ลูกๆ คือความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) ความโปรดปรานและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า (1) และบิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต การให้การศึกษาและการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) พวกเขา (2) และในการให้การอบรมขัดเกลาที่ดีแก่พวกเขานั้น บิดามารดาจะได้รับรางวัลตอบแทน (3) และสำหรับการให้การศึกษาอบรมที่ไม่ดีแก่พวกเขาก็จะได้รับโทษทัณฑ์ตอบแทน (4)
ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลายของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ถือว่าลูกนั้นมีสิทธิต่างๆ เหนือบิดาและมารดาของตนซึ่งได้แก่ :
- การเลือกชื่อที่ดีให้แก่เขา
- การให้เกียรติมารดาของเขา
- การให้ความสำคัญในเรื่องชาติตระกูล (คุณสมบัติที่ดีพร้อม) ของบิดาและมารดาของเขา
- สุขภาพและพลานามัย (ความสะอาดและการขลิบหนังปลายอวัยวะ) ของเขา
- โภชนาการที่เหมาะสม
- การให้ศึกษาและการอบรมขัดเกลาเขา
- การแสดงความรักและความเมตตาต่อเขา
- การให้เกียรติเขา
- การช่วยเหลือเขาในการกระทำงานความดี
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
حَقُّ الْوَلَدِ عَلَى وَالِدِهِ إِذَا كَانَ ذَكَراً أَنْ يَسْتَفْرِهَ أُمَّهُ، وَيَسْتَحْسِنَ اسْمَهُ، وَيُعَلِّمَهُ كِتَابَ اللَّهِ، وَيُطَهِّرَهُ، وَيُعَلِّمَهُ السِّبَاحَةَ. وَإِذَا كَانَتْ أُنْثَى أَنْ يَسْتَفْرِهَ أُمَّهَا، وَيَسْتَحْسِنَ اسْمَهَا، وَيُعَلِّمَهَا سُورَةَ النُّورِ، وَلَا يُعَلِّمَهَا سُورَةَ يُوسُفَ، وَلَا يُنْزِلَهَا الْغُرَفَ وَيُعَجِّلَ سَرَاحَهَا إِلَى بَيْتِ زَوْجِهَا
"สิทธิของลูกที่มีเหนือบิดาของเขา หากเขาเป็นผู้ชายคือการที่ (บิดาของ) เขาจะให้เกียรติมารดาของเขา ตั้งชื่อที่สวยงามแก่เขา สอนคัมภีร์ของอัลลอฮ์แก่เขา ทำให้เขาสะอาดบริสุทธิ์ (ด้วยการขลิบ สุขอนามัยและการอบรมขัดเกลาที่ดี) และสอนให้เขาว่ายน้ำ และหากเป็นผู้หญิง คือ การที่ (บิดา) จะให้เกียรติมารดาของเธอ ตั้งชื่อที่สวยงามให้แก่เธอ สอนอัลกุรอานบท (อัลกุรอานบท) อันนูร แก่เธอ แต่อย่าสอนบทยูซุฟแก่เธอ อย่าให้เธอใช้ชีวิตอยู่ในห้อง (ชั้นบนของบ้าน) ทั้งหลาย (เป็นการชี้ถึงประเด็นที่ว่า สภาพแวดล้อมของการดำเนินชีวิตของลูกสาวนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงจากสายตาและการสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า) และจะต้องรีบเร่งจัดการ (สมรสและ) ส่งเธอไปยังบ้านสามีของเธอ" (5)
ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า : “
وَ أَمّا حَقّ وَلَدِكَ فَتَعْلَمُ أَنّهُ مِنْكَ وَ مُضَافٌ إِلَيْكَ فِي عَاجِلِ الدّنْيَا بِخَيْرِهِ وَ شَرّهِ
"และส่วนสิทธิของลูกของเจ้านั้น คือการที่เจ้าจะรับรู้ว่า เขามาจากเจ้าและความดีงามและความเลวร้ายของเขาในโลกนี้ ซึ่งเกี่ยวพันกับเจ้า" (6)
สุขอนามัยของเด็ก
สุขภาพทางด้านเพศสัมพันธ์ของเด็ก : ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :
لَا يَجَامِعِ الرَّجُلُ امْرَئَتَهُ أَوْ جَارِيَتَهُ وَ فِي الْبَيْتِ صَبِيٌّ فَإِنَّ ذَلِكَ مِمَّا يُوْرِثُ الزِّنَا
“ผู้ชายจงอย่าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาหรือทาสหญิงของตนในขณะที่เด็กอยู่ในห้อง เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นสื่อนำไปสู่ความเบี่ยงเบนทางเพศ (ซินา) ของเด็ก” (7)
