“เมื่อใดก็ตามที่โรคติดต่อเกิดการแพร่ระบาด การอิบาดะฮ์ในรูปของญะมาอัต (การกระทำร่วมกันเป็นหมู่คณะ) และอะมั้ลที่เป็นมุสตะฮับ (สุนัต) ทั้งหมด ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแพร่กระจายของโรคนั้นจะกลายเป็นฮะรอม (ต้องห้าม)”
ในช่วงเวลาที่โรคติดต่อเกิดการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในสังคม การอิบาดะฮ์ในรูปของญะมาอัต (อย่างเช่น การนมาซญะมาอัต การนมาซวันศุกร์และพิธีกรรมต่างๆ ที่มีการรวมตัวกันของผู้คน) รวมถึงการกระทำ (อะมั้ล) ที่เป็นมุสตะฮับหรือสุนัตอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแพร่กระจายและการระบาดของโรคมากยิ่งขึ้นนั้น จะตกจากความเป็นมุสตะฮับ (สุนัต) ไปและจะเข้าอยู่ในกฏ (ฮุก่ม) ของการกระทำที่ต้องห้าม (ฮะรอม) เนื่องจากในกรณีเช่นนี้การรักษาชีวิตและสุขภาพของตัวเองและผู้อื่นจะมาก่อนและมีความสำคัญมากกว่า และด้วยเหตุนี้เองการจาริกแสวงบุญ (ซิยารัต), การเข้าสังคม, การเชื่อมสัมพันธ์ทางเครือญาติ, การนมาซญะมาอัต, การปรากฏตัวในฮะรัม (สถานที่สำคัญทางศาสนา) , สุสานและอื่นๆ ทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นสิ่งต้องห้ามและไม่อนุญาตในช่วงเวลาที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น
ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวถึงเกี่ยวกับความเป็นมุสตะฮับ (สุนัต) ของการจับมือ การสวมกอดและการจูบ ในขณะที่พบปะและทักทายกัน รวมทั้งความเป็นมุสตะฮับของการไปมาหาสู่และการเชื่อมสัมพันธ์ต่อเครือญาติ การปรากฏตัวในฮะรัม ในมัสยิดและสุสานและอื่นๆ นั้นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปกติ แต่ในช่วงเวลาที่มีโรคติดต่อหรือโรคระบาดเกิดขึ้นในสังคมนั้น ความเป็นมุสตะฮับของการกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะถูกระงับชั่วคราวแล้ว ทว่ายังถือเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) อีกด้วย เนื่องจากเกิดการเผชิญหน้ากัน (ตะอารุฎ) และการประดังกัน (ตะซาฮุม) ระหว่างความเป็นมุสตะฮับของการกระทำเหล่านี้และการก่อให้เกิดอันตรายของมัน และในการเผชิญหน้ากัน (ตะอารุฎ) และการประดังกัน (ตะซาฮุม) ดังกล่าวนี้กฎทางนิติศาสตร์อิสลามประการหนึ่งที่เรียกว่า "กฎของการไม่ก่ออันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น" (قاعدة لا ضرر ولا ضرار) จะถูกนำมาใช้ในการตัดสินชี้ขาด (1) และหากการรวมตัวและการเข้าสังคมใดๆ ก็ตามจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ก็จะถูกตัดสิน (ฮุก่ม) ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ด้วยเช่นกัน เนื่องจากตามกฎนี้ การก่ออันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่นนั้นถือเป็นสิ่งต้องห้าม
ดังนั้นแม้ว่าการนมาซญะมาอัต การขอดุอาอ์ร่วมกันแบบหมู่คณะ การเยี่ยมเยือนและการเชื่อมสัมพันธ์ต่อเครือญาติและอื่นๆ จะเป็นมุสตะฮับ แต่เมื่อใดก็ตามที่มันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้นความเป็นมุสตะฮับของมันก็จะตกไป และฮุก่ม (กฎ) ของความเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ก็จะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้เนื่องจากคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
وَلاَ تُلْقُواْ بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَةِ
"และพวกเจ้าอย่าได้นำตัวเองสู่ความหายนะ" (อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 195)
บางคนอาจจะคาดคิดว่า "ความหายนะ" (ตะฮ์ลุกะฮ์) นั้น หมายถึงความตายเพียงเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วหาใช่เช่นนั้นไม่ ความหมายของคำว่า ความหายนะ (ตะฮ์ลุกะฮ์) นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความตายเพียงเท่านั้น แต่ทว่าความตายเป็นตัวอย่างสูงสุดและชัดเจนที่สุดของมัน และการทำลายสุขภาพก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย (2) การรักษาชีวิตและสุขภาพจึงเป็นวาญิบ (หน้าที่จำเป็น) ดังนั้นการระวังรักษาสุขภาพและการป้องกันโรคภัยต่างๆ เพื่อเป้าหมายในการปกป้องชีวิตของตัวเองและผู้อื่นจึงเป็นวาญิบ (หน้าที่จำเป็น)
ดังนั้นพฤติกรรมและการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นสาเหตุของการทำลายสุขภาพ แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นมุสตะฮับหรือสุนัตก็ตาม ถือว่าเป็นฮะรอม (สิ่งต้องห้าม) ดังนั้นในช่วงเวลาที่โรคติดต่อ อย่างเช่น ไวรัสโคโรนาจะเกิดการแพร่ระบาดด้วยสื่อของการเข้าสังคมตามปกติและเข้าร่วมในสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ อย่างเช่น มัสยิด ฮะรัม สุสาน งานเฉลิมฉลองและพิธีกรรมต่างๆ เพื่อที่สุขภาพและชีวิตของตัวเองและบุคคลอื่นๆ จะไม่ตกอยู่ในอันตราย การอิบาดะฮ์ที่เป็นมุสตะฮับในรูปของญะมาอัต (กระทำร่วมกัน) เหล่านี้จะเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ตามศาสนบัญญัติ บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เองที่บรรดานักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟุกอฮาอ์) และบรรดามัรเญียะอ์ตักลีดจึงออกคำฟัตวาห้ามการรวมตัวเหล่านี้จนกว่าอันตรายจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจะหมดไป
เชิงอรรถ :
1.กฎของการไม่ก่ออันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น (قاعدة لا ضرر ولا ضرار) เป็นหนึ่งในกฎทางนิติศาสตร์ (القواعد الفقهية) ซึ่งมีขอบข่ายในการใช้งานอย่างมากมายในนิติศาสตร์อิสลาม ที่มาของกฏนี้มีรากฐานมาจากวจนะ (ฮะดีษ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
لَا ضَرَرَ وَ لَا ضِرَارَ فَي الْإِسْلَامِ
"ไม่มีการประทุษร้ายต่อตนเองและผู้อื่นในอิสลาม"
2.ตวามหมายของคำว่า "ตะฮ์ลุกะฮ์" (ความหายนะ) นั้นมีความครอบคลุมและรวมถึงการก่อให้เกิดอันตรายทุกรูปแบบ โดยที่ตัวอย่างสูงสุดของการก่ออันตรายนั้นคือ การนำตัวเองหรือผู้อื่นไปสู่ความตาย; ดูเพิ่มเติม จาก : หนังสือ "อัล ร่อซาอิล อัล ฟิกฮียะฮ์", อัลลามะฮ์มุฮัมมัดตะกี ญะอ์ฟะรี, หน้า 62
แปลและเรียบเรียง : มุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่