ระเบียบวินัยและความพอประมาณในการประกอบ (อิบาดะฮ์)
Powered by OrdaSoft!
No result.
ระเบียบวินัยและความพอประมาณในการประกอบ (อิบาดะฮ์)

ความมีระเบียบ คือปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งการสร้างสรรค์สรรพสิ่งมีอยู่ทั้งมวลเกิดขึ้นด้วยสื่อของมัน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรอบรู้ทรงสร้างโลกและจักรวาลนี้ขึ้นมาบนพื้นฐานของมัน โดยที่นักวิชาการท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “ในโลกของการสร้างสรรค์ เท่าที่สติปัญญาและความรู้ของมนุษย์ได้รับรู้มันนั้น ไม่มีสิ่งใดที่ปราศจากความมีระบบระเบียบและความละเอียดอ่อน..

ข้อสำคัญของระเบียบวินัย และ ความพอประมาณ

      คำว่า نظم (ความมีระเบียบวินัย) ในทางภาษาหมายถึง การตกแต่ง การทำให้ดีและการจัดระเบียบ (1)

      ความมีระเบียบ คือปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งการสร้างสรรค์สรรพสิ่งมีอยู่ทั้งมวลเกิดขึ้นด้วยสื่อของมัน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรอบรู้ทรงสร้างโลกและจักรวาลนี้ขึ้นมาบนพื้นฐานของมัน โดยที่นักวิชาการท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “ในโลกของการสร้างสรรค์ เท่าที่สติปัญญาและความรู้ของมนุษย์ได้รับรู้มันนั้น ไม่มีสิ่งใดที่ปราศจากความมีระบบระเบียบและความละเอียดอ่อน” (2)

      ความมีระบบระเบียบเช่นนี้ เราเรียกว่า “ความมีระบบระเบียบทางการสร้างสรรค์” (นัศม์ ตักวีนี) ซึ่งมันจะปกคลุมอยู่เหนือทุกอณูของโลกแห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า นับตั้งแต่อะตอมจนถึงกาแลคซีต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุด และจะไม่มีการผิดเพี้ยนเป็นอย่างอื่น

      อีกประเภทหนึ่งของความมีระบบระเบียบ หมายถึง “ความมีระบบระเบียบทางบทบัญญัติของศาสนา” (นัศม์ ตัชรีอี) ก็เป็นที่เน้นย้ำของอิสลามเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ศาสนาอิสลามระมัดระวังและให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นระบบระเบียบในกฎเกณฑ์และข้อบัญญัติต่างๆ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องผู้ปฏิบัติตามให้ระวังรักษามันในกิจการทั้งมวล ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม

      ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ขณะที่ใกล้จะเสียชีวิต (เป็นชะฮีด) ได้กล่าวกับท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า

اوُصيكُما وَجَميعَ وُلْدى وَ أهْلى وَ مَنْ بَلَغَهُ كِتابى بِتَقْوَى اللّهِ وَ نَظْمِ أمْرِكُمْ

“ฉันของสั่งเสียเจ้าทั้งสอง ลูกหลานของฉัน ครอบครัวของฉันและบุคคลทั้งหลายที่หนังสือบันทึก (คำสั่งเสียนี้) ของฉันไปถึงเขา ให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์และความมีระเบียบวินัยในกิจการงานของพวกเจ้า” (3)

     ในสถานการณ์เช่นนี้ คำสั่งเสียดังกล่าวที่ออกมาจากคำพูดของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) อีกทั้งเคียงคู่กับคำสั่งเสียในเรื่องของตักวา (ความยำเกรง) ต่อพระผู้เป็นเจ้า แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความมีระเบียบวินัยและการวางแผนที่ดีในภารกิจการงานต่างๆ ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องทางสังคม ซึ่งผู้ปฏิบัติตามแนวทางอันบริสุทธิ์แห่งอิสลามของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ที่แท้จริง จะต้องระวังรักษาสิ่งนี้

     โดยทั่วไปแล้ว อิสลามเรียกร้องผู้ปฏิบัติตามให้จัดระบบระเบียบทุกๆ กิจการแห่งการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงนำเสนอการแบ่งเวลาในช่วงวันและคืนหนึ่งไว้เช่นนี้ โดยที่ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า