การป้องกันโรคและความป่วยไข้ : ส่วนหนึ่งจากกรณีต่างๆ จากสิทธิของเด็กคือการป้องกันโรคบางอย่าง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : “การร่วมเพศสัมพันธ์ของผู้ชายกับภรรยาของตนในสภาพที่นางมีประจำเดือนนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) และหากกระทำเช่นนั้นแล้วบุตรของตนจะถือกำเนิดขึ้นมาในสภาพที่ประสบกับโรคเรื้อน ดังนั้นจงอย่าได้ตำหนิผู้ใดนอกจากตัวเอง ....และไม่สมควร (มักรูห์) ที่ผู้ชายจะร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนในสภาพที่หลับฝันเปียก จนกว่าเขาจะทำฆุซุล (อาบน้ำชำระร่างกายตามศาสนบัญญัติ) เสียก่อน หากเขากระทำเช่นนั้นแล้วลูกได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสภาพที่ประสบกับโรควิกลจริต ดังนั้นจงอย่าได้ตำหนิผู้ใดนอกจากตัวเอง” (8)
ส่วนหนึ่งกรณีของการป้องกันโรคคือการละทิ้งการร่วมเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาเฉพาะต่างๆ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :
يَا عَلِيُّ! لَا تُجَامِعْ أَهْلَكَ لَيْلَةَ النِّصْفِ وَ لَا لَيْلَةَ الْهِلَالِ أَ مَا رَأَيْتَ الْمَجْنُوْنَ يَسْرَعُ فِيْ لَيْلَةَ الْهِلَالِ وَ لَيْلَةِ النِّصْفِ كَثِيْرًا
“โอ้อะลี! จงอย่าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเจ้าในช่วงคืนกลางเดือนและคืนแรกของเดือน (จันทรคติ) เจ้าไม่เห็นหรอกหรือว่า ส่วนมากคนวิกลจริตจะชักหมดสติในคืนแรกของเดือนและคืนกลางเดือน” (9)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า : “จงอย่าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเจ้าในช่วงวันแรก ช่วงกลางและช่วงวันสุดท้ายของเดือน (จันทรคติ) เพราะแท้จริงผู้ใดก็ตามที่กระทำเช่นนั้นเขาจงพร้อมยอมรับการแท้งบุตรเถิด” จากนั้นท่านกล่าวว่า : “และบางทีลูกของเขาอาจจะเป็นคนวิกลจริต” (10)
อย่างไรก็ดีบนพื้นฐานของริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นค่ำคืนแรกของเดือนรอมฎอนได้ถูกยกเว้นจากการห้ามดังกล่าวนี้ (11)
ส่วนหนึ่งจากกรณีของการป้องกันโรคภัยของเด็กคือการละทิ้งจากการพูดคุยกับภรรยาในระหว่างการร่วมเพศสัมพันธ์ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ห้ามการพูดคุยกับภรรยาในขณะร่วมเพศสัมพันธ์ เนื่องจากจะเป็นสาเหตุทำให้ลูกที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นคนใบ้ (12)
การชำระล้างร่างกาย : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
اغْسِلُوا صِبْیَانَکُمْ مِنَ الْغَمَرِ فَإِنَّ الشَّیْطَانَ یَشَمُّ الْغَمَرَ، فَیَفْزَعُ الصَّبِیَّ فِی رُقَادِهِ وَ یُتَأَذَّی بِهِ الْکَاتِبَانِ
"ท่านทั้งหลายจงชำระล้างร่างกายลูกๆ ของพวกท่านจากสิ่งเปรอะเปื้อน (ที่เกิดจากไขมันและอาหาร) เพราะมาร (ชัยฏอน) จะดอมดม (กลิ่นของสิ่ง) เปรอะเปื้อนนั้น อันจะเป็นเหตุให้เด็กหวาดกลัวในขณะการนอนหลับของเขาและจะทำให้ทูตสวรรค์ (มะลาอิกะฮ์) ได้รับการรบกวน" (13)
การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของเด็กผู้ชาย : ส่วนหนึ่งจากประเด็นเกี่ยวกับสุขอนามัยของเด็ก คือ ซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ในการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของผู้ชาย มีรายงานจากบรรดามะอ์ซุม ผู้บริสุทธิ์ (อ.) ซึ่งกล่าวว่า :
