แนวทางปฏิบัติของศาสดา (ซ็อลฯ) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
Powered by OrdaSoft!
No result.

แนวทางปฏิบัติของศาสดา (ซ็อลฯ) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

    ความมีจิตเมตตาและความสุภาพอ่อนโยน เป็นคุณลักษณะประการหนึ่งซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากในแนวทางปฏิบัติทางสังคมของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศ  มิฉะนั้นแล้วพื้นฐานสำหรับการชี้นำ (ฮิดายะฮ์) และการเผยแผ่สาส์นของพระผู้เป็นเจ้าจะไม่เกิดขึ้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงยกย่องความมีมารยาทงดงาม ความสุภาพอ่อนโยนและความมีจิตเมตตาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللَّهِ لِنتَ لَهُمْ ۖ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لَانفَضُّوا مِنْ حَوْلِكَ

"เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเอง เจ้า (มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และถ้าหากเจ้าเป็นผู้มีความประพฤติหยาบช้า และมีจิตใจแข็งกระด้างแล้ว แน่นอนยิ่งพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบๆ เจ้า" (1)

      ในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า :

لَّقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ

"โดยแน่นอนยิ่ง ในตัวศาสนทูตของอัลลอฮ์นั้น มีแบบอย่างที่ดีงามยิ่งสำหรับพวกเจ้า" (2)

     ในทัศนะของอิสลาม ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นแบบอย่างสำหรับการปฏิบัติตาม แบบอย่างซึ่งแนวทางในการปฏิบัติต่างๆ ของท่านนั้น สามารถเข้าถึงและปฏิบัติตามได้จริงสำหรับชาวมุสลิม ในทุกกิจการทั้งที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล สังคม การเมือง วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แนวทางปฏิบัติของศาสดา (ซ็อลฯ)

     เราจะมาพิจารณาดูแนวทางปฏิบัติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในสามด้าน :

1.จดหมายต่างๆ ของท่าศาสดา (ซ็อลฯ)

2.สนธิสัญญาสันติภาพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

3.การแสดงออกอย่างสันติต่อฝ่ายตรงข้าม

1.จดหมายต่างๆ ของท่าศาสดา (ซ็อลฯ)

     จดหมายต่างๆ ที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เขียนถึงบรรดาผู้ปกครอง หัวหน้าชนเผ่าและบุคคลสำคัญทางจิตวิญญาณและทางการเมือง ในนามการเชิญชวนมาสู่อิสลามนั้น แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่นิ่มนวลในการเชิญชวนของท่าน จดหมายประมาณ 185 ฉบับ บางส่วนจากตัวบทของจดหมายทั้งหมดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งถูกเขียนขึ้นเพื่อการประกาศและการเชื้อเชิญมาสู่อิสลาม หรือในฐานะ "ข้อตกลงและพันธสัญญา" ที่อยู่ในมือของเรา จดหมายทั้งหมดเหล่านี้บ่งชี้ว่า วิธีการของอิสลามในการเชิญชวนและเผยแพร่ศาสนานั้น คือ "ตรรกะและการใช้เหตุผล"  ไม่ใช่ "สงครามและดาบ"  คำแนะนำ คำตักเตือน การปฏิบัติอย่างเรียบง่ายและความนิ่มนวลต่างๆ ที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แสดงให้เห็นนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่าความก้าวหนาและการแผ่ขยายของอิสลามไม่ได้เกิดจากผลของหอกและดาบ ในส่วนใหญ่ของจดหมายที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ส่งถึงบรรดากษัตริย์ของโลกที่มีความเชื่อในพระเจ้านั้น เนื้อหาของโองการที่ 64 ของบท (อัลกุรอานบท) อาลิอิมรอน ได้กล่าวถึง ซึ่งนั่นเป็นปฏิญญาสากลของอิสลาม

     ตัวอย่างเช่น จดหมายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) ที่ส่งถึงจักรพรรดิโรมันได้กล่าวว่า :

بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ .

 مِنْ مُحَمَّدٍ عَبْدِ اللَّهِ وَرَسُولِهِ إِلَى هِرَقْلَ عَظِيمِ الرُّومِ . سَلَامٌ عَلَى مَنْ اتَّبَعَ الْهُدَى . أَمَّا بَعْدُ ؛ فَإِنِّي أَدْعُوكَ بِدِعَايَةِ الإِسْلامِ ، أَسْلِمْ تَسْلَمْ يُؤْتِكَ اللَّهُ أَجْرَكَ مَرَّتَيْنِ ، فَإِنْ تَوَلَّيْتَ فَإِنَّ عَلَيْكَ إِثْمَ الأَرِيسِيِّينَ . وَ يَا أَهْلَ الْكِتَابِ تَعَالَوْا إِلَى كَلِمَةٍ سَوَاءٍ بَيْنَنَا وَبَيْنَكُمْ أَنْ لا نَعْبُدَ إِلا اللَّهَ وَلا نُشْرِكَ بِهِ شَيْئًا وَلا يَتَّخِذَ بَعْضُنَا بَعْضًا أَرْبَابًا مِنْ دُونِ اللَّهِ فَإِنْ تَوَلَّوْا فَقُولُوا اشْهَدُوا بِأَنَّا مُسْلِمُونَ

"ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตายิ่ง ผู้ทรงปรานีเสมอ

    จากมุฮัมมัด บ่าวของอัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ ถึงเฮราคลิอัส จักรพรรดิแห่งโรมัน ขอความสงบสุขจงมีแด่ผู้ปฏิบัติตามทางนำ แท้จริงข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านมาสู่อิสลาม ถ้าท่านยอมรับอิสลาม ท่านจะได้รับความปลอดภัย และอัลลอฮ์จะทรงเพิ่มรางวัลให้ท่านเป็นสองเท่า หากท่านผินหลังให้ ท่านจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดบาปของประชาชนของท่าน และโอ้ชาวคัมภีร์เอ๋ย! จงมาสู่ถ้อยคำที่เท่าเทียมกันระหว่างเราและพวกท่าน นั่นคือ เราจะไม่เคาระสักการะ (สิ่งอื่นใด) นอกจากอัลลอฮ์เพียงเท่านั้น และเราจะไม่ตั้งสิ่งใดขึ้นเป็นภาคีต่อพระองค์ และบางคนของพวกเราจะไม่ยึดถืออีกบางคนเป็นพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮ์ แต่หากพวกท่านผินหลังให้ (ปฏิเสธ) ก็จงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจะเป็นพยานว่า แท้จริงเราเป็นมุสลิม (ผู้สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้า)” (3)

2.สนธิสัญญาสงบศึกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

     แนวทางปฏิบัติของท่านศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธเชื้อชาติต่างๆ และความไม่มีอิสรภาพภายในของพวกเขา แม้ว่าศาสนาอิสลามจะมีความเป็นสากล แต่การดำรงอยู่ของชนเผ่า ชาติพันธ์และศาสนาอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกรัฐอิสลามก็ยังคงถูกพิทักษ์รักษาไว้

    หนึ่งในหลักฐานที่บ่งชี้ถึงวิถีปฏิบัติข้างต้นนั้น ก็คือสนธิสัญญาต่างๆ จำนวนมากที่ถูกลงนามกับชนชาติต่างๆ ในช่วงการปกครองของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และหลังจากการอสัญกรรม (วะฟาต) ของท่าน ในทุกกรณีตราบที่ชนชาติอื่นที่ไม่ใช่มุสลิมยังคงยึดมั่นต่อสนธิสัญญาของตน รัฐอิสลามเองก็จะไม่ละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพนั้น เนื่องจากการละเมิดสนธิสัญญาในทัศนะของอิสลามนั้นถือเป็นบาปใหญ่และไม่อาจให้อภัยได้

