หนึ่งในประเด็นที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกสังคม คือสายสัมพันธ์และความผูกพันที่สมาชิกในสังคมนั้นๆ มีให้ต่อกัน หากสังคมใดก็ตามที่ต้องการประสบความสำเร็จและดำเนินไปในเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว แน่นอนยิ่งว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคมดังกล่าวจะต้องเป็นไปด้วยดี พวกเขาจะต้องให้การเกื้อกูลกัน เอาใจใส่ต่อกันและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของตน
สังคมที่สมาชิกไม่ยินดียินร้ายกับชะตากรรมของผู้อื่น และไม่ใส่ใจต่อปัญหาทุกข์สุขของกันและกันนั้นย่อมจะต้องประสบกับความล้มเหลวและพังพินาศ เนื่องจากสังคมนั้นเปรียบได้ดั่งเรือซึ่งหากมีรอยรั่วเพียงจุดเดียวเกิดขึ้นกับมัน น้ำก็จะไหลเข้าสู่เรือนั้นและจะทำให้มันอับปาง และไม่สามารถจะนำพาผู้โดยสารไปถึงฝั่งที่เป็นจุดหมายได้อีกต่อไป
ศาสนาอิสลามได้ตอกย้ำในประเด็นนี้ไว้เช่นกัน และกำชับมุสลิมอยู่เสมอว่าจะต้องไม่นิ่งเฉยต่อชะตากรรมของพี่น้องมุสลิมของตน จะต้องสอดส่องดูแลสภาพความเป็นอยู่และทุกข์สุขซึ่งกันและกัน
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวในเรื่องนี้อยู่เสมอว่า :
مَنْ أَصْبَحَ لَا يَهْتَمُّ بِأُمُورِ الْمُسْلِمِينَ فَلَيْسَ بِمُسْلِم
“ผู้ใดก็ตามที่ตื่นเช้าขึ้นมาโดยที่เขาไม่ได้สนใจต่อกิจการของชาวมุสลิม ดังนั้นเขาไม่ใช่มุสลิม” (1)
กล่าวคือ หากใครก็ตามที่ไม่ใส่ใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของมุสลิม และไม่ยินดียินร้ายว่าพี่น้องมุสลิมจะประสบกับชะตาชีวิตอย่างไร แน่นอนยิ่งว่าเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากชาวมุสลิม
หนึ่งในปรัชญาของข้อบัญญัติ “การกำชับความดี” (อัลอัมรุ บิลมะอ์รูฟ) และ “การห้ามปรามความชั่ว” (อันนะฮ์ยุ อะนิลมุงกัร) ก็คือประเด็นนี้นั่นเอง กล่าวคือ มุสลิมจะต้องเป็นผู้ปรารถนาดีต่อพี่น้องของตน และหากเห็นพี่น้องของตนประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม จะต้องตักเตือนและชี้นำเขาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง เพื่อทำให้สังคมอิสลามดำรงอยู่ในความดีงาม ความปลอดภัยและความสงบสุข
และในความเป็นจริงแล้วบรรดาศรัทธาชนนั้นมีความรักผูกพันต่อชะตากรรมของตนที่หลอมรวมเป็นเนื้อหน่วยเดียวกัน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจะกำชับและชักชวนกันสู่การทำดี และหักห้ามกันและกันจากการกระทำต่างๆ ที่น่าเกลียด
นอกจากนี้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ก้าวไกลไปมากกว่านั้น และได้เปรียบสังคมอิสลามว่าเป็นเหมือนเรือนร่างเดียวกัน โดยกล่าวว่า :
مَثَلُ الْمُؤْمِنِينَ فِي تَوَادِّهِمْ، وَتَرَاحُمِهِمْ، وَتَعَاطُفِهِمْ كَمَثَلِ الْجَسَدِ إِذَا اشْتَكَى عُضْوًا تَدَاعَى لَهُ سَائِرُ جَسَدِهِ بِالسَّهَرِ وَالْحُمَّى
“อุปมาบรรดาผู้ศรัทธาในความรัก ความเมตตาและความเอื้ออาทรของพวกเขาที่มีต่อกันนั้น อุปมัยได้ดั่งร่างกายที่เมื่ออวัยวะส่วนหนึ่งได้รับความเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายของเขาต่างก็จะได้รับผลกระทบด้วยการอดหลับอดนอนและความป่วยไข้ไปด้วย” (2)
