ปัจจัยต่างๆ ที่จะทำลายความเข้มแข็งของครอบครัว ตอนที่ 1
Powered by OrdaSoft!
No result.

ปัจจัยต่างๆ ที่จะทำลายความเข้มแข็งของครอบครัว ตอนที่ 1

        ครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมใหญ่ของมนุษย์และมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อความสัมพันธ์และการเจริญเติบโตของปัจเจกบุคคลของสังคม ความพยายามที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับครอบครัวและสวัสดิภาพของมันนั้นจะจัดเตรียมพื้นฐานสวัสดิภาพและความผาสุกของสังคมโดยรวม สถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ยังเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับเภทภัยที่จะคุกคามต่อสวัสดิภาพของมัน  โดยที่บ่อเกิดสำคัญของเภทภัยเหล่านี้คือความร้าวฉานในความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวที่มีต่อกัน

      ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงอุปสรรคต่างๆ ของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามในครอบครัว เพื่อเป็นข้อมูลและการรับรู้ถึงกรณีเหล่านี้จะทำให้เราย่างก้าวไปในเส้นทางของการสร้างครอบครัวที่ดีงามและจะเกิดผลที่ก่อให้เกิดสังคมที่มีคุณธรรม

      ปัจจัยต่างๆ ที่สามารถจะสร้างความเสียหายให้กับความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบระเบียบของครอบครัวนั้น ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม ด้านครอบครัว ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิทธิต่างๆ ซึ่งเราจะกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้โดยสรุป นอกเหนือจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว มีประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมีโอกาสเราที่จะกล่าวถึงในบทความต่อๆ ไป

      รูปแบบของความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะสามีและภรรยานั้นเป็นส่วนหนึ่งจากตัวกำหนดที่สำคัญที่สุดสำหรับสวัสดิภาพและความสำเร็จของครอบครัว หรือความอ่อนและความไม่มีประสิทธิภาพนั้น ก่อนที่จะพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวนั้น การพูดถึงปัจจัยของความอ่อนแอ กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ อุปสรรคต่างๆ ของความเข้มแข็งของครอบครัว ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

      โดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยใดๆ ก็ตามที่เป็นสาเหตุทำให้ไม่เกิดหรือสูญเสียความเข้าใจและการเห็นพร้องตรงกัน ระหว่างสามีและภรรยาและความไม่ลงรอยกันในการใช้ชีวิตคู่นั้นจะเป็นอุปสรรคต่อเสถียรภาพและความเข้มแข็งของครอบครัว ตามคำสอนของศาสนา รากฐานของการใช้ชีวิตคู่คือการบรรลุสู่ความสงบสุขและความกลมกลืนทางด้านอารมณ์ความรู้สึกระหว่างหญิงและชาย (1)

      การบรรลุสู่เป้าหมายนี้ต้องอาศัยความพยายามของสามีและภรรยาและการทำความรู้จักปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อความสัมพันธ์และอุปสรรคต่างๆ ของมัน อุปสรรคในการเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งต่อรากฐานของครอบครัว คือปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความตรึงเครียดและการทำลายความเข้าใจที่ดีต่อกัน

      ดังนั้นจึงครอบคลุมถึงปัจจัยส่วนบุคคล ด้านวัฒนธรรม ด้านครอบครัว ด้านเศรษฐกิจและด้านสิทธิต่างๆ  การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเหล่านี้และฝึกฝนทักษะการป้องกันเภทภัยต่างๆ ที่จะมีต่อชีวิตครอบครัว จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดในการสร้างความเข้มแข็ง ความสำเร็จและความมีประสิทธิภาพของครอบครัว ด้วยเหตุผลของสถานะอันสำคัญที่ความสงบสุขและความพึงพอใจในชีวิตครอบครัวมีต่อพัฒนาการทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ศาสนาอิสลามจึงมีคำสอนและคำสั่งต่างๆ มากมายในเรื่องนี้ และจะพูดถึงเภทภัยและปัจจัยต่างๆ ที่จะทำลายรากฐานและความสงบสุขของครอบครัว  ดังนั้นหนึ่งในความกังวลของศาสนา คือความพึงพอใจต่อการดำเนินชีวิตทางครอบครัว และการสอนทักษะต่างๆ ของการดำเนินชีวิตให้แก่บรรดาผู้ปฏิบัติตามเพื่อหลีกเลี่ยงจากอุปสรรคต่างๆ ในการสร้างครอบครัว จึงเป็นหนึ่งภารกิจของศาสนา

