คุณลักษณะพิเศษของวันอีดิลฟิฏรี่ วันแห่งการขอบคุณและการเชิดชูสัญลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า
Powered by OrdaSoft!
No result.
คุณลักษณะพิเศษของวันอีดิลฟิฏรี่ วันแห่งการขอบคุณและการเชิดชูสัญลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

การนมาซของวันอีดิลฟิฏรี่ ในมิติหนึ่งคือการขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า ที่ทรงประทานสิ่งที่ดีงาม (เนี๊ยะอ์มัต) ต่างๆ ให้แก่เราในตลอดช่วงหนึ่งเดือนเต็มของเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการเป็นแขกในสำหรับแห่งจิตวิญญาณของพระองค์ และเป็นการขอบคุณต่อชีวิตเหมือนการเกิดใหม่หลังจากการอภัยโทษของพระผู้เป็นและการยอมรับการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) ของเราโดยพระองค์

     ในนมาซของวันอีดิลฟิฏรี่ เราจะวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้า ซ้ำหลายครั้งในดุอาอ์กุหนูต ว่า :

وَ أَنْ تُدْخِلني في كُلِّ خَيْرٍ أَدْخَلْتَ فيهِ مُحَمَّداً وَ آلَ مُحَمَّد

“และ (ข้าฯ วอนขอต่อพระองค์) ในการที่พระองค์จะทรงทำให้ข้าฯ เข้าอยู่ในทุกความดีงามที่พระองค์ได้ทรงทำให้มุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัดเข้าอยู่ในมัน”

وَ أَنْ تُخْرِجَني مِنْ كُلِّ سُوءٍ أَخْرَجْتَ مِنْهُ مُحَمَّداً وَ آل مُحَمَّدٍ، صَلَوٰاتُكَ عَلَيُهِ وَ عَلَيْهِمْ

“และ (ข้าฯ วอนขอต่อพระองค์) ในการที่พระองค์จะทรงทำให้ข้าฯ ออกจากทุกความชั่วร้ายที่พระองค์ได้ทรงทำให้มุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัดออกจากมัน (การประสิทธิ์ประสาทพรของพระองค์ที่มีแด่ท่านและแด่วงศ์วานของท่าน)”

     นั่นคือการประกาศเจตนารมณ์และการกำหนดเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในวันอีดดิลฟิฏรี่นี้ สำหรับอนาคตนับจากนี้ไปของตัวเอง โดยวิงวอนขอต่อพระองค์ทรงทำให้เราอยู่ในหนทางแห่งความดีงามทั้งมวลตามแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และวงศ์วานของท่าน และเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อพระองค์ว่า เราจะอุตสาห์พยายามที่จะดำรงตนอยู่ในแนวทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฏ มุสตะกีม) นี้ นั่นก็คือ การมี “ตักวา” (ความยำเกรง) ต่อพระองค์


การเชิดชูสัญลักษณ์ของอัลลอฮ์ในวันอีดิลฟิฏรี่

     การเชิดชูและการให้ความสำคัญต่อสัญลักษณ์ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า คือหนึ่งในคุณลักษณะพิเศษของวันอีดิลฟิฏรี่ การเปล่งคำขวัญ (ชุอาร) ของอัลลอฮ์ ด้วยการกล่าว "ตักบีร" เป็นส่วนหนึ่งจากการกระทำ (อะมั้ล) ทั้งหลายซึ่งจะให้ภาพฉายที่เป็นพิเศษแก่วันอีด และเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความยำเกรง (ตักวา) ของหัวใจ เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :

مَنْ يُعَظِّمْ شَعائِرَ اللَّهِ فَإِنَّها مِنْ تَقْوَى الْقُلُوب

"ผู้ใดที่ให้เกียรติแก่สัญลักษณ์ของอัลลอฮ์ แท้จริงมันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการยำเกรงของหัวใจ" (1)

     ด้วยเหตุนี้มุสลิมทุกคนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เสียงเรียกร้องสู่ "เตาฮีด" (การยอมรับในเอกานุภาพของอัลลอฮ์) และสัญลักษณ์ (ชะอาอิร) ต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะให้ชีวิตทางจิตวิญญาณแก่มนุษย์นั้น ไปสู่หูของชาวโลกด้วยวิธีต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในวิธีการเหล่านั้น คือการแสดงออก การกล่าว หรือการประกาศคำขวัญต่างๆ ทางศาสนาในวันเฉลิมฉลอง (อีด) ต่างๆ ของอิสลาม

     ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

زینوا اعیادکم بالتکبیر

“ท่านทั้งหลายจงประดับประดาความสวยงามของอีดของพวกท่านด้วยการกล่าวตักบีร” (2)

     ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวถึงเหตุผลของการกล่าวตักบีรต่างๆ ในวันอีดิลฟิฏรี่ ว่า :

إنما جعل التكبير فيها يعني في صلاة العيد أكثر منه في غيرها من الصلوات لأن التكبير إنما هو تعظيم لله وتمجيد على ما هدى وعافى، كما قال الله عزّ وجلّ: وَلِتُكَبِّرُوا اللَّهَ عَلَىٰ مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ

"อันที่จริงการกล่าวตักบีรในมัน หมายถึงในนมาซอีด ที่ถูกทำให้มีมากกว่าในมนาซอื่นๆ นั้น ก็เนื่องจากว่า แท้จริงการกล่าวตักบีรนั้นคือการเชิดชูความยิ่งใหญ่แด่อัลลอฮ์ และการสรรเสริญขอบคุณต่อสิ่งที่พระองค์ได้ทรงชี้นำและทรงประทานความสุขสมบูรณ์ต่างๆ ดังที่อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกรได้ทรงตรัสว่า และเพื่อพวกเจ้าจะได้ประกาศความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงชี้นำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ" (3)

    และในอีกคำรายงาน (ริวายะฮ์) หนึ่ง ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวว่า :

انّما جُعِلَ یَوْمُ الفِطْر العیدُ، لِیكُونَ لِلمُسلِمینَ مُجْتمعاً یَجْتَمِعُونَ فیه و یَبْرُزُونَ لِلّهِ عزّوجلّ فَیُمجّدونَهُ عَلى‏ ما مَنَّ عَلیهم، فَیَكُونُ یَومَ عیدٍ و یَومَ اجتماعٍ وَ یَوْمَ زكاةٍ وَ یَوْمَ رَغْبةٍ و یَوْمَ تَضَرُّعٍ

“อันที่จริง การที่วันฟิฏรี่ถูกทำให้เป็นวันอีด (แห่งการเฉลิมฉลอง) นั้น เพื่อเป็นที่รวมตัวกันสำหรับชาวมุสลิม พวกเขาจะรวมตัวกันในวันนี้ และจะมาปรากฏตัวต่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร แล้วพวกเขาจะสรรเสริญขอบคุณพระองค์ต่อสิ่งที่พระองค์ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อพวกเขา ดังนั้นมันจึงเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง วันแห่งการรวมตัว วันแห่งการเพิ่มพูน วันแห่งความมุ่งหวังและวันแห่งการวอนขอ” (4)


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอาน บทอัลฮัจญ์ โองการที่ 32

(2) มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 7, หน้าที่ 133

(3) อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.) เล่มที่1, หน้าที่ 122

(4) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 141


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 595 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24780726
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
30634
52431
208108
24215661
1046391
1618812
24780726

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 17:26:17