ผลรางวัลของการทำดีและโทษทัณฑ์ของการทำลายครอบครัว
Powered by OrdaSoft!
No result.

ผลรางวัลของการทำดีและโทษทัณฑ์ของการทำลายครอบครัว

การทำดีต่อครอบครัว

    สถาบันครอบครัวเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของการเจริญเติบโตและความสงบสุขของมนุษย์ (1) ซึ่งการดูแลมันถือเป็นความรับผิดชอบที่หนักหน่วงและจะเป็นสื่อของความรอดพ้นจากความทุกข์ยากและการถูกลงโทษทั้งในโลกนี้และในปรโลก (2)

    อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับครอบครัวและได้กำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบัญญัติ (อะห์กาม) และมารยาทมากมายไว้เพื่อการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของพวกเขา โดยที่นอกเหนือจากการระวังรักษากฎเกณฑ์ บทบัญญัติและมารยาทเหล่านี้เพื่อความกินดีอยู่ดี ความสุขสบายและความเจริญก้าวหน้าของครอบครัวแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องวิงวอนขอจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งเพื่อความรอดพ้นและความสุขสบายของครอบครัวอีกด้วย

    เมื่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้พาภรรยาและลูกของท่านไปยังนครมักกะฮ์ ตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้วิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า :

رَّبَّنَا إِنِّي أَسْكَنتُ مِن ذُرِّيَّتِي بِوَادٍ غَيْرِ ذِي زَرْعٍ عِندَ بَيْتِكَ الْمُحَرَّمِ رَبَّنَا لِيُقِيمُوا الصَّلَاةَ فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِّنَ النَّاسِ تَهْوِي إِلَيْهِمْ وَارْزُقْهُم مِّنَ الثَّمَرَاتِ لَعَلَّهُمْ يَشْكُرُونَ

 "โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ได้ให้ลูกหลานบางคนของข้าพระองค์พำนักอยู่ ณ หุบเขาที่ไม่มีพืชผลใดๆ ณ บ้าน (บัยตุลลอฮ์) อันเป็นเขตหวงห้ามของพระองค์  โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้ดำรงการนมาซ ดังนั้นขอพระองค์ทรงดลบันดาลให้จิตใจของประชาชนโน้มเอียงไปยังพวกเขา และทรงประทานปัจจัยยังชีพที่เป็นพืชผลแก่พวกเขา หวังว่าพวกเขาจะขอบคุณ” (3)

    นอกจากนี้ท่านศาสดาลูฏ (อ.) หลังจากความพยายามทางด้านวัฒนธรรม (และการประกาศคำสอนแห่งพระเจ้า) อย่างมากมาย ท่านไม่สามารถทำให้ประชาชนหลุดพ้นออกจากความหลงผิดและความพินาศได้นั้น ท่านได้วิงวอนขอจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอดพ้นของครอบครัวที่มีศรัทธาของท่านเช่นนี้ว่า :

رَبِّ نَجِّنِي وَأَهْلِي مِمَّا يَعْمَلُونَ

“โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดทรงช่วยข้าพระองค์และครอบครัวของข้าพระองค์ให้พ้นจากสิ่งที่พวกเขากระทำดัวยเถิด” (4)

    ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)  กล่าวว่า :

كُلُّ مَعْرُوْفٍ صَدَقَةٌ وَكُلُّ مَا أَنْفَقَ الْمُؤْمِنُ مِنْ نَفَقَةٍ عَلَى نَفْسِهِ  وَعِيَالِهِ كُتِبَ لَهُ بِهَا صَدَقَةً وَمَا وَقَى بِهِ عِرْضَهُ كُتِبَ لَهُ صَدَقَةً

“ทุกๆ ความดีนั้นเป็นซอดาเกาะฮ์ (ทาน) และทุกๆสิ่งที่ผู้ศรัทธาได้ใช้จ่ายไปเพื่อตัวเขาเองและครอบครัวของเขา จะถูกบันทึกสำหรับเขาว่าเป็นซอดาเกาะฮ์ และทุกสิ่งที่เขาได้ปกป้องเกียรติของตนด้วยกับมันก็จะถูกบันทึกสำหรับเขาว่าเป็นซอดาเกาะฮ์” (5)