اخْتِنُوا أَوْلَادَکُمْ یَوْمَ السَّابِعِ يَطْهَرُوْا
“ท่านทั้งหลายจงขลิบขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะของลูกชายของพวกท่านในวันที่เจ็ด (ของวันเกิดของพวกเขา) เพื่อพวกเขาจะได้สะอาด" (14)
การป้องกันเด็กด้วยปัจจัยต่างๆ ทางด้านจิตวิญญา : หนึ่งในปัจจัยการป้องกันทางจิตวิญญาณสำหรับลูกๆ คือการกล่าว “อะซาน” ลงในหูขวาและการกล่าว “อิกอมะฮ์” ลงในหูซ้ายของเด็ก
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
يَا عَلِيُّ! إِذَا وُلِدَ لَكَ غُلَامٌ أَوْ جَارِيَةٌ فَأَذِّنْ فِيْ أُذُنِهِ الْيُمْنَى وَأَقِمْ فِي الْيُسْرَى ، فَإِنَّهُ لَا يَضُرُّهُ الشَيْطَانِ أَبَدًا
"โอ้อะลี! เมื่อใดก็ตามที่ลูกชายหรือลูกสาวของเจ้าได้ถือกำเนิดขึ้นมา ดังนั้นจงอะซานในหูข้างขวาของเขาและจงอิกอมะฮ์ในหูซ้ายของเขา เพราะแท้จริง (ด้วยการกระทำดังกล่าว) ชัยฏอน (มารร้าย) จะไม่ทำอันตรายเขาได้ตลอดไป” (15)
และท่านยังได้กล่าวอีกว่า : "โอ้อะลี! เมื่อใดก็ตามที่เจ้าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเจ้า ดังนั้นเจ้าจงกล่าวว่า :
بِسْمِ اللَّهِ ، اللَّهُمَّ جَنِّبْنَا الشَّيْطَانَ ، وَجَنِّبِ الشَّيْطَانَ مَا رَزَقْتَنَا
(บิสมิลลาฮิ, อัลลอฮุมมะ ญันนิบนัชชัยฏอนะ, วะญันนิบิชัยฏอนะ มาร่อซะก้อนา)
“ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ โอ้อัลลอฮ์! โปรดทำให้ชัยฏอนออกห่างจากพวกเรา และโปรดทำให้ชัยฏอนออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่พวกเรา”
ดังนั้นหากการมีบุตรได้ถูกกำหนดแก่เจ้าทั้งสอง ชัยฏอนจะไม่ทำอันตรายเขาได้ตลอดไป" (16)
การให้อาหารแก่บุตร
สิทธิในการให้อาหาร : การให้อาหารแก่เด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยดื่มนมนั้น เป็นประเด็นที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดบทบัญญัติเฉพาะไว้กับเรื่องนี้ในคัมภีร์อัลกุรอานพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า :
وَالْوَالِدَاتُ يُرْضِعْنَ أَوْلَادَهُنَّ حَوْلَيْنِ كَامِلَيْنِ لِمَنْ أَرَادَ أَن يُتِمَّ الرَّضَاعَةَ وَعَلَى الْمَوْلُودِ لَهُ رِزْقُهُنَّ وَكِسْوَتُهُنَّ بِالْمَعْرُوفِ
“และมารดาทั้งหลายนั้น (แม้จะหย่าขาดจากสามีแล้วก็ตาม) นางจะให้นมแก่ลูกๆ ของนางในระยะเวลาสองปีเต็ม สำหรับผู้ที่ต้องการจะให้ครบถ้วนในการให้นม และหน้าที่ของพ่อเด็กนั้นคือ (การสนองตอบ) ปัจจัยยังชีพของพวกนางและเครื่องนุ่งห่มของพวกนางโดยชอบธรรม” (17)
รางวัลตอบแทนของการให้นมลูก : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
إذا حَمَلَتِ المَرأَةُ کانَت بِمَنزِلَةِ الصّائِمِ القائِمِ المُجاهِدِ بِنَفسِهِ ومالِهِ فی سَبیلِ اللّه، فَإِذا وَضَعَت کانَ لَها مِنَ الأَجرِ ما لا تَدری ما هُوَ لِعِظَمِهِ، فَإِذا أرضَعَت کانَ لَها بِکلِّ مَصَّةٍ کعِدلِ عِتقِ مُحَرَّرٍ مِن وُلدِ إسماعیلَ، فَإِذا فَرَغَت مِن رِضاعِهِ ضَرَبَ مَلَكٌ عَلی جَنبِها وقالَ: اِستَأنِفِی العَمَلَ، فَقَد غُفِرَ لَكِ
"เมื่อหญิงได้ตั้งครรภ์ นางจะอยู่ในฐานะเดียวกับผู้ถือศีลอด ผู้ดำรงนมาซ ผู้ที่ต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ด้วยชีวิตและทรัพย์สินของเขา และเมื่อนางได้ให้กำเนิดบุตรนางจะได้รับรางวัลโดยที่ไม่มีใครรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของรางวัลนั้นได้! และเมื่อนางให้นมบุตรรางวัลของนางในทุกครั้งของการดูดดื่มนั้น จะเท่ากับการปล่อยทาสหนึ่งคนจากลูกหลานของอิสมาอีล (อ) และเมื่อการให้นมบุตรสิ้นสุดลงทูตสวรรค์ (มะลาอิกะฮ์) จะตบลงสีข้างของนางและกล่าวว่า : "พระเจ้าได้ทรงให้อภัยโทษแก่เธอแล้ว ดังนั้นเริ่มต้นการกระทำใหม่เถิด" (18)
