คนเราในความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของตนนั้น จำเป็นต้องมีคู่ครอง ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงห้ามสตรีที่จะละทิ้งจากการแต่งงานและคิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องมีสามี ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :
نَهَى رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه و آله النِّسَاءَ أَنْ يَتَبَتَّلْنَ وَ يُعَطِّلْنَ أَنْفُسَهُنَّ مِنَ الْأَزْوَاجِ
“ท่าศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ห้ามสตรีจากการที่พวกนางจะอยู่เป็นโสดและทำให้ตัวพวกนางมีชีวิตอยู่โดยปราศจากสามี” (1)
บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ บรรดาสตรีที่ไม่อดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ของการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่เนื่องจากเห็นว่าตนเองมีความพอเพียงทางการเงินหรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม พวกนางได้สูญเสียความดีงามต่างๆ อันยิ่งใหญ่ไปโดยที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาชดเชยได้
สตรีผู้หนึ่งได้กล่าวกับท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า : “ข้าพเจ้าคือสตรีที่ตัดขาดจากโลกนี้เพื่อมุ่งทำดีเพื่อปรโลก” ท่านอิมาม (อ.) จึงถามนางว่า : “จุดประสงค์จากคำพูดของเจ้านั้นคืออะไร?” นางกล่าวว่า : “ข้าพเจ้าจะไม่แต่งงาน” ท่านอิมาม (อ.) ถามต่ออีกว่า : “เพื่อเหตุผลอะไร?” นางกล่าวว่า : “เพื่อว่า ข้าพเจ้าจะแสวงหาความดีงามด้วยวิธีดังกล่าว” ดังนั้นท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวกับนางว่า :
انْصَرِفِي ، فَلَوْ كَانَ ذَلِكِ فَضْلًا ، لَكَانَتْ فَاطِمَةُ (عليها السلام) أَحَقَّ بِهِ مِنْكِ ، إِنَّهُ لَيْسَ أَحَدٌ يَسْبِقُهَا إِلَى الْفَضْلِ
“เจ้าจงเลิกจากความคิดเช่นนั้นเถิด เพราะหากสิ่งนั้น (การครองตนเป็นโสด) เป็นความดีงามแล้ว ฟาฏิมะฮ์ (อ.) ย่อมคู่ควรต่อสิ่งนั้นมากกว่าเจ้า เนื่องจากไม่มีผู้ใดที่ล้ำหน้านางในความดีงาม” (2)
การรีบเร่งในการจัดการแต่งงานให้กับลูกๆ ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งในคำสอนของศาสนา ดั่งที่ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวว่า : “ญิบรออีลได้ลงมายังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกล่าวว่า : โอ้มุฮัมมัด! แท้จริง พระผู้อภิบาลของท่านได้ฝากสลามมายังท่าน และพระองค์ทรงตรัสว่า : บรรดาหญิงสาวบริสุทธิ์นั้นเปรียบได้ดั่งผลไม้ที่อยู่บนต้นไม้ เมื่อผลไม้นั้นสุกแล้วหากไม่เก็บมัน ดวงอาทิตย์ก็จะทำให้มันเน่าเสียและกระแสลมก็จะเปลี่ยนสภาพมัน และแท้จริงบรรดาหญิงสาวบริสุทธิ์นั้น เมื่อพวกนางได้บรรลุสู่วัยสาว สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกนางก็คือการมีสามี และหากมิเช่นนั้นแล้วพวกนางก็จะไม่ปลอดภัยจากฟิตนะฮ์ (ความเสื่อมเสีย)” (3)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า :
مِنْ سَعَادَةِ اَلْمَرْءِ أَنْ لاَ تَطْمَثَ اِبْنَتُهُ فِي بَيْتِهِ
“ส่วนหนึ่งจากความโชคดีของชาย คือการที่ลูกสาวของเขาจะไม่มีระดูในบ้านของเขา” (4)
หน้าที่ของภรรยาที่มีต่อสามี : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
وَالْمَرْأَةُ رَاعِيَةٌ عَلَى بَيْتِ بَعْلِهَا وَوَلَدِهِ وَهِيَ مَسْئُولَةٌ عَنْهُمْ
“และผู้หญิงนั้น คือผู้ดูแลบ้านของสามีของนางและลูกๆ ของเขา และนางจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับพวกเขา” (5)