     และท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)  ยังกล่าวอีกว่า :

خَيْرُكُمْ خَيْرُكُمْ لأَهْلِهِ وَأَنَا خَيْرُكُمْ لأَهْلِي

"คนที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านก็คือคนที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวของเขา และฉันเองก็คือคนที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวของฉันในหมู่พวกท่าน" (6)

مَنْ دَخَلَ اَلسُّوقَ فَاشْتَرَى تُحْفَةً فَحَمَلَهَا إِلَى عِيَالِهِ كَانَ كَحَامِلِ صَدَقَةٍ إِلَى قَوْمٍ مَحَاوِيجَ

"ผู้ใดก็ตามที่เข้าตลาดและซื้อของขวัญ แล้วนำไปยังครอบครัวของเขา ประดุจดั่งผู้ที่นำซอดะเกาะฮ์ (ทาน) ไปยังกลุ่มชนที่ขัดสน" (7)

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

إِذَا أَعْسَرَ أَحَدُكُمْ فَلْيَضْرِبْ فِي الْأَرْضِ يَبْتَغِي مِنْ فَضْلِ اللَّهِ وَلَا يَغُمَّ نَفْسَهُ وَ عِيَالِهِ

“เมื่อใดก็ตามที่คนใดจากพวกท่านขัดสน ดังนั้นเขาจงท่องไปในแผ่นดินเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ และจงอย่าทำให้ตัวเองและครอบครัวทุกข์โศก” (8)

     การทำดีและการเอาใจใส่ต่อครอบครัวนั้น ควรกระทำตามขอบเขตความสามารถของตนเท่าที่จะกระทำได้ ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามริฎอ (อ.) จึงกล่าวว่า :

صَاحِبُ النِّعْمَةِ يَجِبُ عَلَيْهِ التَّوْسِعَةُ على‏ عِيَالِهِ

 "เจ้าของเนี๊ยะอ์มัต (หัวหน้าครอบครัว) นั้น จำเป็นต้องจัดเตรียมความกว้างขวาง (ความสุขสบาย) ให้กับครอบครัวของเขา" (9)

การรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว

     ผู้ศรัทธานั้นจะต้องแบ่งปันและมีส่วนร่วมกับครอบครัวของตนในทุกๆ ความสุขสบายและสิ่งดีงามทั้งหลายที่เขามี แม้แต่ในการรับประทานอาหารก็จะต้องอยู่พร้อมกับพวกเขา คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

وَاللَّهُ فَضَّلَ بَعْضَكُمْ عَلَىٰ بَعْضٍ فِي الرِّزْقِ ۚ فَمَا الَّذِينَ فُضِّلُوا بِرَادِّي رِزْقِهِمْ عَلَىٰ مَا مَلَكَتْ أَيْمَانُهُمْ فَهُمْ فِيهِ سَوَاءٌ

“และอัลลอฮ์ทรงให้บางคนในหมู่พวกเจ้าเหนือกว่าอีกบางคนในด้านปัจจัยยังชีพ แล้วทำไมบรรดาผู้ที่ได้รับความเหนือกว่าจึงไม่แบ่งปัจจัยยังชีพของพวกเขาแก่บรรดาผู้ที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง เพื่อพวกเขาจะได้เท่าเทียมกันในเรื่องนั้น” (10)

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในการอธิบายโองการนี้ว่า :

لَا يَجُوْزُ لِلرَّجُلِ أَنْ يَخُصَّ نَفْسَهُ بِشَيْءٍ مِنَ الْمَأْكُوْلِ دُوْنَ عِيَالِهِ

“ไม่เป็นที่อนุญาตต่อคนใดที่จะเก็บอาหารไว้เฉพาะสำหรับตัวเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่ครอบครัวของเขา” (11)

     ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ถือว่าหนึ่งในเครื่องหมายของความถ่อมตนคือการที่ชายจะนั่งร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวของเขา โดยที่ท่านกล่าวว่า :

أَ لَا أُنَبِّئُكُمْ بِخَمْسٍ مَنْ كُنَّ فِيهِ فَلَيْسَ بِمُتَكَبِّرٍ؛ اعْتِقَالُ الشَّاةِ , وَلُبْسُ الصُّوفِ ,  وَمُجَالَسَةُ الْفُقَرَاءِ , وَأَنْ يَرْكَبَ الْحِمَارَ ، وَأَنْ يَأْكُلَ الرَّجُلُ مَعَ عِيَالِهِ