การให้ศึกษาและการอบรมขัดเกลาบุตร
เกี่ยวกับการให้การศึกษาและการอบรมขัดเกลาบุตรนั้นมีหลายที่อิสลามให้ความสำคัญ :
- ความรู้และคำสอนต่างๆ ทางด้านศาสนา อย่างเช่น หลักการศรัทธา, จริยธรรม, การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน, การเรียนรู้บทบัญญัติ (อะห์กาม) และการปฏิบัติอิบาดะฮ์ต่างๆ
- มารยาทและทักษะต่างๆ ทางสังคม
- มารยาทและทักษะต่างๆ ในการป้องกันตน ซึ่งบางส่วนได้กล่าวไปแล้วซึ่งเราจะชี้ถึงอีกบางส่วนในที่นี้
รางวัลของการสอนอัลกุรอานและบทบัญญัติของศาสนา
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنْ عَلَّمَهُ الْقُرْآنَ دُعِيَ بِالْأَبَوَيْنِ فَيُكْسَيَانِ حُلَّتَيْنِ يُضِيءُ مِنْ نُورِهِمَا وُجُوهُ أَهْلِ الْجَنَّةِ
"ผู้ใดสอนอัลกุรอานแก่ลูกของเขา บิดามารดาของเขาจะถูกเรียก (ในวันกิยามะฮ์) แล้วคนทั้งสองจะได้รับการสวมใส่เสื้อคลุมสองชิ้น โดยที่ใบหน้าของชาวสวรรค์จะได้รับแสงที่ส่องประกายจากรัศมีของบุคคลทั้งสอง" (19)
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : "อัลกุรอานจะนำพาชายผู้ซีดเซียวมาในวันกิยามะฮ์ และจะทูลต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า : “โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! บุคคลนี้เป็นคนที่ข้าฯ ได้ทำให้เขากระหายในยามกลางวัน และทำให้เขาอดหลับอดนอนในยามกลางคืนของเขา และข้าฯ ได้ทำให้ความปรารถนาของเขาต่อความเมตตาของพระองค์เกิดความเข้มแข็ง และข้าฯ ได้ทำให้ความหวังของเขาต่อการอภัยโทษของพระองค์เปิดกว้างขึ้น ดังนั้นขอพระองค์ทรงพิจารณาไปตามความคาดหวังของข้าฯ และความคาดหวังของเขาในพระองค์เถิด พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัส (กับทวยเทพ) ว่า : พวกเจ้าจงมอบอำนาจปกครอง (มุลก์) ในมือขวาของเขาและความเป็นอมตะ (คุลด์) ในมือซ้ายของเขาเถิด และจงทำให้เขาอยู่ร่วมกับบรรดาสาวสวรรค์ (ฮุรุลอีน) ผู้เป็นคู่ครองของเขาเถิด และจงสวมใส่เสื้อคลุมเครื่องประดับแก่บิดามารดาของเขา ซึ่งมีค่ามากยิ่งกว่าโลกทั้งหมดและสิ่งที่อยู่ในมัน ดังนั้นผู้คนทั้งหลายในวันกิยามะฮ์จะมองไปยังบิดามารดาของเขาและยกย่องให้เกียรติคนทั้งสอง และตัวเขาเองจะมองไปยังบุคคลทั้งสองและจะประหลาดใจในตำแหน่งของพวกเขา แล้วพวกเขาทั้งหมดจะทูลถามว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าฯ ! ความยิ่งใหญ่นี้มาจากไหน แล้วไฉนการกระทำ (อะมัล) ทั้งหลายของเหล่าข้าฯ จึงไปไม่ถึงมัน?" .... พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสกับคนทั้งสองว่า : ความยิ่งใหญ่นี้เกิดจากการที่เจ้าทั้งสองได้สอนอัลกุรอานให้กับลูกของพวกเจ้าและการอบรมขัดเกลาเขาบนพื้นฐานของศาสนาอิสลาม ความรักที่มีต่อศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และอะลี (อ.) ผู้เป็นวะลีย์ของอัลลอฮ์" (20)
โทษทัณฑ์ของการละทิ้งการให้การศึกษาด้านศาสนาแก่ลูกๆ