    เพื่อที่จะบรรลุสู่การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสงบสุขในระหว่างชนชาติทั้งหลายและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์ ความขัดแย้งและการหลั่งเลือดกันนั้น  ศาสนาอิสลามไม่เพียงแต่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อข้อตกลงและสนธิสัญญาระหว่างประเทศเท่านั้น ทว่าโดยพื้นฐานแล้วยังเรียกร้องเชิญชวนชนชาติทั้งหลายและกลุ่มอื่นๆ มาสู่การทำสนธิสัญญาสันติภาพอีกด้วย และท่านได้กำชับสั่งเสียให้สังคมแห่งอิสลามเป็นผู้ปฏิบัตินำในเรื่องนี้ และหน้าที่นี้จะถูกเน้นย้ำมากยิ่งขึ้นในกรณีที่รัฐบาลทั้งหลายและกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่มุสลิมมีความปรารถนาที่จะทำข้อตกลงสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

    ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำข้อตกลงความร่วมมือและสนธิสัญญาสันติภาพต่างๆ แม้แต่ในช่วงเวลาก่อนที่ท่านจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดา ท่านก็ได้ยืนกรานอยู่บนหลักการของความสัมพันธ์ที่ยุติธรรมระหว่างชนเผ่าทั้งหลายบนพื้นฐานของข้อตกลงและสนธิสัญญา ซึ่งท่านกล่าวอยู่เสมอว่า : 

 لَقَدْ شَهِدْتُ فِي دَارِ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ جُدْعَانَ حِلْفًا مَا أُحِبُّ أَنَّ لِيَ بِهِ حُمْرَ النَّعَمِ ، وَلَوْ أُدْعَى بِهِ فِي الإِسْلامِ لأَجَبْتُ

" (ในสมัยก่อนอิสลาม) ฉันได้เป็นสักขีพยานการทำสนธิสัญญาร่วมกันในบ้านของอับดุลอฮ์ บินญุดอาน อันเป็นที่ชื่นชอบสำหรับฉันยิ่งกว่าอูฐสีแดง และหากในอิสลาม (ในช่วงเวลานี้) ฉันถูกเชื้อเชิญไปสู่สนธิสัญญาดังกล่าว ฉันจะตอบรับอย่างแน่นอน” (4)

     นอกจากนี้ ท่านยังได้แจ้งข่าวล่วงหน้าเกี่ยวกับสนธิสัญญาสันติภาพที่ชาวมุสลิมจะกระทำกับ "โรม" ในภายหลัง โดยกล่าวว่า :

سَتُصَالِحُونَ الرُّومَ صُلْحًا آمِنًا

"ในไม่ช้าพวกท่านจะทำสนธิสัญญาสันติภาพกับชาวโรมันที่ก่อให้เกิดสันติและความมั่นคง"  (5)

    ในวิถีปฏิบัติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะพบเห็นสนธิสัญญาสันติภาพและความร่วมมือจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจากสนธิสัญญาที่สำคัญที่สุด ได้แก่ สนธิสัญญาหรือข้อตกลงของมะดีนะฮ์  สนธิสัญญาฮุดัยบียะฮ์ สนธิสัญญา กับชาวคริสเตียนในดินแดนแห่งซีนาย ข้อตกลงของมะดีนะฮ์ถือเป็นสนธิสัญญาป้องกันและครอบคลุมทุกฝ่ายระหว่างชาวมุสลิมชาวยิวและมุชริกีน

3.การแสดงออกอย่างสันติต่อฝ่ายตรงข้าม

    ในกรณีนี้ สามารถชี้ถึงพฤติกรรมที่แสดงถึงความรักสันติและความสงบสุขของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่มีต่อพวกปฏิเสธศรัทธา (กุฟฟาร) ชาวกุเรช ชาวยิวและคริสเตียน :