“ฉันจะบอกพวกท่านเอาไหมเกี่ยวกับห้าสิ่งที่หากมันมีอยู่ในตัวใคร เขาจะไม่ใช่ผู้หยิ่งยะโส? (นั่นคือ) :  การเลี้ยงแกะ การสวมใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ การนั่งร่วมกับคนจน การขี่ลา (ชี้ถึงพาหนะที่มีราคาถูก) และการที่ผู้ชายจะร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวของเขา” (12)

การให้ความสำคัญครอบครัวก่อนผู้อื่น

     ในวัฒนธรรมและคำสอนของอิสลามการให้ความสำคัญต่อครอบครัวก่อนผู้อื่นนั้นถือเป็นหลักการพื้นฐานประการหนึ่ง ซึ่งมีริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากบ่งชี้เกี่ยวกับประเด็นนี้

     ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

إِذَا أَعْطَى اللهُ أَحَدَكُمْ خَيْرًا فَلْيَبْدَأْ بِنَفْسِهِ وَأَهْلِ بَيْتِهِ

“เมื่อใดก็ตามที่อัลลอฮ์ได้ทรงมอบสิ่งดีงามแก่คนใดจากพวกท่าน ดังนั้นเขาจงเริ่ม (ใช้ประโยชน์) กับตัวเองและครอบครัวของเขา” (13)

     และท่านยังกล่าวอีกว่า :

إِبْدأْ بِمَنْ تَعُوْلُ الْأَدْنَى فَالْاَدْنَى

“จงเริ่มต้นกับคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุด ลำดับรองๆ ลงไป” (14)

     ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า : “การที่ฉันเข้าสู่ตลาดในสภาพที่ฉันมีเงิน แล้วฉันได้ซื้อเนื้อสัตว์สำหรับครอบครัวของฉันที่มีความต้องการนั้น ย่อมเป็นที่รักยิ่งต่อฉันมากกว่าการปลดปล่อยทาสคนหนึ่งให้เป็นอิสระ” (15)

การให้ความสำคัญต่อครอบครัวในวันศุกร์

     แม้การทำดีต่อครอบครัวจะเป็นสิ่งที่ควรกระทำตลอดทุกช่วงเวลาก็ตาม แต่ในวันศุกร์จะมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการทำดีต่อครอบครัว เพื่อเป็นสื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญและสถานะของวันศุกร์และสภาพทางจิตวิญญาณสำหรับครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีนี้ ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :

أَطْرِفُوْا أَهَالِيْكُمْ فِيْ كُلِّ جُمُعَةِ بِشَيْءٍ مِنَ الْفَاكِحَةِ وَاللَّحْمِ حَتَّى يَفْرَحُوْا بِالْجُمُعَةِ

“ท่านทั้งหลายจงมอบผลไม้และเนื้อให้แก่ครอบครัวของพวกท่านในทุกวันศุกร์ เพื่อว่าพวกเขาได้รู้สึกปิติยินดีกับการมาถึงของวันศุกร์” (16)

ผลรางวัลของการทำดีต่อครอบครัว

     ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า : “โอ้อะลีเอ๋ย! การรับใช้ครอบครัวนั้นคือสิ่งชดเชย (กัฟฟาเราะฮ์) สำหรับบาปใหญ่และจะดับความโกรธกริ้วของพระผู้อภิบาล มันคือมะฮัรของสาวงามแห่งสวรรค์ (ฮูรุลอัยน์) และจะช่วยเพิ่มพูนความดีงามและฐานันดรต่างๆ โอ้อะลีเอ๋ย! ไม่มีใครรับใช้ครอบครัว นอกจาผู้สัจจริง หรือผู้พลีชีพในทางของอัลลอฮ์ หรือคนที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์จะเพิ่มพูนความดีงามในโลกนี้และปรโลกแก่เขา” (17)

     มีรายงานจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

أَقْرَبُكُمْ مِنِّيْ مَجْلِسًا يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَحْسَنُكُمْ خُلُقًا وَ خَيْرُكُمْ لِأَهْلِهِ