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มองไปยังเด็กบางคนแล้วกล่าวว่า : "ความวิบัติจะประสบกับลูกๆ ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) อันเกิดจากบิดาของพวกเขา!" มีผู้ถามว่า : “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! จากบรรดาบิดาที่เป็นผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ของพวกเขากระนั้นหรือ?” ท่านกล่าวตอบว่า : “ไม่ใช่! แต่เกิดจากบรรดาบิดาที่เป็นผู้ศรัทธาของพวกเขาที่ไม่สอนสิ่งเกี่ยวกับข้อบังคับทางศาสนาให้แก่พวกเขา และเมื่อลูกๆ ของพวกเขาจะเรียนรู้ พวกเขาก็จะห้ามลูกๆ ของตน และพึงพอใจต่อพวกเขากับผลประโยชน์อันน้อยนิด จากโลกนี้เพียงเท่านั้น ดังนั้นฉันไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับพวกเขาและพวกเขาก็ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับฉัน" (21)
การสอนทักษะการป้องกันตัวและทักษะทางสังคม
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
عَلِّمُوْا أَوْلَادَكُمْ بِالسَّبَاحِةِ وَالرَّمَايَةِ
“จงสอนลูกๆ ของพวกท่านให้ว่ายน้ำและยิงธนูเถิด” (22)
นอกจากนี้ท่านได้กล่าวว่า :
أَكْرِمُوا أَوْلادَكُمْ وَأَحْسِنُوا آدابَهُمْ يُغْفَرْ لَكُمْ
“ท่านทั้งหลายจงให้เกียรติลูกๆ ของพวกท่านและจงสอนมารยาทที่ดีแก่พวกเขา แล้วพวกท่านจะได้รับการอภัยโทษ” (23)
และท่านได้กล่าวอีกว่า :
يَا عَلِيُّ! حَقُّ الْوَلَدِ عَلَى وَالِدِهِ أَنْ يُحْسِنَ...آدَابَهُ وَ يَضَعَهُ مَوْضِعًا صَالِحًا
“โอ้อะลี! สิทธิของลูกที่มีเหนือบิดาของเขา คือ การสอนมารยาทที่ดีงามแก่เขา และวางเขาในตำแหน่งที่คู่ควร (ซอและห์)” (24)
การแสดงความเมตตาต่อลูกๆ
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
مَنْ قَبَّلَ وَلَدَهُ كَتَبَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ لَهُ حَسَنَةً
“ผู้ใดก็ตามที่จูบลูกของเขา อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกรจะทรงบันทึกความดีงามหนึ่งแก่เขา” (25)
ท่านยังได้กล่าวอีกว่า :
أَكْثِرُوْا مِنْ قُبْلَةِ أَولادِكُمْ فَإِنَّ لَكُمْ بِكُلِّ قُبْلَةٍ دَرَجَةً فِي الْجَنَّةِ مَسِيْرَةِ خَمْسِمِائَةِ عَامٍ
“ท่านทั้งหลายจงจูบลูกๆ ของพวกท่านให้มาก เพราะแท้จริงด้วยกับทุกการจูบจะได้รับฐานันดรหนึ่งสำหรับพวกท่านในสวรรค์ ซึ่งมีระยะทางห้าร้อยปี” (26)
ปัจจุบันนี้ด้วยกับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความสำคัญของของการแสดงออกซึ่งความรัก ความเมตตาเอ็นดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของการจูบลูกๆ ในการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) และการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีงามแก่พวกเขา
อับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอูดได้เล่าว่า : ฉันอยู่กับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทันใดนั้น ฮุเซน บุตรของท่านอะลี (อ.) ก็ได้เข้ามา ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงได้จับตัวเขาไว้ แล้วท่านก็จูบเขา ... และได้วางริมฝีปากของท่านลงบนริมฝีปากของเขา แล้วท่านก็กล่าวว่า :
أَللَّهُمَّ إِنِّيْ أُحِبُّهُ فَأَحِبَّهُ وَأَحِبَّ مَنْ يُحِبُّهُ
“โอ้อัลลอฮ์! แท้จริงข้าพระองค์รักเขา ดังนั้นขอพระองค์ทรงโปรดรักเขาด้วยเถิด และทรงโปรดรักบุคคลที่รักเขาด้วยเถิด” (27)