اِجـْتـَهـِدُوا فـى اَنْ يـَكُونَ زَمانُكُمْ اَرْبَعَ ساعاتٍ: ساعَةٌ لِمُناجاةِ اللّهِ وَ ساعَةٌ لاَِمْرِالْمَعاشِ وَ ساعَةٌ لِمُعاشَرَةِ الاِْخْوانِ وَ الثِّقاتِ الَّذينَ يُعَرِّفُونَكُمْ عُيُوبَكُمْ وَ يُخْلِصُونَ لَكُمْ فىِ الْباطِنِ وَ ساعَةٌ تـَخـْلَوْنَ فـيـهـا لِلَذّاتـِكـُمْ فـى غـَيـْرِ مـُحـَرَّمٍ وَ بـِهـذِهِ السـّاعـَةِ تـَقـْدِرُونَ عَلَى الثَّلاثِ ساعاتٍ

“จงพยายามในการแบ่งสรรเวลาของพวกท่าน (ในวันและคืนหนึ่ง) ออกเป็นสี่ส่วน คือ : เวลาส่วนหนึ่งสำหรับการภาวนาขอพรต่ออัลลอฮ์ อีกส่วนหนึ่งสำหรับการทำงานเพื่อการดำรงชีวิต อีกส่วนหนึ่งสำหรับการคบหาสมาคมกับมิตรสหายและคนที่ไว้วางใจได้ ผู้ซึ่งจะแนะนำพวกท่านให้รู้ถึงข้อบกพร่องต่างๆ ในตัวพวกท่าน โดยที่พวกเขามีความบริสุทธิ์ใจต่อพวกท่าน และอีกส่วนหนึ่ง พวกท่านจะทำตัวว่างในช่วงเวลานี้ เพื่อแสวงหาความสุขต่างๆ ของพวกท่านเอง ในสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องห้าม (ทางศาสนา) เพราะด้วยกับเวลาส่วนนี้เองที่พวกท่านจะสามารถ (ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบ) ในสามส่วน (แรก) ได้” (4)

     ดังนั้นตลอดชีวิตของมุสลิมแต่ละคนนั้น จะต้องปกคลุมไปด้วยความมีระบบระเบียบอย่างแท้จริง ในที่นี้เราจะขอชี้ให้เห็นถึงส่วนหนึ่งจากความเป็นระบบและความมีระเบียบวินัยในการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีและการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า)

ความเป็นระบบและความมีระเบียบวินัยในการอิบาดะฮ์

     นมาซซุบฮิ์ถูกกำหนดแก่มุสลิม เพื่อว่าหลังจากแสงอรุณของยามเช้าปรากฏขึ้นทุกคนจะได้ตื่นขึ้นมาและเริ่มต้นภารกิจของวันใหม่ พวกเขาจะมุ่งหน้าสู่พระผู้เป็นเจ้า หลังจากที่ดวงอาทิตย์ไปถึงกลางท้องฟ้าในตอนเที่ยงวัน พวกเขาจะวางมือจากภารกิจการงาน มุ่งหน้าสู่พระผู้เป็นเจ้าและการอิบาดะฮ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อว่าภารกิจการงานนั้นจะได้ไม่ทำให้พวกเขาหลงลืมจากจากพระผู้เป็นเจ้า ในช่วงบ่ายคล้อยก่อนที่จะเริ่มภารกิจการงานและความอุตสาห์พยายามภายหลังจากเที่ยงวันก็เช่นกัน พวกเขาจะต้องยื่นมือแห่งความต้องการของตนสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงไร้ซึ่งความต้องการ (ในนมาซอัศริ์) หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ภารกิจการงานปกติในชีวิตประจำวันของพวกเขา เมื่อเริ่มต้นยามค่ำคืนในฐานะที่เป็นช่วงเริ่มต้นของวันใหม่และคืนหนึ่ง พวกเขาจะต้องยืนขึ้นนมาซมักริบอีกครั้งหนึ่ง และท้ายที่สุด พวกเขาจะปิดท้ายภารกิจและการเคลื่อนไหวต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเขาด้วยกับการนมาซอีชา เพื่อการวิงวอนและการขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นจึงนอนหลับเพื่อการพักผ่อน