เนื้อหาเดียวกันนี้ ยังได้ถูกรายงานมาจากท่านอิมามบากิร (อ.) และท่านอิมามซอดิก (อ.) ด้วยเช่นกัน (3) ตัวอย่างเช่น อบูบะซีรได้เล่าว่า : ฉันได้ยินท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :
الْمُؤْمِنُ أَخُو الْمُؤْمِنِ كَالْجَسَدِ الْوَاحِدِ إِنِ اشْتَكَى شَيْئاً مِنْهُ وَجَدَ أَلَمَ ذَلِكَ فِي سَائِرِ جَسَدِهِ وَ أَرْوَاحُهُمَا مِنْ رُوحٍ وَاحِدَةٍ وَ إِنَّ رُوحَ الْمُؤْمِنِ لَأَشَدُّ اتِّصَالًا بِرُوحِ اللَّهِ مِنِ اتِّصَالِ شُعَاعِ الشَّمْسِ بِهَا
“ผู้ศรัทธาคือพี่น้องของผู้ศรัทธา เปรียบประดุจเรือนร่างเดียวกัน หากอวัยวะหนึ่งใดจากมันได้รับความเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นก็จะได้รับความเจ็บปวดด้วย และวิญญาณ (รูห์) ของเขาทั้งสองมาจากวิญญาณเดียวกัน และแท้จริงวิญญาณของผู้ศรัทธานั้นเชื่อมโยงอย่างเข้มแข็งกับวิญญาณ (รูห์) ของอัลลอฮ์ ยิ่งกว่าการเชื่อมโยงของลำแสงของดวงอาทิตย์ที่มีต่อดวงอาทิตย์” (4)
มัรฮูมอัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี ได้กล่าวในการอธิบายริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้ว่า : การที่ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “บรรดาผู้ศรัทธาเปรียบประหนึ่งเรือนร่างเดียวกัน” นั้น เป็นประเด็นที่ก้าวไกลไปกว่าความเป็นพี่น้องกันในระหว่างบรรดาผู้ศรัทธา และยกระดับไปสู่ความเป็นเอกภาพและเนื้อหน่วยเดียวกันของปวงศรัทธาชน ท่านอิมาม (อ.) ต้องการจะบอกว่า ความเป็นพี่น้องกันของบรรดาผู้ศรัทธานั้นไม่เหมือนกับความเป็นพี่น้องอื่น ๆ ทว่าพวกเขาเป็นเสมือนอวัยวะต่าง ๆ ของเรือนร่างหนึ่ง ที่วิญญาณหนึ่งเดียวได้สถิตอยู่ในมัน ดังนั้นเมื่อมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นกับอวัยวะหนึ่ง อวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็จะเจ็บปวดไปด้วย ด้วยกับความทุกข์โศกของผู้ศรัทธาคนหนึ่ง ผู้ศรัทธาคนอื่น ๆ ก็จะทุกข์โศกไปด้วย (5)
ดังนั้นจากฮะดีษ (วจนะ) เหล่านี้ สามารถสรุปได้ว่า : สายสัมพันธ์ระหว่างบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั้นจะต้องก้าวไกลไปกว่าสายสัมพันธ์ในระดับปกติของสังคมโดยทั่วไป พวกเขาจะต้องมีความรักผูกพันต่อกันจากก้นบึ่งของหัวใจและจิตวิญญาณ จะต้องมีความปรารถนาดีต่อกัน จะต้องถือว่าพี่น้องผู้ศรัทธาของตนเป็นประหนึ่งตัวของตนเอง และจะต้องไม่เมินเฉยต่อสภาพการดำเนินชีวิตและการกระทำของกันและกัน หากพบเห็นบุคคลใดในสังคมมิได้ย่างก้าวไปในเส้นทางที่ถูกต้อง จำเป็นต้องตักเตือนเขาและทำให้เขาหันกลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง และจะต้องช่วยเหลือเขาในแนวทางที่ถูกต้อง นี่คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่เราได้รับจากบรรดาอิมาม (ผู้นำ) แห่งศาสนา
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 2, หน้า 163
(2) อัลญามิอุซซอฆีร, ซะยูฏี, เล่มที่ 1, หน้า 498 ; บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 60, หน้า 150
(3) บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 71, หน้า 234 และ 274
(4) อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 2, หน้า 166
(5) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 61, หน้า 148
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่