การแสดงออกอย่างสันติของศาสดา (ซ็อลฯ) ต่อพวกปฏิเสธศรัทธา (กุฟฟาร) ชาวกุเรช

     แผ่นดินมักกะฮ์เป็นฐานของการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และบรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน)  อิสลามได้ปรากฏตัวขึ้นในฐานที่สำคัญนี้ ดังนั้นการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามอันดับแรกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงมุ่งเน้นไปที่บรรดามุชริกีนชาวมักกะฮ์ การเรียกร้องเชิญชวนซึ่งวางอยู่บนหลักการของความเชื่อในเรื่องเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า (เตาฮีด) และการฟื้นคืนชีพในปรโลก (มะอาด) นี้ ได้พุ่งเป้าไปที่จิตวิญญาณของบรรดามุชริกีนโดยอาศัยเหตุผลต่างๆ ที่เป็นตรรกะและการอ่านโองการต่างๆ จากคัมภีอัลกุรอาน และเรียกร้องพวกเขาให้ใช้สติปัญญาคิดใคร่ครวญ และช่วยตัวเองให้หลุดพ้นออกจากโซ่ตรวนแห่งความไม่รู้และความเชื่อต่างๆ ที่งมงาย

     ในทางตรงกันข้าม บรรดามุชริกีนได้ใช้วิธีการต่างๆ ในการกดขี่ข่มเหงและการทำร้ายท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาสาวกของท่าน  ซุมัยยะฮ์ มารดาของอัมมารได้เป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ด้วยหอกของอบูญะฮัล  ยาซีรบิดาของอัมมารก็เป็นชะฮีดในมักกะฮ์  บิลาล อิบนิรอบะฮ์ถูกทรมานภายใต้ความร้อนของแสงแดดในยามเที่ยงวันโดยอุมัยยะฮ์ บินคอลัฟ  หลังจากนั้นไม่นานชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งจำเป็นต้องอพยพไปยังฮะบะชะฮ์ (เอธิโอเปีย) กระนั้นก็ตามก็ยังไม่ปลอดภัยจากการตามรังควานของบรรดามุชริกีนชาวกุเรช

     ในช่วงเวลาหนึ่งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ลี้ภัยไปยังเมืองฏออิฟ  การปิดล้อมทางเศรษฐกิจและทางการเมืองได้ดำเนินไปถึงจุดสูงสุด กระทั่งว่าชาวกุเรชจำนวนสี่สิบคนได้บุกเข้าไปในบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อที่จะสังหารท่าน และในที่สุดท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ต้องอพยพในยามค่ำคืนจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนมุ่งสู่เมือง “ยัษริบ” (มะดีนะฮ์)  ความห่างไกลและต้องแยกห่างจากกะอ์บะฮ์ในเมืองมักกะฮ์ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน เป็นสิ่งที่ขมขื่นอย่างมากสำหรับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คำมั่นสัญญาว่าท่านจะได้กลับไปยังนครมักกะฮ์อีกครั้ง

     ต่อมาอีกความพยายามหนึ่งของบรรดามุชริกีนชาวกุเรช คือการเข้าสู่สงครามต่างๆ ที่พวกเขากระทำด้วยปัจจัยต่างๆ ที่มากมายเพื่อที่จะทำลายล้างอิสลาม และที่สำคัญที่สุดของสงครามเหล่านั้น คือ สงครามบะดัร สงครามอุฮุด สงครามค็อนดักและสงครามอะห์ซาบ  ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ผู้ซึ่งตรรกะของท่านคือ มนุษยธรรม, ความสงบสุขและความเคารพต่อพันธกรณีต่างๆ

    ในเหตุการณ์ "สนธิสัญญาฮุดัยบียะฮ์” ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พร้อมที่จะมองข้ามจากสิทธิอันชอบธรรมทั้งหลายของตนเพื่อเตรียมรากฐานไปสู่บรรยากาศแห่งสันติภาพและความปลอดภัยในช่วงของพิธีฮัจญ์ แต่ต่อมาสนธิสัญญาดังกล่าวได้ถูกละเมิดโดยบรรดามุชริกีน   ในขณะที่บรรดามุชริกีนมีอำนาจครอบงำเหนือกะอ์บะฮ์ โดยพวกเขาคิดว่ากะอ์บะฮ์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ผูกขาดของตนเพียงเท่านั้น