“ผู้ที่มีที่นั่งใกล้ชิดฉันมากที่สุดในหมู่พวกท่านในวันกิยามะฮ์ คือผู้ที่มีมารยาทงดงามที่สุดในหมู่พวกท่านและผู้ที่ทำดีที่สุดในหมู่พวกท่าน ต่อครอบครัวของเขา” (18)

     การทำดีต่อครอบครัวนอกจากจะมีรางวัลตอบแทนแห่งปรโลกแล้วยังมีผลที่ดีงามต่างๆ ในโลกนี้อีกด้วย ผู้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

وَ سَلِّمْ فِيْ بَيْتِكَ ، تَزِيْدُ اللَّهُ فِيْ بَرَكَاتِكَ

“และจงให้สลามในขณะเข้าบ้านของท่าน อัลลอฮ์จะทรงเพิ่มพูนความจำเริญของท่าน” (19)

     ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการทำดีต่อครอบครัวว่า

إِنَّ أرْضَاكُمْ عِنْدَاللَّه أَسْبَغُكُم عَلَى عِيَالِهِ

“แท้จริงได้รับความพึงพอพระทัย ณ อัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกท่าน คือ คนที่ให้ประโยชน์แก่ครอบครัวของตนมากมายที่สุดในหมู่พวกท่าน” (20)

      ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

وَمَنْ حَسُنَ بِرُّهُ لِأَهْلِهِ زَادَ اللَّهُ فِيْ عُمْرِهِ

“ใครก็ตามที่การทำดีของเขาต่อครอบครัวของเขางดงามยิ่งนั้น อัลลอฮ์จะทรงเพิ่มพูนอายุขัยของเขา” (21)

ผลรางวัลของความทุกข์กังวลต่อครอบครัว

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เล่าว่า : วันหนึ่งฉันได้ไปพบท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านได้กล่าวว่า : “โอ้อะลี! เจ้าได้ตื่นเช้าขึ้นมาในสภาพเช่นใด?” ฉันกล่าวตอบว่า : “ข้าพเจ้าตื่นเช้าขึ้นมาในสภาพที่ไม่มีสิ่งใดอยู่ในมือของข้าพเจ้าเลย นอกจากน้ำและข้าพเจ้าไม่รู้สึกสบายใจต่อสภาพของฮะซันและฮุเซน (อ.) ลูกน้อยสองคนของข้าพเจ้า” ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) จึงกล่าวกับฉันว่า :

يَا عَلِيُّ! غَمُّ الْعِيَالِ سِتْرٌ مِنَ النَّارِ

“โอ้อะลีเอ๋ย! ความทุกข์กังวลต่อครอบครัวนั้นคือม่านปิดกั้นจากไฟนรก” (22)

โทษทัณฑ์ของการทำลายครอบครัว

     ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

مَلْعُوْنٌ مَلْعُوْنٌ مَنْ ضَيَّعَ مَنْ يَعُوْلُ

“ช่างห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮ์! ช่างห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮ์! บุคคลที่ทำลายครอบครัวของตน” (23)

     นอกจากนี้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยังได้ห้ามจากการที่คนผู้หนึ่ง ซึ่งตัวเขาจะอิ่มในขณะที่ครอบครัวของเขาหิว พร้อมกันนั้นท่านกล่าวว่า :

كَفَى بِالْمَرْءِ هَلَاكًا أَنْ يُضَيِّعَ مَنْ يَعُوْلُ

“การทำลายครอบครัวนั้นเพียงพอแล้วที่จะทำให้ชายคนหนึ่งพินาศ” (24)