หมายเหตุ : จากฮะดีษ (วจนะ) บทนี้และดุอาอ์ (คำวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้า) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในฮะดีษบทนี้ ทำให้รับรู้ได้ว่า คำกำชับสั่งเสียของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ก็คือให้เราทุกคนอบรมขัดเกลาลูกๆ ของของตนให้เป็นผู้ที่รักท่านอิมามฮุเซน (อ.) และลูกคนใดก็ตามที่เป็นผู้ที่รักท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ก็จะได้รับผลจากดุอาอ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ด้วย
โทษทัณฑ์ของการไม่แสดงความรักและความเมตตาต่อบุตร
วันหนึ่งท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้จูบท่านอิมามฮะซันและท่านอิมามฮุเซน (อ.) ชายผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า อุยัยนะฮ์ หรือในบางรายงานคือ อัลอักเราะอ์ บินฮาบิซ ได้กล่าวต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า : “ข้าพเจ้ามีลูกสิบคน ข้าพเจ้าไม่เคยจูบคนใดจากพวกเขาเลย” ดังนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :
مَنْ لَا يَرْحَمْ لَا يُرْحَمْ
“ผู้ใดก็ตามที่ไม่มีความเมตตา เขาก็จะไม่ได้รับความเมตตา”
ในอีกริวายะฮ์ (คำรายงาน) หนึ่งจาก “ฮัฟศ์ อัลฟัรรออ์” เขากล่าวว่า : ดังนั้นท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงโกรธ จนกระทั่งว่าใบหน้าของท่านมีสีซีดเผือด และท่านได้กล่าวกับชายผู้นั้นว่า :
إِنْ كَانَ اللَّهُ قَدْ نَزَعَ الرَّحْمَةَ مِنْ قَلْبِكَ فِمَا أَصْنَعُ بِكَ؟ مَنْ لَمْ يَرْحَمْ صَغِيْرَنَا وَ لَمْ يُعَزِّزْ كَبِيْرَنَا فَلَيْسَ مِنَّا
“หากอัลลอฮ์ได้ทรงถอดถอนความเมตตาออกจากหัวใจของเจ้า แล้วฉันจะช่วยอะไรกับเจ้าได้? ผู้ใดก็ตามที่ไม่เมตตาเด็กของพวกเราและไม่เคารพให้เกียรติผู้ใหญ่ของพวกเรา ดังนั้นเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากเรา (ชาวมุสลิม)” (28)
การให้เกียรติต่อบุตร
เกียรติและศักดิ์ศรีเป็นหนึ่งจากปัจจัยที่สำคัญของการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่สมบูรณ์และการพฤติกรรมที่ดีงาม ดังวจนะของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่กล่าวว่า :
مَنْ كَرُمَتْ عَلَيْهِ نَفْسُهُ هَانَتْ عَلَيْهِ شَهْوَتُهُ
“ผู้ใดก็ตามที่ (เห็น) ตัวเขาของมีเกียรติ อารมณ์ฝ่ายต่ำของเขาก็จะไม่มีค่าใดๆ สำหรับเขา” (29)
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ที่ควบคู่ไปกับการแสดงความเมตตาและความเอ็นดูต่อลูกๆ แล้วยังจำเป็นที่เราจะต้องเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งความรู้สึกถึงเกียรติและศักดิ์ศรีให้เกิดขึ้นในตัวลูกๆ ของเราด้วย
ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
أَكْرِمُوا أَوْلادَكُمْ وَأَحْسِنُوا آدابَهُمْ يُغْفَرْ لَكُمْ
“ท่านทั้งหลายจงให้เกียรติลูกๆ ของพวกท่านและจงอบรมมารยาทที่ดีงามแก่พวกเขา แล้วพวกท่านจะได้รับการอภัยโทษ” (30)
การให้เกียรติลูกด้วยการตั้งชื่อที่ดี
ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
إِنَّ أَوَّلَ مَا يَنْحَلُ بِهِ أَحَدُكُمْ وَلَدَهُ الْإِسْمُ الْحَسَنُ فَلْيُحْسِنْ أَحَدُكُمُ اسْمَ وَلَدِهِ
“แท้จริงของขวัญชิ้นแรกที่ (พ่อ) คนหนึ่งคนใดจากพวกท่านจะมอบให้แก่ลูกของตน คือชื่อที่ดี ดังนั้นแต่ละคนจากพวกท่านจงตั้งชื่อที่ดีแก่ลูกของตนเถิด” (31)
และท่านยังได้กล่าวอีกว่า :
إِذَا سَمَّيْتُمُ الْوَلَدَ مُحَمَّدًا فَأَكْرِمُوْهُ وَ أَوْسِعُوْا لَهُ فِي الْمَجَالِسِ وَلَا تُقَبِّحُوْا لَهُ وَجْهًا