การให้ความเคารพต่อสามี : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
لَوْ أَمَرْتُ أحدًا أنْ يَسْجُدَ لأَحَدٍ لَأَمَرْتُ الْمَرْأَةَ أَنْ تَسْجُدَ لِزَوْجِهَا
“หากแม้นว่าฉันจะสั่งให้ใครกราบบุคคลใดแล้ว แน่นอนยิ่งฉันจะสั่งให้ผู้หญิงกราบสามีของนาง” (6)
การยิ้มแย้มให้กับสามี : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
إِنَّ الْمَرْأَةَ ... لَا يَحِلُّ لَهَا أَنْ يَنْظُرَ إِلَى وَجْهِهِ نَظْرَةً مُغْضِبَةٍ
“แท้จริงสตรีนั้น ...ไม่เป็นที่อนุมัติแก่นางที่จะมองไปยังใบหน้าของสามีด้วยการมองของผู้โกรธ” (7)
รางวัลของการปรนนิบัติสามี : บนพื้นฐานของบางริวายะฮ์ (คำรายงาน) การที่สตรีได้จัดเตรียมน้ำให้สามีของตนได้ดื่มนั้นจะได้รับผลรางวัลมากมายและจะถูกอภัยโทษแก่นางถึงหกสิบความผิดบาป (8)
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :
أيُّما امرَأةٍ خَدَمَتْ زَوجَها سَبعَةَ أيّامٍ ، غَلَّقَ اللّه عَنها سَبعةَ أبوابِ النارِ وفَتَحَ لَها ثمانِيَةَ أبوابِ الجَنَّةِ تَدخُلُ مِن أينَما شاءَتْ
“หญิงใดก็ตามที่ปรนนิบัติสามีของนางเป็นเวลาเจ็ดวัน อัลลอฮ์จะทรงปิดประตูทั้งเจ็ดของนรกจากนาง และจะทรงเปิดประตูทั้งแปดของสวรรค์แก่นาง โดยที่นางจะผ่านเข้าจากประตูใดก็ตามที่นางประสงค์” (9)
ท่านหญิงอุมมุซะลามะฮ์ได้ถามท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เกี่ยวกับความดีงามของภรรยาในการรับใช้สามี ท่านได้กล่าวว่า :
أيُّما امرَأةٍ رَفَعَتْ مِن بَيتِ زَوجِها شيئاً مِن مَوضِعٍ إلى مَوضِعٍ تُرِيدُ بهِ صَلاحاً إلّا نَظَرَ اللّهُ إلَيها ، ومَن نَظَرَ اللّهُ إلَيهِ لَم يُعَذِّبْهُ
“หญิงใดก็ตามที่ยกสิ่งหนึ่งในบ้านของสามีของนางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้น อัลลอฮ์จะทรงมองไปยังนาง และผู้ใดก็ตามที่อัลลอฮ์ทรงมองไปยังเขา พระองค์จะไม่ทรงสงโทษเขา” (10)
รางวัลของการเชื่อฟังสามี : ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : “ชายคนหนึ่งในยุคของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ออกเดินทางเพื่อกระทำสิ่งจำเป็นบางอย่างของตน และเขาได้เอาสัญญาจากภรรยาของตนว่า นางจะต้องไม่ออกจากบ้านของนางจนกว่าเขาจะกลับมาถึง แต่แล้วบิดาของนางได้ป่วย นางจึงได้ส่งจดหมายไปถึงท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และถามว่า : สามีของข้าพเจ้าได้ออกจากบ้านไปและรับคำมั่นสัญญาจากข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าจะต้องไม่ออกจากบ้านจนกว่าเขาจะกลับมา และตอนนี้บิดาของข้าพเจ้าป่วย ดังนั้นท่านจะออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมบิดาหรือไม่? ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวตอบว่า : ไม่! เจ้าจงอยู่ในบ้านของเจ้าเถิดและจงเชื่อฟังสามีของเจ้า หลังจากนั้นอาการป่วยของบิดาของนางได้หนักขึ้น นางจึงส่งจดหมายไปยังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นครั้งที่สองด้วยเนื้อหาเหมือนเช่นเดิมว่า : ท่านจะออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมท่านหรือไม่? ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ตอบว่า : เจ้าจงอยู่กับบ้านและจงเชื่อฟังสามีของเจ้าเถิด ต่อมาบิดาของเขาได้เสียชีวิต นางจึงได้ส่งจดหมายไปถามท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อีกครั้งว่า ตอนนี้บิดาของข้าพเจ้าได้เสียชีวิตแล้ว ดังนั้นท่านจะออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าไปนมาซมัยยิตให้แก่บิดาหรือไม่? ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวตอบนางว่า : ไม่! เจ้าจงอยู่ในบ้านของเจ้าและจงเชื่อฟังสามีของเจ้าเถิด หลังจากที่บิดาของนางได้ถูกฝัง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงได้ส่งข่าวไปบอกกับนางว่า : แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงอภัยโทษให้แก่เจ้าและบิดาของเจ้าแล้ว ด้วยผลของการที่เจ้าเชื่อฟังสามีของเจ้า” (11)