ปัจจัยที่ 1 - อุปสรรคส่วนบุคคล

      เป็นเรื่องธรรมดาที่ความเห็นตรงกันและความเห็นไม่ตรงกันจะเกิดขึ้นในครอบครัวใหม่และจะแสดงออกมาให้เห็นในบางช่วงและบางเวลาของการดำเนินชีวิต สามีและภรรยานั้นทำนองเดียวกับที่ในหลายๆ กรณีจะมีความเห็นพร้องตรงกันและไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในบางกรณีอาจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากบุคคลทั้งสองเจริญเติบโตขึ้นมาในครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ความแตกต่างทางครอบครัว, จริยธรรม, การศึกษา, ความเชื่อและอื่นๆ จะทำให้สามีและภรรยามีความแตกต่างกัน แต่บางส่วนของความแตกต่างเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการยืดหยุ่นและความเข้าใจกัน และการผ่านไปของเวลาและความรู้จักซึ่งกันและกันที่เพิ่มขึ้นและดีขึ้นของสามีภรรยาจะช่วยในเรื่องนี้ได้ คุณลักษณะส่วนตัวและมารยาทที่ไม่เหมาะสมบางอย่างก็อาจเป็นปัญหาได้

      คุณลักษณะเหล่านี้ในหลักคำสอนของศาสนาเรียกว่า "ความประพฤติที่ผิดทำนองคลองธรรม"  และจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดช่องว่างและความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาได้มากกว่าปัจจัยอื่น ๆ  บางส่วนของคุณลักษณะทางจริยธรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัวและนับได้ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวนั้น ได้แก่

ก.ความระแวงสงสัยและความไม่ไว้วางใจกัน

      การมองในแง่ดีเป็นหนึ่งในคุณลักษณะทางศีลธรรมที่สำคัญที่สุดในครอบครัวและจะเป็นสื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การคิดดีและการมองในแง่ดีต่อกันและกันและต่อการดำเนินชีวิตนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความสงบสุขของครอบครัว ในทางตรงกันข้ามความระแวงสงสัยซึ่งจะเป็นสาเหตุนำไปสู่การตัดสินและความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้อื่นนั้น จะสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คัมภีร์อัลกุรอานเรียกร้องชาวมุสลิมให้หลีกเลี่ยงจากความระแวงสงสัย (2) เนื่องจากความระแวงสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และจะเป็นสาเหตุของพฤติกรรมและคำพูดที่ไม่เหมาะสมต่อคนอื่น ๆ

     ในความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา ความระแวงสงสัยจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง ในช่วงเวลาเช่นนี้เองด้านต่างๆ ทางจริยธรรมที่เป็นบวกของอีกฝ่ายหนึ่งจะถูกมองข้ามและประเด็นที่เป็นลบทั้งหลายจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเกินความเป็นจริง

สาเหตุของความระแวงสงสัยระหว่างสามีและภรรยา

     ประการแรก : การเริ่มต้นชีวิตคู่นั้น ความแตกต่างทางรสนิยมและทัศนคติในระหว่างสามีและภรรยาจะปรากฏให้เห็น แต่ละคนรับรู้ได้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมีรสนิยมและทัศนคติที่แตกต่างกับสิ่งที่ตนต้องการ และสิ่งนี้สร้างความรู้สึกชิงชังและมองในแง่ร้าย ความรู้สึกนี้เมื่อเวลาผ่านไป จะกลายเป็นจินตนาการที่ฝังอยู่ในจิตใจและในที่สุดก็นำไปสู่การคาดคิดที่ไม่ดี

