ปรัชญาการถือศีลอด เป็นอะไรที่มากไปกว่าการเข้าใจถึงคนยากจน
ปรัชญาการถือศีลอด เป็นอะไรที่มากไปกว่าการเข้าใจถึงคนยากจน

อีกมิติหนึ่งของการถือศีลอดนั้น เกี่ยวข้องกับด้านทางสังคม โดยที่ผู้ถือศีลอดจะรับรู้และเข้าใจถึงสภาพของบรรดาผู้ยากจนและคนขัดสนของสังคม ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่มีใครสามารถที่จะอ้างได้ว่า ผมจะทำการช่วยเหลือคนยากจนเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มแทนการถือศีลอดหนึ่งเดือนในเดือนรอมฎอน

      การถือศีลอดนั้นมีมิติต่าง ๆ และจะส่งผลมากมายในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ทั้งในด้านวัตถุ (กายภาพ) และจิตวิญญาณ ในความเป็นจริงแล้ว การถือศีลอดคือการฝึกฝน "ตักวา" (ความยำเกรง, ความสำรวมตน, การปฏิบัติตามคำสั่งใช้และการหลีกเลี่ยงจากข้อห้ามต่างๆ ของพระเจ้า) ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็มที่มนุษย์จะทำการงดเว้นแม้แต่สิ่งที่เป็นอนุมัติตามศาสนบัญญัติ (ฮะล้าล) ของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อที่ว่าในช่วงวันปกติ (ที่ไม่ใช่เดือนรอมฎอน) เขาจะสามารถยับยั้งตนจากข้อห้าม (มุฮัรร่อมาต) ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้เองคุณประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการถือศีลอด คือการฝึกฝนตักวา (ความยำเกรง) คุณธรรม และความแข็งแรงของจิตวิญญาณ

       แต่อีกมิติหนึ่งของการถือศีลอดนั้น เกี่ยวข้องกับด้านทางสังคม โดยที่ผู้ถือศีลอดจะรับรู้และเข้าใจถึงสภาพของบรรดาผู้ยากจนและคนขัดสนของสังคม ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่มีใครสามารถที่จะอ้างได้ว่า ผมจะทำการช่วยเหลือคนยากจนเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มแทนการถือศีลอดหนึ่งเดือนในเดือนรอมฎอน ทั้งนี้เนื่องจากว่า แม้การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีงามและน่ายกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนการถือศีลอดได้ เพราะว่า :

       ประการแรก : การถือศีลอดในหลายๆ ด้านนั้น คือการฝึกฝนการควบคุมจิตใจของตนเอง ดังเช่นที่ในช่วงเริ่มต้นของโองการที่เกี่ยวกับบทบัญญัติของการถือศีลอด พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمْ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่บังคับเหนือพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่บังคับเหนือบรรดาบุคคลก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้มีความยำเกรง” (1)

      ประการที่สอง : การถือศีลอดเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

صُومُوا تَصِحُّوا  

  "ท่านทั้งหลายจงถือศีลอดเถิด แล้วพวกท่านจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์"  (2)

  ประการที่สาม : ผลที่มีอยู่ในการถือศีลอดและความเข้าใจถึงสภาพของคนยากจนที่ได้รับจากการถือศีลอดนั้น จะไม่สามารถได้รับจากการกระทำอื่นๆ ในช่วงเวลาที่ตัวมนุษย์เองเป็นผู้หิวโหยและสัมผัสกับความหิวโหยอย่างแท้จริงนั้น เขาจะสามารถรับรู้และเข้าใจถึงสภาพของคนยากจนและบรรดาผู้หิวโหยของสังคมได้ดีกว่า และพวกเขาจะกระตือรือร้นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

        มีผู้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับเหตุผลของการบัญญัติการถือศีลอด ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า :

انما فرض الله الصيام ليستوي به الغني والفقير و ذلك انّ الغني لم يكن ليجد مسّ الجوع فيرحم الفقير، و انّ الغني كلما اراد شيئا قدر عليه، فاراد الله

تعالي ان يستوي بين خلقه، و ان يذيق الغني مسّ الجوع والالم، ليرق علي الضعيف و يرحم الجائع

“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดการถือศีลอด ก็เพื่อที่จะให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคนรวยและคนจน นั้นเป็นเพราะว่าคนรวยไม่เคยสัมผัสกับความหิวโหย ดังนั้นเขาจะรู้สึกเมตตาสงสารคนจน คนรวยเมื่อเขาต้องการสิ่งใดเขาก็จะได้รับในสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้เกิดความเท่าเทียมกันในระหว่างสิ่งถูกสร้างของพระองค์ (มนุษย์) และเพื่อให้คนรวยได้ลิ้มรสความหิวโหยและความเจ็บปวด เพื่อเขาจะได้สงสารคนที่อ่อนแอ และเมตตาต่อคนที่หิวโหย” (3)


แหล่งอ้างอิง :

(1) บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 183 ; ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ในบทความเรื่อง "ศีลอดกับพัฒนาการทางด้านจิตวิญญาณของมนุษย์" จากลิงค์http://islamicstudiesth.com/index.php/19-islamic-teachings/382-development-of-human-spirit

(2) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 59, หน้าที่ 267

(3) อิละลุชชะรอเยี๊ยะอ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 378


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

 

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 376 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

25828831
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
1873
3896
25920
25771458
16647
136052
25828831

พฤ 03 เม.ย. 2025 :: 08:49:07