“เมื่อใดก็ตามที่พวกท่านตั้งชื่อลูกชายว่า “มุฮัมมัด” ดังนั้นพวกท่านก็จงให้เกียรติพวกเขาและจงเปิดที่ให้แก่เขาในสถานที่นั่งชุมนุมต่างๆ และอย่าทำหน้าที่น่ารังเกียจใส่เขา” (32)
รางวัลของการตั้งชื่อด้วยชื่อของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
مَا مِنْ مَائِدَةٍ وُضِعَتْ وَ حَضَرَ عَلَيْهَا مَنِ اسْمُهُ أَحْمَدُ أَوْ مُحَمَّدٌ إلَّا قُدِّسَ ذَلِكَ الْمَنْزِلُ فِي كُلِّ يَوْمٍ مَرَّتَيْنِ
“ไม่มีสำรับอาหารใดที่ถูกวางและบุคคลที่มีชื่อว่าอะห์มัดหรือมุฮัมมัดได้เข้าร่วมในสำรับอาหารนั้น เว้นแต่ว่าบ้านหลังนั้นจะถูกทำให้บริสุทธิ์สองครั้งในทุกวัน” (33)
การแต่งงานของลูก
ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
مِنْ حَقِّ الْوَلَدِ عَلَى وَالِدِهِ ثَلَاثَةٌ يُحَسِّنُ اسْمَهُ وَ يُعَلِّمُهُ الْكِتَابَةَ وَ يُزَوِّجُهُ إِذَا بَلَغَ
“ส่วนหนึ่งจากสิทธิของลูกเหนือบิดาของเขามีสามประการคือ เขาจะตั้งชื่อที่ดีแก่ลูกของเขา สอนคัมภีร์อัลกุรอานแก่เขาและแต่งงานให้แก่เขาเมื่อเขาบรรลุนิติภาวะ” (34)
การช่วยเหลือลูก
ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
رَحِمَ اللَّهُ مَنْ أَعَانَ وَلَدَهُ عَلَى بِرِّهِ. قَالَ : قُلْتُ : وَ كَيْفَ يُعِينُهُ عَلَى بِرِّهِ؟ قَالَ : يَقْبَلُ مَيْسُورَهُ ، وَ يَتَجَاوَزُ عَنْ مَعْسُورِهِ.
“ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาผู้ที่ช่วยเหลือลูกของเขาในการทำดีต่อเขา” ผู้รายงานได้กล่าวว่า : “เขาจะช่วยเหลือลูกในการทำดีต่อเขาได้อย่างไร?” ท่านกล่าวว่า : “ยอมรับสิ่งที่ง่าย (ต่อการปฏิบัติ) ของเขาและมองข้าม (ไม่เอาโทษ) จากจากสิ่งที่ยาก (ต่อการปฏิบัติ) ของเขา” (35)
การระวังรักษาความเท่าเทียมกันระหว่างลูกๆ
ท่านศาสทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
سَوَّوْا بَيْنَ أَوْلَادِكُمْ بِالْعَطَيَّةِ
“ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในระหว่างลูกๆ ของพวกท่านในเรื่องการให้” (36)
และยังมีรายงานอีกเช่นกันว่า :
أَنَّ النَّبِيِّ (صلى الله عليه و آله) أَبْصِرَ رَجُلًا لَهُ وَلَدَيْنِ فَقَبَّلَ أَحَدَهُمَا وَ تَرَكَ الْآخَرَ، فَقَالَ رَسُوْلُ اللَّهِ (صلى الله عليه و آله) : فَهَلَّا وَاسَيْتَ بَيْنَهُمَا
“ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มองดูชายคนหนึ่งซึ่งมีลูกสองคน โดยที่เขาได้จูบคนหนึ่งและละทิ้งจากการจูบอีกคนหนึ่ง ดังนั้นท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าว (กับเขา) ว่า : แล้วทำไมท่านจึงไม่ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในระหว่างทั้งสองคน” (37)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
إِعْدِلُوْا بَيْنَ أَوْلَادِكُمْ (فِي السِّرِّ) كَمَا تُحِبُّوْنَ أَنْ يَعْدِلُوْا بَيْنَكُمْ فِي الْبِرِّ وَ اللُّطْفِ
“ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติด้วยความยุติธรรมระหว่างลูกๆ (แม้ในที่ลับ) เช่นเดียวกับที่พวกท่านปรารถนาจะให้พวกเขาปฏิบัติด้วยความยุติธรรมระหว่างพวกท่านในเรื่องของการทำดีและความเมตตา” (38)
การให้ความสำคัญกับการทำดีต่อลูกผู้หญิงก่อน
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า:
