การผูกสัมพันธ์กับเครือญาติไม่ใช่แค่การไปเยี่ยมบ้านระหว่างเครือญาติเพียงเท่านั้น ทว่ามีตัวอย่างและวิธีการมากมาย ซึ่งตัวอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดในประเด็นนี้ก็คือ การขจัดความต้องการและทำให้พวกเขามีความสุขก่อนบุคคลอื่นๆ (1) ดังนั้นการผูกสัมพันธ์และการเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับญาติของแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อสถานะของเครือญาติ โดยที่บางครั้งแค่การกล่าวสลามทักทายเขาหรือการตอบสลามที่ดีกว่าต่อเขาก็ถือเป็นการเพียงพอ เนื่องจากเขาไม่มีความต้องการความช่วยเหลือในด้านการเงิน
บางส่วนจากวิธีการและตัวอย่างของการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติได้แก่ การหลีกเลี่ยงจากการรบกวนหรือการทำร้ายเครือญาติ การให้สลาม การให้เกียรติ การเลี้ยงอาหาร แม้จะเป็นน้ำเพียงจิบเดียวก็ตาม การเยี่ยมผู้ป่วย (2) การเข้าร่วมในพิธีศพ (3) การเยี่ยมเยียนและการพบปะ (4) การให้ของกำนัล (5) และการสนองตอบความต้องการของพวกเขาก่อนคนอื่นๆ (6)
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : “โอ้ผู้มีเครือญาติทั้งหลาย! พวกท่านจงเยี่ยมเยือนกัน แต่จงอย่าเป็นเพื่อนบ้านกันและจงให้ของขวัญแก่กัน เพราะการเยี่ยมเยือนกันจะเพิ่มพูนความรักและการเป็นเพื่อนบ้านกันอาจทำลายความผูกพันต่อกัน และการให้ของขวัญจะขจัดความเกลียดชัง” (7)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวไว้ในฮะดีษต่างๆ เช่นนี้ว่า : “ท่านทั้งหลายจงผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ แม้จะเพียงด้วยการให้สลาม” (8) “จงผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ แม้จะด้วยการให้น้ำดื่มเพียงจิบเดียว” (9) “จงผูกสัมพันธ์กับญาติที่ใกล้ชิดของพวกท่าน จงเข้าร่วมในพิธีศพของพวกเขา จงเยี่ยมผู้ป่วยของพวกเขาและจงรักษาสิทธิของพวกเขา” (10) “สิ่งที่ดีเยี่ยมที่สุดในการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติคือการหลีกเลี่ยงจากการทำร้ายพวกเขา” (11)
ขอบเขตของการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติ
การผูกสัมพันธ์กับเครือญาติไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่เพียงกับญาติที่เป็นคนดีและมีศรัทธา (อีหม่าน) เท่านั้น ทว่าเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมและศาสนาที่มีความครอบคลุม ด้วยเหตุนี้เองแม้พ่อแม่และญาติคนอื่นๆ จะไม่ใช่ผู้ศรัทธาก็ตาม จำเป็นต้องให้ความเคารพพวกเขาและการขจัดความต้องการต่างๆ ของพวกเขาได้ถูกเน้นย้ำ แต่ทว่าการรักษาความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ตราบเท่าที่จะไม่ส่งผลกระทบที่เสียหายต่อข้อบัญญัติทางศาสนา แต่ถ้าหากในผลของการผูกสัมพันธ์นี้จะทำให้ข้อบัญญัติอื่นๆ ของศาสนาตกอยู่ในอันตราย ไม่เพียงแต่การผูกสัมพันธ์กับคนที่ไม่มีศาสนาจะไม่จำเป็นเพียงเท่านั้น ทว่ายังไม่เป็นที่อนุญาตอีกด้วย (12)
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ حَمَلَتْهُ أُمُّهُ وَهْنًا عَلَىٰ وَهْنٍ وَفِصَالُهُ فِي عَامَيْنِ أَنِ اشْكُرْ لِي وَلِوَالِدَيْكَ إِلَيَّ الْمَصِيرُ وَإِن جَاهَدَاكَ عَلَىٰ أَن تُشْرِكَ بِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ فَلَا تُطِعْهُمَا وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفًا
“และเราได้สั่งเสียแก่มนุษย์เกี่ยวกับผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง) มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความอ่อนหล้าเป็นที่สุด และการหย่านมเขาในระยะเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้าและผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้าเถิด โดยที่ (ทุกคน) จะต้องกลับคืนมายังข้า และหากเขาทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าก็จงอย่าเชื่อฟังปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และจงอดทนอยู่ร่วมกับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดี” (13)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) เล่าว่า : ชายคนหนึ่งมาพบท่านศานทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และกล่าวว่า : “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! ข้าพเจ้ามีเครือญาติที่ไม่ทำอะไรนอกจากการทำร้าย การตัดสัมพันธ์และการด่าประณามข้าพเจ้า ดังนั้นข้าพเจ้าควรจะละทิ้งพวกเขาไปหรือไม่?” ท่านศาสนทูตกล่าวว่า : “หากทำเช่นนั้นอัลลอฮ์ก็จะทรงทอดทิ้งพวกเจ้าทั้งหมด” เขาถามว่า : “ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าควรทำอย่างไรดี?” ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : “จงผูกสัมพันธ์กับผู้ที่ตัดสัมพันธ์กับเจ้า และจงให้แก่ผู้ที่หักห้ามเจ้าและจงให้อภัยผู้ที่อธรรมต่อเจ้า หากเจ้ากระทำเช่นนั้นได้ อัลลอฮ์จะทรงเป็นผู้สนับสนุนเจ้าในการเผชิญกับพวกเขา” (14)
ญะฮัม บินฮะมีด ได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า : “เครือญาติของข้าพเจ้าซึ่งมีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกับข้าพเจ้า พวกเขาจะมีสิทธิใดๆ เหนือข้าพเจ้าหรือไม่?” ท่านกล่าวตอบว่า : "ใช่แล้ว! พวกเขามีสิทธิ์ในความเป็นเครือญาติที่ไม่มีสิ่งใดจะตัดมันลงได้ แต่ถ้าหากพวกเขามีความเชื่อทางศาสนาเหมือนกับเจ้า พวกเขาจะมีสิทธิสองประการ (เหนือเจ้า) คือ : สิทธิในความเป็นเครือญาติและสิทธิในอิสลาม" (15)
ลำดับชั้นของเครือญาติ (ลำดับความสำคัญก่อนในการผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติ)
เมื่อพิจารณาถึงขอบเขตที่กว้างขวางของการผูกสัมพันธ์กับเครือญาติและในขณะเดียวกันมนุษย์ไม่สามารถที่จะระวังรักษาและปฏิบัติมันกับญาติทั้งหมดได้ในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองในโองการต่างๆ ของอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) จึงให้ความสำคัญต่อการระวังรักษาลำดับความสำคัญในสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ (16) บนพื้นฐานของริวายะฮ์ (คำรายงาน) เหล่านี้ลำดับชั้นของสายสัมพันธ์ทางเครือญาติจะเป็นดังต่อไปนี้ :
- บิดาและมารดาและจากบุคคลทั้งสองนี้มารดาจะมาก่อน
- พี่น้องทั้งชายและหญิง
- ญาติทางเชื้อสาย (นะซับ) คนอื่น ๆ (ลุง, ป้า, น้า, อาและลูกๆ ของบุคคลเหล่านี้)
- ญาติที่เกิดจากสาเหตุ (ซะบับ) เช่นการแต่งงาน (เขยและสะใภ้ ฯลฯ)
มีรายงานจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า : “อินทผลัมห้าผลหรือขนมปังห้าชิ้นหรือเงินห้าดินาร์ (และทุกสิ่ง) ที่มนุษย์ได้รับมาและต้องการใช้จ่ายมัน ดังนั้นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของมันคือ การที่มนุษย์จะมอบให้แก่ผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา ต่อจากนั้นอันดับสองคือ การที่เขาจะมอบให้กับตัวเองและครอบครัวของเขา อันดับสามคือ การที่เขาจะมอบให้กับเครือญาติใกล้ชิดที่ยากจนของเขา อันดับสี่คือ การที่เขาจะมอบให้กับเพื่อนบ้านที่ยากจน และอันดับห้า เขาจะใช้จ่าย (ทำทาน) ไปในทางของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งจะมีรางวัลตอบแทนน้อยที่สุด” (17) หมายความว่าทั้งห้าประการนี้ เนื่องจากเป็นไปตามคำสั่งของพระเจ้าและในหนทางของพระองค์ แต่รางวัลของซอดะเกาะฮ์ (การทำทาน) จะน้อยกว่ารางวัลของสี่ประการแรก
