ความจำเป็นในการศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ
Powered by OrdaSoft!
No result.

ความจำเป็นในการศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ

     การให้ความสนใจในสังคมอิสลามต่อศาสตร์ต่างๆ ที่มีความจำเป็น และการศึกษาเรียนรู้ศาสตร์เหล่านั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นสื่อในการปกป้องเกียรติศักดิ์ศรีและพลังอำนาจของมุสลิม ในเรื่องนี้มีรายงานจากท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

 العِلمُ سُلطانٌ ، مَن وَجَدَهُ صالَ بِهِ، ومَن لَم يَجِدهُ صيلَ عَلَيهِ.

“ความรู้คือบ่อเกิดของพลังอำนาจ ผู้ใดที่มีมันเขาก็จะมีชัย และผู้ใดที่ไม่มีมันเขาก็จะถูกพิชิต” (1)  

     ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เข้าสู่มัสยิด ในขณะที่ในมัสยิดนั้นมีการนั่งชุมนุมของคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกำลังศึกษาเรียนรู้คำสอนของศาสนา และอีกกลุ่มหนึ่งกำลังวิงวอนขอพรต่ออัลลอฮ์ ดังนั้นท่านศาสดาจึงกล่าวว่า “ทั้งสองกลุ่มนั้นจะบรรลุสู่ความดีงาม กลุ่มนี้กำลังวิงวอนขอพรต่ออัลลอฮ์ ส่วนกลุ่มนั้นกำลังศึกษาหาความรู้และพวกเขาจะสอนผู้ที่ไม่รู้ (แต่) กลุ่มนั้น (ที่กำลังศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนา) จะดีงามเหนือกว่า ด้วยกับการเรียนการสอนนี่เองที่ฉันถูกส่งมา” จากนั้นท่านได้นั่งร่วมกับพวกเขาเหล่านั้น (2)

     ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) ได้เล่าว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เข้าไปในมัสยิด และท่านเห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งล้อมรอบชายผู้หนึ่ง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงถามว่า “เขาเป็นใครหรือ” พวกเขากล่าวว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! ชายผู้นี้คืออัลลามะฮ์ (ผู้มีความรู้มาก)” ท่านถามต่อว่า “เขามีความรู้มากในเรื่องใด” พวกเขากล่าวว่า “เขามีความรอบรู้เกี่ยวกับบรรดาสายตระกูลของชาวอาหรับและประวัติความเป็นมาของสายตระกูลเหล่านั้น ช่วงเวลาต่างๆ ของยุคญาฮิลียะฮ์ (ยุคมือก่อนอิสลาม) บทกวีและวรรณคดีอาหรับ” ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “นั่นเป็นความรู้ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดโทษภัยใดๆ แก่ผู้ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับมัน และจะไม่ยังคุณประโยชน์อันใดแก่ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับมัน” (3)

     ท่านต้องการชี้ให้เห็นว่า มุสลิมและสังคมอิสลามนั้นจะต้องจัดลำดับความสำคัญที่มาก่อนในการแสวงหาความรู้ และจงแสวงหาความรู้ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับโลกนี้และปรโลกของเขา ซึ่งจะช่วยขจัดโทษภัยไปจากเขา ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า

 أولَي الأشياءِ أن يَتَعَلَّمَهَا الأحداثُ الأشياءَ الّتي إذا صارُوا رِجالاً إحتاجُوا إلَيهَا

สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกที่บรรดาเยาวชนจะต้องศึกษาเรียนรู้มัน คือสิ่งต่างๆ ซึ่งพวกเขาจะมีความต้องมันเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่” (4)

      ท่านยังกล่าวอีกว่า

 تَعَلَّمُوا الْعِلْمَ صِغاراً تَسُودُوا بِه كِباراً

พวกเจ้าจงศึกษาหาความรู้ในขณะที่อยู่ในวัยเด็ก เพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้ประโยชน์มันเมื่อเติบใหญ่” (5)

     นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวอีกว่า

 الْعِلْمُ اَکْثَرُ مِنْ اَنْ یُحاطَ بِهِ فَخُذُوا مِنْ کُلَّ علمٍ اَحْسَنَهُ

ความรู้นั้นมีมากมายเกินกว่าที่จะรับรู้มันได้ทั้งหมด ดังนั้นพวกท่านจงเรียนรู้จากสิ่งที่ดีที่สุดของทุกๆ ความรู้” (6)

     และในคุฏบะฮ์ฮัมมาม ท่านกล่าวว่า

 وَقَفُوا أَسْمَاعَهُمْ عَلَى الْعِلْمِ النَّافِعِ لَهُمْ

“...(บรรดาผู้ยำเกรงนั้น) พวกเขาจะเงี่ยหูของพวกเขาเพื่อรับฟังความรู้ที่จะให้คุณประโยชน์แก่พวกเขาเพียงเท่านั้น” (7)

      ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า

 تنازعوا في طلب العلم، والذي نفسي بيده، لحديث واحد في حلال وحرام تأخذه عن صادق، خير من الدنيا وما حملت من ذهب وفضة.