      การปฏิบัตินมาซเป็นข้อบังคับ(วาญิบ)ประจำวันทั้งห้าเวลา จะสร้างความมีระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้ปฏิบัตินมาซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการนมาซเหล่านี้ถูกปฏิบัติร่วมกันในรูปของญะมาอะฮ์ตามที่ศาสนาอิสลามได้เน้นย้ำไว้อย่างมาก

      นอกจากนี้ในสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ประชาชนในเมืองต่างๆ จะถูกเชื้อเชิญให้ไปรวมตัวกันในสถานที่แห่งหนึ่งในนมาซวันศุกร์ เพื่อทุกคนจะได้มีโปรแกรมพิเศษร่วมกัน และรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง จริยธรรมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ ทำการรำลึกและขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าร่วมกัน

      นมาซอีดที่ยิ่งใหญ่ของอิสลามสองครั้งในรอบหนึ่งปี ได้แก่ นมาซอีดิ้ลฟิฎริ์ และนมาซอีดิ้ลอัฎฮา ก็ถือเป็นการเชิญชวนสาธารณชนโดยรวม ซึ่งในรอบหนึ่งปีจะทำให้มุสลิมมารวมตัวกันในการอิบาดะฮ์ทางการเมืองอันยิ่งใหญ่ทั้งสองครั้งนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นด้วยความมีระบบระเบียบและอลังการเป็นการเฉพาะ มุสลิมจะมุ่งสู่พระผู้เป็นเจ้าและโค้งคารวะ (รุกูอ์) ก้มกราบ (ซุญูด) ต่อพระองค์ อีกทั้งยืนและนั่งอย่างพร้อมเพียงกัน

     ทำนองเดียวกันนี้ในแต่ละปี มุสลิมทั้งหมดจะถือศีลอดเนื่องด้วยการเห็นดวงจันทร์เสี้ยวของเดือนรอมฎอนอันจำเริญ และด้วยกับการเห็นดวงจันทร์เสี้ยวของเดือนเชาวาล พวกเขาก็จะยุติการถือศีลอด การเริ่มต้นและสิ้นสุดของการถือศีลอดก็เช่นกัน จะอาศัยช่วงเวลาการปรากฏของแสงอรุณในยามเช้าตรู่ (ซุบฮิ์) และช่วงเวลาการลับขอบฟ้าของดวงอาทิตย์ (มัฆริบ) โดยที่แม้เพียงนาทีเดียวหลังจากแสงอรุณขึ้นและก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การรับประทานและการดื่มถือเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ซึ่งโดยตัวของมันเองแล้วคือความมีระเบียบวินัยที่ละเอียดอ่อนยิ่ง

     การชุมนุมประจำปีขนาดใหญ่ (การประกอบพิธีฮัจญ์) ณ นครมักกะฮ์ ก็เช่นกัน เป็นภาพแสดงถึงความเป็นระบบระเบียบที่สวยงามของอิสลาม บรรดาฮุจญาจ (ผู้แสวงบุญ) จะสวมใส่ชุดเอี๊ยะห์รอมที่มีรูปแบบเดียวกันทั้งหมด และมุ่งหน้าเดินทางจากมีก๊อต (สถานที่กำหนดให้ครองเอี๊ยะห์รอม) มุ่งสู่นครมักกะฮ์ ต่อจากนั้นจะฏอวาฟ (เดินเวียนรอบอาคารกะอ์บะฮ์) นมาซ เดินซะแอ และตักซีร (คลิบผมหรือเล็บ) ซึ่งทำให้การทำอุมเราะฮ์สิ้นสุดหลงด้วยความเป็นระบบระเบียบที่เป็นเฉพาะ หลังจากนั้นด้วยกับการครองเอี๊ยะห์รอมอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาจะมุ่งหน้าสู่อารอฟะฮ์และมัชอะริ้ลฮะรอม และหลังหยุดพัก (วุกูฟ) อย่างมีระเบียบในแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแล้ว พวกเขาจะเดินทางเคลื่อนย้ายสู่มินา ภายหลังจากการปฏิบัติอะมัล (การกระทำ) ต่างๆ อย่างเป็นระบบระเบียบของมินา และการค้างแรม (บัยตูตะฮ์) ณ สถานที่แห่งนั้นแล้ว พวกเขาจะเดินทางออกจากมินาในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ มุ่งกลับสู่มักกะฮ์เพื่อฏอวาฟและเดินสะแออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพิธีฮัจญ์ก็จะสิ้นสุดลงด้วยการปฏิบัติตามลำดับดังกล่าว