หมายเหตุ : คำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในประเด็นเฉพาะบุคคลผู้นี้ แม้จะเป็นประเด็นที่เป็นความลับและมีปริศนา ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์สากลสำหรับทุกบุคคล และสำหรับทุกช่วงเวลาได้ แต่โดยภาพรวมแล้วบ่งชี้ถึงความสำคัญของการเชื่อฟังสามีและผลรางวัลที่มากมายของมัน
รางวัลของการทำให้สามีพึงพอใจ : ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :
لاَ شَفِيعَ لِلْمَرْأَةِ أَنْجَحُ عِنْدَ رَبِّهَا مِنْ رِضَا زَوْجِهَا وَ لَمَّا مَاتَتْ فَاطِمَةُ عَلَيْهَا السَّلاَمُ قَامَ أَمِيرُ اَلْمُؤْمِنِينَ عَلَيْهِ السَّلاَمُ وَ قَالَ اَللَّهُمَّ إِنِّي رَاضٍ عَنِ اِبْنَةِ نَبِيِّكَ
“สำหรับสตรีนั้นไม่มีสื่อช่วยเหลือใดที่จะให้ผลสำเร็จได้ดียิ่ง ณ พระผู้อภิบาลของนางมากไปกว่าความพึงพอใจของสามีของนาง และเมื่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) เสียชีวิตลง ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ได้ยืนขึ้นและกล่าวว่า : โอ้อัลลอฮ์! แท้จริงข้าพระองค์พึงพอใจจากบุตรีของศาสดาของพระองค์” (12)
การทำดี การเชื่อฟังสามีและการมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเขานั้นมีความสำคัญถึงขั้นที่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้กล่าวถึงมันว่าเป็นการญิฮาดของสตรี ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
جِهَادُ الْمَرْأَةِ حُسْنُ التَّبَعُّلِ لِزَوْجِهَا
“การญิฮาดของสตรีคือการปรนนิบัติอย่างดีต่อสามีของนาง” (13)
รางวัลของบรรดาภรรยาผู้มีความอดทน : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
ثَلاَثٌ مِنَ اَلنِّسَاءِ يَرْفَعُ اَللَّهُ عَنْهُنَّ عَذَابَ اَلْقَبْرِ وَ يَكُونُ مَحْشَرُهُنَّ مَعَ فَاطِمَةَ بِنْتِ مُحَمَّدٍ صَلَّى اَللَّهُ عَلَيْهِ وَ آلِهِ اِمْرَأَةٌ صَبَرَتْ عَلَى غَيْرَةِ زَوْجِهَا وَ اِمْرَأَةٌ صَبَرَتْ عَلَى سُوءِ خُلُقِ زَوْجِهَا وَ اِمْرَأَةٌ وَهَبَتْ صَدَاقَهَا لِزَوْجِهَا يُعْطِي اَللَّهُ تَعَالَى لِكُلِّ وَاحِدَةٍ مِنْهُنَّ ثَوَابَ أَلْفِ شَهِيدٍ وَ يَكْتُبُ لِكُلِّ وَاحِدٍ مِنْهُنَّ عِبَادَةَ سَنَةٍ
“สตรีสามกลุ่มที่อัลลอฮ์จะทรงยกการลงโทษในหลุมฝังศพไปจากพวกนาง และในวันกิยามะฮ์พวกนางจะถูกรวมเข้าอยู่กับบุตรีของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) นั่น คือ ภรรยาที่อดทนต่อความหึงหวงของสามีของนาง และภรรยาที่อดทนต่ออุปนิสัยที่ไม่ดีของสามีของนาง และภรรยาที่ยกมะฮัรของนางให้แก่สามีของนาง อัลลอฮ์จะทรงมอบผลรางวัลของหนึ่งพันชะฮีดให้แก่แต่ละคนจากพวกนางและจะทรงบันทึกการอิบาดะฮ์หนึ่งปีให้แก่แต่ละคนจากพวกนาง” (14)
โทษทัณฑ์ของการละทิ้งการเชื่อฟังสามี : ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า : ในวันอีดกุรบาน (อีดิลอัฎฮา) ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เดินทางออกไปนอกเมืองมะดีนะฮ์ และเมื่อพบกับสตรีกลุ่มหนึ่งท่านได้กล่าวกับพวกนางว่า :
