“ในการเปรียบเทียบระหว่างแนวทางของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) กับการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์นั้น ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างมากมาย โดยกล่าวว่า : "อย่ากดดันประชาชน คุณไม่รู้หรือว่ากฎของอูไมแยดนั้น มีทั้งดาบและพละกำลังและแรงกดดันและการกดขี่ แต่วิธีการของเรานั้น มีความนุ่มนวล ความเมตตา ความมีสติ การบำรุงรักษาบริษัทที่ดี ความบริสุทธิ์และความพยายาม ดังนั้นทำให้ผู้คนต้องการศาสนาและอาชีพของคุณ”
ชาวชีอะฮ์เชื่อว่า บรรดาอิมาม (อ.) เป็นผู้สืบทอดที่แท้จริงของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอำนาจการปกครองเป็นของท่านเหล่านั้น ในยุคที่บรรดาอิมาม (อ.) ปรากฏตัวอยู่ในสังคม ท่านเหล่านั้นพยายามที่จะนำสิทธิ์ดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของตัวเอง (อิห์กอกุลฮักก์) แต่บางคนคาดคิดว่า การปกครองของบรรดาอิมามมะอ์ซูม (ผู้บริสุทธิ์) ก็เหมือนกับการปกครองของคนอื่นๆ จะแตกต่างก็แต่เพียงประเด็นที่ว่า นำอำนาจการปกครองจากผู้แย่งชิงสิทธิ์กลับมาอยู่ในมือของบรรดาอิมามผู้มีสิทธิ์อันชอยธรรมเพียงเท่านั้น
กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขาคาดคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลที่กดขี่ทั้งหลายกระทำนั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการปกครอง ใครก็ตามที่เข้ามาแทนที่พวกเขาก็จะกระทำแบบเดียวกัน หนึ่งในคนเหล่านั้นคือ อัมมาร บินอะห์วัศ สหายผู้หนึ่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งเขามีปรารถนาที่จะให้ท่านอิมามซอดิก (อ.) ขึ้นสู่อำนาจการปกครอง แต่ไม่ได้ให้ความสนใจถึงความแตกต่างระหว่างการปกครองดังกล่าวกับการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์ ในการเปรียบเทียบระหว่างแนวทางของท่านกับการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ชี้ให้เห็นความแตกต่างดังต่อไปนี้ โดยกล่าวว่า :
فَلاَ تَخْرَقُوا بِهِمْ أَ مَا عَلِمْتَ أَنَّ إِمَارَةَ بَنِي أُمَيَّةَ كَانَتْ بِالسَّيْفِ وَ اَلْعَسْفِ وَ اَلْجَوْرِ وَ أَنَّ إِمَارَتَنَا بِالرِّفْقِ وَ اَلتَّأَلُّفِ وَ اَلْوَقَارِ وَ اَلتَّقِيَّةِ وَ حُسْنِ اَلْخُلْطَةِ وَ اَلْوَرَعِ وَ اَلاِجْتِهَادِ فَرَغِّبُوا اَلنَّاسَ فِي دِينِكُمْ وَ فِيمَا أَنْتُمْ فِيهِ
"... ดังนั้นพวกท่านจงอย่าบีบคั้นประชาชน พวกท่านไม่รู้หรือว่า แท้จริงการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์นั้นอาศัยดาบ ความรุนแรงและความอธรรม แต่การปกครองของเรา (อะฮ์ลุลบัยติ์) นั้น อาศัยความเมตตาอ่อนโยน ความรักใคร่สมัครสมาน ความสุขุม การระมัดระวัง การปฏิสัมพันธ์ที่ดี การสำรวมตนและความอุตสาห์พยายาม ดังนั้นพวกท่านจงปฏิบัติตนในลักษณะที่จะส่งเสริมประชาชนมาสู่ศาสนาของพวกท่านและมาสู่สิ่งที่ท่านเป็นอยู่" (1)
ในระบบการเมืองของอิสลาม จริยธรรมมีความสำคัญมากกว่าและเป็นเรื่องที่มาก่อนการเมือง ผู้นำของสังคมจำเป็นจะต้องเป็นคนที่รู้ "ภูมิปัญญาเชิงปัญญาปฏิบัติ" (Practical Wisdom)" และเป็นผู้ควบคุมอัตตา (นัฟซ์) ของตน และนักการเมืองนั้นจะต้องมีความกลัวทางศีลธรรม (Moral fear) หรือความกลัวต่อบาปและความชั่วของตน เพื่อที่จะอัดฉีดคุณธรรมทางศีลธรรม (Moral virtues) ของตนไปสู่สังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ปกครองและผู้นำทางการเมืองแทนที่จะใช้ความโกรธและความรุนแรงต่อบรรดาผู้วิจารณ์ตนนั้น เขาจะใช้ความอดทนและการรับฟังผู้วิจารณ์ตน
ในสาส์นของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่มียัง "มาลิก อัชตัร" นั้น ก่อนที่ท่านจะให้คำแนะนำต่างๆ แก่เขา เกี่ยวกับการบริหารปกครองประเทศ (อียิปต์) ท่านได้ให้คำแนะนำต่างๆ แก่เขาเกี่ยวกับการขัดเกลาตนเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้นจะต้องเป็นคนที่ขัดเกลาตนเองแล้ว จึงจะสามารถขัดเกลาประชาชนได้ และในอีกคำพูดหนึ่งท่านได้กล่าวโดยรวมว่า :
مَنْ نَصَبَ نَفْسَهُ لِلنَّاسِ إِمَاماً فَلْيَبْدَأْ بِتَعْلِيمِ نَفْسِهِ قَبْلَ تَعْلِيمِ غَيْرِهِ وَ لْيَكُنْ تَأْدِيبُهُ بِسِيرَتِهِ قَبْلَ تَأْدِيبِهِ بِلِسَانِهِ وَ مُعَلِّمُ نَفْسِهِ وَ مُؤَدِّبُهَا أَحَقُّ بِالْإِجْلَالِ مِنْ مُعَلِّمِ النَّاسِ وَ مُؤَدِّبِهِمْ
"ผู้ใดที่ตั้งตนเป็นผู้นำประชาชน ดังนั้นเขาจงเริ่มต้นด้วยการสอนตัวเองก่อนการสอนผู้อื่น และจงอบรมขัดเกลาผู้อื่นด้วยการกระทำของตนก่อนที่จะสอนเขาด้วยคำพูด และคนที่สอนและอบรมขัดเกลาตัวเองนั้น ย่อมคู่ควรต่อการยกย่องมากกว่าคนที่สอนและอบรมขัดเกลาประชาชน" (2)
เนื่องจากผู้นำและผู้ปกครองนั้นมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคม และประชาชนจะดำรงตนอยู่บนแนวทางและวิถีปฏิบัติของปกครองของพวกเขา :
النّاسُ عَلي دِينِ مُلُوکِهِم
"ประชาชนนั้นจะดำรงตนอยู่บนศาสนา (แนวทาง) ของกษัตริย์ของพวกเขา" (3)
ดังนั้น จึงมีสองมุมมองเกี่ยวกับการเมืองและจริยธรรม คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องของจริยธรรมและศีลธรรม และอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เรื่องของศีลธรรมนั้นมาที่หลังเรื่องของการเมือง เกี่ยวกับมุมมองทั้งสองนี้มีตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) และการปกครองของมุอาวิยะฮ์
เชิงอรรถ :
1.อัลคิซ้อล, เชคซุดูก, เล่ม 2, หน้า 354
2.นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 73
3.กุลิซตาน ซะอ์ดี
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่