ความพอเหมาะพอควรในการนมัสการ (อิบาดะฮ์)

      ทำนองเดียวกัน การปล่อยปะละเลยและไม่ใส่ใจต่อการอิบาดะฮ์ต่างๆ คือการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า การกระทำที่สุดโต่งและเกินความพอเหมาะพอควรก็เช่นเดียวกัน จะนำมาซึ่งผลพวงที่ไม่น่าพึงปรารถนา ทั้งนี้เนื่องจากเป็นไปได้ว่า สำหรับบางคนแล้วจะเป็นสาเหตุนำไปสู่ความท้อแท้ ความหน่ายแหนง ความเบี่ยงเบนและความอ่อนแอในความเชื่อมั่น ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้รายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า

ألا اِنَّ لِكـُلِّ عـِبـادَةٍ شِرَّةً ثُمَّ تَصيرُ إِلى فَتْرَةٍ، فَمَنْ صارَتْ شِرَّةُ عِبادَتِهِ إِلى سُنَّتى فَقَدِ اهْتَدى وَمَنْ خالَفَ سُنَّتى فَقَدْ ضَلَّ وَ كانَ عَمَلُهُ فى تَبابٍ. أَما إِنّى أُصَلّى وَ أنامُ وَ أصُومُ وَ أفْطُرُ وَ أضْحَكُ وَ أبْكى فَمَنْ رَغِبَ عَنْ مِنْهاجى وَ سُنَّتى فَلَيْسَ مِنّى

“พึงรู้เถิดว่า สำหรับทุกการกระทำ(อิบาดะฮ์)นั้น มีช่วงของความมีชีวิตชีวา หลังจากนั้นมันจะนำไปสู่ความอ่อนแอ (ความเบื่อหน่าย) ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ความมีชีวิตชีวาของการอิบาดะฮ์ของเขาได้นำไปสู่แบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของฉัน แน่นอนยิ่งเขาได้รับทางนำแล้ว และใครก็ตามที่ขัดแย้งกับแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของฉันแน่นอนเขาได้หลงทางแล้ว และอะมั้ล (การกระทำ) ของเขาอยู่ในความเสียหาย พึงรู้เถิดว่า แท้จริงฉันนมาซและฉันก็นอนหลับ ฉันถือศีลอดและฉันก็ละเว้นจากการถือศีลอด ฉันจะหัวเราะและฉันก็จะร้องไห้ ดังนั้นใครก็ตามที่เบี่ยงเบนออกไปจากแนวทางและแบบฉบับของฉัน ดังนั้นเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากฉัน” (5)

      เกี่ยวกับกรณีของความสุดโต่งและการเกินความพอดีในการอิบาดะฮ์ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความท้อใจและความเบี่ยงเบนนั้น ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้เล่าถึงเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม โดยกล่าวเช่นนี้ว่า