ท่านทั้งหลายจงแข่งขันกันในการแสวงหาความรู้เถิด ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตของพระองค์ เพียงฮะดีษบทเดียวที่เกี่ยวกับฮาลาล (สิ่งอนุมัติ) และฮะรอม (สิ่งต้องห้าม) ที่ท่านจะเรียนรู้มันจากผู้ที่มีวาจาสัจจริงนั้น ย่อมดีงามกว่าโลกนี้ และทองคำและเงินที่มีอยู่ในมัน” (8)

บางส่วนของความรู้ที่มีความจำเป็น

      การสอนความรู้เกี่ยวกับศาสนา : ท่านอิมามริฏอ (อ.) กล่าวว่า

رَحِمَ اللَّهُ عَبْداً أَحْيَا أَمْرَنَا

ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาบ่าวที่ให้ชีวิตแก่กิจการงานของเรา” ผู้รายงานได้ถามว่า “เขาจะให้ชีวิตแก่กิจการงานของพวกท่านได้อย่างไร

     ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า

 يَتَعَلَّمُ عُلُومَنَا وَ يُعَلِّمُهَا النَّاسَ فَإِنَّ النَّاسَ لَوْ عَلِمُوا مَحَاسِنَ كَلَامِنَا لَاتَّبَعُونَا

เขาจะเรียนรู้วิชาการต่างๆ ของเรา และจะสอนมันแก่ประชาชน เพราะแท้จริงประชาชนนั้น หากพวกเขาได้รู้สิ่งที่สวยงามต่างๆ จากคำพูดของเรา แน่นอนยิ่งพวกเขาจะปฏิบัติตามเรา” (9)

      ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ได้อ้างคำพูดจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า

 ألا فمن كان من شيعتنا عالماً بعلومنا فهدى الجاهل بشريعتنا .... وأرشده وعلمه شريعتنا ، كان معنا في الرفيق الأعلى

“พึงรู้เถิดว่า ชีอะฮ์ (ผู้ปฏิบัติตาม) ของเราคนใดก็ตามที่เป็นผู้มีความรู้ในวิชาการต่างๆ ของเรา และเขาได้นำทางผู้ที่ไม่มีความรู้ด้วยบทบัญญัติของเรา... ชี้นำเขาและสอนเขาให้รู้ถึงบทบัญญัติของเรา เขาจะได้อยู่กับเราในสวรรค์” (10)

      การสอนหลักความเชื่อต่างๆ : ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 افْتَحُوا عَلَى صِبْيَانِكُمْ أَوَّلَ كَلِمَةٍ بِلا إِلَهَ إِلا اللَّهُ ،

ท่านทั้งหลายจงเริ่มต้นสอนคำแรกแก่เด็กๆ ของพวกท่าน ด้วยคำว่า "ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์) (11)

      การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน : ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า

 كان أمير المؤمنين (ع) لیأمر ولده بقراءة المصحف

ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) มักจะกำชับลูกๆ ของท่านให้อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน” (12)

      ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “สิทธิของบุตรีที่มีเหนือบิดาของเธอ คือการที่เขาจะต้องสอนซูเราะฮ์อันนูรแก่เธอ” (13)

      การศึกษาเรียนรู้ฮะดีษ : ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า

ท่านทั้งหลายจงแข่งขันกันในการแสวงหาความรู้เถิด ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตของพระองค์ เพียงฮะดีษบทเดียวที่เกี่ยวกับฮาลาล (สิ่งอนุมัติ) และฮะรอม (สิ่งต้องห้าม) ที่ท่านจะเรียนรู้มันจากผู้ที่มีวาจาสัจจริงนั้น ย่อมดีงามกว่าโลกนี้ และทองคำและเงินที่มีอยู่ในมัน และนั่นก็คือสิ่งที่อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ทรงตรัสว่า “สิ่งใดก็ตามที่ศาสนทูตได้นำมายังพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าก็จงปฏิบัติมัน และสิ่งใดก็ตามที่เขาห้ามพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าก็จงยุติเถิด” (14)