     ประการที่สอง : การอบรมขัดเกลาทางครอบครัว มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตคู่ หากก่อนการสมรส สภาพแวดล้อมในครอบครัวไม่ได้เสริมสร้างทัศนคติที่ดี ความสงบสุขและความรู้สึกไว้วางใจในตัวบุคคล และในการเรียนรู้แบบอย่างจากบิดาและมารดา ได้ให้ความสนใจไปยังประเด็นที่เป็นแง่ลบต่างๆ ของชีวิตเพียงเท่านั้น การคิดในแง่ร้ายและความระแวงสงสัยก็จะเกิดขึ้นในชีวิตคู่ของเขาและคู่ครองของเขา จะทำให้มองเห็นเรื่องที่เป็นแง่ลบมากยิ่งขึ้นและความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการกระทำของคู่สมรสและการขาดความสัมพันธ์ทางคำพูดที่เหมาะสม จะทำให้เกิดความรู้สึกของการมองในแง่ร้าย

      ประการที่สาม : บางครั้งการแทรกแซงและความอิจฉาริษยาที่ไม่ถูกไม่ควรของคนรอบข้างและข่าวและการวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องของพวกเขาจะมีผลในการสร้างความระแวงสงสัยและการมองในแง่ร้ายแก่คู่สมรส  คนรอบข้างเหล่านี้เป็นสหายของซาตาน (ชัยฏอน) โดยที่การยอมรับพวกเขาจะก่อให้เกิดปัญหามากมายในชีวิตคู่ ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานอัลกุรอาน ได้กล่าวว่า : “และแท้จริงเหล่ามาร (ชัยฏอน) นั้นจะกระซิบกระซาบแก่บรรดาสหายของมัน เพื่อที่พวกเขาจะได้โต้เถียงกับพวกเจ้า และถ้าหากพวกเจ้าเชื่อฟังพวกเขา แน่นอนพวกเจ้าก็เป็นผู้ตั้งภาคี (เหมือนกับพวกเขา)” (3)

      ประการที่สี่ : ในบางกรณีวิธีการประพฤติปฏิบัติของผู้หญิงหรือผู้ชายในชีวิตคู่ก็อาจเป็นสาเหตุในการทำให้เกิดการคิดในแง่ร้ายในตัวคู่ครองได้ ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมและคำพูดที่น่าสงสัยของสามีภรรยาคนใดคนหนึ่ง การพูดถึงการหย่าร้างหรือการแต่งงานใหม่ แม้ว่าจะในรูปของการหยอกล้อหรืออารมณ์ขันก็ตาม หรือการติดต่อสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับคนต่างเพศผู้อื่น (การอยู่ตามลำพังกับพวกเขาหรือการหยอกล้อที่ไม่เหมาะสม) การคลุมผ้าฮิญาบที่ไม่ถูกต้องหรือการไม่คลุมผ้าฮิญาบของบรรดาภรรยา ก็นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมสำคัญที่จะก่อให้เกิดความระแวงสงสัย โดยการหลีกเลี่ยงจากกรณีเหล่านี้สามารถที่จะช่วยขจัดความระแวงสงสัย การคิดในแง่ร้ายและการดึงดูดความไว้วางใจจากฝ่ายตรงข้ามได้

      อันตรายและผลกระทบของการมองในแง่ร้ายและความระแวงสงสัยในครอบครัวนั้นมีมากมายและไม่สามารถชดเชยได้ หนึ่งในผลกระทบที่น่าขมขื่นของมันในสภาพแวดล้อมของครอบครัว คือการทำลายความรู้สึกของความร่วมมือและการขาดความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกในครอบครัว  นอกจากนี้การขาดความไว้วางใจจะทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นมากเกินควรในการกระทำต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง ความอ่อนแอทางจิตใจ ความคิดฟุ้งซ่านและการไร้ความสามารถในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องต่อความคิดต่างๆ ที่ผิดพลาด  การมองในแง่ร้ายจะเป็นรากฐานที่มาในขยายตัวของความเป็นปฏิปักษ์และความขัดแย้งในครอบครัว ความรู้สึกถึงความไม่สงบสุขของลูกๆ ในสภาพแวดล้อมภายในบ้านและการหันไปพึ่งพิงสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือของพวกเขาและการพังทลายของสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น

     ในอีกด้านหนึ่ง ความระแวงสงสัยจะเปิดช่องทางการเข้ามามีอิทธิพลและการแทรกแซงของผู้ฉวยโอกาส โดยทีด้วยกับข่าว ต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจและการทำลายสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจที่มีในสถาบันครอบครัวลง คัมภีร์อัลกุรอานได้ให้คำแนะนำไว้ว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาบอกแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงตรวจสอบให้แน่ชัด มิฉะนั้นแล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่ชนกลุ่มหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” (4)