     กองทัพจำนวนนับหมื่นของชาวมุสลิมได้เข้าทำการพิชิตนครมักกะฮ์ โดยปราศจากการหลั่งเลือด ซะอัด บินอุบาดะฮ์ หนึ่งในสาวกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ตะโกนคำขวัญที่แสดงถึงความรุนแรงว่า :

شًاالْيَوْمَ يَوْمُ الْمَلْحَمَةِ الْيَوْمَ تُسْتَحَلّ الْحُرْمَةُ الْيَوْمَ أَذَلّ اللّهُ قُرَيْ

“วันนี้เป็นวันของการต่อสู้ วันนี้ชีวิตและทรัพย์สินของพวกเจ้าเป็นที่อนุมัติ วันนี้อัลลอฮ์ได้ทำให้ชาวกุเรชต้องอัปยศอดสู"

    แต่เมื่อท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) ได้ยินคำพูดของเขา ท่านได้ตอบโต้คำขวัญในการล้างแค้นของเขา โดยกล่าวว่า :

لْيَوْمَ يَوْمُ الْمَلْحَمَة الْيَوْمَ تُسْتَحَلّ الْحُرْمَةُ الْيَوْمَ أَذَلّ اللّهُ قُرَيْشًا

“วันนี้เป็นวันแห่งความเมตตา (วันแห่งการให้อภัย) วันนี้ อัลลอฮ์ได้ทรงทำให้ชาวกุเรชมีเกียรติศักดิ์ศรี” (6)

    จากนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มายังอาคารกะอ์บะฮ์ บรรดามุชริกีนชาวกุเรชต่างเฝ้ารอดูว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะออกคำสั่งอะไรเกี่ยวกับพวกเขา แล้วท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อภัยโทษแก่พวกเขาทั้งหมด ด้วยการกล่าวว่า  :

اذْهَبُوا فَأَنْتُمْ الطُّلَقَاءُ

“จงไปเถิด! พวกท่านเป็นอิสระแล้ว” (7)

     การกระทำเช่นนี้ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ส่งผลต่อจิตใจของบรรดามุชริกีน และทำให้พวกเขาหันมาศรัทธาและเข้ารับอิสลามกันเป็นกลุ่มๆ

การแสดงออกที่นิ่มนวลของศาสดา (ซ็อลฯ) ต่อชาวยิว

     บรรดาเผ่าที่มีชื่อเสียงของชาวยิว ได้แก่ “บนีกอรีเซาะฮ์”, “บนีก็อยนะกออ์” และ “บนีนะซีร” ท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) หลังจากอพยพไปยังมะดีนะฮ์ เพื่อสร้างความปลอดภัยและความสงบสุข ท่านได้ทำสนธิสัญญาป้องกันตนจากบรรดามุชริกีน โดยที่ในสนธิสัญญานี้มีเผ่า "เอาส์" และ "ค็อซร็อจญ์" และ "ชาวยิว" ได้เข้าร่วมด้วย บนพื้นฐานของสนธิสัญญานี้ชาวยิวจะต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ ในการต่อต้านชาวมุสลิม และจะเข้าร่วมในการป้องกันเมืองมะดีนะฮ์  ชาวยิวสามารถที่จะทำการค้าขายในตลาดของชาวมุสลิมได้อย่างเสรี การแผ่ขยายของอิสลามในหมู่ประชาชนได้ปลุกกระตุ้นให้ชาวยิวและบรรดามุนาฟิกบางส่วนทำการต่อต้านท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อับดุลลอฮ์ บินสลาม หนึ่งในนักวิชาการชาวยิวได้เข้ารับอิสลาม และหลังจากนั้นไม่นาน มุค็อยรีก บินนะฎีร ผู้รู้ชาวยิวจากเผ่าบนีก็อยนะกออ์ก็เข้าอิสลามเช่นเดียวกัน