      การศึกษาเรียนรู้ฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) และวาญิบาต (หน้าที่จำเป็น) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับข้อบัญญัติในเรื่องของมรดกว่า

 تَعَلَّمُوا الْفَرَائِضَ وَعَلِّمُوهَا النَّاسَ فَإِنِّي امْرُؤٌ مَقْبُوضٌ .... وَتَظْهَرَ الْفِتْنَةُ حَتَّى يَخْتَلِفَ رَجُلانِ فِي فَرِيضَةٍ لاَ يَجِدَانِ مَنْ يَفْصِلُ بيْنَهُمَا

ท่านทั้งหลายจงเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของมรดก และจงสอนมันแก่ประชาชน เพราะแท้จริงฉันจะต้องจากโลกนี้ไป... และวิกฤตความขัดแย้งจะปรากฏขึ้น โดยที่แม้แต่คนสองคนก็จะขัดแย้งกันในเรื่องของมรดก และเขาทั้งสองจะไม่พบบุคคลใดที่จะตัดสินชี้ขาดในระหว่างเขาทั้งสองได้” (15)

      ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ยังได้กล่าวอีกว่า

 تَعَلَّمُوا الْفَرَائِضَ وَعَلِّمُوهَا فَإِنَّهَا نِصْفُ الْعِلْمِ، وَهُوَ يُنْسَى، وَهُوَ أَوَّلُ شَيْءٍ يُنْزَعُ مِنْ أُمَّتِي

“ท่านทั้งหลายจงเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของมรดก และจงสอนมันแก่ประชาชน เพราะแท้จริงมันคือครึ่งหนึ่งของความรู้ และมันจะถูกลืม และมันคือสิ่งแรกที่ (ถูกพยายาม) เพื่อจะแยกมันออกไปจากประชาชาติของฉัน” (16)

      ชายผู้หนึ่งได้กล่าวกับท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ว่า “โอ้ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน! ข้าพเจ้าต้องการทำการค้าขาย” ท่านกล่าวว่า “เจ้ามีความรู้เกี่ยวกับศาสนา (ฟิกฮ์) ของอัลลอฮ์ดีแล้วหรือ” เขาตอบว่า “ข้าพเจ้าจะเรียนรู้ในภายหลัง” ท่านกล่าวว่า

 وَيْحَكَ الْفِقْهُ ، ثُمَّ الْمَتْجَرُ إِنَّ مَنْ بَاعَ وَاشْتَرَى وَلَمْ يَسْأَلْ عَنْ حَلَالٍ وَلَا حَرَامٍ ارْتَطَمَ فِي الرِّبَا ثُمَّ ارْتَطَمَ

ความวิบัติจงมีแด่เจ้า! อันดับแรกต้องเรียนรู้ฟิกฮ์ (ข้อบัญญัติศาสนา) แล้วหลังจากนั้นจึงค่อยทำการค้า แท้จริงคนที่ซื้อและขาย แต่ไม่ถาม (ปัญหาต่างๆ) เกี่ยวกับฮาลาล (สิ่งอนุมัติ) และฮะรอม (สิ่งต้องห้าม) นั้น เขาจะตกอยู่ในวังวนของดอกเบี้ยอย่างทับถม” (17)

      ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 إِنَّهُ لَا يُصْلِحُ الْمَرْءَ الْمُسْلِمَ إِلَّا ثَلَاثَةٌ. التَّفَقُّهُ فِي الدِّينِ وَ الصَّبْرُ عَلَى النَّائِبَةِ وَ حُسْنُ التَّقْدِيرِ فِي الْمَعِيشَةِ

แท้จริงไม่มีสิ่งใดที่จะแก้ไขปรับปรุงมุสลิมให้ดีได้นอกจากสามสิ่ง คือ การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในศาสนา ความอดทนต่อความทุกข์ยาก และการวางแผนที่ดีในการดำเนินชีวิต” (18)

      การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพและอุตสาหกรรม : ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวว่า

الْحِرْفَةُ مَعَ الْعِفَّةِ خَيْرٌ مِنَ الْغِنَى مَعَ الْفُجُورِ

การประกอบอาชีพที่อยู่กับความสุจริตนั้น ย่อมดีกว่าความร่ำรวยมั่งคั่งที่อยู่กับความชั่วร้าย” (19)

