การทำดีต่อบิดามารดานั้นมีความสำคัญถึงขั้นที่แม้แต่การตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระผู้เป็นเจ้าของบุคคลทั้งสองก็ไม่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำดีต่อพวกท่านได้ แม้จำเป็นที่จะต้องออกห่างจากความเชื่อต่างๆ ที่เป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่าน ถึงกระนั้นก็ตาม การไม่เคารพให้เกียรติและการทำร้ายพวกท่านแม้จะเล็กน้อยที่สุดก็ได้ถูกห้ามไว้
การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนและการแสดงถึงความเมตตาต่อท่านทั้งสอง ทั้งในยามมีชีวิตอยู่และหลังจากความตายของพวกท่าน ซึ่งได้ถูกกำชับสั่งเสียไว้ อยู่ในระดับความสำคัญเดียวกับการนมาซ ญิฮาด การทำฮัจญ์และอื่นๆ กระทั่งว่าการขอบคุณต่อท่านทั้งสองได้ถูกกำหนดไว้เคียงคู่กับการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ดังโองการต่างๆ จากคัมภีร์อัลกุรอานเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่กล่าวถึงความสำคัญของการกระทำดีต่อบิดามารดา เช่น
1.พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
وَقَضَىٰ رَبُّكَ أَلَّا تَعْبُدُوا إِلَّا إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا ۚ إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِنْدَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلَاهُمَا فَلَا تَقُلْ لَهُمَا أُفٍّ وَلَا تَنْهَرْهُمَا وَقُلْ لَهُمَا قَوْلًا كَرِيمًا
“และพระผู้อภิบาลของเจ้าได้ทรงบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง เมื่อคนใดจากทั้งสองหรือบุคคลทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นเจ้าก็อย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ (คำอุทานที่แสดงถึงความเบื่อหน่าย รำคาญและความรังเกียจ) และจงอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่ให้เกียรติ” (1)
2. พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
وَ اخْفِضْ لَهما جَناحَ الذّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ وَ قلْ رَبِّ ارْحَمْهما کَما رَبَّیانی صَغیراً
“และจงลดปีกแห่งความนอบน้อมแก่ท่านทั้งสองด้วยความเมตตาและจงกล่าว (ขอพรแก่ทั้งสอง) ว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์โปรดทรงเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นเดียวกับที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูข้าพระองค์มาแต่เยาว์วัย” (2)
3. พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
وَإِن جَاهَدَاكَ عَلَىٰ أَن تُشْرِكَ بِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ فَلَا تُطِعْهُمَا ۖ وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفًا
“และหากเขาทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าก็จงอย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และจงอดทนอยู่กับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดี” (3)
มันซูร บินฮาซิมได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า : การกระทำที่มีคุณค่าที่สุดคืออะไร? ท่านอิมามกล่าวว่า :
اَلصَّلَاةُ لِوَقْتِهَا وَ بِرُّ الْوَالِدَيْنِ وَ الْجِهَادُ فِيْ سَبِيْلِ اللّهِ عَزّ و جَلَّ
“คือ การนมาซในเวลาของมันและการทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองและการญิฮาดในทางของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร” (4)
ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวในอีกที่หนึ่งว่า :
ثَلَاثٌ لَمْ يَجْعَلِ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ لِأَحَدٍ فِيهِنَّ رُخْصَةً : أَدَاءُ الْأَمَانَةِ إِلَى الْبَرِّ وَ الْفَاجِرِ ، وَ الْوَفَاءُ بِالْعَهْدِ لِلْبَرِّ وَ الْفَاجِرِ ، وَ بِرُّ الْوَالِدَيْنِ بَرَّيْنِ كَانَا أَوْ فَاجِرَيْنِ
“สามสิ่งที่อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรจะไม่ทรงผ่อนปรนแก่ผู้ใด คือ : การปฏิบัติตามความไว้วางใจทั้งต่อคนดีและคนชั่ว การรักษาคำมั่นสัญญาทั้งต่อคนดีและคนชั่ว และการทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองไม่ว่าทั้งสองจะเป็นคนดีหรือคนชั่วก็ตาม (5)
หน้าที่ต่อบิดามารดานี้จะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปแม้หลังจากการเสียชีวิตของบุคคลทั้งสองด้วยเช่นกัน
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
سَيِّدُ الْاَبْرَارِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ رَجُلٌ بَرَّ وَالِدَيْهِ بَعْدَ مَوْتِهِمَا
“หัวหน้าของคนดีในวันกิยามะฮ์นั้น คือคนที่ทำดีต่อผู้ให้กำเนิดของเขา หลังจากการตายของคนทั้งสอง” (6)
บางช่วงเวลาสำหรับการทำดีต่อบิดามารดา
การทำดีต่อบิดามารดานั้นไม่มีเวลาเฉพาะ แต่ในบางช่วงเวลานั้นจะมีผลรางวัลเป็นทวีคูณ ตามวจนะของท่านอิมามบากิร (อ.) ที่ได้กล่าวไว้ว่า หนึ่งในการกระทำ (อะมั้ล) ที่ดีที่สุดของวันอีดกุรบานนั้น คือการทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง (7)
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنْ زَارَ قَبْرَ أَبَوَيْهِ أَوْ أَحَدِهِمَا فِيْ كُلِّ جُمُعَةٍ غُفِرَ لَهُ وَ كُتِبَ بَرًّا
“ใครก็ตามที่เยี่ยมหลุมฝังศพของบิดามารดาของเขาหรือคนหนึ่งคนใดจากทั้งสองในวันศุกร์ เขาจะได้รับการอภัยโทษและจะถูกบันทึกว่าเป็นผู้กระทำดี” (8)
การใช้คำพูดและกิริยาที่สุภาพอ่อนโยนต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง
วิธีที่ดีที่สุดในการแสดงความรักต่อบิดามารดาคือการใช้วาจาคำพูดที่สุภาพอ่อนโยนต่อท่านทั้งสอง บรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ซึ่งเป็นผู้อบรมขัดเกลามนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านเหล่านั้นได้ห้ามการแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงต่อบิดามารดา และแม้แต่เสียงของเราก็ไม่ควรที่จะดังกว่าเสียงของท่านทั้งสอง อย่าว่าแต่การที่เราจะพูดกับพวกท่านด้วยวาจาคำพูดที่น่าเกลียดเลย เนื่องจากการใช้คำพูดที่น่าเกลียดและการด่าทอบิดามารดานั้นเป็นหนึ่งในบาปใหญ่
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : "แม้แต่" เมื่อบิดาและมารดาของพวกท่านตีพวกท่าน พวกท่านก็จงขออภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ท่านทั้งสองเถิด
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ยังได้กล่าวอีกเช่นกันว่า : หากบิดาและมารดาของพวกท่านได้พูดด้วยเสียงดัง พวกท่านก็จงใช้เสียงค่อยและจงพูดกับท่านทั้งสองด้วยความอ่อนโยน
ในอีกคำพูดหนึ่งท่านกล่าวว่า : "จงอย่ามองบิดาและมารดาด้วยดวงตาที่ขึงขัง แต่จงมองด้วยสายตาที่แสดงถึงความเมตตา" (9)
เราจงย้ำเตือนตัวเองด้วยคำพูดของอิมามเสมอที่กล่าวไว้ว่า : "พวกท่านจะต้องขอบคุณบิดามารดาในทุกสภาพ แม้ในช่วงเวลาที่คำพูดและการกระทำของบิดามารดาจะไม่ตรงกับความต้องของพวกท่านก็ตาม" การเชื่อฟังบิดามารดาเป็นเครื่องแสดงถึงความรักที่มีต่อท่านทั้งสอง