يَا مَعَاشِرَ النِّسَاءِ! تَصَدَّقْنَ وَأَطِعْنَ أَزْوَاجَكُنَّ فَإِنَّ أَكْثَرَكُنَّ فِي النَّارِ ، فَلَمَّا سَمِعْنَ ذَلِكَ بَكَيْنَ ، ثُمَّ قَامَتْ إِلَيْهِ امْرَأَةٌ مِنْهُنَّ فَقَالَتْ : يَا رَسُولَ اللهِ (صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَآلِه) فِي النَّارِ مَعَ الْكُفَّارِ وَاللهِ مَا نَحْنُ بِكُفَّارٍ فَنَكُونَ مِنْ أَهْلِ النَّارِ ، فَقَالَ لَهَا رَسُولُ اللهِ (صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَآلِه) : إِنَّكُنَّ كَافِرَاتٌ بِحَقِّ أَزْوَاجِكُنَّ
“โอ้มวลหมู่สตรีเอ๋ย! จงทำทาน (ซอดะเกาะฮ์) เถิดและจงเชื่อฟังสวมีของพวกเธอเถิด เพราะแท้จริงส่วนมากของพวกเธอจะอยู่ในนรก” เมื่อพวกนางได้ยินฟังเช่นนั้นจึงร้องไห้ จากนั้นหญิงคนหนึ่งจากพวกนางได้ยืนขึ้นและกล่าวว่า : “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! จะอยู่ในนรกกับพวกปฏิเสธศรัทธากระนั้นหรือ?! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! พวกเราไม่ใช่พวกปฏิเสธ แล้วพวกเราจะเป็นชาวนรกได้อย่างไร?” ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวแก่นางว่า : แท้จริงพวกเธอจะเป็นผู้ปฏิเสธสิทธิของสามรขงพวกเธอ” (15)
โทษทัณฑ์ของการไม่ใส่ใจต่อความต้องการทางเพศสัมพันธ์ของสามี : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
الْمَرْأَةُ يَدْعُوْهَا زَوْجَهَا لِبَعْضِ الْحَاجَةِ فَلَا تَزَالُ تُسَوِّفُهُ حَتَّى تَنْقَضِيَ حَاجَةُ زَوْجِهَا فَيَنَامَ، فَتِلْكِ لَا تَزَالُ الْمَلَائِكَةُ تَلْعَنُهَا حَتَّى يَسْتَيْقِظَ زَوْجُهَا
“หญิงที่สามีของนางจะเรียกนางเพื่อ (สนองตอบ) ความต้องการบางอย่าง แต่นางก็จะยังคงเลื่อนเวลาเขาออกไป จนกระทั่งความต้องการของสามีของนางได้ที่หมดลงและนอนหลับไป เช่นนั้นเองที่มะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) จะยังคงสาปแช่งนางจนกระทั้งสามีของนางตื่นนอน” (15)
หมายเหตุ : อันตรายของการไม่ใส่ใจต่อความต้องการทางธรรมชาติของคู่ตรองของตนก็คือ จะเป็นสาเหตุผลักไสเขาไปสู่การกระทำที่ผิดบาปที่ไม่พึงประสงค์ และการกระทำที่ผิดบาปดังกล่าวนี้จะเป็นสื่อนำความเสียหายมาสู่สถาบันครอบครัว
โทษทัณฑ์ของการทำร้ายสามี : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
مَنْ كَانَ لَهُ امْرَأَةٌ تُؤْذِيهِ لَمْ يَقْبَلِ اللَّهُ صَلَاتَهَا وَ لَا حَسَنَةً مِنْ عَمَلِهَا حَتَّى تُعِينَهُ وَ تُرْضِيَهُ وَ إِنْ صَامَتِ الدَّهْرَ وَ قَامَتْ وَ أَعْتَقَتِ الرِّقَابَ وَ أَنْفَقَتِ الْأَمْوَالَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَ كَانَتْ أَوَّلَ مَنْ تَرِدُ النَّارَ ثُمَّ قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللَّهِ (صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَآلِه) : وَ عَلَى الرَّجُلِ مِثْلُ ذَلِكَ الْوِزْرِ وَ الْعَذَابِ إِذَا كَانَ لَهَا مُؤْذِياً ظَالِما
“ผู้ใดก็ตามที่ภรรยาของเขาทำร้ายเขา อัลลอฮ์จะไม่ทรงยอมรับการนมาซของนาง และ (จะไม่ทรงยอมรับ) ความดีใดๆ จากการกระทำ (อะมั้ล) ของนาง แม้กระทั่งนางจะช่วยเหลือเขาและทำให้เขาพึงพอใจ และถึงแม้ว่านางจะถือศีลอดตลอดเวลาอันยาวนาน ทำการอิบาดะฮ์ ปลดปล่อยทาสทั้งหลายให้เป็นอิสระและใช้จ่ายทรัพย์สินทั้งหลายไปในทางของอัลลอฮ์ และนางจะเป็นคนแรกที่เข้าสู่นรก” จากนั้นท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวต่อว่า : “และสำหรับสามีก็จะได้รับโทษทัณฑ์เช่นเดียวกันนั้น หากเขาเป็นผู้ทำร้ายและอธรรมต่อนาง” (17)