      หมายเหตุ : มีคำรายงาน (ริวายะฮ์) จำนวนมากที่กล่าวถึงความประเสริฐของการอาชีพต่างๆ อย่างเช่น การเลี้ยงสัตว์ การเกษตร การทำพืชสวน การขนส่งทางทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมง และยังได้กล่าวถึงการออกไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ และแน่นอนยิ่งการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ได้ถูกเน้นย้ำไว้

      การสอนบทกวีเกี่ยวกับศาสนา : อิสลามให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรียนรู้ศิลปะ และกำชับสั่งเสียให้ใช้ประโยชน์จากความสวยงามของศิลปะในแนวทางของเตาฮีด (การศรัทธาต่อเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า) และหลักคำสอนต่างๆ ของศาสนา บรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ก็ได้กำชับสั่งเสียให้เรียนรู้บทกวีต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาและความศรัทธา

      ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ชอบที่จะรายงานบทกวีของอบูฏอลิบ ท่านจะเขียนบันทึกมัน และกล่าวว่า

 تَعَلَّمُوهُ وَ عَلِّمُوهُ أَوْلادَكُمْ، فَإِنَّهُ كانَ عَلى دينِ اللَّهِ وَ فيهِ عِلْمٌ كَثيرٌ

ท่านทั้งหลายจงเรียนรู้มัน และจงสอนมันแก่ลูกๆ ของพวกท่าน เพราะแท้จริงเขา (อบูฏอลิบ) อยู่บนศาสนาของอัลลอฮ์ และในมันนั้นมีความรู้มากมาย” (20)

       ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 یا مَعشَرَ الشِّیعة عَلَّمُوا أولادَکُم شِعرَ العَبدیَّ فأنَّه عَلی دینِ الله.

โอ้กลุ่มชนชีอะฮ์เอ๋ย! จงสอนบทกวีของอับดีย์แก่ลูกๆ ของพวกท่านเถิด เพราะแท้จริงเขาอยู่บนศาสนาของอัลลอฮ์” (21)

       การเรียนรู้และการฝึกอบรมทักษะ : ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

عَلِّمُوا أبنَائَكُم الرَّمْي

จงสอนการยิงธนูแก่ลูกๆ ของพวกท่าน” (22)

       ในฮะดีษอีกบทหนึ่งท่านได้กล่าวว่า

عَلِّمُوا أَوْلادَكُمُ السِّبَاحَةَ

จงสอนการว่ายน้ำแก่ลูกๆ ของพวกท่าน” (23)


เชิงอรรถ :

(1) ชัรห์ นะฮ์ญิลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลฮะดีด, เล่มที่ 20, หน้าที่ 333

(2) มะนียะตุ้ลมุรีด, หน้าที่ 106

(3) กิตาบุซซะรออิร, เล่มที่ 3, หน้าที่ 627

(4) ชัรห์ นะฮ์ญิลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลฮะดีด, เล่มที่ 20, หน้าที่ 333

(5) ชัรห์ นะฮ์ญิลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอบิลฮะดีด, เล่มที่ 20, หน้าที่ 267

(6) ฆุร่อรุ้ลฮิกัม, หน้าที่ 46

(7) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 193

(8) กิตาบุซซะรออีร, เล่มที่ 3, หน้าที่ 645

(9) มะอานิลอัคบาร, หน้าที่ 180

(10) อัลเอี๊ยะห์ติญาจ, หน้าที่ 16

(11) กันซุลอุมมาล, เล่มที่ 16, หน้าที่ 441

(12) กิตาบุซซะรออิร, หน้าที่ 645

(13) อัลกาฟี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 49

(14) กิตาบุซซะรออีร, เล่มที่ 3, หน้าที่ 645

(15) อะวาลิล ละอาลี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 491

(16) อะวาลิล ละอาลี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 491

(17) ดะอาอิมุลอิสลาม, เล่มที่ 2, หน้าที่ 16

(18) อัลกาฟี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 87

(19) อัลกาฟี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 87

(20) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 17, หน้าที่ 332

(21) ริญาล อัลกัชชี, หน้าที่ 401 ; เกี่ยวกับบทกวีต่างๆ ของอับดีย์ จงดูเพิ่มเติมใน “อัลฆอดีร” เล่มที่ 2, หน้าที่ 429

(22) อันนะวาดิร, หน้าที่ 49

(23) อัลกาฟี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 49


ที่มา: จากหนังสือ “มะฟาตีฮุลฮะยาต” ของท่าน “ฮายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมูลี”

แปลและเรียบเรียง โดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 681 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์