โทษทัณฑ์ของการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีกับครอบครัว

     ในขณะที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และประชาชนกลับ (จากการฝังศพของซะอัด บินมุอาซ) พวกเขาได้กล่าวกับท่านว่า : “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! พวกเราได้เห็นท่านกระทำต่อซะอัดในสิ่งที่ท่านไม่เคยกระทำกับคนอื่นเลย ท่านเดินตามศพของเขาโดยไม่สวมใส่ผ้าคลุมกายและรองเท้า”  ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า : “มวลมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ได้ปรากฏตัวในการส่งศพของเขา โดยไม่สวมใส่ผ้าคลุมกายและรองเท้า ดังนั้นฉันจึงทำตามมวลมะลาอิกะฮ์เหล่านั้น” พวกเขากล่าวว่า : “ท่านจับทางด้านขวาของโลงศพครั้งหนึ่งแล้วไปจับทางด้านซ้ายอีกครั้งหนึ่ง” ท่านกล่าวว่า : “มือของฉันอยู่ในมือของญิบรออีล ฉันจะจับที่ใดแล้วแต่ญิบรออีลจะจับ” พวกเขากล่าวว่า : “ท่านสั่งให้ทำฆุซุล (อาบน้ำศพ) และตัวท่านเองก็ทำนมาซมัยยิตเขาและได้ฝังศพเขา จากนั้นท่านก็ได้กล่าวว่า : แท้จริงซะอัดได้ถูกหลุมฝังศพบีบรัด” ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : ใช่แล้ว! เขา (ซะอัด) ได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีกับครอบครัวของเขาอยู่เสมอ” (25)

     เกี่ยวกับการตำหนิความเข้มงวดและการบีบคั้นต่อครอบครัวนั้นมีรายงานจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

شَرُّ النَّاسِ الْمُضَيِّقُ عَلَى أَهْلِهِ

“คนที่เลวร้ายที่สุดคือคนที่เข้มงวด (บีบคั้น) ต่อครอบครัวของเขา” (26)

     มีผู้ถามท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า : “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! เขาจะเข้มงวดกับครอบครัวของเขาอย่างไรกระนั้นหรือ?” ท่านกล่าวว่า :

الرَّجُلُ إِذَا دَخَلَ بَيْتهُ خَشَعَتِ امْرَأَتُهُ ، وَهَرَبَ وَلَدُهُ ، وَفَرَّ عَبْدُهُ ، فَإِذَا خَرَجَ ضَحِكَتِ امْرَأَتُهُ

“ผู้ชายที่เมื่อเขาเข้ามาในบ้าน ภรรยาของเขาจะกลัวหงอ และลูกของเขาจะหนีออกห่าง และบ่าวทาสของเขาวิ่งหนี แต่เมื่อเขาออกไปจากบ้านภรรยาของเขาจะหัวเราะร่าเริง” (27)


เชิงอรรถ :

(1). อัลกุรอานบทอัรรูม โองการที่ 21และ อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 189

(2). อัลกุรอานบทอัตตะห์รีม โองการที่ 6

(3). อัลกุรอานบทอิบรอฮีม โองการที่ 37

(4). อัลกุรอานบทอัชชุอะรออ์ โองการที่ 169

(5). มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, มุฮัดดิษนูรี, เล่ม 7, หน้า 239

(6). อัลฟะกีฮ์, เชคซุดูก, เล่ม 3, หน้า 555

(7). อัลอามาลี, เชคซุดูก, หน้า 577

(8). ตะห์ซีบุลอะห์กาม, เล่ม 6, หน้า 329

(9). อัลกาฟี, เล่ม 4, หน้า 11

(10). อัลกุรอานบทอันนะฮ์ลุ โองการที่ 71

(11). ตัฟซีร อัลกุมมี, เล่ม 1, หน้า 387

(12).มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, มุฮัดดิษนูรี, เล่ม 3, หน้า 254-255

(13). อัลญามิอุซซอฆีร, เล่ม 1, หน้า 73

(14). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 73

(15). อัลกาฟี, เล่ม 4, หน้า 12

(16). อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 299

(17). ญามิอุลอัคบาร, หน้า 103

(18). อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.), เล่ม 2, หน้า 38

(19). บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 66, หน้า 396

(20). อัลกาฟี, เล่ม 8, หน้า 69

(21). อัลกาฟี, เล่ม 8, หน้า 219

(22). ญามิอุลอัคบาร, หน้า 91

(23). อัลกาฟี, เล่ม 4, หน้า 12

(24). ดะอาอิมุลอิสลาม, เล่ม 2, หน้า 193

(25). อิลัลุชชะรอเยี๊ยะอ์, หน้า 310

(26). อัลญามิอุซซอฆีร, เล่ม 2, หน้า 77

(27). มัจญ์มะอุซซะวาอิด, เล่ม 8, หน้า 25


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 450 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์