     ชายคริสเตียนผู้หนึ่งใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างและเป็นเพื่อนบ้านกับมุสลิมคนหนึ่ง ด้วยผลของการแนะนำและการเผยแพร่ของชายมุสลิมทำให้คริสเตียนผู้นั้นเกิดศรัทธาและในที่สุดเขาก็เข้ารับอิสลาม เมื่อถึงช่วงกลางคืนและยามดึกสงัดใกล้รุ่งอรุณ เพื่อนบ้านมุสลิมได้ไปหาชายผู้เข้ารับอิสลามใหม่ เขาเคาะประตูและปลุกมุสลิมใหม่ผู้นั้นตื่นเพื่อไปนมาซซ่อลาตุลลัยน์และทำอิบาดะฮ์ เป็นครั้งแรกที่เขาทำวุฎูอ์และเดินทางไปมัสยิดกับชายมุสลิมผู้นั้น เขาง่วนอยู่กับการทำอิบาดะฮ์และการนมาซจนกระทั่งถึงยามเช้า หลังจากเสร็จสิ้นการนมาซซุบฮิ์ มุสลิมใหม่ผู้นั้นต้องการที่จะกลับบ้าน แต่ชายผู้นั้นได้ยับยั้งเขาไว้และกล่าวว่า : เป็นการดีกว่าที่เราจะอ่านดุอาอ์และซิกรุลลอฮ์ (รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า) และอ่านคัมภีร์อัลกุรอานหลังนมาซ และหากท่านตั้งเจตนา (เหนียต) ถือศีลอดและถือศีลอดมุสตะฮับในวันนี้ย่อมจะเป็นการดี หลังจากเวลาผ่านไปมุสลิมใหม่ต้องการที่จะกลับบ้าน ชายผู้นั้นกล่าวว่า : เหลือเวลาอีกไม่มากแล้วจะเข้าเวลานมาซบ่าย เขาได้ยับยั้งชายผู้นั้นไว้จนกระทั่งนมาซซุฮ์รี่ และต่อด้วยการนมาซอัศรี่ เมื่อเสร็จสิ้นจากการนมาซอัศรี่ มุสลิมใหม่ผู้นั้นต้องการที่จะกลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง แต่ชายมุสลิมกล่าวว่า : อดใจรออีกนิดหนึ่งเมื่ออาทิตย์ตกดินเราจะได้นมาซมัฆริบและอีซาร่วมกัน สรุปแล้วเขาได้เหนี่ยวรั้งมุสลิมใหม่ผู้นั้นไว้จนดึก และทั้งสองก็กลับสู่บ้านในสภาพที่เหนื่อยหล้า เมื่อเวลาดึกสะงัดของวันใหม่มาถึง ชายมุสลิมผู้นั้นก็มายังบ้านของมุสลิมใหม่อีกครั้ง และปลุกเขาให้เตรียมตัวเพื่อที่จะไปมัสยิด ชายผู้เป็นมุสลิมใหม่กล่าวว่า : ฉันได้ออกจากการเป็นมุสลิมตั้งแต่คืนวานแล้ว ฉันเป็นคนยากจนและต้องทำงาน ท่านจงไปหาคนที่ว่างงานเถิด ที่เขาสมารถอยู่กับการอิบาดะฮ์ได้ตลอดเวลา

     หลังจากการเล่าเรื่องราวนี้แล้ว ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ด้วยวิธีการเช่นนี้ ชายผู้ที่เคร่งอิบาดะฮ์ผู้นั้น ทำให้เขาผู้ที่เข้ารับอิสลาม ต้องออกจากศาสนาอิสลามไป...” (6)

     และท่านยังได้กล่าวไว้อีกเช่นกันว่า : ในช่วงวัยแรกรุ่น ขณะที่กำลังหมกมุ่นอยู่กับการฎอวาฟ (เดินเวียนรอบ) อาคารกะอ์บะฮ์อยู่นั้น เนื่องจากความเอาจริงเอาจังต่อการอิบาดะฮ์ทำให้เหงื่อไหลรินทั่วศีรษะและใบหน้าของฉัน บิดาของฉันเห็นฉันในสภาพเช่นนั้น ท่านได้กล่าวกับฉันว่า “โอ้ญะอ์ฟัรลูกรัก! ลูก (อย่าทำให้ตัวเองต้องเหนื่อยยากถึงเพียงนั้นเลย) เมื่อใดก็ตามที่พระผู้เป็นเจ้าทรงคัดเลือกบ่าวคนหนึ่งให้เป็นผู้ใกล้ชิดของพระองค์แล้ว พระองค์จะทรงให้เขาเข้าสู่สวรรค์ และพระองค์จะทรงยอมรับการอิบาดะฮ์เพียงน้อยนิดของเขา (และจะทรงตอบแทนรางวัลอันยิ่งใหญ่และมากมายแก่เขา)” (7)

     อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของความพอเหมาะพอควรในการอิบาดะฮ์ สำหรับแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความสามารถและความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ยืนทำนมาซจนเท้าทั้งสองข้างของท่านบวม (8) และท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) จะทำนมาซวันและคืนหนึ่งจำนวนหนึ่งพันร่อกาอัต (9)

     อย่างไรก็ดี บรรดาผู้มีเกียรติเหล่านั้นจะมีความแตกต่างจากบุคคลอื่นๆ การอิบาดะฮ์ในลักษณะเช่นนี้สำหรับพวกท่านแล้วมิใช่เป็นความสุดโต่ง พวกท่านมีความสามารถในการกระทำเช่นนี้ พวกท่านมีพลังแห่งศรัทธา (อีหม่าน) และมะอ์ริฟะฮ์ (การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า) ถึงขั้นที่ว่าไม่เพียงแต่การอิบาดะฮ์ (นมัสการพระผู้เป็นเจ้า) ในลักษณะเช่นนี้จะไม่ทำให้พวกท่านเหนื่อยหล้าและเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น พวกท่านยิ่งทำอิบาดะฮ์มากเพียงใด ก็จะรู้สึกมีความสุขและมีความปีติยินดีมากขึ้นเพียงนั้น

     ด้วยเหตุนี้ แม้ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) จะกล่าวว่า

وَ اقْتَصِدْ فى عِبادَتِكَ

“จงรักษาความพอเหมาะพอควรในการอิบาดะฮ์ของท่าน” (10)

     ในขณะที่ตัวท่านเองทำนมาซถึงหนึ่งร้อยร่อกะอัต แต่เมื่อเทียบกับตำแหน่งและศักยภาพของท่านแล้ว ไม่ถือว่าเป็นความสุดโต่งและเกินความพอเหมาะพอควร

การยืนหยัดและการกระทำอย่างต่อเนื่อง

      ทัศนะของอิสลามเกี่ยวกับการอิบาดะฮ์ (การนมัสการพระผู้เป็นเจ้า) ก็คือจะต้องยืนหยัดและกระทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นสิ่งเล็กน้อยและสั้นๆ ก็ตาม กล่าวคือ หากมุสลิมคนหนึ่งเริ่มต้นการรำลึก (ซิกร์) ถึงพระผู้เป็นเจ้า การวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) การนมาซ การทำอะมั้ลมุสตะฮับหลังนมาซ (ตะอ์กีบาต) และอื่นๆ แล้ว ควรกระทำมันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อที่จะช่วยขัดเกลาหัวใจของเขาให้ใสสะอาดและก่อให้เกิดจิตวิญญาณแก่ตัวเขา ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวว่า “ฉันชอบที่จะกระทำอะมัล (อิบาดะฮ์) อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้มันจะเล็กน้อยก็ตาม” (11)

      ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) กล่าวถึงความลับของประเด็นนี้ ไว้เช่นนี้ว่า

أحَبُّّ الاَْعْمالِ إِلىَ اللّهِ عَزَّوَجَلَّ ماداوَمَ عَلَيْهِ الْعَبْدُ وَ إِنْ قَلَّ

“การงานที่ดี (อะมั้ล) ที่เป็นที่รักที่สุด ณ อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร คือสิ่งที่บ่าวจะกระทำมันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม” (12)

      ดังนั้นสมควรอย่างยิ่งที่บรรดาผู้ศรัทธาจะเลือกการอิบาดะฮ์ที่เป็นมุสตะฮับ ตามที่ใจตัวเองชอบนอกเหนือไปจากการอิบาดะฮ์ที่เป็นวาญิบ ในขอบเขตที่มีความสามารถและโอกาสอำนวย และวางแผนกระทำมันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในชั่วเวลาหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

إِذا كانَ الرَّجُلُ عَلى عَمَلٍ فَلْيَدُمْ عَلَيْهِ سَنَةً ثُمَّ يَتَحَوَّلُ عَنْهُ إِنْ شاءَ إِلى غَيْرِهِ