    ข่าวการเข้ารับอิสลามของบุคคลทั้งสองได้สร้างความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นกับชนเผ่าต่างๆ ของชาวยิว จนทำให้ความร่วมมือของพวกเขากับชาวมุสลิมค่อยๆ อ่อนแอลง จนกระทั่งว่าพวกเขาได้ละเมิดสนธิสัญญาที่ทำไว้กับชาวมุสลิม ชาวยิวนอกจากจะมีอิสระในการค้าขายและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางสังคมแล้ว ในกิจกรรมต่างๆ ทางด้านศาสนาพวกเขาก็มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เรียกร้องเชิญชวนทุกหมู่ชนรวมทั้งชาวยิวมาสู่อิสลาม และท่านไม่เคยบีบบังคับพวกเขาให้ละทิ้งศาสนาและความเชื่อของตน

    ยกตัวอย่างเช่น ท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) ในคำสั่งชี้นำทางด้านการปกครองที่ท่านได้ส่งถึงอัมร์ บินหะซัม ซึ่งท่านได้แต่งตั้งเขาไปยังเยเมนนั้น ท่านได้เขียนว่า :

وَ إنّه من أسلم من يهوديّ أو نصرانيّ إسلاماً خالصاً من نفسه وَدانَ بدين الإسلام فإنّه من المؤمنين له مثل ما لهم و عليه مثل ما عليهم؛ و من كان علي نصرانيّة أو يهودية فإنّه لا يرد عنها

“ชาวยิวหรือชาวคริสต์ทุกคนที่เข้ารับอิสลามและปฏิบัติตามศาสนาอิสลามด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้น พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) เขาจะได้รับสิทธิประโยชน์และความสูญเสียเช่นเดียวกับที่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายได้รับ และบุคคลใดก็ตามที่คงสภาพอยู่ในความเป็นคริสต์หรือความเป็นยูดาย ดังนั้นจงอย่าบีบบังคับให้เขาละทิ้งศาสนาของตนเด็ดขาด” (8)

    ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะอดทนอดกลั้นต่อพฤติกรรมที่เลวร้ายของชาวยิวและจะไม่ใส่ใจต่อความกลับกลอก (นิฟาก)  ของพวกเขา และจะปฏิบัติกับพวกเขาเท่าเทียมกับชาวมุสลิมและจะเคารพจารีตและประเพณีทางศาสนาของพวกเขา แต่ถ้าหากชาวยิวคนใดละเมิดสนธิสัญญา ท่านจะทำการลงโทษเขาเพียงเท่านั้น และจะไม่เอาผิดผู้อื่นเนื่องจากความผิดของเขา ในวิถีปฏิบัติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น ท่านจะใช้ประโยชน์จากการเจรจาและการโต้แย้งที่ดีงามเสมอเพื่อความก้าวหน้าและการบรรลุสู่เป้าหมายที่ต่างๆ และท่านไม่เคยใช้วาจาจาบจ้วงต่อศาสนาอื่นๆ ในทางตรงกันข้ามชาวยิวจะดำเนินการต่างๆ ในการปลุกปั่นและก่อไฟสงครามเพื่อยับยั้งความก้าวหน้าของอิสลาม อย่างเช่นการทำลายความเชื่อของชาวมุสลิม การสร้างความขัดแย้ง การวางแผนและการฆาตกรรมท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และพฤติกรรมที่เลวร้ายอื่นๆ อีกหลายเรื่อง จนทำให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ต้องดำเนินการทางทหารกับพวกเขาบางคน และขับไล่พวกเขาออกจากนครมะดีนะฮ์