مَنْ دَخَلَ اَلسُّوقَ فَاشْتَرَى تُحْفَةً فَحَمَلَهَا إِلَى عِيَالِهِ كَانَ كَحَامِلِ صَدَقَةٍ إِلَى قَوْمٍ مَحَاوِيجَ وَ لْيَبْدَأْ بِالْإِنَاثِ قَبْلَ اَلذُّكُورِ فَإِنَّ مَنْ فَرَّحَ أُنْثَىهُ فَكَأَنَّمَا أَعْتَقَ رَقَبَةً مِنْ وُلْدِ إِسْمَاعِيلَ
“ผู้ใดก็ตามที่เข้าตลาดและซื้อของฝากแล้วนำไปมอบให้แก่ครอบครัวของตน ก็ประหนึ่งดั่งผู้ที่นำซอดะเกาะฮ์ (ทาน) ไปมอบให้แก่กลุ่มชนที่ขัดสน และเขาจงเริ่มให้กับลูกๆ ผู้หญิงก่อนลูกๆ ผู้ชาย เพราะแท้จริงผู้ใดก็ตามที่ทำให้ลูกผู้หญิงของตนดีใจ ก็ประหนึ่งดั่งว่าเขาได้ปลดปล่อยทาสคนหนึ่งจากลูกหลายของอิสมาอีล (อ.)” (39)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยังได้กล่าวอีกว่า :
سَوَّوْا بَيْنَ أَوْلَادِكُمْ بِالْعَطَيَّةِ ، وَ لَوْ كُنْتَ مُفَضِّلًا أَحَدًا لَفَضَّلْتَ الْإِنَاثَ
“ท่านทั้งหลายจงให้ของขวัญอย่างเท่าเทียมกันในระหว่างลูกๆ ของพวกท่าน และหากท่านจะให้ใครมากกว่า ดังนั้นก็จงให้ลูกๆ ผู้หญิงมากกว่า” (40)
เชิงอรรถ :
(1). อัลกุรอานบทอันนะห์ลุ โองการที่ 72; อัลกุรอานบทอัชชุอะรออ์ โองการที่ 133
(2). อัลกุรอานบทอัตตะห์รีม โองการที่ 6; อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 233
(3). อัลกุรอานบทมัรยัม โองการที่ 55
(4). อัลกุรอานบทอัชชูรอ โองการที่ 45
(5). อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 29
(6). อัลฟะกีฮ์, เล่ม 2, หน้า 622
(7).อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 499
(8). อิละลุชชะรอเยี๊ยะอ์, หน้า 514
(9). ตุหะฟุลอุกูล, หน้า 12 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 20, หน้า 131
(10). วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 20, หน้า 129
(11). อัลกาฟี, เล่ม 4, หน้า 180
(12). อัลคิซ้อล, หน้า 520
(13). อุยูน อัคยาร อัรริฎอ (อ.), เล่ม 2, หน้า 69
(14). อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 35
(15). ตุหะฟุลอุกูล, หน้า 13
(16). ตุหะฟุ้ลอุกูล, หน้า 12
(17). อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 233
(18). อัลอามาลี, เชคซุดูก, หน้า 411-412
(19).อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 49
(20). บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 89, หน้า 32
(21). ญามิอุลอัคบาร, หน้า 106
(22). อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 47
(23). มะการิมุลอัคลาก, หน้า 222
(24). อัลฟะกีฮ์, เล่ม 4, หน้า 49
(25). อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 49
(26). เราฎ้อตุลวาอิซีน, หน้า 369
(27). กิฟายะตุ้ลอะซัร, หน้า 81
(28).บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 43, หน้า 282-283
(29). ฆุร่อรุลหิกัม, หน้าที่ 231
(30). มะการิมุลอัคลาก, หน้า 222
(31). อันนะวาดิร, หน้า 6
(32). อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.), เล่ม 2, หน้า 29
(33).อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.), เล่ม 2, หน้า 29
(34). เราฏอตุลวาอิซีน, หน้า 369
(35). กิตาบุซซะรออิร, เล่ม 3, หน้า 595
(36). อัลคิลาฟ, เชคฏูซี, เล่ม 3, หน้า 564
(37). อัลญะอ์ฟะรียาต, หน้า 55
(38).มะการิมุลอัคลาก, หน้า 220
(39). อัลอามาลี, เชคซุดูก, หน้า 577
(40). อัลคิลาฟ, เชคฏูซี, เล่ม 3, หน้า 564
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่