“เมื่อใดก็ตามที่ผู้หนึ่งกระทำการงานที่ดี (อะมั้ล อิบาดะฮ์) อย่างหนึ่ง ดังนั้นเขาจงทำมันต่อเนื่องไปให้ได้หนึ่งปี จากนั้นหากเขาประสงค์ก็ค่อยเปลี่ยนไปสู่การกระทำอย่างอื่น” (13)

สรุป

      ความมีระเบียบวินัยและความพอประมาณ หมายถึง การทำให้ดี การทำให้เป็นระบบระเบียบและการกระอย่างพอเหมาะพอควรในทุกๆ เรื่อง

      ความมีระเบียบวินัยในการอิบาดะฮ์เป็นสิ่งที่ถูกมุ่งหวังและเป็นประเด็นที่ถูกกำชับสั่งเสียอย่างมากจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาผู้นำของอิสลาม

      ท่านอิมามอะลี (อ.) ในขณะใกล้จะเป็นชะฮีด ได้สั่งเสียลูกๆ และบรรดาชีอะฮ์ของท่านให้ระวังรักษาระเบียบวินัยและความรอบคอบในกิจการงานต่างๆ ส่วนหนึ่งจากสิ่งเหล่านั้นก็คือการอิบาดะฮ์

      ส่วนหนึ่งจากตัวอย่างของความมีระบบและมีระเบียบวินัยในการอิบาดะฮ์ คือการให้ความสำคัญต่อกิจการงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับปรโลก (อาคิเราะฮ์) ให้มากกว่ากิจการที่เป็นเรื่องทางโลก (ดุนยา) ทั้งนี้เนื่องจากผู้ศรัทธาและผู้ที่มีความเคร่งครัดศาสนาที่แท้จริงนั้น สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับเขาคือการเชื่อฟังและการยอมตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าและการเข้าใกล้ชิดพระองค์ เช่นเดียวกันนี้ ความพอประมาณและความพอเหมาะพอควรในการอิบาดะฮ์ ก็คือส่วนหนึ่งจากคำแนะนำสั่งเสียของศาสนา โดยเราจะต้องไม่สุดโต่งจนเกินไปซึ่งจะทำให้เราเกิดความท้อแท้และเบื่อหน่าย และจะต้องไม่ปล่อยปะละเลยและเฉื่อยชา ซึ่งจะถูกนับว่าเป็นผู้ที่ละทิ้งการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า)

คำถาม :

  1. จุดประสงค์จากความมีระบบระเบียบในการอิบาดะฮ์คืออะไร?
  2. ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวเกี่ยวกับความมีระบบระเบียบไว้อย่างไร?
  3. ทำไมในช่วงเวลาของการอิบาดะฮ์จะต้องมีชีวิตชีวา?
  4. จงกล่าวถึงฮะดีษบทหนึ่งเกี่ยวกับการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของการอิบาดะฮ์

เชิงอรรถ :

(1) ฟัรฮังก์ซัยยาห์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 1690

(2) รอฮ์ โคดาชะนอซี ญะอ์ฟัรม ซุบฮานี หน้าที่ 128, สำนักพิมพ์ซ็อดร์

(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฟัยฎุ้ลอิสลาม หน้าที่ 977

(4) ตุหะฟุลอุกูล แก้ไขโดย ฆ็อฟฟารี หน้าที่ 433, สำนักพิมพ์อิสลามียะฮ์

(5) อุซูลุลกาฟี เล่มที่ 2 หน้าที่ 7, สำนักพิมพ์อิสลามียะฮ์

(6) ดอซตอน รอซตอน เล่มที่ 1 หน้าที่ 69 อ้างจากวะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 11 หน้าที่ 427

(7) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 71 หน้าที่ 213

(8) ตัฟซีรนูรุซซะกอลัยน์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 366, อิสมาอีลียอน

(9) มุนตะฮัลอามาล เล่มที่ 1 หน้าที่ 183

(10) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 71 หน้าที่ 214

(11) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 7, หน้าที่ 220

(12) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 71 หน้าที่ 219

(13) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 71 หน้าที่ 218


เรียบเรียงโดย : เชคมุฮ้มม้ดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่. All Right Reserve

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1080 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

24786897
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
36805
52431
214279
24215661
1052562
1618812
24786897

พฤ 21 พ.ย. 2024 :: 19:47:33