การแสดงออกที่นิ่มนวลของศาสดา (ซ็อลฯ) ต่อชาวคริสต์

     คัมภีร์อัลกุรอานอธิบายถึงท่าทีของคริสเตียนว่ามีความนุ่มนวลและอ่อนโยน ในขณะที่ท่าทีของบรรดามุชริกีนและชาวยิวที่มีต่อชาวมุสลิมนั้นจะแข็งกร้าว โดยกล่าวว่า :

لَتَجِدَنَّ أَشَدَّ النَّاسِ عَدَاوَةً لِّلَّذِينَ آمَنُوا الْيَهُودَ وَالَّذِينَ أَشْرَكُوا ۖ وَلَتَجِدَنَّ أَقْرَبَهُم مَّوَدَّةً لِّلَّذِينَ آمَنُوا الَّذِينَ قَالُوا إِنَّا نَصَارَىٰ ۚ ذَٰلِكَ بِأَنَّ مِنْهُمْ قِسِّيسِينَ وَرُهْبَانًا وَأَنَّهُمْ لَا يَسْتَكْبِرُونَ  وَإِذَا سَمِعُوا مَا أُنزِلَ إِلَى الرَّسُولِ تَرَىٰ أَعْيُنَهُمْ تَفِيضُ مِنَ الدَّمْعِ مِمَّا عَرَفُوا مِنَ الْحَقِّ ۖ يَقُولُونَ رَبَّنَا آمَنَّا فَاكْتُبْنَا مَعَ الشَّاهِدِينَ

"แน่นอนเจ้าจะพบว่า หมู่ชนที่เป็นศัตรูอย่างรุนแรงยิ่งต่อบรรดาผู้ที่ศรัทธานั้นคือชาวยิว และบรรดาผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ และแน่นอนเจ้าจะพบว่า บรรดาผู้ที่มีความรักใกล้ชิดต่อบรรดาผู้ที่ศรัทธายิ่งกว่าพวกเขา นั้นคือ บรรดาผู้ที่กล่าวว่าแท้จริงพวกเราเป็นคริสต์ นั่นก็เพราะว่า ในหมู่พวกเขานั้นมีบรรดานักปราชญ์ และบาทหลวง และพวกเขาไม่ทรนงตน และเมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่ศาสนทูต  เจ้าก็จะเห็นดวงตาของพวกเขาเอ่อนองไปด้วยน้ำตา เนื่องจากความจริงที่พวกเขารู้ โดยที่พวกเขาจะกล่าวว่า โอ้พระเจ้าของพวกข้าพระองค์โปรดได้ทรงจารึกพวกข้าพระองค์ไว้ร่วมกับบรรดาผู้เป็นสักขีพยาน (ยืนยันต่อสัจธรรมของมุฮัมมัด) ด้วยเถิด" (9)

    คริสเตียนแห่งคาบสมุทรอาหรับและพื้นที่อื่นๆ อย่างเช่น แผ่นดินชาม (ซีเรีย) ต่างก็หลงใหลในอิสลามและได้ยอมรับอิสลามด้วยความจริงใจ บรรดาผู้ที่ยังคงเป็นคริสเตียนก็ไม่เคยถูกบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อและยอมรับศาสนาอิสลามแต่อย่างใดทั้งสิ้น และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและสันติระหว่างชาวมุสลิมและคริสเตียนนั้นเป็นที่ชัดเจนยิ่ง ชนเผ่าและกลุ่มต่างๆ ของคริสเตียนในช่วงการมีชีวิตอยู่ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และหลังจากนั้น พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากชาวมุสลิม และชาวมุสลิมได้ให้การสนับสนุนผลประโยชน์และสิทธิต่างๆ ของพวกเขา บนพื้นฐานของสนธิสัญญาสันติภาพที่ได้กระทำไว้กับคริสเตียน (10)

    เฉพาะในช่วงการปกครองของค่อลีฟะฮ์ที่สอง ในดินแดนต่างๆ ของอิสลามมีคริสเตียนอาศัยอยู่จำนวน 500,000 คน ไม่รวมบรรดาผู้หญิง เด็กและคนชราคริสเตียน และในอียิปต์ ชาวคริสเตียน 15 คน ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและมั่นคงภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม คริสเตียนแห่งเมืองนัจญ์รอน ได้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ใจความส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพได้กล่าวว่า :

