การนินทาคนตายเป็นบาปหรือไม่?

การนินทาคนตายเป็นบาปหรือไม่?

       บางครั้งอาจมีคนคิดไปว่า ความหมายของการนินทาและสิ่งที่กล่าวไว้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ที่พูดถึงการนินทานั้น จะหมายถึงเฉพาะบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงเท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้ตายไปแล้ว และการนินทาคนที่ตายไปแล้วนั้นจะไม่มีปัญหาแต่ประการใด ทว่าความคิดเช่นนี้คือความผิดพลาดที่ใหญ่หลวง

       การนินทาผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) และเป็นบาปอย่างชัดเจน ตามที่มีปรากฏในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลาย คัมภีร์อัลกุรอานได้เปรียบการนินทา เหมือนกับการกินซากศพ โดยกล่าวว่า :

وَلَا يَغْتَب بَّعْضُكُم بَعْضًا أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَن يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتًا

"และพวกเจ้าอย่านินทากันและกัน คนใดจากพวกเจ้าชอบกระนั้นหรือที่จะกินเนื้อ (ซากศพ) ของพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้ว"

 (อัลกุรอาน บทอัลฮุญุรอต โองการที่ 12)

        บางครั้งอาจมีคนคิดไปว่า ความหมายของการนินทาและสิ่งที่กล่าวไว้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ที่พูดถึงการนินทานั้น จะหมายถึงเฉพาะบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงเท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้ตายไปแล้ว และการนินทาคนที่ตายไปแล้วนั้นจะไม่มีปัญหาแต่ประการใด ทว่าความคิดเช่นนี้คือความผิดพลาดที่ใหญ่หลวง เนื่องจากตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นั้น การเคารพเกียรติของคนตายก็เช่นเดียวกับการเคารพเกียรติของคนเป็น

       ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

إِنَّ حُرْمَةَ الْمَیِّتِ کَحُرْمَةِ الْحَی

"แท้จริงเกียรติของคนตาย ก็เช่นเดียวกับเกียรติของผู้มีชีวิตอยู่" (1)

       ทว่าสามารถกล่าวได้ว่า การนินทาคนตายนั้นมีความน่ารังเกียจกว่าและเลวร้ายยิ่งกว่าในหลายๆ ด้าน เนื่องจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นวันหนึ่งหากเขาได้ยินสิ่งที่ตนเองถูกนินทา เขาสามารถที่จะตอบโต้และปกป้องเกียรติของตนเองได้ แต่คนตายนั้นไม่สามารถที่จะปกป้องเกียรติของตนได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่นินทาเป็นไปได้ที่เขาจะไปพบกับคนที่เขาเคยนินทาที่ยังมีชีวิต และขอให้เขายกโทษในการกระทำของตนเองได้ แต่ในกรณีของคนตายนั้น ไม่อาจกระทำการเช่นนั้นได้ (2)

       ดังนั้นการนินทาและการพูดถึงคนที่ตายไปแล้วในทางไม่ดีนั้น เป็นสิ่งที่อิสลามไม่อนุญาต และถือว่าเป็นบาป ในขณะที่เราทำการนมาซมัยยิต (นมาซให้แก่คนตาย) นั้น แม้ว่าบางทีเราอาจจะรู้ในสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ จากผู้ตายก็ตาม แต่เราจะกล่าวว่า :

لا نعلم منه الا خیرا

"พวกเราไม่รู้สิ่งใดจากเขาเลย นอกจากความดีงาม"

       ด้วยเหตุนี้เอง หลังจากคำกล่าวนี้ในการนมาซมัยยิดแล้ว จึงไม่สมควรที่จะนำเอาสิ่งที่ไม่ดีงามต่างๆ ของผู้ที่ตายไปแล้วมากล่าวถึง


แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 7, หน้าที่ 228

(2) อัคลาก ดัร กุรอาน, มะการิม ชีราซี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 133


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่