ข.การด่าทอการหมิ่นประมาท

      การใช้คำพูดที่เหมาะสม คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพของคู่สมรสทั้งหลายซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างสายสัมพันธ์แห่งชีวิตคู่และจริยธรรมที่เหมาะสม พระผู้เป็นเจ้าทรงย้ำเตือนไว้ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน ในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการใช้คำพูดของชาวมุสลิม อย่างเช่น การพูดค่อยๆ ด้วยน้ำเสียงที่นิ่มนวล (5)

       บางครั้งในการทะเลาะเบาะแว้งและความขัดแย้งต่างๆ ภายในครอบครัวเกิดจากการไม่ใส่ใจต่อหลักการที่สำคัญนี้ และที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งพวกเขาก็เริ่มการหมิ่นประมาทและการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หลายคนอาจจะคิดว่าการหมิ่นประมาทที่เป็นความผิดนั้น คือการใช้คำพูดที่หยาบคายเพียงเท่านั้น ทว่าทั้งในแง่ของบทบัญญัติทางศาสนาและในแง่ของกฎหมาย ในการให้คำจำกัดความการหมิ่นประมาทนั้น ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เงื่อนไข แต่การใช้ทุกคำพูดที่ทำลายสถานภาพของบุคคลจะถูกนับว่าเป็นการหมิ่นประมาททั้งสิ้น

      กล่าวอีกสำนวนหนึ่งง่ายๆ ก็คือว่า ทุกคำพูดที่ออกมาจากปากของเขาและเป็นสาเหตุของการไม่ให้เกียรติผู้อื่น ก็คือการหมิ่นประมาทและในด้านกฎหมายและในบทบัญญัติศาสนาจะถูกกำหนดบทลงโทษไว้สำหรับมัน (6)

      การหมิ่นประมาทและการใช้คำพูดเหยียดหยามนั้นเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรมที่เลวร้ายที่สุดในการจัดการกับความคิดต่างๆ ของฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ปฏิเสธการกระทำเช่นนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า

وَلاَ تَسُبُّواْ الَّذِینَ یَدْعُونَ مِن دُونِ اللّهِ فَیَسُبُّواْ اللّهَ عَدْوًا بِغَیْرِ عِلْمٍ

“และพวกเจ้าจงอย่าด่าประณามผู้ที่พวกเขาวิงวอนขอ (สิ่ง) อื่นจากอัลลอฮ์ แล้วพวกเขาก็จะด่าประณามอัลลอฮ์ อันเป็นการละเมิดโดยปราศจากความรู้” (7)

      ในโองการของอัลกุรอาน ได้ห้ามการกระทำเช่นนี้ไว้อย่างชัดเจน และถือว่าการระวังรักษาหลักการของมารยาทและความสะอาดบริสุทธิ์ในการพูดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แม้แต่กับศาสนาที่มีความเชื่องมงายที่สุดและเลวร้ายที่สุด เนื่องจากว่าไม่สามารถที่จะยับยั้งบุคคลใดจากแนวทางที่ผิดพลาดด้วยการด่าทอและการพูดประณามได้ ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลามก็ดำเนินรอยตามตรรกะของคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับการละทิ้งการด่าประณามบรรดาผู้หลงผิดและผู้เบี่ยงเบน

      บรรดาผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของอิสลามได้แนะนำสั่งเสียให้ใช้ตรรกะและการใช้เหตุผลอยู่เสมอและอย่าอาศัยเครื่องมือที่ไร้ผลของการด่าประณามความเชื่อต่างๆ ของฝ่ายตรงข้าม (8)

      ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ เราจะอ่านพบว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับสหายกลุ่มหนึ่งของท่านที่กำลังด่าประณามไพร่พลของมุอาวิยะฮ์ในสงครามซิฟฟีนว่า :

إِنِّي أَكْرَهُ لَكُمْ أَنْ تَكُونُوا سَبَّابِينَ وَ لَكِنَّكُمْ لَوْ وَصَفْتُمْ أَعْمَالَهُمْ وَ ذَكَرْتُمْ حَالَهُمْ كَانَ أَصْوَبَ فِي اَلْقَوْلِ وَ أَبْلَغَ فِي اَلْعُذْرِ

