที่ในหัวใจของเขามีความเชื่อมั่นต่อข้อเท็จจริงอันเป็นอมตะนี้ พวกเขาจะมีความหวังต่อพระองค์ตลอดเวลา
แนะนำหนังสืออ้างอิงเพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติม :
1-ตัฟซีร อัลมีซาน, อัลลามะฮ์ฎอบาฎอบาอี, แปลโดย มุฮัมมัดบากิร มุซาวี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 358 ถึง 400
2-หนังสือชุดเดิม, เล่มที่ 15, หน้าที่ 333 ถึง 337
3-สี่สิบฮะดีษ (ภาษาเปอร์เซีย), อิมามโคมัยนี (ร.ฮ.), หน้าที่ 271 ถึง 283, ฮะดีษที่ 17
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 116
(2) อัลกุรอาน บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 72
(3) อัลกุรอาน บทยูซุฟ โองการที่ 87
(4) อัลกุรอาน บทอัซซุมัร โองการที่ 53 - 54
(5) อัลกุรอาน บทอัลฟุรกอน โองการที่ 70
(6) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 417
(7) ตัฟซีร อัลมีซาน, อัลลามะฮ์ฎอบาฎอบาอี, แปลโดย มุฮัมมัดบากิร มุซาวี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 399
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่