وَ لِنَجْرَانَ وَ حَاشِيَتِهَا جِوَارُ اللَّهِ وَ ذِمَّةُ مُحَمَّد النّبِيّ، رَسُولِ اللهِ عَلي أَمْوالِهِم، و أَنْفُسهِم وَ مِلَّتهِم، وَ غائِبهِم وَ شاهِدِهِم، وَ عَشِيرتِهِم، وَ بَيعِهِم وَ كُلّ ما تَحْت أَيدِيهِم مِن قَلِيل أَو كَثِير، لا يُغير أسقف مِن أسقفيته، وَ لا راهب مِن رُهبانيته، وَ لا كاهنَ مِن كهانَتِه

“และสำหรับ (ประชาชนชาวคริสต์แห่ง) เมืองนัจญ์รอนและพื้นที่โดยรอบของมันนั้นอยู่ในร่มเงาของอัลลอฮ์และการคุ้มครองของศาสดามุฮัมมัด ผู้เป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ ที่มีต่อทรัพย์สินของพวกเขา ชีวิตของพวกเขา ศาสนาของพวกเขา บรรดาผู้ที่อยู่และไม่อยู่ของพวกเขา ครอบครัวของพวกเขาและการค้าของพวกเขาและทุกสิ่งที่อยู่ในมือของพวกเขาไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม จะไม่มีพระสังฆนายก บาทหลวงและปุโรหิตคนใดถูกเปลี่ยนแปลงจากตำแหน่งของตน” (11)


เชิงอรรถ :

1.อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 159

2.อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 21

3.ฮะดีษ มุตตะฟักกุน อะลัยฮ์

4.อัซซีร่อตุนนะบะวียะฮ์ , อิบนิฮิชาม , เล่ม 1, หน้า 141-142

5.อิรชาดุซซารี ฟี ชัรห์ ซอเหี๊ยะห์ อัลบุคอรี, เล่ม 5, หน้า 232

6.อุยูนุลอะซัร, เล่ม 2, หน้า 223

7.อัซซีร่อตุนนะบะวียะฮ์,  อิบนิฮิชาม, เล่ม 4, หน้า 54-55

8.อัซซีร่อตุนนะบะวียะฮ์ , อิบนิฮิชาม , เล่ม 5, หน้า 294-296

9.อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 82-83

10.อิสลาม วะ ฮัมซีซตี มุซาลิมัต ออมีซ, อับบาส อะลี อะมีด ซันญานี, หน้า 111

11.มัจญ์มูอะตุลวะซาอิกุซซิยาซิยะฮ์, มุฮัมมัด ฮะมีดุลลอฮ์, หน้า 176


แหล่งที่มา :

- ฮัมซีซตี อัดยาน, มุฮัมมัด มะฮ์ดี กะรีมีนิยอ, นิตยสารรายเดือน “เราวาก อันดีเชะฮ์” ฉบับที่ 26,  เดือนบะฮ์มัน 1382

- ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, นาซิร มะการิม ชีราซี, เล่ม 1, หน้า 398-400, เล่ม 26, หน้า 334-339, เล่ม 4, หน้า 54

- ตัรญุมะฮ์ ตัฟซีร อัลมีซาน, อัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี, เล่ม 31, หน้า 288-287

- อิสลาม วะ ฮัมซีซตี มุซาลิมัต ออมีซ บอ ดีกัร อัดยาน, อับดุลฮุเซน คุสโร พะนอฮ์

- ฮัมซีซตี มุซาลิมัต ออมีซ ดัร อิสลาม วะ ฮุกูก บัยนัลมิลัล, มุฮัมมัด มะฮ์ดี กะรีมีนิยอ , หน้า 32


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 504 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์