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ยังกล่าวอีกว่า :
أَيُّمَا امْرَأَةٍ أَذَتْ زَوْجَهَا بِلِسَانِهَا لَمْ يَقْبَلِ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ مِنْهَا صَرْفًا
“หญิงคนใดก็ตามที่ทำร้ายสามีของนางด้วยวาจาของนาง อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรจะไม่ทรงยอมรับจากนางแม้แต่สิ่งเดียว” (18)
ในอีกริวายะฮ์ (คำรายงาน) หนึ่ง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
وَمَنْ كَانَتْ لَهُ امْرَأَةٌ ، فَلَمْ تُوَافِقْهُ ، وَلَمْ تَصْبِرْ عَلَى مَا رَزَقَهُ اللَّهُ تَعَالَى وَشَقَّتْ عَلَيْهِ ، وَحَمَّلَتْهُ مَا لَا يَقْدِرُ عَلَيْهِ ، لَمْ تُقْبَلْ لَهَا حَسَنَةٌ تَتَّقِي بِهَا حَرَّ النَّارِ ، وَ غَضَبَ اللَّهُ عَلَيْهَا مَا دَامَتْ كَذَلِكَ
“ผู้ใดก็ตามที่ภรรยาของเขาไม่ลงรอยกับเขา ไม่อดทนต่อปัจจัยดำรงชีพที่อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงประทานให้แก่เขา เคี่ยวเข็ญและบังคับเขาในสิ่งที่เขาไม่มีความสามารถ ความดีที่จะปกป้องนางจากความร้อนของไฟนรกนั้นจะไม่ถูกยอมรับสำหรับนาง และอัลลอฮ์จะทรงพิโรธนางตราบที่นางยังคงเป็นเช่นนั้น” (19)
ขอบเขตของการเชื่อฟังสามี : แม้ความพิโรธและความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อบรรดาสตรีจะขึ้นอยู่กับความโกรธและความพึงพอใจของสามีของพวกนางก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าภรรยาจะต้องยอมตามทุกความต้องการของสามีของพวกนาง ทว่าความต้องการต่างๆ ของเขาจำเป็นจะต้องมีความชอบธรรมตามศาสนบัญญัติและสอดคล้องกับสิทธิต่างๆ ที่ผู้เป็นสามีพึงมีเหนือภรรยา
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :
أَيُّمَا امْرَأَةٍ بَاتَتْ وَ زَوْجُهَا عَلَيْهَا سَاخِطٌ فِيْ حَقٍّ لَمْ يُقْبَلْ مِنْهَا صَلَاةٌ حَتَّى تَرْضَى عَنْهَا
“หญิงใดก็ตามมี่ใช้ชีวิตในเวลาค่ำคืนในสภาพที่สามีของนางโกรธนาง เกี่ยวกับกรณีของสิทธิประการหนึ่ง การนมาซจะไม่ถูกยอมรับจากนางจนกว่าเขาจะพึงพอใจนาง” (20)
เชิงอรรถ :
(1). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 509
(2). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 509
(3). อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.), เล่ม 1, หน้า 289
(4). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 336
(5). อิรชาดุลกุลูบ, หน้า 184
(6). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 508
(7). มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่ม 14, หน้า 243
(8). อิรชาดุลกุลูบ, หน้า 175
(9). อะวาลิลละอาลี, เล่ม 1, หน้าที่ 270
(10). อัลอามาลี, เชคฏูซี, หน้า 618
(11). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 513
(12). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 513
(13). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 507
(14). อิรชาดุลกุลูบ, หน้า 185
(15). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 514
(16). มะการิมุลอัคลาก, หน้า 249
(17). วะซาอิลุชชีอะฮ์ ,เล่ม 20, หน้า 163; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 73, หน้า 363
(18). อัลฟะกีฮ์, เล่ม 4, หน้า 14
(19). ษะวาบุลอะอ์มาล, หน้า 287
(20). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 507
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่