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
ابْدَأْ بِمَنْ تَعُولُ أُمَّكَ وَ أَبَاكَ وَ أُخْتَكَ وَ أَخَاكَ ثُمَّ أَدْنَاكَ فَأَدْنَاكَ وَ قَالَ: لا صَدَقَةَ وَ ذو رَحِمٍ مُحْتَاجٌ
“(ในการรักษาสิทธิของเครือญาตินั้น) ท่านจงเริ่มต้นกับครอบครัวของท่านก่อน : คือ มารดาของท่าน บิดาของท่าน พี่น้องผู้หญิงของท่านและพี่น้องผู้ชายของท่าน จากนั้นลำดับที่ใกล้ชิดกับท่านรองๆ ลงไป” และท่านกล่าวว่า : “ไม่มีการทำทาน (ซอดะเกาะฮ์) ใดๆ ทั้งสิ้นในขณะที่เครือญาติใกล้ชิดยังเป็นผู้มีความต้องการอยู่” (18)
นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวกับท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ว่า :
يَا عَلِيُّ سِرْ سَنَتَيْنِ بِرَّ وَالِدَيْكَ وَ سِرْ سَنَةً صِلْ رَحِمَكَ
“โอ้อะลีเอ๋ย! จงเดินทาง (แม้ใช้เวลา) สองปีเพื่อทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้า และจงเดินทาง (แม้ใช้เวลา) หนึ่งปีเพื่อผูกสัมพันธ์กับเครือญาติของเจ้า” (19)
กรณีต่างๆ ของการผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติ
สำนวนต่างๆ ที่อธิบายถึงกรณีและตัวอย่างทั้งหลายของเครือญาติในโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลายนั้นได้แก่ : ผู้ให้กำเนิดทั้งสอง, มารดา, บิดา, ครอบครัว, ลูก, ลูกสาว, ลูกชาย, ภรรยา, สามี, พี่ชายน้องชาย, พี่สาวน้องสาว, เครือญาติทางเชื้อสาย (นะซับ) คนอื่น ๆ , เครือญาติที่เกิดจากสาเหตุ (ซะบับ) อย่างเช่น พ่อภรรยา, แม่ภรรยาและลูกเขย ฯลฯ
เชิงอรรถ :
(1). ตัฟซีรตัสนีม, อายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมูลี, เล่ม 2, หน้า 560
(2). อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 363
(3).อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 636
(4). อัลญะอ์ฟะรียาต, มุฮัมมัด บินมุฮัมมัด อัลอัชอัษ อัลกูฟี, หน้า 153
(5). อัลญะอ์ฟะรียาต, หน้า 153
(6). อัลฟะกีฮ์, เชคซุดูก, เล่ม 2, หน้า 68
(7). มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, มุฮัดดิษ นูรี, เล่ม 13, หน้า 205
(8). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 155
(9). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 151
(10). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 636
(11).อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 151
(12). ตัฟซีรตัสนีม, เล่ม 2, หน้า 560 - 561
(13). อัลกุรอานบทลุกมาน โองการที่ 14 - 15
(14). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 150
(15). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 157
(16). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 157
(17). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 65
(18).อัลอิคติซ๊อซ, เชคมุฟีด, หน้า 219
(19). อัลฟะกีฮ์, เชคซุดูก, เล่ม 4, หน้า 361
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่