“ฉันไม่ชอบที่พวกท่านเป็นผู้ที่ชอบด่าประณาม แต่ถ้าพวกท่านอธิบายถึงพฤติกรรมต่างๆ (ที่ชั่วร้าย) ของพวกเขา และบอกถึงสภาพของพวกเขา ย่อมจะเป็นคำพูดที่ถูกต้องมากกว่าและเป็นการให้เหตุผลที่สมบูรณ์มากกว่า” (9)

     ในความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาก็เช่นเดียวกันนี้  การด่าประณามของแต่ละคนสามารถจะเป็นสาเหตุของการตอบโต้กลับที่เหมือนกันของอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและกลับคืนสู่ความสงบจะเป็นเรื่องยาก และความไม่พอใจของพวกเขาก็จะเป็นสาเหตุทำให้คำพูดต่างๆ ที่ก้าวร้าวและโต้เถียงกันขยายวงมากขึ้น

     ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับบุคคลผู้หนึ่งที่ขอให้ท่านแนะนำตักเตือนเขา ว่า

لا تسبوا الناس فتکسبوا العداوه بينهم

พวกท่านอย่าได้ด่าประณามผู้คน อันจะทำให้พวกท่านพบความเป็นศัตรูในหมู่พวกเขา” (10)

      มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากที่ชี้ถึงผลพวงต่างๆ ที่เลวร้ายของการด่าประณามและการใช้คำพูดที่รุนแรง ตัวอย่างเช่น ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในการท้วงติงการด่าทอของบุคคลในครอบครัวว่า

اعوذ بك من امراة تشیبنی قبل مشیبی

“ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากสตรีที่จะทำให้ข้าพระองค์แก่ชราก่อนวัยชราของข้าพระองค์” (11)


เชิงอรรถ :

1.อัลกุรอานบทอัรรูม โองการที่ 21

2.อัลกุรอานบทอัลหุญุร๊อต โองการที่ 12

3.อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 121

4.อัลกุรอานบทอัลหุญุร๊อต โองการที่ 6

5.อัลกุรอานบทลุกมาน โองการที่ 19

6.ตัวอย่างเช่น ถ้าหากการหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นโดยบุคคลผู้หนึ่งต่อลูกของตน เป็นความผิดในเรื่องของ “กอซัฟ” (การกล่าวหาว่าผิดประเวณีหรือรักร่วมเพศ) โทษทัณฑ์ของเขาจะรุนแรงกว่าและกฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินมันก็จะเข้มงวดมากกว่าด้วย) ดู :  หนังสือเล่มที่สอง “กอนูน มุญาซาต อิสลามี” (ประมวลกฎหมายอาญาอิสลาม) , หมวดที่ห้า, ข้อที่ 142) ในขณะที่หากการหมิ่นประมาทของสมาชิกครอบครัวผู้นี้ที่เกิดขึ้นกับภรรยาของเขาเป็นเรื่องของการดูหมิ่นทั่วไปเขาจะได้รับการลงโทษ และผลของมันจะเป็นการลงโทษที่เบากว่า

7.อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 108

8.ตัฟซีรนะมูเนะฮ์, มะการิม ชีราซี และคณะผู้เขียน, เล่มที่ 5หน้าที่ 395, เตหะราน, ดารุ้ลกุตุบุลอิสลามียะฮ์

9.นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลามที่ 206

10.อัลกาฟี, มุฮัมมัด บินยะอ์กูบ อัลกุลัยนี, เล่มที่ 2, ฮะดีษที่ 3, หน้าที่ 360, เตหะราน, ดารุ้ลกุตุบุ้ลอิสลามียะฮ์

11.วะซาอิลุชชีอะฮ์, มุฮัมมัด ฮะซัน ฮุรรุ้ลอามิลี, เล่มที่ 20, หน้าที่ 39, ฮะดีษที่ 24972, กุม, อาลุลบัยติ์


เขียนโดย : อะอ์ซ็อม นูรี  นักวิจัยและครูของสถาบันการศึกษาศาสนาแห่งเมืองกุม

แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ที่มา : สาส์นจากฟากฟ้า

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่. All Right Reserved

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1278 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์