ผลบางประการของการกระทำดีต่อบิดามารดา
ความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า : มีรายงานว่า สิ่งแรกที่อัลลอฮ์ทรงบันทึกไว้ใน “เลาฮุลมะห์ฟูซ” คือ :
إِنِّيْ لَا إِلهَ إِلَّا أَنَا مَنْ رَضِيَ عَنْهُ وَالِدَاهُ فَأَنَا عَنْهُ رَاضٍ
“ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากข้า (และ) สิ่งใดก็ตามที่พ่อแม่ของเขาพอใจต่อเขา ดังนั้น ข้าก็พึงพอใจต่อเขา” (10)
การประทานความเมตตาจากฟากฟ้า : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
يُفَتَّحُ أَبْوَابُ اَلسَّمَاءِ بِالرَّحْمَةِ فِي أَرْبَعِ مَوَاضِعَ عِنْدَ نُزُولِ اَلْمَطَرِ وَ عِنْدَ نَظَرِ اَلْوَلَدِ فِي وَجْهِ اَلْوَالِدَيْنِ وَ عِنْدَ فَتْحِ بَابِ اَلْكَعْبَةِ وَ عِنْدَ اَلنِّكَاحِ
“ประตูแห่งฟากฟ้าจะถูกเปิดด้วยความเมตตาในสี่โอกาส คือ เมื่อฝนตก เมื่อลูกมองไปที่ใบหน้าของผู้ให้กำเนิดทั้งสอง เมื่อประตูกะอ์บะฮ์ได้ถูกเปิด และเมื่อมีการแต่งงาน” (11)
การได้รับประโยชน์จากห้องต่างๆ ในสวรรค์ : ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า : สี่คุณลักษณะ หากมีอยู่ในผู้ศรัทธาคนใดก็ตาม อัลลอฮ์จะทรงให้เขาพำนักในสวรรค์อันสูงสุด ในห้องต่างๆ ที่อยู่เหนือห้องทั้งหลาย ในสถานที่ที่มีเกียรติที่สุด ... คนที่มอบค่าใช้จ่ายให้กับผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา สุภาพอ่อนโยนต่อท่านทั้งสอง ทำดีต่อท่านทั้งสองและไม่ทำให้ท่านทั้งสองเสียใจ” (12)
การได้รับประโยชน์จากร่มเงาของบัลลังก์แห่งพระเจ้า : ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : วันหนึ่งขณะที่ศาสดามูซา (อ.) กำลังวิงวอนขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า ทันใดนั้นท่านได้เห็นชายคนหนึ่งอยู่ในร่มเงาของบัลลังก์ (อะรัช) ของพระผู้เป็นเจ้า ท่านจึงทูลถามว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์! ผู้ที่บัลลังก์ของพระองค์ทอดร่มเงาแก่เขานี้เป็นใคร พระองค์ทรงตรัสว่า : เขาผู้นี้เป็นคนที่ทำดีดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขาและเขาไม่เที่ยวพูดจาให้ร้ายใคร (13)
เครื่องหมายของชีอะฮ์ : ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : “โอ้ญาบิรเอ๋ย! ชีอะฮ์ของเราจะไม่เป็นที่รู้จักนอกเสียจาก ... ด้วยการทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง” (14)
เชิงอรรถ:
(1). อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 23
(2). อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 24
(3). อัลกุรอานบทลุกมาน โองการที่ 15
(4). อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 158
(5). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 162
(6). บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญฺลิซี, เล่ม 71, หน้า 86
(7). อัลคิซ้อล, เชคซุดูก, หน้า 298
(8). บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 86, หน้า 359
(9). บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 86, หน้า 359
(10). มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, มุฮัดดิษนูรี, เล่ม 15, หน้า 176
(11). ญามิอุลอัคบาร, มุฮัมมัด ชะอีรี, หน้า 101
(12). อัลอะมาลี, เชคมุฟีด, หน้า 167
(13).อัลอะมาลี, เชคซอดูก, หน้า 180
(14).อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 74
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่